ข้าพเจ้า นางสาวสุดารัตน์ ศรีชุมแสง
บัณฑิตจบใหม่  ED05 ตำบลเจริญสุข อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์

เทศน์มหาชาติ เวสสันดรชาดก ประจำปี 2564 ณ วัดหนองสะแก
ปีนี้จัดขึ้นวันอาทิตย์ที่ 21 มีนาคม 2564 ที่วัดหนองสะแก ต.เจริญสุข อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.บุรีรัมย์

มหาชาติ แปลว่า ชาติที่ยิ่งใหญ่ การเกิดครั้งยิ่งใหญ่ หมายถึง การเกิดของพระเวสสันดรโพธิสัตว์ซึ่งเป็นการเกิดเพื่อบำเพ็ญบารมีครั้งสุดท้าย ก่อนที่จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในชาติต่อมา มหาชาติที่ได้ชื่อเช่นนี้ก็เพราะการเกิดครั้งสุดท้ายนี้พระเวสสันดรได้บำเพ็ญบารมีสำคัญคือทานบารมีซึ่งเป็นการทำให้บารมีอื่นสมบูรณ์ไปด้วย เปรียบเหมือนการประทับตราในหนังสือสำคัญทำให้เกิดความสมบูรณ์ใช้บังคับตามกฎหมายได้ และในชาติสุดท้ายนี้ พระเวสสันดรได้บำเพ็ญบารมีอื่นๆ ครบทั้งสิบประการ จึงถือได้ว่าเป็นการเกิดครั้งสำคัญยิ่งใหญ่กว่าทุกชาติที่ผ่านมามหาชาติ ได้รับการประพันธ์เป็นบทร้อยแก้วและบทร้อยกรองแล้วนำไปเทศน์เป็นทำนองมาตั้งแต่สมัยโบราณ เรียกการเทศน์เช่นนี้ว่า เทศน์มหาชาติ เรียกเต็มว่า เทศน์มหาชาติเรื่องเวสสันดรชาดก

ในสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่ม 18 ได้กล่าวไว้ว่า ประเพณีการเทศน์มหาชาติจัดเป็นการทำบุญที่สำคัญและมีความหมาย มากที่สุดในสังคมไทย เนื่องจากเป็นประเพณีของพุทธศาสนิกชนชาวไทย ที่ทำสืบเนื่องมาแต่โบราณจนถึงปัจจุบัน เพราะความเชื่อว่าถ้าผู้ใดได้ฟังเทศน์มหาชาติแล้วจะได้กุศลแรง และหากใครตั้งใจฟังให้จบในวันเดียวจะได้เกิดร่วม และพบพระศรีอริยเมตไตรยโพธิสัตว์ซึ่งจะมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต

 

การเทศน์มหาชาติ คือ การชี้แจงหรือการเล่าเรื่องเวสสันดรชาดก ว่าด้วยพระบุพจริยาของพระพุทธองค์ในอดีตชาติ เมื่อเสวยพระชาติเป็นพระเวสสันดร ทรงบำเพ็ญพระบารมีเป็นชาติสุดท้ายก่อนจะตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า การเทศน์มหาชาตินี้มีมาแต่ครั้งกรุงสุโขทัย เวสสันดรชาดกนั้นเป็นพุทธพจน์ซึ่งพระผู้มีพระภาคได้ตรัสแก่พระภิกษุสงฆ์และพระประยูรญาติ ณ นิโครธาราม กรุงกบิลพัสดุ์ในคราวที่พระพุทธองค์เสด็จกรุงกบิลพัสดุ์ พระประยูรญาติมีพระเจ้าสุทโธทนะเป็นประธานเสด็จมาต้อนรับ ต่างก็ยังมีทิฐิมานะแรงกล้าไม่ยอมนอบน้อมนมัสการพระพุทธองค์ ด้วยเห็นว่าพระพุทธองค์มีวัยอ่อนกว่าตน พระพุทธองค์ได้ทอดพระเนตรเห็นเหตุดังนั้น จึงทรงแสดงปาฏิหาริย์เสด็จลอยขึ้นไปจงกรมอยู่บนอากาศ ให้ธุลีละอองพระบาทหล่นลงมาบนพระเศียรเหล่าพระประยูรญาติ ลำดับนั้น หมู่พระประยูรญาติต่างพากันคลายทิฐิมานะ ประคองอัญชลีนมัสการชื่นชมโสมนัสด้วยบุญญาภินิหารของพระพุทธองค์ ขณะนั้น ฝนโบกขรพรรษ (มีน้ำฝนสีแดง) ก็ตกลงมาเป็นที่น่าอัศจรรย์ ผู้ใดปรารถนาจะให้เปียกก็เปียกถ้าไม่ปรารถนาจะให้เปียกแล้วแม้แต่นิดหนึ่งก็ไม่เปียกกายเลย ต่อมาพุทธศาสนิกชนได้เกิดมีความเชื่อว่า หากผู้ใดได้สดับตรับฟังเทศน์มหาชาติย่อมเกิดสิริสวัสดิ์พิพัฒน์มงคลเป็นอย่างมาก เป็นกุศลบุญราศีสืบไป ดังนั้น การเทศน์มหาชาติคือมหากุศลที่เตือนบุคคลให้น้อมรำลึกถึงการบำเพ็ญบุญอันมีการสละความเห็นแก่ตัว เพื่อผลประโยชน์สูงของมวลมนุษยชาติเป็นสำคัญเวสสันดรชาดก มีเนื้อหาสาระมาก รวมไว้ในมหานิบาตชาดกซึ่งมีด้วยกัน 10 เรื่อง ซึ่งเรียกกันว่า ทศชาติ แต่อีก 9 เรื่องนั้นไม่เรียกว่า มหาชาติ คงเรียกแต่เวสสันดรชาดกเรื่องเดียวเท่านั้นที่เรียกว่า มหาชาติ ในเรื่องนี้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายว่า พุทธศาสนิกชนชาวไทยตลอดจนประเทศใกล้เคียงนับถือกันมาแต่โบราณว่า เรื่องเวสสันดรชาดกสำคัญกว่าชาดกอื่นๆ ด้วยปรากฏบารมีของพรโพธิสัตว์บริบูรณ์ในเรื่องเวสสันดรชาดกทั้ง 10 อย่าง คือ
1. ทานบารมี ทรงบริจาคทรัพย์สิน ช้าง ม้า ราชรถ พระโอรส พระธิดา และพระมเหสี
2. ศีลบารมี ทรงรักษาศีลอย่างเคร่งครัด ระหว่างผนวช เป็นฤาษีอยู่ ณ เขาวงกต
3. เนกขัมมบารมี ทรงครองเพศบรรพชิตตลอดเวลา ที่ประทับ ณ เขาวงกต
4. ปัญญาบารมี ทรงบำเพ็ญภาวนามัยปัญญาตลอดเวลาที่ผนวช
5. วิริยบารมี ทรงปฏิบัติธรรมมิได้ย่อหย่อน
6. สัจจบารมี ทรงลั่นพระวาจายกพระกุมารให้ชูชก เมื่อพระกุมารหลบหนีก็ทรงติดตามมาให้
7. ขันติบารมี ทรงอดทนต่อความยากลำบากต่าง ๆ ขณะที่ เดินทางมายังเขาวงกต และตลอดเวลาที่ประทับ ณ ที่นั้น แม้เมื่อ ทอดพระเนตรเห็นชูชกเฆี่ยนตีพระกุมารอย่างทารุณ พระองค์ก็ทรงข่มพระทัยไว้ได้
8. เมตตาบารมี เมื่อพราหมณ์เมืองกลิงคราษฎร์ มาทูลขอช้างปัจจัยนาค เพราะเมืองกลิงคราษฎร์ฝนแล้ง ก็ทรงพระเมตตาประทานให้ และเมื่อชูชกมาทูลขอพระกุมารทั้งสองพระองค์ โดยอ้างว่า
ตนได้รับความลำบากต่าง ๆ พระองค์ก็มีเมตตาประทานให้ด้วย
9. อุเบกขาบารมี เมื่อทรงเห็นว่า พระกุมารทั้งสองถูกชูชกเฆี่ยนตี และวิงวอนให้พระองค์ช่วยเหลือ พระองค์ก็ทรงบำเพ็ญอุเบกขาคือ ทรงวางเฉย เพราะทรงเห็นว่าได้ประทานเป็นสิทธิ์ขาดแก่ชูชกไปแล้ว
10. อธิษฐานบารมี ทรงตั้งมั่นที่จะบำเพ็ญบารมีเพื่อให้สำเร็จพระโพธิญาณเบื้องหน้า แม้จะมีอุปสรรคก็มิได้ทรงย่อท้อ ทำให้พระอินทร์ต้องประทานความช่วยเหลือต่าง ๆ เพราะตระหนักในน้ำพระทัยอันแน่วแน่ของพระองค์ในศิลาจารึกสมัยสุโขทัย หลักที่ 3 ที่เรียกว่าจารึก“นครชุม” ซึ่งจารึกไว้เมื่อ พ.ศ. 1900 ในรัชสมัยพญาลิไท (พระมหาธรรมราชาที่ 1) มีกล่าวไว้ว่า “พระธรรมเทศนามหาชาติหาคนสวดมิได้”หลักฐานนี้จึงเป็นเครื่องแสดงได้ว่า พุทธศาสนิกชนชาวไทยนิยมจัดให้มีการเทศน์มหาชาติมาแต่สมัยสุโขทัยเป็นราชธานีในไตรภูมิพระร่วง ได้กล่าวถึงพระเวสสันดรว่า “ครั้งเมื่อพระพุทธเจ้าเรานี้สร้างสมภารเป็นพระญาเวสสันดร อันอวยทานช้างเผือกตัวชื่อปัจจัยนาเคนทร์ แก่พราหมณ์ทั้งหลายอันมาแต่เมืองกลิงคราษฎร์ด้วยใจศรัทธา ด้วยบุญสมภารบารมี ดังนั้น ตูจึงได้มาเป็นพระรัศมีอันขาวแลตูได้ไปก่อนหน้าท่านด้วยบุญสมภารเราดังนี้แล”

 

เขตภาคอีสานถือเป็นงานบุญที่ยิ่งใหญ่สำคัญที่สุดของปี จะจัดขึ้นในราวเดือน ๔ เรียกว่า บุญพระเวส ณ วัดหนองสะแกชาวบ้านทั้ง 5 หมู่บ้าน และบ้านใกล้เคียงต่างให้ความสำคัญมาฟังเทศน์ในครั้งนี้ การตกแต่งบริเวณพิธี ได้จัดตกแต่งเนรมิตให้มีบรรยากาศคล้ายอยู่ในบริเวณป่าหิมพานต์ตามเนื้อเรื่องเวสสันดรชาดก มี ต้นกล้วย ต้นอ้อย ใบมะพร้าว(ทางมะพร้าว) และกิ่งไม้มาผูกตามเสาและบริเวณรอบ ๆ ธรรมาสน์ประดับธงทิว และราชวัติฉัตรธงปักไว้ตามสมควร ผลไม้นานาชนิด ขนม มีการปักโบว์ สำหรับผู้มาวัด ช่วงเช้าประชาชนจะนำครุผ้าป่าของแต่ละบ้านไปถวายและวางรวมกันไว้ เริ่มแสดงธรรมเทศนาตั้งแต่เวลา 13.00 น. เป็นต้นไป ระหว่างแสดงธรรมเทศนาจะมีกรรมการหมู่บ้านเดินแจกไม้ผ้าป่า ประมาณ 3-4 รอบ เพื่อร่วมทำบุญ ในการเทศน์จะมีปี่พาทย์ประโคมขณะดำเนินพิธีตามแบบของหลวงด้วย เชื่อว่าเป็นการเสริมศรัทธาให้เกิดความปีติในผลบุญที่ได้บำเพ็ญ กับทั้งเป็นเครื่องเตือนใจให้ผู้ที่ได้ยินเสียงปี่พาทย์ ได้ทราบว่ากำลังมีพิธีเทศน์มหาชาติอยู่ ปี่พาทย์ในงานเทศน์มหาชาติจะเริ่มด้วยเพลงโหมโรง และกำหนดเพลงปี่พาทย์ประจำกัณฑ์ไว้ พอเทศน์จบจะมีการโปรยทานจากผู้คนที่ไปฟังเทศน์เพราะเชื่อว่าทำบุญแล้วต้องทำทานด้วยส่วนสายสินและข้าวของต่างๆใครอยากได้ก็บูชากลับบ้านตามกำลังศรัทธา สำหรับใครท้องหิวจะมีโรงทานจากผู้ใจบุญเลี้ยงตลอดจนจบงานเทศน์ เรียกว่าอิ่มบุญอิ่มท้องเลยทีเดียว


มหาเวสสันดรชาดก ถูกแบ่งเป็น 13 ตอน เรียกว่ามี 13 กัณฑ์ 1000 พระคาถา คือ
1. กัณฑ์ทศพร มี 19 พระคาถา
2. กัณฑ์หิมพานต์ มี 134 พระคาถา
3. กัณฑ์ทานกัณฑ์ มี 209 พระคาถา
4. กัณฑ์วนประเวศน์ มี 57 พระคาถา
5. กัณฑ์ชูชก มี 79 พระคาถา
6. กัณฑ์จุลพน มี 35 พระคาถา
7. กัณฑ์มหาพน มี 80 พระคาถา
8. กัณฑ์กุมาร มี 101 พระคาถา
9. กัณฑ์มัทรี มี 90 พระคาถา
10. กัณฑ์สักกบรรพ มี 43 พระคาถา
11. กัณฑ์มหาราช มี 69 พระคาถา
12. กัณฑ์ฉกษัตริย์ มี 36 พระคาถา
13. กัณฑ์นครกัณฑ์ มี 48 พระคาถา

จะเห็นได้ว่าคติธรรมต่อการดำเนินชีวิตตามหลักพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะคติของการทำบุญให้ทาน การกลับชาติมาเกิดของพระโพธิสัตว์คือพระเวสสันดร ความเชื่อเรื่องบุญ-กรรมอยู่ในสำนึกของชาวไทยทั้งสังคม ด้วยอิทธิพลของมหาชาติชาดกที่มีบทบาทอย่างสูงในการสร้างบูรณาการทางศาสนาให้เกิดขึ้น ต่อชาวไทยทุกภูมิภาคมาเป็นเวลาช้านานแล้ว พระสงฆ์เป็นผู้มีบทบาทอย่างยิ่งต่อกระบวนการเชื่อมต่อประเพณีหลวงสู่ประเพณีราษฎร์ ทำให้เกิดความกลมกลืนในทางวัฒนธรรมที่มีพระพุทธศาสนาเป็นสัญลักษณ์แห่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ร่วมกันท่ามกลางคติความเชื่อในท้องถิ่นที่แตกต่างกัน สิ่งที่ได้รับเมื่อฟังเทศน์มหาชาติ ได้แก่ สอนให้คนรู้จักทำความดี ประกอบกรรมดี รู้จักการบำเพ็ญบุญ บริจาคทาน สละความเห็นแก่ตัว สละทรัพย์เพื่อสาธารณประโยชน์ เป็นการลดความตระหนี่ในใจ ลดความเห็นแก่ตัว ทำให้ไม่ยึดติดกับสิ่งที่เป็นรูป รสกลิ่น เสียง ที่เป็นอนิจจัง เพราะเวลาจากโลกนี้ไปแล้ว ไม่มีใครนำสิ่งต่างๆติดตัวไปได้ มีแต่ความดีและความชั่วเท่านั้นที่สามารถเอาไปได้ในภพหน้า

 

 

อ้างอิง
– พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช) ป.ธ. ๙ ราชบัณฑิต พจนานุกรมเพื่อการศึกษาพุทธศาสน์ ชุด คำวัด, วัดราชโอรสาราม กรุงเทพฯ พ.ศ. 2548 P religion world.svg บทความเกี่ยวกับศาสนานี้ยังเป็นโครง คุณสามารถช่วยวิกิพีเดียได้โดยเพิ่มข้อมูล ดูเพิ่มที่ สถานีย่อย:ศาสนา
– http://talk.mthai.com/topic/388285
– http://chinaiji.blogspot.com/2013/02/blog-post.html
– โรงเรียนราชินี. เทศน์มหาชาติ โรงเรียนราชินี ๑๓-๑๕ ธันวาคม ๒๕๔๘.กรุงเทพฯ : กลุ่มสาระสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรมโรงเรียนราชินี, ๒๕๔๘. หน้า ๒๒-๒๓.
– กรมการศาสนา. เทศน์มหาชาติเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๒ ระหว่างวันที่ ๑๕-๑๗ กันยายน ๒๕๔๒ ณ หอประชุมพุทธมณฑลอำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม. กรุงเทพฯ : วงตะวัน,๒๕๔๒. ๑๓๒ หน้า.
– ธนิต อยู่โพธิ์. ตำนานเทศน์มหาชาติ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีพิมพ์เป็นที่ระลึกในงานทอดผ้าพระกฐินพระราชทาน ณ วัดมหรรณพาราม กรุงเทพมหานคร วันที่ ๒๙ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๒๔. กรุงเทพฯ : สำนักเลขาธิการ นายกรัฐมนตรี, ๒๕๒๔. หน้า ๓๖-๔๒.

 

 

 

อื่นๆ

เมนู