ข้าพเจ้า นายบุญลือ พิมพ์นนท์ เป็นเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานกลุ่มประชาชน ตำบลหนองยายพิมพ์ อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ หลักสูตรการส่งเสริมและพัฒนาการผลิตปุ๋ยชีวภาพอัดเม็ด HS01: ในโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย (มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์) ข้าพเจ้าและทีมงานได้ปฏิบัติงานและดำเนินการทำกิจกรรมต่างๆ ประจำเดือนธันวาคม พ.ศ. 2564 ดังต่อไปนี้

เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2564 เวลา 13.30 น. อาจารย์ประจำหลักสูตร นำโดย อาจารย์ พลอยไพลิน ศรีวิเศษ ลงพื้นที่ให้กลุ่มผู้ปฏิบัติงานกลุ่มบัณฑิตจบใหม่ กลุ่มประชาชน และกลุ่มนักศึกษา ตำบลหนองยายพิมพ์ ลงพื้นที่อบรมการทำปุ๋ยมูลไส้เดือน ณ ศาลากลางหมู่บ้าน หมู่ 1 บ้านหนองยายพิมพ์ ตำบลหนองยายพิมพ์ อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ ทั้งนี้ได้มีวิทยากรบ้านหนองยายพิมพ์ นางสาวฉะไมพร แผ้วพลสง ดำรงตำแหน่งกำนันตำบลหนองยายพิมพ์ และ นายสำราญ สาทิพย์จันทร์ ได้เข้าร่วมอบรมการทำปุ๋ยมูลไส้เดือนในครั้งนี้ โดยมีเนื้อหาดังนี้

ปุ๋ยมูลไส้เดือน นอกจากจะเป็นที่ยอมรับและนิยมใช้ในการปลูกผัก เพราะอุดมไปด้วยสารอาหารที่พืชต้องการแล้ว การเลี้ยงไส้เดือนเพื่อทำปุ๋ยยังเป็นอีกหนึ่งวิธีรักษ์โลก ลดขยะจากเศษอาหารได้ด้วย ใช้เวลาเพียงแค่ 30 วัน ก็ได้ปุ๋ยดีมีคุณภาพใช้เองภายในครัวเรือน

ธาตุอาหารในปุ๋ยมูลไส้เดือน ประกอบด้วย ไนโตรเจน 0.995% ฟอสฟอรัส 0.669% โพแทสเซียม 1.487% เหมาะสำหรับบำรุงต้น ราก ใช้ในช่วงที่พืชกำลังเติบโต ใช้เป็นส่วนผสมของวัสดุปลูกและวัสดุเพาะกล้าพืชได้ ช่วยให้ดินมีโครงสร้างดีขึ้น ระบายน้ำและอากาศได้ดี และเก็บความชื้นได้มากขึ้น ช่วยให้ระบบรากพืชกระจายตัวในดินได้ดีขึ้น การทำปุ๋ยมูลไส้เดือน ประกอบด้วย 2 ส่วนหลัก คือ อาหารของไส้เดือนและบ้านไส้เดือน ซึ่งทั้ง 2 ส่วน ใช้ต้นทุนเพียงน้อยนิด โดยมีขั้นตอนการทำ ดังนี้

  • อาหารของไส้เดือน

เศษผัก เศษอาหาร แหล่งอาหารชั้นดีและใช้ต้นทุนน้อย โดยส่วนใหญ่จะเน้นเศษผักที่มีเส้นใยย่อยง่าย เช่น ผักกาด คะน้า กวางตุ้ง ผักบุ้ง ผลไม้ แตงโม มะละกอ ผลไม้ที่ไม่ควรนำมาใช้เป็นอาหารไส้เดือน คือ มะนาว สับปะรด เพราะมีความเป็นกรดหรือด่างที่มีผลต่อผิวและระบบย่อยอาหารของไส้เดือน

  • บ้านไส้เดือน

ใช้วัสดุไม่กี่ชนิด คือ ภาชนะทึบแสง ผ้าคลุม และวัสดุรองพื้น เช่น ขี้เลื่อย ขุยมะพร้าว เศษใบไม้ และเปลือกถั่ว ซึ่งจะช่วยวัสดุพรางแสงให้บ้านไส้เดือน แต่ดีที่สุด คือ “มูลวัวนม” เพราะมีคุณประโยชน์สองอย่างในหนึ่งเดียวทั้งพรางแสง แถมยังเป็นอาหารชั้นเลิศที่ไส้เดือนต้องการ

ขั้นตอนการทำปุ๋ยมูลไส้เดือน การเลี้ยงในบ่อซีเมนต์

– นำท่อปูนบ่อซีเมนต์มาเจาะรู ระบายน้ำด้านข้างเพื่อให้น้ำไหลออกได้สะดวก

– นำฝาท่อบ่อซีเมนต์ มารองพื้นบ่อ เพื่อป้องกันไส้เดือนหลุดออก

– นำต้นกล้วยมาใส่ในท่อแช่น้ำไว้ประมาณ 14 วัน หรือ 2 อาทิตย์ เพื่อให้จืด หรือลดความเค็มลง

– นำขุยมะพร้าวหรือแกลบรองพื้น เพื่อเป็นที่อาศัยของไส้เดือน

– นำมูลวัวไปแช่น้ำก่อนนำมาใช้ เพื่อคายแก๊สที่สะสมอยู่หรือลดความร้อนของบ้านไส้เดือน

– ใส่เศษผักที่เตรียมไว้หั่นให้เป็นชิ้นเล็กๆ หรือผลไม้ เช่น แตงโม มะละกอ เพื่อเป็นอาหารของไส้เดือน และสามารถย่อยสลายได้ง่าย

– นำอาหารจากบ้านเก่าของไส้เดือนมาผสมอีก เพื่อสร้างความเคยชินให้กับบ้านใหม่ของไส้เดือน (ถ้ามี) แล้วรดน้ำให้มีความชื้นพอประมาณ

– นำไส้เดือนสายพันธุ์ AF ลงใส่บ่อซีเมนต์ที่เตรียมไว้ เพราะสายพันธุ์นี้มีความคงทนแข็งแรงต่อสภาพภูมิอากาศได้ดี มีความสามารถสลายและย่อยอาหารได้ดี และเป็นไส้เดือนที่ขยายพันธุ์ได้เร็ว

– นำตาข่ายหรือมุ้งลวดมาคลุม เพื่อพรางแสงสีดำและช่วยป้องกันศัตรูของไส้เดือน เช่น มด ไก่ นก และแมลงต่างๆ

– รดน้ำติดต่อกันประมาณ 20 วัน แล้วหยุดรดน้ำประมาณ 1 อาทิตย์ เพื่อรอเก็บมูลของไส้เดือน โดยการนำเอามาร่อนดินกับมูลไส้เดือนออกมาผึ่งแดดให้แห้งประมาณ 3-5 วัน แล้วนำลงมาใส่บรรจุภัณฑ์ เพื่อจำหน่ายหรือนำไปใส่พืชผัก ผลไม้ต่างๆ ต่อไป

หมายเหตุ: การเลี้ยงไส้เดือนในบ่อซีเมนต์จะใช้ปริมาณไส้เดือนมากกว่าเลี้ยงในกะละมัง

ขั้นตอนการทำปุ๋ยมูลไส้เดือน การเลี้ยงในกะละมัง

– นำกะละมังมาเจาะรู ระบายน้ำแบบหยด

– โรยแกลบหรือขุยมะพร้าวรองพื้น เพื่อเป็นที่อาศัยของไส้เดือน

– ใส่เศษผักที่มีหั่นให้เป็นชิ้นเล็กหรือผลไม้ เพื่อให้ไส้เดือนย่อยได้หมดและหลงเหลือกากใยน้อยที่สุด

– นำมูลวัวไปแช่น้ำก่อนนำมาใช้ เพื่อคายแก็สที่สะสมอยู่ให้เบาบางลง เพราะแก๊สจะทำให้บ้านไส้เดือนร้อน

– นำอาหารจากบ้านเก่าของไส้เดือนมาผสมอีก เพื่อสร้างความเคยชินให้กับบ้านใหม่ (ถ้ามี) แล้วรดน้ำให้มีความชื้นพอประมาณ

– นำไส้เดือนสายพันธุ์ AF ลงใส่กะละมัง เพราะมีความคงทนต่อสภาพภูมิอากาศได้ดี มีความสามารถในการย่อยสลายที่ดี และเป็นไส้เดือนที่ขยายพันธุ์ได้เร็ว

– นำผ้ามาคลุมหรือมุ้งลวดตาข่ายพรางแสงสีดำและช่วยป้องกันศัตรูของไส้เดือน เช่น มด ไก่ นก และแมลงต่างๆ

– รดน้ำติดต่อกันประมาณ 20 วัน แล้วหยุดรดน้ำประมาณ 1 อาทิตย์ เพื่อเก็บมูลไส้เดือน โดยการร่อนเอามูลของไส้เดือนมาผึ่งลมให้แห้ง 3-5 วัน แล้วนำลงใส่บรรจุภัณฑ์ เพื่อจำหน่ายหรือนำไปใส่ผัก ดอกไม้ ผลไม้ต่อไป

หมายเหตุ: การเลี้ยงไส้เดือนในกะละมังจะใช้ปริมาณไส้เดือนน้อยกว่าเลี้ยงในบ่อซีเมนต์

การปฏิบัติงานประจำเดือนธันวาคม พ.ศ. 2564 ข้าพเจ้าได้มีความรู้ ความเข้าใจ และขั้นตอนการเลี้ยงไส้เดือน เพื่อเก็บมูลของไส้เดือนมาใช้เป็นปุ๋ยสำหรับใส่พืชผัก ผลไม้ต่างๆ ตลอดจนสามารถทำเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชน สร้างรายได้ให้แก่ชุมชนในการขายปุ๋ยมูลไส้เดือน และได้เรียนรู้เกี่ยวรูปแบบบรรจุภัณฑ์ยี่ห้อหรือโลโก้ของปุ๋ยมูลไส้เดือนแท้ 100% ตรายายพิมพ์ เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้

 

 

 

อื่นๆ

เมนู