สวัสดีค่ะ ดิฉันชื่อ นางสาววรรณิสา วันทอง เป็นเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน ประเภทบัณฑิตจบใหม่ ในโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ (มหาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ) ของมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ โดยได้รับผิดชอบพื้นที่ตำบลถลุงเหล็ก อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ และได้รับมอบหมายให้ลงพื้นที่สำรวจและเก็บข้อมูลตามแบบสอบถามข้อมูลระดับบุคคล ครัวเรือนและชุมชน (แบบฟอร์ม 01) และแบบสอบถามเกี่ยวกับผลกระทบจากโรคโควิด-19 (แบบฟอร์ม 02) ในหมู่บ้านสำโรง หมู่ 4 และบ้านหนองเรือ หมู่ 6 ตำบลถลุงเหล็ก อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์

               

        ดิฉันได้ลงพื้นที่สำรวจและเก็บข้อมูลหมู่บ้านสำโรง หมู่ 4 และบ้านหนองเรือ หมู่ 6 ตำบลถลุงเหล็ก อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ ระหว่างวันที่ 6-10 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 09.00-16.00 น. ของทุกวัน ซึ่งบ้านสำโรง หมู่ 4 มีทั้งหมด 64 หลังคาเรือน แต่มีคนอาศัยอยู่จริง จำนวน 50 หลังคาเรือน บ้านที่ไม่มีคนอยู่ ส่วนมากจะไปทำงานที่ต่างจังหวัด

               

               

        จากการลงพื้นที่เก็บข้อมูลบ้านสำโรง หมู่ 4 พบว่า ได้รับความร่วมมือจากท่านผู้ใหญ่บ้าน นายไพศาล ศิลากุล และประชาชนในพื้นที่เป็นอย่างดี มีการต้อนรับเป็นอย่างดี ทุกคนยิ้มแย้มแจ่มใส และพูดคุยเป็นกันเอง ในด้านสภาพพื้นที่ส่วนใหญ่ใช้ประโยชน์ทางด้านเกษตรกรรม ประชาชนในพื้นที่ประกอบอาชีพทำนาเป็นอาชีพหลัก มีการทำสวน ปลูกผักสวนครัวไว้กินในครัวเรือน และเลี้ยงสัตว์ เช่น ไก่ เป็ด วัว เป็นต้น เงินรายได้จากการขายข้าวก็ได้ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายในครอบครัว ประชาชนบางกลุ่มจึงต้องหาอาชีพเสริมทำ เช่น ทอผ้าไหม ถักวิกผม รับจ้างทั่วไป ค้าขาย ฯลฯ ส่วนกลุ่มผู้สูงอายุส่วนมากจะว่างงาน กิจวัตรประจำวันจะอยู่บ้านเลี้ยงหลาน ปลูกผักสวนครัว เลี้ยงสัตว์ เงินรายได้ของครอบครัวได้มาจากเงินผู้สูงอายุและลูกหลานที่ได้ทำงานส่งเงินมาให้ใช้บ้าง ด้านสิ่งแวดล้อมในชุมชน พบว่า หมู่บ้านมีความสะอาด ไม่ค่อยมีขยะ ชุมชนไม่แออัด มีอากาศบริสุทธิ์ มีร้านค้าเพียงพอต่อความต้องการของประชาชน ความโดดเด่นของหมู่บ้านนี้คือ แต่ละครัวเรือนจะมีการทำสวนเล็ก ๆ ไว้หน้าบ้านหรือปลูกผักสวนครัวไว้กินเอง จนได้รับยกย่องให้เป็นหมู่บ้านต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียง ปี 2563 และมีกลุ่มแม่บ้านทอผ้าไหมด้วย

   

        ด้านปัญหาต่าง ๆ ในชุมชน ดิฉันได้สอบถามจากท่านผู้ใหญ่บ้าน ปัญหาหลัก ๆ ที่พบคือ 1) ลำห้วยตื้นเขิน หน้าแล้งขาดน้ำ ไม่เพียงพอต่อการอุปโภค บริโภค 2) ปัญหาหนี้สินในครัวเรือน มีรายจ่ายมากกว่ารายรับ 3) ปัญหาความยากจน ประชาชนบางกลุ่มไม่มีรายได้เสริม 4) ปัญหาไฟฟ้า มีแสงสว่างตามถนนไม่เพียงพอ และ 5) ปัญหาการจัดการขยะในหมู่บ้าน คือ ชาวบ้านต้องเสียเงินให้รถที่มาเก็บขยะในหมู่บ้าน ด้านความต้องการในการพัฒนาชุมชน ดิฉันได้สอบถามจากท่านผู้ใหญ่บ้านและชาวบ้าน พบว่า 1) อบรมพัฒนาอาชีพเสริมให้ชาวบ้านผู้ว่างงาน เพื่อให้มีรายได้หลายช่องทาง 2) ฝึกอบรมให้ความรู้แก่ชาวบ้านเกี่ยวกับเรื่องการทำเกษตรอินทรีย์ 3) อบรมเกี่ยวกับการออกแบบลายผ้าไหมที่แปลกใหม่ น่าสนใจ เพื่อเพิ่มมูลค่าของผ้าไหม 4) ต้องการให้มีการทำกิจกรรมจิตอาสา พัฒนาด้านสิ่งแวดล้อมภายในชุมชน และ 5) พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในชุมชน เช่น ไฟฟ้า ถนน น้ำประปา เป็นต้น

              

        นอกจากนี้ดิฉันยังได้ช่วยพี่สุภาลักษณ์ อ่อนรัมย์ ในการลงพื้นที่เก็บข้อมูลบ้านหนองเรือ หมู่ 6 ด้วย  พบว่า ไม่ค่อยได้รับความร่วมมือจากท่านผู้ใหญ่บ้านเท่าไหร่นัก เพราะท่านไม่ค่อยอยู่บ้าน จึงพบตัวยากมาก ดิฉันกับเพื่อนและพี่สุภาลักษณ์จึงช่วยกันเก็บข้อมูล ชาวบ้านให้ความร่วมมือดี ปัญหาในชุมชนหลัก ๆ ที่พบคือ 1) ผู้ใหญ่บ้านกับชาวบ้านไม่ค่อยถูกกัน และไม่สามัคคีกัน ทำให้หมู่บ้านพัฒนาไปได้ยาก 2) ชาวบ้านไม่ค่อยสนใจและไม่ให้ความร่วมมือในการเข้าอบรมต่าง ๆ และ 3) ปัญหาน้ำประปาไม่สะอาด

              

        จากที่กล่าวมาทั้งหมด โดยภาพรวมพบว่า ในการลงพื้นที่เก็บข้อมูลบ้านสำโรง หมู่ 4 ดิฉันได้รับความร่วมมือจากท่านผู้ใหญ่บ้านและประชาชนในพื้นที่เป็นอย่างดี สิ่งที่ดิฉันได้รับจากการลงพื้นที่เก็บข้อมูลในครั้งนี้ คือ ประสบการณ์ ความรู้ใหม่ ๆ ที่พบเจอในชุมชน ได้เรียนรู้วิถีชีวิตของชาวบ้าน สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาในชุมชนที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข  มีทักษะในการสื่อสาร/ประสานงานกับหน่วยงานหรือประชาชนในพื้นที่ และมีทักษะในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ดี ซึ่งสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ทำให้เรามีการพัฒนาตนเองเพิ่มมากขึ้น

               

              

อื่นๆ

เมนู