1. หน้าแรก
  2. คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
  3. HS02 - ตำบลหนองโสน อำเภอนางรอง
  4. HS02 กิจกรรมเสวนาเกษตรทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคกหนองนาโมเดล กิจกรรมการเก็บข้อมูล CBD และกิจกรรมเสวนาจตุรภาคีสี่ประสานสู่การพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน

HS02 กิจกรรมเสวนาเกษตรทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคกหนองนาโมเดล กิจกรรมการเก็บข้อมูล CBD และกิจกรรมเสวนาจตุรภาคีสี่ประสานสู่การพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน

ข้าพเจ้า นางสาวสุทธิดา เอ็มประโคน ประเภทกลุ่ม บัณฑิตจบใหม่ ผู้ปฏิบัติงานตามโครงการการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ : (U2T)

หลักสูตร : HS02 โคกหนองนาโมเดล ตำบลหนองโสน อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์

กิจกรรมการปฏิบัติงานในเดือน พฤศจิกายน พ.ศ.2564 มีกิจกรรมการปฏิบัติงานดังนี้

  • กิจกรรมเสวนาเกษตรทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคกหนองนาโมเดล : ทางเลือกทางรอดในยุค New Normal
  • การเก็บข้อมูล CBD ในแอปพลิเคชั่นเป็นงานส่วนหนึ่งของโครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล (U2T)
  • กิจกรรมเสวนา Quadruple Helix : จตุรภาคีสี่ประสานสู่การพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน

กิจกรรมเสวนาเกษตรทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคกหนองนาโมเดล : ทางเลือกทางรอดในยุค New Normal

จัดขึ้นเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2564

กิจกรรมในวันที่ 17 ตุลาคม 2564 เป็นงานเสวนาเกษตรทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคกหนองนาโมเดล : ทางเลือกทางรอดในยุค New Normal ณ ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงโนนตะโก บ้านโคกว่าน ตำบลหนองโสน อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ โดยงานจัดขึ้นเพื่อถ่ายทอดความรู้จากวิทยากรทั้ง 7 ท่าน และรวมถึงเจ้าของแปลงโคกหนองนาโมเดล ในเขตตำบลหนองโสนงานเสวนาเกษตรทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคกหนองนาโมเดลจะเริ่ม เวลา 9:00 น ถึง 12:00 น โดยในงานมีผู้มาร่วมงาน คือ ผู้ปฏิบัติงานจากทางตำบลหนองกงและตำบลหนองยายพิมพ์ และชาวบ้านในพื้นที่ของ บ้านโคกว่าน ตำบลหนองโสน อำเภอนางรอง ประมาณ 80-90 ท่าน และในงานที่จัดขึ้นมีผู้ที่ให้ความรู้ ทางด้านเศรษฐกิจพอเพียง เกษตรทฤษฎีใหม่และการทำโคกหนองนาโมเดล ผู้ที่ร่วมเสวนาในงานมีทั้งหมด 7 ท่าน ดังนี้

1 รองศาสตราจารย์ ดร. อัครพนท์ เนื้อไม้หอม คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์

2 อาจารย์ชมพู อิสริยาวัฒน์ รองคณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์

3 พระอาจารย์ทองใส หรือ พระครูวิสุทธิพัฒนาภิรมย์เจ้า เจ้าอาวาสวัดตาไก้พลวง

4 นายสมคิด ไชยชาติ นักพัฒนาการชุมชนชำนาญการ อำเภอนางรอง

5 นายเกรียงศักดิ์ แผ้วพลสง อดีตนายกองค์การบริหารส่วนตำบลหนองโสน

6 อาจารย์ดนัย สุริยวงศ์ศรี

7 นางดนุลดา ธรรมนิยม

8 เจ้าของแปลงโคกหนองนาโมเดล

ในเวลา 9:00 น ผู้ร่วมเสวนา เจ้าของแปลงโคกหนองนาโมเดล และผู้รับฟังการบรรยายเข้าร่วมงานเวลา และเวลา 9:30 น. โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.อัครพนท์ เนื้อไม้หอม คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ เป็นประธานกล่าวในโครงการเสวนา เกษตรทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคกหนองนาโมเดล : ทางเลือกทางรอดในยุค New Normal ต่อจากกล่าวเปิดงานแล้วอาจารย์ชมพู อิสริยาวัฒน์ รองคณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ได้เป็นผู้ดำเนินการต่อไปตามลำดับของผู้เข้าร่วมเสวนาทั้ง 7 ท่าน เมื่อบรรยายจบลง จะเป็นการแชร์ความรู้จากเจ้าของแปลงโคกหนองนาโมเดล เช่น เรื่องวิธีการปลูกพืช การแผนลงมือทำโคกหนองนาโมเดลต่างๆ โดยดิฉันได้รับหน้าที่ในการสรุปการเสวนาเจ้าของแปลงโคกหนองนาโมเดล 3 ท่าน โดยมี

นายบุญลือ นวลปักษี

       …..“กราบนมัสการพระคุณเจ้า สวัสดีอาจารย์ทุกท่าน ท่านหัวหน้าสมคิด ท่านปลัด ท่านนายก และก็พี่น้องทุกคนผมเองเป็นครัวเรือนโคกหนองนาโมเดลอยู่ห่างจากศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงโนนตะโกประมาณ 200 เมตร ติดกับถนน แรงบันดาลใจที่ทำให้ผมมาทำโคกหนองนาโมเดล คือการได้ไปเรียนรู้กับพ่อคำเดื่อง ภาษี ไปอบรมอยู่ประมาณ 5 วัน เมื่อก่อนผมไม่รู้ว่าการปลูกต้นไม้มีประโยชน์อย่างไร พอได้ไปอบรมในจุดนั้นมาก็เป็นการจุดประกายความคิดขึ้นมาในการทำ และก็ได้หัวหน้าสมคิด ชัยชาติ ก็มาลงให้เป็นแปลงโคกหนองนาโมเดล ตอนแรกผมก็เสนอชาวบ้านนั้นและ แต่ชาวบ้านไม่มีใครเอา เพราะไม่มีใครต้องการที่จะทำ ผมก็เลยตัดสินใจทำโคกหนองนาโมเดลในที่ของตัวเองเลย ผมก็ทำคนเดียว ตอนแรกผมทำผมก็ปลูกต้นไม้เหมือนกับท่านอาจารย์แกบอก เพราะสระของผมขุดไปแล้วไม่มีน้ำออก ผมก็เลยปลูกกล้วย ตอนแรกผมปลูกกล้วย 30 ต้น ผมก็ไปหาบน้ำจากคลองมารด พอรดไปรดมาผมก็ปลูกต้นไม้ไปอีก 30 ต้น ผมก็หาบน้ำรถไปเรื่อยๆ แต่ตอนนี้ผมปลูกกล้วยประมาณ 200 กว่าต้น ปลูกเฉพาะต้นไม้จำพวกไม้ยืนต้น เป็นไม้ผลก็เยอะ เป็นขยับไม่เรื่อยๆ ของแปลง เราทำแบบคนจนเราไม่ทำแบบวู่วาม รายได้ของผมตอนนี้เก็บพริกเมื่อวานขายได้ 120 บาท และมีมะเขือ กระเจี๊ยบ ผักบุ้งนา เพราะว่าสวนเราไม่มีสารเคมี”

นายสว่าง อุดมดัน

       …..“สวัสดีครับกราบนมัสการ พระอาจารย์ ทองไส เจ้าขณะตำบลหนองกง และขณะของทางมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ครับผมนายสว่าง อุดมมะดัน ได้เข้าร่วมโครงการโคกหนองนาโมเดล ตอนผมก็ได้ลงต้นไม้หลายๆอย่าง ลงปลา และก็ปลูกพืชผัก เช่น ฟักทอง แตง ก็ได้ผลผลิตแล้วครับตอนนี้ ได้ผลผลิตมาผมก็ได้แบ่งปันพี่น้อง และญาติๆไปกินกัน ผมก็ไม่มีอะไรจะแนะนำมากไปกว่านี้แล้วครับ ผมขอขอบคุณครับ”

นายอุทัย งามแพง

       …..“สวัสดีครับครูอาจารย์ทุกท่าน และเพื่อนสมาชิกนักศึกษาทุกท่านนะครับ ผมชื่อนายอุทัย งามแพง อยู่ที่บ้านหนองโสน หมู่ 5 ตำบลหนองโสน อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ ผมเป็นเจ้าของแปลงโคกหนองนาโมเดล ผมทำออกนอกแบบไปหน่อย ผมเลี้ยงวัวเลี้ยงควายเลี้ยงปลา เกษตรกรเรานะครับไม่ใช่แค่ทำโคกหนองนาอย่างเดียว เราเลี้ยงวัวเลี้ยงควาย วัวควายอย่าไปเลี้ยงเยอะนะครับ เลี้ยงวัวแค่ 2 ตัว ควายเผือก 3 ตัว ผมปลูกหญ้าหวานไว้ตารางวาละ 40 กว่าต้น และใน 1 ตารางวาปลูกเป็น 4 แถว เลี้ยงควาย 2 ตัวกินไม่หมดหรอกครับ และการปลูกหญ้าหวานผมก็ไม่ได้ลงทุนเยอะ ผมเอามีดสับเองเครื่องก็ไม่ได้ไปซื้อ ต้นไม้ต้นหญ้าเขาไปเอาที่ละหานลาย ไปเอาที่บุรีรัมย์ ผมไม่ได้ไปซื้อนะครับ ผมไปหาเก็บเมล็ดมาแล้วก็หว่านเลยครับ ต้นไหนสวยผมก็เอามาปลูกให้เป็นแถวเป็นแนว ไม่ต้องไปซื้อเขาเพราะจะได้ไม่ต้องไปเสียค่าเช่ารถไปซื้อมา ไม้พยุงผมก็หว่านเมล็ดเหมือนกันครับ เอาเมล็ดไปโขลกในครกแต่ไม่ต้องแรงนะครับ พอได้เมล็ดก็นำไปหว่านเลยครับ ไม้สักก็เหมือนกันครับเก็บเมล็ดมาก็หว่านไปเลยครับ เดี๋ยวต้นเขาจะขึ้นเอง ถ้าต้นไม้เกิดจากเมล็ดต้นเขาจะสวยมากเพราะต้นมันจะตรงดิ่งเลยครับ ตอนนี้ได้ปีกว่าต้นไม้ได้ 10 กว่าศอก ผมทำเป็น 2 ส่วน ทั้งนาข้าว และเลี้ยงสัตว์ด้วย”

การเก็บข้อมูล CBD ในแอปพลิเคชั่นเป็นงานส่วนหนึ่งของโครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล (U2T)

ลงพื้นเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2564

การเก็บข้อมูล CBD ในแอปพลิเคชั่นเป็นงานส่วนหนึ่งของโครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล (U2T) โครงการ U2T รวบรวมนักศึกษา บัณฑิตจบใหม่ อาจารย์จากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ หนึ่งในนั้นก็คือมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ที่รวบรวมประชาชนเพื่อลงพื้นที่ทำงาน ชุมชนพร้อมกัน เช่นการจัดทำข้อมูลในชุมชนในมิติต่างๆ ได้แก่ข้อมูลผู้ที่ย้ายกลับบ้านเนื่องจากสถานการณ์ covid ข้อมูลแหล่งท่องเที่ยว ข้อมูลที่พัก/โรงแรม ข้อมูลร้านอาหารในท้องถิ่น ข้อมูลอาหารที่น่าสนใจประจำท้องถิ่น ข้อมูลเกษตรกรในท้องถิ่น ข้อมูลพืชในท้องถิ่น ข้อมูลสัตว์ในท้องถิ่น ข้อมูลภูมิปัญญาในท้องถิ่น และข้อมูลแหล่งน้ำในท้องถิ่นในแต่ละตำบลนั้นๆ

ระบบจัดเก็บข้อมูล U2T จะเข้ามาอำนวยความสะดวกในการจัดเก็บข้อมูลที่มี ความเฉพาะเจาะจงกับแต่ละพื้นที่หรือแต่ละสาขาโดยเน้นความยืดหยุ่นและความสะดวกต่อการลงพื้นที่ให้มากที่สุด คุณลักษณะของระบบ มีดังนี้

  • สามารถบันทึกและจัดเก็บข้อมูลหลากหลายแขนงได้โดยสะดวก รองรับอุปกรณ์หลากหลายขนาด ทั้งบนระบบปฏิบัติการ iOS Android Windows เป็นต้น
  • สามารถบันทึกและจัดเก็บข้อมูลได้ครบถ้วน ตรงตามแบบฟอร์มที่ถูกกำหนดไว้
  • สามารถเรียกดูประวัติข้อมูลที่แต่ละผู้ปฏิบัติงานบันทึกไว้ด้วยตนเองได้
  • สามารถแก้ไข เพิ่มเติม หรือลบข้อมูลที่ตนเองเป็นผู้บันทึกได้

       ในวันที่ 27 ตุลาคม 2564 ดิฉันได้ลงพื้นที่ไปยังตำบลหนองโสน อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อไปเก็บข้อมูลพืชประจำท้องถิ่น ณ บ้านสวนตายาย โดยมีเจ้าของพื้นที่ชื่อ นางปทุมมา ชีพธรรมกุล เป็นผู้ให้ข้อมูลและความรู้เกี่ยวกับพืชชนิดต่างๆในพื้นที่ของตำบลหนองโสน โดยมีส่วนใหญ่จะเป็นไม้จำพวกไม้ยืนต้น ไม้ดอก ไม้ผล แลไม้ที่ไว้ประดับตกแต่ง

 

กิจกรรมเสวนา Quadruple Helix : จตุรภาคีสี่ประสานสู่การพัฒนาชุมชนอย่างยังยืน

จัดขึ้นเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2564

เป็นกิจกรรมเสวนา Quadruple Helix : จตุรภาคีสี่ประสานสู่การพัฒนาชุมชนอย่างยังยืน จัดขึ้นโดยคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ด้วยการใช้รูปแบบการประชุมออนไลน์โดยโปรแกรม ZOOM มีผู้เข้าร่วมในการเสวนาประมาณ 200 คน การจัดเสวนาในประเด็นเรื่อง Quadruple Helix : จตุรภาคีสี่ประสานสู่การพัฒนาชุมชนอย่างยังยืน ในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ดังนี้คือ เพื่อเผยแพร่ผลงานด้านการพัฒนาชุมชนอย่างยังยืนของมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ซึ่งทำมาต่อเนื่องยาวนาน เพื่อจะประสานเครือข่ายชุมชนที่คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ได้ลงพื้นที่ทำงานร่วมกับพี่น้องชาวบ้านเพื่อที่จะได้ทำงานร่วมกันเพื่อขับเคลื่อนด้านงานพัฒนาชุมชนต่อไป การจัดเสวนาชุมชนในครั้งนี้เพื่อเป็นการสนองนโยบายของมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมที่กำลังจะเข้าสู่การประเมินผลงานจาก Times Higher Education ซึ่งเป็นการสนองงานตามนโยบายของการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน เป็นนโยบายขององค์กรสหประชาชาติในเรื่องของเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ จึงนำโดยท่านอธิการบดี มีความพร้อมในการที่จะนำมหาวิทยาลัยเข้าสู่รับการประเมิน จาก Times Higher Education เพราะว่ามหาวิทยาลัยได้ดำเนินการกิจกรรมพัฒนาชุมชนให้เกิดความมั่นคงมั่งคั่งและยังยืนมาอย่างต่อเนื่อง วันนี้จึงได้จัดการเสวนาขึ้นในนามของคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ เพื่อสนองนโยบายของมหาวิทยาลัยดังกล่าวคำว่า จตุรภาคีสี่ประสานหรือ Quadruple Helix คำนี้เป็นคำที่กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรมได้ใช้ในการดำเนินการนโยบายเรื่องพลิกโฉมมหาวิทยาลัย ซึ่งสอดคล้องกลับ SDGs ขององค์กรสหประชาชาติ และเป็นไปตามตัวชี้วัดของ Times Higher Education ว่ามหาวิทยาลัยถ้าจะทำงานในพื้นที่ชุมชนจะต้องเชื่อมประสานกับสี่ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง จตุรภาคีดังกล่าวมี

1.มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์

2.ชุมชนและวัด

3.หน่วยงานเอกชน

4.หน่วยงานราชการ

รศ.มาลิณี อุโฑปะมา อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์

       …..“3 สิ่งใหญ่ๆคือเรื่องของ Time Higher Education ซึ่งมหาวิทยาลัยนั้น ก็ได้เดินทางเข้าสู่เส้นทางของ Time Higher Education โดยจะต้องมุ่งการพัฒนาที่ยั่งยืน SDGs ก็มาจากการพัฒนาที่ยั่งยืน มหาลัยจะต้องเชื่อมที่เป็นรูปประธรรมและชัดเจน เพราะฉะนั้นการเชื่อมโยงวันนี้ก็คือการเชื่อมจตุรภาคี 4 ประสาน ซึ่งคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ เป็นหน้าแรกที่สามารถดำเนินการเข้าสู่การ Ranking ตามตัวชี้ของ SDGs ที่ได้กล่าวมาในข้างต้น พื้นที่ความรับผิดชอบที่ต้องดูแลเป็นพิเศษของแต่ละคณะ ประมาณ 3 อำเภอ 4 อำเภอ โดยแต่ละอำเภอจะมีตำบล ซึ่งบุรีรัมย์มีทั้งหมด 23 อำเภอ ซึ่งเราคุมพื้นที่ในจังหวัดบุรีรัมย์ในขณะนี้มี 188 ตำบล ซึ่งเราก็จะพยายามคืบคลานที่จะให้ครบทั้ง 188 ตำบล แล้วก็มีชุมชนทั้งหมด 2549 ชุมชน เราก็คิดว่านี่คือหน้าที่งานของในมหาวิทยาลัย ให้มหาวิทยาลัยราชภัฏทำงานกับชุมชนอย่างจริงจัง คือการพัฒนาจากฐานรากคือทำให้มีเศรษฐกิจที่ดีขึ้น มีการพัฒนาที่ยั่งยืนขึ้นซึ่งก็ตรงกับมหาวิทยาลัยที่จะทำ Times Higher Ranking University ซึ่งตัวชี้วัดต่างๆ ของการพัฒนาที่ยั่งยืนเพื่อประสานงานกับชุมชนท้องถิ่น”…..

การกล่าวเปิดการเสวนาโดยท่านอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ รศ.มาลิณี อุโฑปะมา เป็นประธานในการกล่าวเปิดการเสวนาในครั้งนี้ ผู้กล่าวรายงานต่อท่านประธานในพิธีคือ ท่าน รศ.ดร.อัครพนท์ เนื้อไม้หอม คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ และอารย์ชมพู อิสริยาวัฒน์ รองคณะบดีฝ่ายพันธกิจชุมชนสัมพันธ์และภูมิทัศน์ เป็นผู้ดำเนินการเสวนา โดยมีวิทยากรทั้ง 5 ท่านดังนี้

นายกสุพจน์ สวัสดิ์พุทรา นายกเทศมนตรีตำบลอีสาน

รองศาสตราจารย์ ดร.ประสาท เนืองเฉลิม มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

คุณณัชอิสร์ ศรีสุขพรชัย ประธานหอการค้าจังหวัดบุรีรัมย์

พ่อคำเดื่อง ภาษี ประธานกลุ่มปราชญ์ชาวบ้านจังหวัดบุรีรัมย์

รศ.ดร.อัครพนท์ เนื้อไม้หอม คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์

นายก สุพจน์ สวัสดิ์พุทรา นายกเทศมนตรีตำบลอีสาน

       …..“การพัฒนาชุมชนให้ยั่งยืนก็คือการเปลี่ยนแปลงคน และการเปลี่ยนแปลงชุมชนให้ดีขึ้นโดยใช้ความร่วมมือระหว่างภาครัฐ และเอกชน หรือประชาชนทุกคนในชุมชนจะต้องมีส่วนร่วม ไม่ว่าจะเป็นกำนันผู้ใหญ่บ้าน กลุ่มอสม. กลุ่มเยาวชนแม้กระทั่ง กลุ่มผู้สูงอายุทุกภาคส่วนต้องมีส่วนร่วมด้วยกัน สี่ประสานหน่วยงานหลักก็คือเหมือนกับราชภัฏจตุรพิธ ที่เอามาขับเคลื่อนชุมชนให้ยั่งยืน ในฐานะที่ผมเป็นนายกก็มีการปลูกสร้างพื้นฐานเป็นหลัก เพราะว่าประชาชนต้องการให้บ้านเมืองเจริญรุ่งเรืองน้ำไหลไฟสว่างหนทางสะดวก เพราะฉะนั้นตรงนี้จะต้องพัฒนาไปเรื่อยๆแต่ในด้านการเป็นอยู่หรือปากท้องของประชาชนทำอย่างไรจะให้ประชาชนได้อยู่ดีกินดีและก็มีสิ่งแวดล้อมที่ดี ระดับประเทศบอกว่าให้ชุมชนนี้อยากให้เทศบาลหรือ อบต. ให้ทำ Zero waste เพื่อให้ชุมชนน่าอยู่ เราได้การที่ร่วมกันพัฒนาบางทีก็ใช้ความเป็นส่วนตัวเป็นหลักอย่างผู้ใหญ่บ้านกำนันบางครั้งท้องที่นายอำเภอเป็นหัวหน้าแต่ท้องถิ่นผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้กำกับดูแลเพราะว่าท้องถิ่นเป็นนิติบุคคล เพราะฉะนั้นในเรื่องการพัฒนาบางครั้งจะต้องใช้ความสนิทส่วนตัวมาร่วมแรงร่วมใจกันพัฒนาด้วยบางครั้งเราก็ต้องเดินไปหาชุมชนไม่ต้องให้ชุมชนเดินเข้ามาหาเรา เราจะต้องพาคณะข้าราชการหรือลูกจ้างลงไป เพื่อที่จะไปประชุมร่วมกันกับชาวบ้านไปหาทุกกลุ่มทุกอาชีพ เพื่อที่จะสื่อสารให้ทุกคนเข้าใจทำยังไงเราถึงจะเปลี่ยนแปลงชุมชนของเราให้ดีขึ้น”

รองศาสตราจารย์ ดร.ประสาท เนืองเฉลิม มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

       …..“ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในแนวคิดของสหประชาชาติพูดถึงของ Sustainable Development ก็คือการพัฒนาอย่างยั่งยืน มองด้วยกันอย่าง 3 มิติ ว่าด้วยเรื่องของทางสังคม Society สังคมในปัจจุบันก็มีความหลากหลายมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นสังคมไทย ในความหลากหลายทางด้านความคิด วิธีการปฏิบัติวิธีการใช้ชีวิต ผลกระทบเหล่านี้มาจากเครื่องของ เทคโนโลยีเรื่องของการศึกษา การประกาศปรัชญาของอุดมศึกษา 10 ประการ เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน ที่ผ่านมาในราชกิจจานุเบกษา บอกว่าเป้าหมายของการศึกษา ทางด้านการจัดการเรียนการสอนในระบบอุดมศึกษา อันที่ 1 ว่าด้วยเรื่องของ 3L ก็คือ Life long Learning คือการเรียนรู้ตลอดชีวิต ซึ่งก็ตรงกับยุคสมัยใหม่ ซึ่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตเรามองว่า เรียนจริงๆเรียนยังไงให้จบตามหลักสูตรกำหนดตามที่ใบปริญญาให้ ปัจจุบันคือเน้นเรื่องการเรียนรู้ตลอดชีวิต การมีส่วนร่วมหมายความว่า คือร่วมคิดร่วมตัดสินใจร่วมลงมือทำ ร่วมพัฒนาในทุกๆส่วน ในนี้ก็รวมอยู่ในเรื่องของประชาธิปไตย ถัดมาพูดถึงเป้าหมายของ SDGs  5 อย่าง อันที่ 1 ก็คือการขจัดความยากจน อันที่ 2 ก็คือการขจัดความหิวโหย ประเด็นที่ 3 ก็คือเรื่องของสุขภาพที่ดี มาแนวคิดที่ 4 ก็คือ รับผิดชอบก็คือการศึกษาที่เท่าเทียมกันก็เป็นแนวคิดการเรียนรู้ตลอดชีวิตใครอยากเรียนรู้ที่ไหนเรียนเมื่อไหร่ก็ได้

ข้อเสนอแนะที่จะแนะนำมี 6 ประการด้วยกัน

อันที่ 1 ก็คือในเรื่องของหลักสูตรเขาหลักสูตรมีความจำเป็นมาก วันนี้หลายมหาวิทยาลัยหลายสถานศึกษา พยายามจะปรับหลักสูตรของตัวเองให้ มีความใหม่และหลักสูตรต้องขายได้

อันที่ 2 ก็คือเรื่องของการจัดการเรียนการสอน ต่อไปจะต้องทำในเรื่องของ service Learning ก็คือการเรียนรู้คู่กับการบริการ การเรียนรู้ด้วยชุมชน

อันที่ 3 ก็คือเรื่องของการประเมินการเรียนรู้ ก็คือความรู้ความจำในทฤษฎีแต่ถ้าอยากรู้ว่าความรู้มาจากชุมชนจริง ก็คือการประเมินก็ต้องมาจากการสัมภาษณ์การพูดคุยการอัดคลิปวีดีโอการทำเป็นโปรเจคการทำแฟ้มสะสมผลงานด้านการประเมินการเรียนรู้ก็จะบอกวิธีการสอนของเราด้วย จะดูง่ายๆว่าอาจารย์จะสอนแบบไหนผมก็ไปดูที่วิธีการประเมิน

อันที่ 4 ก็คือเรื่องของการปรับตัวการปรับความคิด การปรับตัวให้ทันตามยุคตามสมัยในโลกปัจจุบัน

อันที่ 5 คือเรื่องของบวร กลับมหาวิทยาลัย เราจะใช้ชุมชนเพื่อเป็นฐานการเรียนรู้ การวิจัย เพราะมหาวิทยาลัยเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน

อันที่ 6 ก็คือเรื่องของการทำวิจัย เปลี่ยนจากวิจัยที่เป็นในห้องเรียนธรรมดาให้เกี่ยวกับชุมชน community based Learning หรือการทำวิจัยการให้ของ service Learning ชุมชนเป็นฐานในการเรียนรู้มากเท่าไหร่ ก็เอาความรู้ไปแลกเปลี่ยนได้มากขึ้น ไม่ใช่ไปสอนชุมชนแต่เราต้องไปเรียนรู้จากชุมชนแล้วก็มาปรับเป็นทฤษฎีแล้วก็สังเคราะห์ความรู้และนำไปปรับใช้นะครับอันนี้เป็นเรื่องสำคัญ”

คุณณัชอิสร์ ศรีสุขพรชัย ประธานหอการค้าจังหวัดบุรีรัมย์

       …..“มหาวิทยาลัยได้วางจตุรภาคี คือมี รัฐบาล เอกชน ชุมชนและมหาวิทยาลัย ทั้งสี่ด้านเหล่านี้ มาร่วมมือกันในการขับเคลื่อนชุมชนหรือผมได้มองว่ามันจะเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนประเทศด้วยซ้ำ แต่ก่อนอื่นเป็นสิ่งที่เราจะมองกันต่อไปคือเราต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่าโลกใบนี้มันจะไม่เหมือนเดิม ต้องพูดซ้ำๆให้กับนักเรียนนักศึกษาได้ฟังด้วย ถ้าเรายังคิดอะไรในแบบเดิมทำอะไรแบบเดิมมันช้าแล้วมันเปลี่ยนไปเร็วมากเปลี่ยนไปจนเราต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับมัน และไม่ยึดติดกับเรื่องเดิมๆ เราเห็นอะไรใหม่ๆ เราต้องทำพร้อมที่จะปรับตัวแล้วก็เจอแก้เกมใหม่ๆ มันไม่มีอะไรตายตัวแล้วเราต้องสร้าง Smart people ขึ้นมา Smart city ไม่ได้เป็นการสร้างเมืองโดยใช้เทคโนโลยีอย่างเดียว แต่เป็นการสร้างเมืองสร้างสิ่งแวดล้อมสร้างทุกอย่างให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลกให้เท่าทัน มีหลายองค์กรหลายความรู้ที่สามารถที่จะอยู่รอดได้ในความรู้ต่างๆสิ่งที่จะทำให้คนรู้แบบนั้น จึงเรียกว่า Smart people ไม่ได้จำเป็นที่จะต้องมาเรียนเฉพาะเทคโนโลยีอย่างเดียว แต่ผมให้ความจำกัดความของ Smart people ได้คือ คุณต้องรู้ให้ทัน ทันคน ทันโลก ทันสถานการณ์ ทันจิตใจตัวเอง ตามให้ทันไม่ต้องถึงกับล้ำหน้าก็ได้ เป้าหมายเป็นเรื่องสำคัญวิธีการเป็นเรื่องที่ต่างกันได้มันต้องที่จะสามารถทำให้เป้าหมายเห็นภาพได้ชัดเจน ถ้าเราบอกว่าคนแยกออกมาเป็นสามกลุ่ม กลุ่มหนึ่งคือกลุ่มที่ไม่รู้อะไรเลยแต่หัวใจเต็มเปี่ยม อีกกลุ่มหนึ่งคือรู้บ้างหัวใจเต็มเปี่ยมอีกกลุ่มหนึ่งก็คือรู้ทำได้แต่หัวใจเต็มเปี่ยมแต่ยังไม่ถึง ก็คือปรัชญา 3H (Heart Heard Hand) คือหัวใจ มันสมอง และสองมือ ถ้าสามกลุ่มนี้ครบทั้ง 3H มันจะเดินหน้าและขับเคลื่อนได้อย่างเต็มที่

พ่อคำเดื่อง ภาษี ประธานกลุ่มปราชญ์ชาวบ้านจังหวัดบุรีรัมย์

       …..“วันนี้ก็มาสรุปเรื่องที่ทางมหาลัยจะขับเคลื่อนให้สอดคล้องกับ UNESCO ที่ทำเรื่องเกี่ยวกับ SDGs เกี่ยวกับการพัฒนาที่ยั่งยืน เมื่อโลกของเราเปลี่ยนไปแต่คนไทยทำไมยังไม่เปลี่ยนแปลง อันนี้ถือเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เรายังอยากหวนหาที่จะได้โลกใบเก่าของเรากลับคืนมา โลกใบเก่าเราใช้มาแล้ว 70 80 ปี เรานั่งดูหนังมาแต่ 80 ปีแต่ตอนนี้หนังเรื่องนั้นมันจบลงแล้ว แล้วทุกคนยังอยากจะดูหนังต่อ แต่ทุกคนอยากจะให้หนังกลับมาฉายอีกรอบทุกคนอยากจะกลับไปดูหนังเรื่องเดิม ทุกคนอยากจะให้แบบนี้เป็นอย่างเมื่อวาน เป็นอย่างนู้นเป็นอย่างนี้ ผมอยากให้ทุกคนทั้งโลกตื่นได้แล้ว ให้เดินหน้าต่อ การที่มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์จะลงไปพัฒนาชุมชน อยากให้ชุมชนกระตุ้นอยากให้ชุมชนตระหนักถึงมีสถานการณ์ covid แบบนี้อยากให้เรียนรู้วิธีการที่เราจะอยู่ยังไงให้รอดจากสถานการณ์โควิด 3 สิ่งที่เราต้องเรียนรู้และ 3 สิ่งที่เราไม่ต้องทำ ที่ผ่านมาคนทั้งประเทศไทยเราชอบทำอยู่ 3 อย่างคือ 1 ทำในสิ่งที่ไม่รู้ 2 ทำสิ่งที่ไม่รัก และ 3 ทำสิ่งที่ไม่จบ และนี่คือสิ่งที่เป็นมา ตอนนี้ผมก็มาเข้าใจแล้วว่าตอนนี้ ต้องทำอีก 3 อย่างกลับกัน 1 คือทำสิ่งที่รู้ถ้าไม่รู้อย่าทำ 2 ทำสิ่งที่รักถ้าไม่รักอย่าทำ และ 3 ทำแล้วต้องจบถ้าไม่จบอย่าทำ”

รศ.ดร.อัครพนท์ เนื้อไม้หอม คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์

       …..“ชื่อเรื่องของการเสวนาในวันนี้ คำว่าสี่ประสาน ก็คือคำว่า Quadruple Helix เป็น 4 เกลียว 4 แกน ดั้งเดิมถ้าเราลงชุมชนเราก็จะมีคำว่าบวร บ้าน วัดโรงเรียน แต่ตอนนี้ในบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป คำว่า 4 ประสานต้องปรับให้เข้ากับกลุ่มของมหาวิทยาลัย หรือกับทางกระทรวงเอง การทำงานถัดไปเราจะทำงานในบริบท ของการจัดกลุ่มมหาวิทยาลัย สรุปแล้วมหาวิทยาลัยทั้งหมดในประเทศไทย ทั้ง 200 แห่ง จะต้องจัดกลุ่มเป็น 6 กลุ่มให้เรียบร้อยตามราชกิจจานุเบกษาโดย

กลุ่มที่ 1 ก็คือกลุ่มการวิจัยและพัฒนาระดับแนวโลก

กลุ่มที่ 2 ก็คือกลุ่มที่พัฒนาเทคโนโลยีและส่งเสริมด้านนวัตกรรม

กลุ่มที่ 3 คือกลุ่มที่พัฒนาท้องถิ่น หรือชุมชนอื่น ในส่วนของราชภัฏก็จะอยู่ในกลุ่มนี้ทั้งหมด

กลุ่มที่ 4 คือกลุ่มที่พัฒนาปัญญาและคุณธรรม ด้วยหลักศาสนา

กลุ่มที่ 5 คือกลุ่มผลิตและพัฒนาพัฒนา บุคลากรวิชาชีพ และสาขาเฉพาะ

กลุ่มที่ 6 คือกลุ่มสุดท้ายคือกลุ่มอื่นๆ ที่รัฐมนตรีกำหนด

เมื่อมีการจัดกลุ่มมหาวิทยาลัยสิ่งที่มหาวิทยาลัยจะต้องทำ คือจัดทำให้โยบายในรูปแบบของการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย Reinventing University โดยมีกลุ่มเป้าหมายในการพลิกโฉม พลิกโฉมอยู่ 3 เรื่องก็คือ เรื่องที่ 1 ก็คือสร้างและพัฒนาคนในทศวรรษที่ 21 ซึ่งจะไปสอดคล้องกับ SDGs ขององค์การสหประชาชาติ เรื่องที่ 2 ก็คือการสร้างองค์ความรู้นวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อนประเทศตามทางของประเทศ Values based economy ตอนนี้มีอยู่ 3 ตัวที่มหาวิทยาลัยจะต้องดำเนินการให้เกิดขึ้นในบริบทของมหาลัย คือ BCG ที่อยู่ใต้ Values based economy B ตัวแรกก็คือ Bio economy ก็คือเศรษฐกิจชีวภาพ ตัวที่ 2 คือ C  Circular economy ก็คือเศรษฐกิจหมุนเวียน และตัวที่ 3 คือ Green economy เศรษฐกิจสีเขียว เพราะฉะนั้น BCG Bio Circular economy และ Green economy อยู่ภายใต้เป้าหมายของการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย คือ Values based economy”

จากการเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆภายในเดือน พฤศจิกายน 2564 ดิฉันได้ความรู้จากกิจกรรมเสวนาเกษตรทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคกหนองนาโมเดล : ทางเลือกทางรอดในยุค New Normal การเก็บข้อมูล CBD ในแอปพลิเคชั่นเป็นงานส่วนหนึ่งของโครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล (U2T)และกิจกรรมเสวนา Quadruple Helix : จตุรภาคีสี่ประสานสู่การพัฒนาชุมชนอย่างยังยืน ได้รับความรู้ ความคิดเห็นของวิทยากรในเรื่องของการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ ส่วนการลงพื้นที่เก็บข้อมูล CBD เป็นการได้ลงไปสำรวจข้อมูลของตำบลหนองโสน อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ ถือเป็นการได้เรียนรู้วิถีการดำเนินชีวิตของชาวบ้านในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ อย่างเช่น การปลูกพืชประจำท้องถิ่น การทำอาหารประจำท้องถิ่น แหล่งท่องเที่ยวในท้องถิ่น เป็นต้น และกิจกรรมเสวนา Quadruple Helix : จตุรภาคีสี่ประสานสู่การพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน เพื่อจะประสานทั้ง ภาครัฐ เอกชน ภาคการศึกษา และเครือข่ายชุมชน คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ร่วมกับชุมชน นักศึกษา และผู้ปฏิบัติงานในโครงการ U2T ได้ลงพื้นที่ทำงานร่วมกับพี่น้องชาวบ้านเพื่อที่จะได้ทำงานร่วมกัน เพื่อขับเคลื่อนด้านงานพัฒนาชุมชนเพื่อความต่อไป

HS02 กิจกรรมเสวนาเกษตรทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคกหนองนาโมเดล : ทางเลือกและทางรอดในยุค New Normal(พ.ย.64) – YouTube

อื่นๆ

เมนู