สวัสดีค่ะ ดิฉันชื่อ นางสาววรรณิสา วันทอง เป็นเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน ประเภทบัณฑิตจบใหม่ ในโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ (มหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ) ของมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ได้รับผิดชอบพื้นที่ตำบลถลุงเหล็ก อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์

เนื่องจากในช่วงนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 กำลังระบาดอย่างหนัก ส่งผลกระทบให้ต้องเลื่อนกิจกรรมอบรมให้ความรู้ชาวบ้านออกไปก่อนจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น ทำให้ต้องปรับแผนการปฏิบัติงานประจำเดือนพฤษภาคมใหม่ ท่านคณาจารย์จึงมอบหมายให้ผู้ปฏิบัติงานทุกคนลงพื้นที่เก็บข้อมูลในหัวข้อต่าง ๆ และกรอกข้อมูลที่ได้ลงในแอพ https://cbd.u2t.ac.th ซึ่งมีทั้งหมด 10 หัวข้อ ดังนี้ 1) ผู้ที่ย้ายกลับบ้านเนื่องจากสถานการณ์โควิด 2) แหล่งท่องเที่ยว 3) ที่พัก/โรงแรม 4) ร้านอาหารในท้องถิ่น 5) อาหารที่น่าสนใจประจำถิ่น 6) เกษตรกรในท้องถิ่น 7) พืชในท้องถิ่น 8) สัตว์ในท้องถิ่น 9) ภูมิปัญญาท้องถิ่น และ 10) แหล่งน้ำในท้องถิ่น

เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ดิฉันได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูลไปบางส่วนแล้ว ในหัวข้อแหล่งท่องเที่ยว ร้านอาหารในท้องถิ่น และแหล่งน้ำในท้องถิ่น ของบ้านสำโรง หมู่ 4 ตำบลถลุงเหล็ก อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ พบว่า แหล่งท่องเที่ยวของบ้านสำโรง หมู่ 4 บ้านดอนดู่แดง หมู่ 13 และบ้านสระล้อม หมู่ 14 มี 1 แห่ง คือ วัดสำโรง เป็นสถานที่ทางพระพุทธศาสนาที่สำคัญของชุมชน และเป็นศูนย์รวมจิตใจของผู้คนในชุมชน ส่วนร้านอาหารในท้องถิ่น มี 1 ร้าน คือ ร้านสุพัตรา เป็นร้านขายของชำ และขายก๋วยเตี๋ยวกับส้มตำด้วย มีลูกค้าแวะเวียนมาซื้ออยู่เรื่อย ๆ ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นคนในพื้นที่ และแหล่งน้ำในท้องถิ่น พบว่า มีแหล่งน้ำ 1 แห่ง คือ ห้วยยาง เป็นแหล่งน้ำที่ใช้ทำน้ำประปาของหมู่บ้าน ให้ชาวบ้านได้ใช้อุปโภคบริโภคและเพื่อการเกษตร

ส่วนการปฏิบัติงานในเดือนพฤษภาคม ดิฉันได้ลงพื้นที่หมู่บ้านสำโรง หมู่ 4 ตำบลถลุงเหล็ก เพื่อเก็บข้อมูลเพิ่มเติมในหัวข้อต่าง ๆ ได้แก่ 1) ผู้ที่ย้ายกลับบ้านเนื่องจากสถานการณ์โควิด 2) เกษตรกรในท้องถิ่น 3) สัตว์ในท้องถิ่น และ 4) พืชในท้องถิ่น ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

1) ผู้ที่ย้ายกลับบ้านเนื่องจากสถานการณ์โควิด ซึ่งในวันที่ดิฉันลงพื้นที่เก็บข้อมูลผู้ที่ย้ายกลับบ้านอยู่ระหว่างกักตัว 14 วัน ดิฉันจึงสอบถามข้อมูลจากผู้ใหญ่บ้านสำโรง นายไพศาล ศิลากุล ท่านให้ข้อมูลว่า “ผู้ที่ย้ายกลับบ้านมี 1 คน อายุ 51 ปี เพศหญิง ย้ายมาจากกรุงเทพมหานคร เขตหนองจอก สาเหตุที่ย้ายกลับบ้าน เพราะได้รับผลกระทบจากโควิด ว่างงานต้องการลดค่าใช้จ่าย จึงอยากกลับมาหางานทำที่บ้าน” โดยในการกักตัวมีเจ้าหน้าที่ อสม. เข้ามาดูแลช่วยเหลือและมีมาตรการการป้องกันโควิดเป็นอย่างดี

2) เกษตรกรในท้องถิ่น ดิฉันได้ลงสำรวจพื้นที่ทำการเกษตร ของเกษตรกรท่านหนึ่งชื่อ นายทองจันทร์ คำคูณ เป็นบุคคลที่ได้รับคัดเลือกเป็นต้นแบบการทำสวนเกษตรพอเพียงโคกหนองนาโมเดลประจำหมู่บ้านสำโรง ตำบลถลุงเหล็ก มีเนื้อที่ทำการเกษตรประมาณ 7 ไร่ ประกอบด้วย ที่นา สระน้ำ โรงเรือนเลี้ยงหมู ไก่พันธุ์ไข่ เป็ด และมีพื้นที่สำหรับปลูกกล้วย ไม้ผล และไม้ยืนต้นอื่น ๆ สำหรับการขุดสระตอนนี้เสร็จเรียบร้อยแล้ว เหลือเพียงต้นไม้บางส่วนที่รอโครงการอนุมัติจัดสรรนำมาให้ปลูกต่อไป

3) สัตว์ในท้องถิ่น ซึ่งสวนเกษตรพอเพียงโคกหนองนาโมเดลของ นายทองจันทร์ คำคูณ ได้เลี้ยงสัตว์เพื่อจำหน่ายด้วย ได้แก่ หมู ไก่พันธุ์ไข่ และเป็ด ซึ่งหมูมีจำนวน 20 ตัว เพศผู้ 8 ตัว เพศเมีย 12 ตัว ไก่พันธุ์ไข่มี 30 ตัว และเป็ดอีก 25 ตัว เกษตรกรท่านนี้ได้ให้สัมภาษณ์ว่า ท่านและครอบครัวช่วยกันดูแลสวนเกษตรและเลี้ยงสัตว์เอง ไม่ได้จ้างคนงาน เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย ท่านกล่าวว่า “การเลี้ยงสัตว์เพื่อจำหน่ายนอกจากจะเพิ่มรายได้ให้เราแล้ว ยังสามารถนำมูลสัตว์มาใช้ทำเป็นปุ๋ยเพื่อใส่ต้นไม้ได้อีกด้วย ซึ่งช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายได้มาก และยังลดการใช้ปุ๋ยเคมี ทำให้ปลอดภัยจากสารอันตรายได้เป็นอย่างดี”

4) พืชในท้องถิ่น ดิฉันได้ลงสำรวจพื้นที่ปลูกอินทผลัม ซึ่งปลูกไว้บริเวณหลังวัดสำโรง อยู่ในความดูแลของพระครูสุเมธ ธรรมวิจารณ์ เจ้าอาวาสวัดสำโรง ท่านให้สัมภาษณ์ว่า แต่ก่อนที่ดินหลังวัดเป็นพื้นที่ว่างไม่ได้ใช้ประโยชน์ ซึ่งในตอนนั้นท่านเกิดสนใจอินทผลัม เพราะเป็นพืชที่ได้รับความนิยมสูง นอกจากจะมีรสชาติอร่อยแล้วยังสามารถใช้เป็นยาบำรุงร่างกายได้อีกด้วย ท่านจึงศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับอินทผลัมอย่างจริงจังในอินเทอร์เน็ตด้วยตัวของท่านเอง ทั้งสายพันธุ์ วิธีการปลูก และการดูแลรักษา ซึ่งอินทผลัมที่ปลูกมีจำนวน 110 ต้น มีพันธุ์บาห์เรนกับพันธุ์อิหร่าน ปลูกเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2564 โดยได้รับความร่วมมือจากชาวบ้านในชุมชุนมาช่วยปลูกและดูแล พระครูสุเมธกล่าวว่า “ในอนาคตอยากให้สวนอินทผลัมแห่งนี้เป็นศูนย์แหล่งการเรียนรู้ให้แก่ชุมชน และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวดึงดูดให้นักท่องเที่ยวหรือผู้ที่สนใจมาที่วัดมากขึ้น ทั้งยังสามารถสร้างรายได้ให้กับวัดและชุมชนต่อไปได้ในอนาคต”

การปฏิบัติงานลงพื้นที่เก็บข้อมูลในครั้งนี้ ดิฉันได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากท่านเจ้าอาวาสวัดสำโรง ผู้ใหญ่บ้าน และประชาชนในพื้นที่ จากการลงพื้นที่ในครั้งนี้ทำให้ดิฉันได้รับความรู้ ประสบการณ์ใหม่ ๆ มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน ได้เรียนรู้วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้าน เรียนรู้วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีในชุมชน ทำให้มีการพัฒนาทักษะในด้านการติดต่อสื่อสาร การวางแผน การประสานงานกับผู้นำชุมชนหรือประชาชนในพื้นที่ มีการสร้างมนุษยสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่น และมีทักษะในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ดี ซึ่งทักษะต่าง ๆ เหล่านี้ช่วยให้เรามีการพัฒนาตนเองเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ

 

อื่นๆ

เมนู