บทความประจำเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2564
เรื่อง บุญเข้ากรรมหรือปริวาสกรรม
ฮีตสิบสอง คองสิบสี่ เป็นขนบธรรมเนียมประเพณีของชาติพันธ์ลาว ซึ่งร่วมถึงชาวลาวอีสานที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นวัฒนธรรมแสดงถึงความเป็นชาติเก่าแก่และเจริญรุ่งเรืองมานาน เป็นเอกลักษณ์ของชาติและท้องถิ่น ในสังคมของชาวไทยอีสานบุญเข้ากรรมถือเป็นประเพณีหนึ่ง และเป็นประเพณีแรกในฮีตสิบสอง
บุญเข้ากรรม หรือ บุญเดือนอ้าย ตรงกับวันเพ็ญเดือนอ้ายหรือเดือนธันวาคม จัดทำโดยพระภิกษุ ผู้ต้องอาบัติสังฆาทิเสส คือ อาบัติขนาดกลาง ต้องปฏิบัติวุฏฐานวิธี คือ ระเบียบเป็นเครื่องออกอาบัติ โดยให้พระสงฆ์เข้าไปอยู่ในเขตที่จำกัด ทรมานกายและชำระจิตใจให้บริสุทธิ์ ถือเป็นการแทนคุณมารดาที่ต้องอยู่กรรม(อยู่ไฟ) ด้วยการเข้ากรรมทำอยู่เก้าราตรี คือ สามราตรีแรกเรียกว่า อยู่บริวาส และหกราตรีต่อมาเรียกว่า อยู่มานัต เมื่อครบเก้าราตรีจึงอัพภาน คือ ออกจากกรรม โดยมีพระสงฆ์ 20 รูป เป็นผู้สวดอัพภาน
ความเป็นมา
มีเรื่องเล่าว่า ครั้งหนึ่งมีพระภิกษุรูปหนึ่ง ล่องเรือไปตามแม่น้ำคงคาได้เอามือไปจับใบตะไคร่น้ำขาดเข้าใจว่าเป็นอาบัติเพียงเล็กน้อยจึงมิได้แสดงอาบัติ ต่อมาแม้ว่าพระภิกษุรูปนั้นจะปฏิบัติธรรมอยู่ในป่าเป็นเวลานานก็ยังคงนึกอยู่เสมอว่า ตนต้องอาบัติอยากจะใคร่แสดงอาบัติแต่ไม่มีพระภิกษุรับแสดงครั้นเมื่อพระภิกษุรูปที่กล่าวมรณะแล้วจึงไปเกิดเป็นนาคชื่อเอรถปัต จากเหตุเพียงอาบัติเล็กน้อยเพียงเป็นอาบัติเบายังกรรมติดตัวขนาดนี้ ถ้าเป็นอาบัติหนักก็คงจะบาปมากกว่านี้ ดังนั้นจึงจัดให้มีการอยู่ปริวาสกรรมเพื่อให้พ้นจากอาบัติ
ชาวอีสานโบราณเชื่อกันว่าพระภิกษุหากได้อยู่กรรมแล้ว ย่อมจะออกจากอาบัติได้และทำให้บรรลุมรรคผลดังปรารถนาถึงเดือนอ้ายจึงกำหนดให้เป็นเดือนเข้ากรรม เพื่อให้พระสงฆ์ออกจากอาบัติดังกล่าว
ความสำคัญ
บุญเข้ากรรม คือบุญที่ทำขึ้นในเดือนอ้าย (เดือนเจียง) ซึ่งเป็นเดือนแรกของปีที่ชาวอีสานจะต้องประกอบพิธีบุญ กันจนเป็นประเพณีซึ่งอาจจะเป็นข้างขึ้นหรือข้างแรมก็ได้ พิธีบุญนี้จะเกี่ยวกับพระโดยตรงซึ่งความจริงน่าจะเป็นเรื่องของสงฆ์โดยเฉพาะ แต่มีความเชื่อกันว่าเมื่อทำบุญกับพระที่ทำพิธีนี้จะทำให้ได้อานิสงส์มาก ญาติโยมจึงคิดวันทำบุญเข้ากรรมขึ้น บุญเข้ากรรมที่บอกว่าเป็นบุญสำหรับพระโดยตรงนั้นเพราะเป็นกิจกรรมที่ต้องการทำเพื่อให้พระที่ต้องอาบัติสังฆาทิเสส (อาบัติหนักรองจากปาราชิก) ซึ่งถือว่าเป็นครุกาบัติประเภทหนึ่ง ภิกษุเมื่อต้องอาบัตินี้แล้วจะต้องทำพิธีที่เรียกว่า วุฏฐานพิธีหรือพิธีเข้ากรรมตามที่ชาวพุทธทั่วไปรู้จักกัน
การเข้ากรรม คือ การอยู่ปริวาสกรรมของภิกษุผู้ต้องอาบัติสังฆาทิเสส เรียกว่า “เข้าปริวาสกรรม” โดยให้พระภิกษุผู้ต้องอาบัติ (กระทำผิด) ได้สารภาพต่อหน้าคณะสงฆ์ เพื่อเป็นการฝึกจิตสำนึกถึงความบกพร่องของตนเอง และมุ่งประพฤติตนให้ถูกต้อง ตามพระวินัย พิธีเข้าปริวาสกรรมจะเป็นข้างขึ้นหรือข้างแรมก็ได้ โดยกำหนดไว้ 9 ราตรี พระภิกษุสงฆ์ที่ต้องการเข้าปริวาสกรรมต้องไปพักอยู่ในสถานที่สงบ ไม่มีผู้คนพลุกพล่าน
สังฆาทิเสส มี 13 ข้อ ภิกษุผู้ต้องอาบัติสังฆาทิเสสจะต้องเข้าปริวาสกรรม
1. ปล่อยน้ำอสุจิด้วยความจงใจ เว้นไว้แต่ฝัน
2. เคล้าคลึง จับมือ จับช้องผม ลูบคลำ จับต้องอวัยวะอันใดก็ตามของสตรีเพศ
3. พูดจาหยาบคาย เกาะแกะสตรีเพศ เกี้ยวพาราสี
4. การกล่าวถึงคุณในการบำเรอตนด้วยกาม หรือถอยคำพาดพิงเมถุน
5. ทำตัวเป็นสื่อรัก บอกความต้องการของอีกฝ่ายให้กับหญิงหรือชาย แม้สามีกับภรรยา หรือแม้แต่หญิงขายบริการ
6. สร้างกุฏิด้วยการขอ
7. สร้างวิหารใหญ่ โดยพระสงฆ์มิได้กำหนดที่ รุกรานคนอื่น
8. แกล้งใส่ความว่าปาราชิกโดยไม่มีมูล
9. แกล้งสมมุติแล้วใส่ความว่าปาราชิกโดยไม่มีมูล
10. ยุยงสงฆ์ให้แตกกัน
11. เป็นพวกของผู้ที่ทำสงฆ์ให้แตกกัน
12. เป็นผู้ว่ายากสอนยาก และต้องโดนเตือนถึง 3 ครั้ง
13. ทำตัวเป็นเหมือนคนรับใช้ ประจบคฤหัสถ์
การเข้าปริวาสกรรม เป็นการสำรวม กาย วาจา ใจ ไม่ให้กระทำผิดอีกต่อไป มีการนั่งสมาธิเดินจงกรม สวดมนต์ภาวนา ใช้เวลามากกว่าปกติ บางทีมีการอดข้าว อดน้ำถึง 2-3 วันก็มี หรือบางทีก็ถูกอาจารย์กรรมฝึกหนัก ทั้งนี้ก็เพื่อให้รู้และเข้าใจความยากลำบากของคำว่า กรรม หรืออยู่กรรม ที่แม่ได้อยู่ไฟหรือว่าอยู่กรรมนั้นมี ความยากลำบากเพียงไร เพราะฉะนั้น คนในสมัยก่อนๆ จึงมีความตระหนักและเข้าใจในบุญคุณของพ่อแม่ ไม่มีข่าวปรากฏให้ได้ยินเห็นว่าลูกฆ่าพ่อ ตีแม่ ลูกอกตัญญู แต่กลับเทิดทูนพ่อแม่ในฐานะปูชนียบุคคลในระดับครอบครัวอย่างแท้จริง ในกิจกรรมของพระในการนี้ พุทธศาสนิกชนผู้หวังบุญกุศลก็ร่วมกันดูแลอุปัฎฐาก รักษาพระเจ้าพระสงฆ์ที่เข้าอยู่กรรม บริจาคทาน รักษาศีล ฟังธรรม เกี่ยวกับการเข้าอยู่ปริวาสกรรมของพระภิกษุ เรียกว่า”บุญเข้ากรรม” ส่วนกำหนดการทำบุญดังกล่าวได้กำหนดเอาเดือนอ้าย จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “บุญเดือนอ้าย”
ส่วนกิจของชาวพุทธศาสนิกชนในบุญเข้ากรรมนี้ คือการหาข้าวของเครื่องอุปโภคบริโภคถวายพระ ซึ่งถือว่าจะได้บุญมากกว่าการทำบุญตักบาตรทั่วไป
งานปริวาสกรรม ปฏิบัติธรรมบวชเนกขัมมะ ณ วัดหนองสะแก
จัดขึ้นวันที่ 20-30 เมษายน 2564 ที่วัดหนองสะแก ต.เจริญสุข อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.บุรีรัมย์
พิธีกรรมการอยู่ปริวาสกรรมของพระสงฆ์เป็นการจัดมาอย่างต่อเนื่องมีจุดประสงค์เพื่อเปิดโอกาสให้พระสงฆ์ได้ชำระศีลของตนให้บริสุทธิ์ เป็นการสืบต่ออายุพระพุทธศาสนาและเปิดโอกาสให้ชาวพุทธได้ร่วมทำบุญกับพระสงฆ์ด้วยการให้ทาน รักษาศีลและเจริญภาวนา
กำหนดการจัดงาน
วันที่ 18 เมษายน 2564 อุปสมบทหมู่
วันที่ 19 เมษายน 2564 วันรวมพระ
วันที่ 20 เมษายน 2564 วันขอปริวาส
วันที่ 24 เมษายน 2564 วันขอมานัด
วันที่ 30 เมษายน 2564 วันขออัพภาน
การเข้าปริวาสกรรม ณ วัดหนองสะแก กิจกรรมยามเช้าทำวัตรเช้า 1 ชั่วโมง เดินจงกรม 1 ชั่งโมง รักษาศีลและฟังพระธรรมเทศนา กิจกรรมยามบ่าย นั่งสมาธิ เพื่อให้เกิดความสงบ เกิดความรู้สึกตัวและมีสติกับสิ่งที่ทำอยู่ ใช้เวลานั่ง 2 ชั่วโมง กิจกรรมยามเย็น เดินจงกรมอ้อมโบสถ์ เดินเพื่อความรู้สึกตัว รู้ตัวเมื่อยกเท้าก้าวเดิน รู้เท้าซ้ายขวา รู้เท้ากระทบ เย็นร้อนอ่อนแข็งของพื้น เป็นการเจริญสติ เพื่อความรู้ตัว ใช้เวลาเดิน 1 ชั่วโมง ทำวัตรเย็น นั่งสมาธิ ฟังพระธรรมเทศนา เป็นกิจวัตรประจำวัน ปฏิบัติทั้งสิ้น 10 วัน
การอยู่ปริวาสกรรม นับว่าเป็นหนึ่งในประเพณีสิบสองเดือน ของชาวอีสานที่ชาวบ้านให้ความสำคัญเสมอมา ประเพณีการอยู่ปริวาสกรรม ทำให้ประชาชนได้สร้างความสามัคคีให้เกิดขึ้นในหมู่คณะการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ทำให้เกิดการเรียนรู้ในการอยู่ปริวาสกรรม คนรุ่นใหม่สืบทอดประเพณีต่อไป ในการจัดงานมีการใช้จ่าย ได้จากศรัทธาญาติโยมที่มาทำบุญ
อ้างอิง
https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%AE%E0%B8%B5%E0%B8%95%E0%B8%AA%E0%B8%B4%E0%B8%9A%E0%B8%AA%E0%B8%AD%E0%B8%87_%E0%B8%84%E0%B8%A5%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%AA%E0%B8%B4%E0%B8%9A%E0%B8%AA%E0%B8%B5%E0%B9%88
พระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๘ หน้าที่ ๑๒๔-๑๒๘
เดือนอ้าย – บุญเข้ากรรม, พฤศจิกายน 20, 2015, ไทสกล คนสว่าง.
https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B9%80%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1
มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (2539). พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.