ข้าพเจ้า นางสาวอำพร รัตนาธิวัด ประเภทประชาชน ตำบลหนองโสน อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ ผู้ปฏิบัติงานตามโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณการ 1 ตำบล 1 มหาลัย “มหาลัยสู่ตำบลสร้างรากแก้วให้ประเทศ” หลักสูตร (HS02) โคกหนองนาโมเดลตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อขจัดปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืน

โดยข้าพเจ้าได้ปฏิบัติงานในเดือนกันยายน 2564 มีดั้งต่อไปนี้

วันเสาร์ ที่ 21 สิงหาคม 2564 ได้มีกิจกรรมซ่อมและปลูกต้นไม้ ณ บริเวณพื้นที่คลองโนนตะโก บ้านโคกว่าน ตำบลหนองโสน อำเภอนางรอง ในเวลา 09.00 น. ข้าพเจ้า อาจารย์ประจำหลักสูตรและทีมผู้ปฏิบัติงานทุกท่านนำโดย พระครูวิสุทธิ พัฒนาภิรมย์ นายเกรียงศักดิ์ แผ้วพลสง นายกอบต.หนองโสน ปลัด กรุณา สวัสดิ์สิง ผศ.ดร.อัครพนธ์ เนื้อไม้หอม อาจารย์ชมพู อิสริยวัฒน์ ร่วมด้วยตำบลหนองโสน ตำบลหนองยายพิมพ์ ตำบลหนองกง ได้ร่วมด้วยช่วยกันปลูกต้นไม้ซึ่งได้ปลูกไปแล้วเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2564 ในการปลูกครั้งนี้เป็นการปลูกครั้งที่ 2 ซึ่งปลูกต้นไม้ลงไปทางทิศใต้ของโนนตะโก ระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตรกว่าๆ ได้มีต้นไม้หลากหลายชนิด ได้แก่ ต้นยางนา ต้นพะยูง และหญ้าแฝก และปลูกทั้ง 2 ฝั่งของคลอง ซึ่งในวันข้างหน้าบริเวณที่แห่งนี้จะเป็นไปด้วยต้นไม้ที่เขียวขจีร่มรื่น รื่นรมทั้งกายและใจเพราะต้นไม้สีเขียวก็เปรียบเสมือนปอดของคน ต้นไม้ 1 ต้น มีประโยชน์มากมายช่วยดักจับอนุภาพมลพิษหลายชนิด เช่น ฝุ่น ควัน ไอพิษต่างๆ ได้ถึง 1.4 กิโลกรัมต่อปี กักเก็บคาร์บอนเฉลี่ย 1-1.7 ตันคาร์บอน ลดอุณหภูมิได้ 2-4 องศาเซลเซียส ดูดซัพก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ปล่อยก๊าซออกซิเจนรองรับความต้องการของมนุษย์เพราะฉะนั้นต้นไม้คือชีวิต

ข้าพเจ้าจะยกตัวอย่างต้นไม้บ้างชนิดมาให้ดูกัน

ต้นพะยูง

ต้นพะยูง จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ผลัดใบช่วงสั้น ๆ มีลักษณะคล้ายกับต้นประดู่ โดยมีความสูงของต้นได้ถึง 25 เมตร เมื่อโตเต็มที่ลำต้นจะมีลักษณะเปลาตรง มีเรือนยอดเป็นรูปทรงกลมหรือรูปไข่ทึบ เปลือกต้นเรียบเป็นสีเทา และล่อนเป็นแผ่นบาง ๆ ส่วนเปลือกด้านในเป็นสีน้ำตาลแกมสีเหลือง เนื้อไม้เป็นสีแดงอมม่วงถึงแดงเลือดหมูแก่ เนื้อละเอียด มีความแข็งแรงทนทาน มีแก่นหอมร้อนและมีรสขมฝาดเล็กน้อย การขยายพันธุ์ที่นิยมทำกันก็คือ การนำเมล็ดมาเพาะให้เป็นต้นกล้า ซึ่งเป็นวิธีที่สะดวกและนิยมกันมาก สำหรับวิธีการขยายพันธุ์โดยวิธีอื่น ๆ ก็สามารถทำได้โดยการนำเหง้ามาปักชำ สามารถขึ้นได้ในดินทุกชนิด ทนแล้งได้ดี

ประโยชน์ของพะยูง

1.ผลใช้ทำเป็นไม้ประดับแห้งได้

2.ประโยชน์ของไม้พะยูงกับการเลี้ยงครั่ง ไม้พะยูง เป็นไม้ที่สามารถนำมาเลี้ยงครั่งได้ดีชนิดหนึ่ง โดยสามารถให้ผลผลิตสูงถึงต้นละประมาณ 50 กิโลกรัม และทำให้ครั่งได้มาตรฐานจัดอยู่ในเกรดเอ

3.ต้นพะยูงจัดเป็นไม้มงคลนาม ตามชื่อที่พ้องกับคำว่า “พยุง” ที่หมายถึง การประคองให้อยู่ในสภาพปกติ ช่วยให้ทรงตัวได้ จึงมีความเชื่อว่า หากบ้านใดปลูกต้นพะยูงไว้เป็นไม้ประจำบ้าน จะทำให้บุคคลในบ้านมีแต่ความเจริญ มีฐานะดีขึ้น ช่วยทำให้ชีวิตไม่ตกต่ำ ช่วยพยุงให้โชคดีมีชัย และต้นพะยูงยังจัดเป็นไม้มงคลที่ใช้ในการก่อสร้างอาคารหรือก่อฐานประดิษฐ์วัตถุต่าง ๆ เช่น ในการนำมาใช้ในพิธีวางศิลาฤกษ์ และเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่บ้านและผู้อยู่อาศัย ควรปลูกต้นพะยูงในวันเสาร์ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เพราะโบราณเชื่อว่าการปลูกไม้เพื่อเอาคุณให้ปลูกในวันเสาร์ ถ้าจะให้เป็นสิริมงคลแก่ตัวผู้ปลูก ผู้ปลูกควรเป็นสุภาพบุรุษ เพราะพยุงเป็นชื่อที่เหมาะสำหรับสุภาพบุรุษ อีกทั้งแก่นไม้พยุงก็มีความแข็งแกร่งทนทานจึงเปรียบเทียบได้กับความแข็งแรงของสุภาพบุรุษนั่นเอง นอกจากนี้พะยูงยังจัดเป็น 1 ใน 9 ของไม้มงคลไทยอีกด้วย ซึ่งประกอบไปด้วย ราชพฤกษ์, ชัยพฤกษ์, ขนุน, ทองหลาง, ทรงบาดาล ไผ่สีสุก, สัก, กันเกรา, และพะยูง

4.การใช้งานด้านภูมิทัศน์ สามารถปลูกเป็นไม้ประดับเพื่อให้ร่มเงาที่สาธารณะหรือในบริเวณบ้านได้ เนื่องจากมีพุ่มใบละเอียดและมีดอกหอม

หญ้าแฝก

หญ้าแฝก เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยวตระกูลหญ้าชนิดหนึ่ง เช่นเดียวกับข้าวโพด ข้าวฟ่าง อ้อย ซึ่งพบกระจายอยู่ทั่วไปหลายพื้นที่ตามธรรมชาติ จากการสำรวจพบว่า มีกระจายอยู่ทั่วโลกประมาณ 12 ชนิด และสำรวจพบในประเทศไทย 2 ชนิด ได้แก่

1.กลุ่มพันธุ์หญ้าแฝกลุ่ม ได้แก่ พันธุ์สุราษฎร์ธานี กำแพงเพชร 2 ศรีลังกา สงขลา 3 และพระราชทาน ฯลฯ

2.กลุ่มพันธุ์หญ้าแฝกดอน ได้แก่ พันธุ์ราชบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ร้อยเอ็ด กำแพงเพชร 1 นครสวรรค์ และเลย เป็นต้น

หญ้าแฝกเป็นหญ้าที่ขึ้นเป็นกอ หน่อเบียดกันแน่น ใบของหญ้าแฝกมีลักษณะแคบยาว ขอบขนานปลายสอบแหลม ด้านท้องใบจะมีสีจางกว่าด้านหลังใบ มีรากเป็นระบบรากฝอยที่สานกัน แน่นยาว หยั่งลึกในดิน มีข้อดอกตั้ง ประกอบด้วยดอกขนาดเล็ก ดอกจำนวนครึ่งหนึ่งเป็นหมัน

คุณสมบัติของหญ้าแฝก

โครงการวิจัยอันเนื่องมาจากพระราชดำริพบว่าหญ้าแฝกสามารถนำมาปลูกเป็นแถวเป็นแนวเพื่อเป็นปราการธรรมชาติ ช่วยกรองตะกอนดินที่ถูกชะล้างมากักเก็บไว้ ชะลอความเร็วของน้ำตามธรรมชาติและทำให้ดินดูดซับน้ำได้ทัน หญ้าแฝกสามารถนำมาใช้ในการปกป้องและอนุรักษ์ดูแลทรัพยากรธรรมชาติได้ เช่น ปลูกตามแนวคลองชลประทาน อ่างเก็บน้ำและหนองบึง รวมทั้งไหล่ถนนและบริเวณใกล้สะพาน รากที่สานกันแน่นเหมือนตาข่ายจะพยุงดินไว้ กลายเป็น ‘กำแพงใต้ดินที่มีชีวิต’ ช่วยชะลอแรงน้ำ ทำให้น้ำซึมลงในดินได้มากขึ้น ช่วยป้องกันหน้าดินถูกกัดเซาะพังทลาย ในส่วนของบริเวณเชิงเขาแนวรั้วหญ้าแฝกยังช่วยหยุดยั้งการพังทลายของดินด้วยเช่นกัน

เวลา 11.00 น. เสร็จจากกิจกรรมแล้วข้าพเจ้าและผู้ปฏิบัติงานกลุ่มประชาชนได้รับมอบหมายสัมภาษณ์ นายเกรียงศักดิ์ แผ้วพลสง นายกอบต.หนองโสน มี 3 หัวข้อคือ

1.ท่านนายกคิดอย่างไรกับโครงการปลูกป่าชุมชน

เป็นประโยชน์ต่อชุมชนกับประเทศชาติอย่างมากเรื่องป่าชุมชนต้องอยู่ด้วยกันและต้องให้ภาคส่วนรับรู้รับทราบ เราก็จะได้ร่วมกันอนุรักษ์และดูแล ร่วมกันปลูกป่า เพราะสำหรับการปลูกป่าเป็นเรื่องราวที่มีประโยชน์มากๆ เป็นเรื่องราวที่ริเริ่มให้ลูกหลานคนรุ่นใหม่รู้จักเรื่องการปลูกป่าเพราะการทำลายป่าเราก็รู้จักและผลเสียจากการทำลายกับผลที่ได้รับจากการปลูกป่ามันคนละอย่างคนละเรื่องกัน เนื่องจากโครงการปลูกป่าชุมชนเป็นกลไกที่สำคัญที่เป็นช่องทางให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์จัดการฟื้นฟูให้ต้นไม้ป่าไม้มีความสมบูรณ์ขึ้นและที่สำคัญคือได้เรียนรู้การอยู่อย่างสมดุลกับธรรมชาติและดำรงชีพอยู่ได้อย่างมีความสุข

2.ท่านมีเป้าหมายอะไร

อย่างเห็นป่าเกิดขึ้นเยอะๆเพราะต้นไม้จะสร้างธรรมชาติปรับเปลี่ยนอะไรหลายๆอย่างโดยเฉพาะสภาพดินฟ้าอากาศ ฝนสมัยก่อนตกต้องตามฤดูกาล ต้นไม้อุดมสมบูรณ์มากทำให้ปัญหาต่างๆไม่ค่อยมี แต่หลังจากต้นไม้ถูกทำลายไปมากอากาศก็เปลี่ยนแปลง ฝนที่เคยตกก็ไม่ตกสภาพพื้นดินก็เป็นดินด้าน ดินแข็ง ดินเค็ม ฉะนั้นสิ่งที่อยากให้เกิดมากๆคือ ป่าที่เป็นธรรมชาติเพื่อทรัพยากรต้นไม้และสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้นกว่านี้

3.ท่านนายกคิดอย่างไรบ้างกับกลุ่มต่างๆที่เข้าร่วมโครงการ

เป็นเรื่องที่ดีมากๆถ้าไม่มีกลุ่มก็จะอยู่ตัวใครตัวมัน บ้างทีการที่อยู่ตัวใครตัวมันทำให้จิตใต้สำนึกของการอยู่ตัวใครตัวมันไม่เหมือนการร่วมกลุ่มกัน อย่างนี้สามารถพูดคุยกันไปได้เรื่อยๆ ทำตรงนั้น ทำตรงนี้หลายๆอย่างที่ทำให้เกิดความเข้มแข็งมาจากในเรื่องของการรวมกลุ่ม ฉะนั้นประโยชน์ที่ได้จากการรวมกลุ่มจะดีกว่าอยู่ตัวใครตัวมันเพราะการปลูกป่าจะควบคู่กับการพัฒนาคนชุมชน สังคม ที่ทำให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับทรัพยากรธรรมชาติด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมและเป็นเจ้าของต้นไม้ด้วยกัน การลงมือปฏิบัติเพื่อเป็นการช่วยให้มีใจรักต้นไม้ รักป่าไม้ ห่วงเห็นทรัพยากรป่าไม้และรักษาสิ่งแวดล้อมทำให้มีความอุดมสมบูรณ์ต่อไป

เวลา 11.30 น. สัมภาษณ์นายมานพ บุญรอด เจ้าของศูนย์การเรียนรู้ การปลูกป่า มี 3 หัวข้อ คือ

1.วิธีการขุดหลุม โดยเฉพาะพวกไม้ยืนต้นไม้สิ่งแรกเราต้องเตรียมหลุมก่อน ใช้จอบขุดหลุมให้ได้ 50×50 เซนติเมตร ความลึกไม่น้อยกว่า 30 เซนติเมตร การขุดดินไม่ต้องแยกชั้นขุด ขุดให้ลึกลงไป พยายามเอาดินขึ้นให้ได้ทั้ง 2 ฝั่งเพื่อดินจะได้ตากแดดให้มากอย่างน้อยให้ได้ 1 อาทิตย์ แสงแดดจะเผาลงไปในหลุมทำให้เชื้อราที่ไม่ต้องการจะค่อยๆตายไปและเอาจอบพรสนดินตรงกลางหลุมเพื่อทำให้รากของต้นไม้ซอนไซลงไปใต้ดินได้ง่ายขึ้นทำให้ต้นไม้เจริญเติบโตได้ดี

2.วัดระยะความห่าง ไม่มีสูตรตายตัว อยู่ที่ว่าเราจะปลูกป่าเพื่ออะไร เพื่อให้ได้ป่าเราก็ไม่จำเป็นจะต้องวัดว่าจะต้องห่าง 1 เมตร 2 เมตรX4เมตร ถ้าเราปลูกป่าและหวังว่าจะตัดอีก 10-20 ปี เราต้องมีการเว้นระยะที่เหมาะสม เพื่อต้นไม้จะได้โตได้ดี

3.การขึงเชือกมีวัตถุประสงค์อะไร ทำให้ต้นไม้แต่ละต้นเป็นแถวในแนวตรงและง่ายต่อการดูแลและจัดการ

เวลา 12.00 น. หลังจากสัมภาษณ์เสร็จแล้ว รับประทานอาหารกลางวัน เมนูวันนี้มี ส้มตำ ข้าวเหนียว ไก่ทอด แต่ต้องรักษามาตรการเว้นระยะห่าง จากนั้นแยกย้ายกันกลับ

วันอาทิตย์ ที่ 12 กันยายน 2564 เวลา 09.00 น. อาจารย์ประจำหลักสูตร ข้าพเจ้าและทีมผู้ปฏิบัติงานได้ลงพื้นที่ ณ ศูนย์การเรียนรู้บ้านโคกว่าน ในการลงพื้นที่ในครั้งนี้ อาจารย์ประจำหลักสูตรได้ให้ผู้ปฏิบัติงานทุกคน ได้ช่วยกันถอดบทเรียนในการสอบถามถึงการลงพื้นที่ ในโคกหนองนาว่า เราได้อะไรบ้าง เจอปัญหาอะไร เราช่วยกันวิเคราะห์วางแผน เรื่องในการถอดบทเรียนในครั้งนี้ได้แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ

1.กลุ่มนักศึกษา ถอดบทเรียนด้านประมง

2.กลุ่มบัณฑิต ถอดบทเรียนด้านเกษตร

3.กลุ่มประชาชน ถอดบทเรียนด้านปศุสัตว์

เวลา 12.00 น. รับประทานอาหารกลางวัน เมนูวันนี้มี ส้มตำ น้ำพริก ผักต้ม ผักสด ต้มไก่ เป็นส่วนๆ เครื่องดื่มน้ำอัดลม รับประทานอาหารเสร็จแล้ว ต่างแยกย้ายกันกลับ

จากการลงพื้นที่ในครั้งนี้ข้าพเจ้า ได้เรียนรู้และได้ประสบการณ์มากมายในการทำงานเป็นทีม ซึ่งในแต่ละครั้งจะมีการแจกแจงงาน ออกเป็นส่วนๆ ทำให้ผู้ปฏิบัติงานมีหน้าที่ความรับผิดชอบ จึงทำให้งานบรรลุเป้าหมายตามที่ต้องการและยังสร้างปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ช่วยให้เรารู้จักสามัคคีระหว่างผู้ปฏิบัติงาน จึงทำให้งานประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ข้าพเจ้าขอขอบคุณทุกๆท่าน ที่ทำให้การปฏิบัติงานได้ผ่านลุล่วงและสำเร็จไปได้ด้วยดี ขอขอบคุณค่ะ

อื่นๆ

เมนู