1. หน้าแรก
  2. คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
  3. HS01 - ตำบลหนองกง อำเภอนางรอง
  4. HSO1 อบรมเชิงปฏิบัติการ การออกแบบโลโก้และบรรจุภัณฑ์ปุ๋ยชีวภาพ ตามโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการมหาวิทยาลัยสู่ตำบลสร้างรากแก้วให้ประเทศ

HSO1 อบรมเชิงปฏิบัติการ การออกแบบโลโก้และบรรจุภัณฑ์ปุ๋ยชีวภาพ ตามโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการมหาวิทยาลัยสู่ตำบลสร้างรากแก้วให้ประเทศ

          สถานการณ์ด้านการเกษตรในปัจจุบัน เกษตรกรไทยยังขาดทักษะความรู้ในการใช้ปุ๋ยและสารเคมีในการทำการเกษตร อีกทั้งปุ๋ยในท้องตลาดมีการปรับราคาสูงขึ้นทำให้ต้นทุนการผลิตก็สูงขึ้นตาม ดินจึงเป็นทรัพยากรธรรมชาติ ที่มีความสำคัญต่อการผลิตพืช เนื่องจากเป็นแหล่งของธาตุอาหาร น้ำและอากาศสำหรับพืช ปัจจุบันความต้องการใช้ทรัพยากรดิน มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นตามจำนวนประชากร และแรงงานคืนถิ่น ประกอบกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ จึงทำให้มีการใช้ทรัพยากรดิน เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากในการผลิตพืช ขาดการบำรุงดูแลรักษาและฟื้นฟูดินที่ถูกต้อง ทำให้ดินเกิดความเสื่อมโทรม ขาดความอุดมสมบูรณ์ส่งผลให้ปริมาณและคุณภาพผลผลิตด้านการเกษตรลดลง การจัดการดินและการใช้ปุ๋ยที่ถูกต้องและเหมาะสมจะช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ โดยการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านปุ๋ยชีวภาพ หรือใช้ร่วมกับปุ๋ยเคมีแบบผสมผสาน เพื่อเป็นแนวทางหนึ่งในการลดต้นทุนการผลิตพืชให้แก่เกษตรกร อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดินสร้างระบบนิเวศน์ให้กับทรัพยากรตามธรรมชาติอย่างยั่งยืน

          ข้าพเจ้านายนัฏฐวัฒน์ มุกดา ปฏิบัติงานในประเภทประชาชน ตำบลหนองกง อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ สังกัดคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ หลักสูตรการส่งเสริมและพัฒนาการผลิตปุ๋ยอัดเม็ด HS01 ตามโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการมหาวิทยาลัยสู่ตำบลสร้างรากแก้วให้ประเทศ (U2T) ภารกิจที่ได้รับผิดชอบในเดือนธันวาคม 2564 ได้รับมอบหมาย

         วันที่ 4 ธันวาคม 2564 ให้เข้าร่วมอบรมเชิงปฏิบัติการ การออกแบบโลโก้และบรรจุภัณฑ์ปุ๋ยชีวภาพ  ของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนปุ๋ยชีวภาพตำบลหนองกง อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์

          ในวันที่ 4 ธันวาคม 2564 เวลา 09.00 น. ณ ศาลาประชาคม หมู่ที่ 1  บ้านหนองกง ตำบลหนองกง อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ ข้าพเจ้าได้เข้าร่วมอบรมเชิงปฏิบัติการ การออกแบบโลโก้และบรรจุภัณฑ์ปุ๋ยชีวภาพ ของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนปุ๋ยชีวภาพตำบลหนองกง นำโดยอาจารย์ประจำหลักสูตร อาจารย์พลอยไพลิน ศรีวิเศษ เป็นผู้จัดการอบรม มีวิทยากรคือ ดร.สินีนาฏ รามฤทธิ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม / ศิลปะและการออกแบบ คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรมมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ มีผู้นำชุมชนและหน่วยงานราชการเข้าร่วมเสนอแนวทางข้อคิดเห็นประกอบไปด้วย นางสาวพรรษา สมณะ และ นางสาวศิรประภา นิลศรี นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรปฏิบัติการเกษตรตำบลหนองกง, นางจตุพร ศรชัยกำนันตำบลหนองกง, นายสำเนียง ขวัญเมือง อดีตกำนันตำบลหนองกง, นายนายลำไย สุนทรกูลประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนปุ๋ยชีวภาพตำบลหนองกง, นายประทวน ดำเสนาผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหมู่ 1 ตำบลหนองกง

          การอบรมในครั้งนี้วิทยากร ดร.สินีนาฏ รามฤทธิ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม / ศิลปะและการออกแบบ คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรมมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ได้อธิบายรายละเอียดการออกแบบ โลโก้ ว่าจะต้องมีจุดเด่นเป็นอัตลักษณ์ ลูกค้าหรือผู้ที่พบเห็นจะต้องสะดุดตาจำง่ายบ่งบอกตัวตนของสินค้านั้น ๆ ว่าจำหน่ายอะไร ส่วนใหญ่มุ่งเน้นไปที่รูปตราสัญลักษณ์ของสินค้า สีสันของบรรจุภัณฑ์ รายละเอียดการอธิบายสินค้าบนบรรจุภัณฑ์ ต้องอ่านแล้วกระชับเข้าใจง่าย วิทยากรท่านยังกล่าวอธิบายต่ออีกว่า ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องขึ้นกับความต้องการของชุมชนด้วยว่าชอบรูปแบบโลโก้แบบใด และจะนำไปใช้กับผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ของชุมชนอีกหรือไม่

           จาการอบรมและปรึกษาหารือจึงได้ความต้องการของชุมชนดังนี้

           1. กลุ่มวิสาหกิจชุมชนปุ๋ยชีวภาพตำบลหนองกง มีปุ๋ยที่จัดจำหน่ายอยู่ 2 เภทได้แก่

สูตรที่ 1 ปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูง, สูตรที่ 2 ปุ๋ยอัดเม็ดสูตรพิเศษ

           2. ตราสัญลักษณ์ ใช้เป็นตรารวงทองเหมือนเดิม

           3. โลโก้ ใช้เป็นรูปรวงทองเหมือนเดิม

           4. ปรับรายละเอียดบนบรรจุภัณฑ์โดยเพิ่มด้านข้อมูล ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ผู้ติดต่อ ด้านความสวยงาม ลดเพิ่มข้อมูลส่วนประกอบตัวหนังสือให้กระชับ

           5. สีสันของบรรจุภัณฑ์สูตรที่ 1 ปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูงใช้สีโทนเขียว, สูตรที่ 2 ปุ๋ยอัดเม็ดสูตรพิเศษ.ใช้สีโทนม่วงแดง

           6. ปรับเปลี่ยนขนาดรูปแบบบรรจุภัณฑ์ ให้เล็กลงจากปกติจะใช้ถุงบรรจุที่ 50 กิโลกรัมต่อ 1 กระสอบ ชาวบ้านและผู้นำชุมชนต้องการปรับขนาดให้เล็กลงง่ายต่อการใช้ โดยเพิ่มอีก 2 ขนาด มีขนาด 5 กิโลกรัม และ 1 กิโลกรัมเพิ่มเติม

          อบรมเชิงปฏิบัติการ การออกแบบโลโก้และบรรจุภัณฑ์ปุ๋ยชีวภาพ

 

           สิ่งที่ได้รับในการเข้าร่วมกิจกรรมประจำเดือนธันวาคม 2564 ข้าพเจ้าทราบถึงบริบทของชุมชนตนเอง ซึ่งมีภูมิปัญญาท้องถิ่น ทุนทางทรัพยากร, ทุนทางปัญญา, ทุนทางวัฒนธรรม และความหลากหลายทางชีวภาพที่มีอยู่ในชุมชนนำมาพัฒนา ต่อยอดสร้างเป็นนวัตกรรมของชุมชน พร้อมการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ, เอกชน, ชุมชน, และมหาวิทยาลัย เป็นการวิเคราะห์และสังเคราะห์ภาพรวมของปัญหาความต้องการของชุมชน ว่าชุมชนต้องการอะไร พร้อมรู้การเชื่อมโยงสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ด้านองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรม นำมาปรับใช้ในบริบทของชุมชนตนเอง และข้าพเจ้ายังเข้าใจคำว่าจิตอาสาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น เห็นความสามัคคีของคนในชุมชน ในการร่วมแรงร่วมใจกันปฏิบัติงาน พร้อมการเสนอความคิดอย่างสร้างสรรค์ทำให้ผลงานออกมาตรงตามที่ชุมชนต้องการ ซึ่งจะก่อเกิดความความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืนในชุมชนอย่างแท้จริง

 คำสำคัญ : ทรัพยากรธรรมชาติ, เทคโนโลยี, นวัตกรรมปุ๋ยชีวภาพ, ระบบนิเวศน์, วิสาหกิจชุมชน, โลโก้, ปุ๋ยอินทรีย์, อัตลักษณ์, บรรจุภัณฑ์  

 

 

อื่นๆ

เมนู