หลักสูตร : HS02 เกษตรผสมผสานในรูปแบบโคกหนองนาโมเดล

ดิฉัน นางสาวเบญจวรรณ   ศรีพนม ประเภทประชาชน

การปฏิบัติงานประจำเดือนพฤษจิกายน ดิฉันและผู้ปฏิบัติงานตำบลหนองโสน ได้ทำกิจกรรมต่างๆร่วมกัน ดังนี้

-วันที่ 26  พฤษจิกายน 2564 อาจารย์ประจำหลักสูตรได้นัดหมายผู้ปฏิบัติงาน ณ วัดบ้านโคกว่าน ดิฉันและผู้ปฏิบัติงานได้เข้าร่วมอบรมการสร้างเว็บเพจ ทั้งนี้ยังมีชาวบ้านมารับฟังการอบรมด้วย  วิทยากรที่มาให้ความรู้เรื่องการทำเพจทั้ง 2 ท่านคือ ดร.วิษณุ ปัญญายงค์ สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์และอาจารย์ปิติวรรณ ฝ้ายโคกสูง สาขาวิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ คณะวิทยาการจัดการ การทำเพจนั้น เป็นการสร้างตลาดออนไลน์ให้กับตำบลหนองโสนเพื่อขายสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ ของดีของตำบลเพื่อให้ผู้คนที่ใช้โซเชี่ยลรู้จักกับตำบลมากขึ้น  กิจกรรมอบรมทำเพจมี 2 ช่วงด้วยกัน คือ ช่วงเช้ารับฟังวิทยากรให้ความรู้เรื่ององค์ประกอบของการทำเพจว่ามีอะไรบ้าง  การออกแบบตกแต่งรูปเพื่อโปรโมทสินค้าโดยแอพพลิเคชั่น Canva และร่วมกันแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับของดีที่มีในตำบลหนองโสนกับผู้ปฏิบัติงาน โดยของดีของตำบลหนองโสนที่ร่วมแลกเปลี่ยนกัน ได้มีดังนี้

– ข้าวเม่า ทั้งข้าวเม่าแปรรูปและข้าวเม่าสด ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ขึ้นชื่อของตำบลหนองโสน

-ผลิตภัณฑ์ทำมือ เช่นตะกร้าจักสาน เสื่อทอ ผ้าไหม ผ้าขาวม้า

-ข้าวสาร ปุ๋ยคอก น้ำตาลอ้อย มะพร้าวเผา เป็นต้น

เพจตำบลได้ใช้ในชื่อว่า “ของดีหนองโสน ที่อำเภอนางรอง” โดยได้มีการโหวตชื่อเพจกันและได้ใช้ในชื่อนี้ หลังจากที่ร่วมแลกเปลี่ยนหาของดีประจำตำบลแล้ว วิทยากรได้ลองให้ผู้ปฏิบัติงานได้ลองตกแต่งรูปสินค้า และจับกลุ่ม ร่วมกันโปรโมทข้าวเม่าที่เป็นสินค้าตัวอย่างในวันนั้นทั้งคิดข้อความที่จะโพสต์และออกแบบตกแต่งรูปสินค้า กิจกรรมในวันนี้ ดิฉันและผุ้ปฏิบัติงานได้เรียนรู้การทำเพจเพื่อโปรโมทของดีประจำตำบลเพื่อเป็นการกระจายข่าวในช่องทางโซเชี่ยล

วันที่ 3 ธันวาคม 2564 กิจกรรมลงแขกตีข้าวแปลงโคกหนองนา ผู้ปฏิบัติงาน U2T พร้อมทั้งอาจารย์ประจำหลักสูตรลงพื้นที่ไปยังโคกหนองนาของนายสว่าง อุดมดัน เพื่อร่วมกิจกรรมนวดข้าว โดยข้าวที่เกี่ยวมานั้นเกี่ยวแบบสมัยแต่ก่อนคือการเกี่ยวมือ แล้วนำนานวดหรือตีเพื่อให้เมล็ดข้าวหลุดออกจากรวง กิจกรรมนี้เริ่มขึ้นในตอนเย็นเวลาประมาณ 16.00 น. หลังจากร่วมด้วยช่วยกันนวดข้าวจนเสร็จเรียบร้อยก็มีการทานอาหารเย็นร่วมกันจากนั้นก็แยกย้ายกันกลับบ้าน

การฟาดข้าวคือ  การเอามัดข้าวที่แห้งดีแล้วไปตีเพื่อให้เมล็ดข้าวหลุดออกจากรวงข้าว อาจจะตีกับพื้น ไช้ไม้ตีไปที่มัดข้าวโดยตรง นำมัดข้าวไปตีกับไม้สำหรับใช้ตีข้าว(ที่บ้านเรียกตั่งตีข้าว)  แล้วแต่ว่าแต่ละท้องถิ่นจะมีวิธีการอย่างไร   หลังจากเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จ มัดข้าวเรียบร้อยแล้วก็ต้องเก็บข้าวมารวมกันที่ลานสำหรับฟาดข้าวก่อน โดยการตีข้าวหรือฟาดข้าวแบบโบราณดั่งเดิมนี้ จะตีด้วยการใช้ไม้ตีข้าวด้วยวิธีเข้าไปยืนในผ้าแยงเขียวที่ปูไว้ แล้วเอารวงข้าวมาประมาณ 1 หอบยัดใส่ลงในไม้ตีข้าว หันรวงข้าวออกไปทางด้านหน้าของผู้ตี ก่อนจะฟาดอย่างต่อเนื่องกันหลายๆ ครั้งแล้วพลิกกลับมาตีอีกด้านหลายๆ ครั้งต่อเนื่องกัน เมื่อเห็นว่าข้าวเปลือกหลุดออกจากรวงแล้วก็จะใช้ไม้ตีฟ่อนข้าวเป็นจังหวะอย่างต่อเนื่อง แล้วยกขึ้นมาเขย่าหลายๆ ครั้ง เพื่อให้แน่ใจว่าข้าวเปลือกหลุดออกจากรวงข้าวหมดแล้ว

การนวดข้าวแบบสมัยก่อนโดยยังไม่มีเทคโนโลยีเครื่องจักรอะไรเข้ามา ปัจจุบันนี้หาดูยากมากแล้วเนื่องจากโลกที่เปลี่ยนไปและเทคโนโลยีความสะดวกสบายเข้ามามากขึ้น หากเพียงแต่กิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมที่ยังอยากคงอนุรักษ์ไว้ซึ่งความเป็นวัฒนธรรมและเล่าถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ในสมัยก่อน ซึ่งผู้ปฏิบัติงานก็ได้เห็นและเรียนรู้ถึงวิถีชีวิตที่สวยงามและเรียบง่าย

-วันที่ 4   ธันวาคม 2564  ดิฉันและผู้ปฏิบัติทุกคนได้ลงพื้นที่ไปยังศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง เพื่อไปร่วมพูดคุย ประชุมเรื่องการทำงานตลอดระยะเวลา 11 เดือนที่ผ่านมา โดยได้พูดถึงเรื่องการทำหลักสูตรระยะสั้นของโครงการที่จะต้องส่ง และเรื่องเพจของตำบลที่จะต้องมีการเคลื่อนไหวเพจเรื่อยๆนั่นทำให้ผู้ปฏิบัติงานต้องแบ่งงานกันเพื่อไปสอบถามข้อมูลกับชาวบ้าน การทำหลักสูตรระยะสั้นนั้น ผู้ปฏิบัติงานทั้ง 3 ประเภท ได้แบ่งงานกันเรียบร้อย  ส่วนเรื่องทำเพจ ผู้ปฏิบัติงานก็ได้แบ่งกันไปเก็บข้อมูลเพื่อที่จะได้นำไปลงเพจต่อไป

-วันที่ 5 ธันวาคม  2564 ดิฉันได้รับผิดชอบในส่วนลงไปเก็บข้อมูลผลผลิตจากการทำโคกหนองนาของนางสาวดนุลดาและนางปรีดาที่บ้านโคกสูงพร้อมผู้ปฏิบัติงานท่านอื่นๆ ได้สอบถามเจ้าของแปลงว่ามีผลผลิตที่มาจากการทำโคกหนองนาที่พร้อมขายหรือไม่ เจ้าของแปลงทั้งสองแปลงได้ให้คำตอบว่า พอมีบ้าง เช่น ตอนนี้ก็มีผักสวนครัวที่พอได้ขาย เช่นตะไคร้ ปลาที่เลี้ยงนำมาแปรรูป ไข่เป็ด ปุ๋ยคอก เป็นต้น จะเห็นว่าตลอดระยะเวลาที่ทำโคกหนองนามานั้น ทั้งสองแปลงได้ผลผลิตที่สามารถนำไปจำหน่ายเพื่อสร้างรายได้ได้แล้ว

การเก็บข้อมูล CBD ตลอดระยะเวลาที่ได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูลมา จะเห็นได้ว่าตำบลหนองโสน มีข้อมูลดังนี้

-ชาวบ้านในตำบลหนองโสนมีอาชีพเป็นเกษตรกรรมเป็นส่วนใหญ่ มีทำไร่ทำสวนบ้าง แต่เป็นส่วนน้อย

-สัตว์ในท้องถิ่นที่พบก็จำพวก วัว ควาย หมู สุนัข ไก่ เป็ด เป็นต้น ลักษณะการเลี้ยงมีเลี้ยงเพื่อทำเป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ เช่น วัว ควาย หมู สำหรับเป็ดและไก่เลี้ยงเพื่อไว้เป็นอาหารและนำไข่ไปขาย เป็นต้น

-พืชในท้องถิ่น จะเป็นพืชจำพวกพืชผักสวนครัว ไม้ผล ไม้ยืนต้นที่ให้ร่มเงา พืชที่ใช้เป็นสมุนไพร และข้าวที่เป็นอาหารหลักๆเป็นต้น

-แหล่งน้ำในท้องถิ่น มีคลองช่องแมวที่เป็นแหล่งน้ำหลักๆและสำคัญในตำบล ทั้งนี้มีประปาชุมชนและสระน้ำของแต่ละหมู่บ้าน

-อาหารประจำท้องถิ่น จะเป็นอาหารพื้นบ้านง่ายๆอาทิเช่น ต้มไก่บ้าน ส้มตำ ก๋วยเตี๋ยว เป็นต้น

-ภูมิปัญญาในท้องถิ่น  ข้าวเม่าที่บ้านโคกว่าน ตะกร้าจักสาน ผ้าไหม ผ้าขาวม้าเป็นต้น

สรุป จากการปฏิบัติงานในเดือนธันวาคม ดิฉันและผู้ปฏิบัติท่านอื่นๆได้ความรู้เรื่องการทำเพจเพื่อโฆษณาผลิตภัณฑ์ในชุมชนเพื่อที่จะทำให้ชาวบ้านได้มีรายได้เข้ามาและผู้คนจะได้รู้จักกับของดีตำบลหนองโสนมากขึ้นและตลอดระยะเวลาการปฏิบัติงานทั้ง 12 เดือนที่ผ่านมา ดิฉันได้รับประสบการณ์ต่างๆเกี่ยวกับการเข้าหาชาวบ้าน การพูดคุย ทำความรู้จักกับชาวบ้าน การเรียนรู้วิถึชีวิตความเป็นอยู่จากการลงพื้นที่เก็บข้อมูลในแบบฟอร์มที่ทางส่วนกลางได้กำหนดมาให้ รวมไปถึงการลงพื้นที่ศึกษาแปลงโคกหนองนาโมเดลทั้ง 11 แปลง ของตำบลหนองโสน ดิฉันและผู้ปฏิบัติงานทุกท่านได้รับการต้อนรับจากชาวบ้านตำบลหนองโสนเป็นอย่างดีทุกครั้งที่มีการลงพื้นที่ ต้องขอขอบพระคุณผู้นำชุมชน และชาวบ้านตำบลหนองโสนมา ณ ที่นี้ด้วย

การปฏิบัติงานเดือนธันวาคม

 

อื่นๆ

เมนู