1. หน้าแรก
  2. คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
  3. HS02 - ตำบลหนองโสน อำเภอนางรอง
  4. HS02 ลงพื้นที่ปลูกป่าเพิ่มเติมที่คลองโนนตะโก บ้านโคกว่าน ถอดบทเรียนจากการลงพื้นที่ศึกษาแปลงโคกหนองนาโมเดล ตำบลหนองโสน อำเภอนางรอง

HS02 ลงพื้นที่ปลูกป่าเพิ่มเติมที่คลองโนนตะโก บ้านโคกว่าน ถอดบทเรียนจากการลงพื้นที่ศึกษาแปลงโคกหนองนาโมเดล ตำบลหนองโสน อำเภอนางรอง

HS02 ลงพื้นที่ปลูกป่าเพิ่มเติมที่คลองโนนตะโก บ้านโคกว่าน ถอดบทเรียนจากการลงพื้นที่ศึกษาแปลงโคกหนองนาโมเดล ตำบลหนองโสน อำเภอนางรอง ข้าพเจ้า นางสาวนุชราภรณ์ ฤทธิ์ไธสง ประเภทบัณฑิตจบใหม่ ตำบลหนองโสน อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์

เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ(มหาวิทยาลัยสู่ตำบลสร้างรากแก้วให้ประเทศ)หลักสูตรเกษตรผสมผสานในรูปแบบโคกหนองนาโมเดล(HS02)

           ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง คือแนวคิดที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระราชทานไว้เพื่อให้เกิดการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ พร้อมกับอยู่บนพื้นฐานของความต้องการด้านเศรษฐกิจและสังคมของประชาชน ผลที่เกิดขึ้นคือ เกิดการอนุรักษ์และเพิ่มพื้นที่ป่าของประเทศไทย เนื่องจากประชาชนได้ตระหนักและเห็นคุณค่าจากการใช้ประโยชน์ของป่าไม้ที่ปลูก ดังนี้ 1.พออยู่ คือการปลูกต้นไม้ที่ใช้เนื้อไม้และไม้เชิงเศรษฐกิจให้เป็นป่า ไม้กลุ่มนี้เป็นไม้อายุยาวนานซึ่งจะเน้นประโยชน์โดยใช้เนื้อไม้เพื่อสร้างบ้าน ทำเครื่องเรือน และถือได้ว่า เป็นการออมทรัพย์เพื่อสร้างความมั่นคงในอนาคต ต้นไม้กลุ่มนี้ เช่น ตะเคียนทอง ยางนา แดง สัก พะยูง พะยอม 2. พอกิน คือ การปลูกต้นไม้ที่กินได้รวมทั้งใช้เป็นยาสมุนไพร ไม้ในกลุ่มนี้ เช่น แค มะรุม ทุเรียน สะตอ ผักหวาน ฝาง แฮ่ม กล้วย ฟักข้าว   3. พอใช้ คือ การปลูกต้นไม้ให้เป็นป่าไม้สำหรับใช้สอยในครัวเรือน อาทิ ทำฟืน เผาถ่าน ทำงานหัตถกรรม หรือทำน้ำยาซักล้าง ไม้ในกลุ่มนี้ เช่น มะคำดีควาย หวาย ไผ่ เป็นต้น 4. พอร่มเย็น คือ ประโยชน์อย่างที่ 4 ที่เกิดจากการปลูกป่า 3 อย่าง ที่ทำให้เกิดความร่มเย็น และป่าทั้ง 3 อย่างนี้ จะช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศดินและน้ำ ให้กลับอุดมสมบูรณ์ร่มรื่นและฉ่ำเย็นขึ้นมา

            ต้นยางนา จัดเป็นพรรณไม้ยืนต้นไม่ผลัดใบหรือผลัดใบระยะสั้นขนาดใหญ่ มีความสูงของต้นได้ถึง 50 เมตร เรือนยอดเป็นพุ่มกลมทึบ โคนต้นมักเป็นพูพอน ลำต้นมีลักษณะเปลาตรง เปลือกต้นเกลี้ยงเป็นสีออกเทาอ่อน หลุดลอกออกเป็นชิ้นกลม ๆ เนื้อไม้เป็นสีน้ำตาลแดง เสี้ยนตรง เนื้อหยาบ ส่วนตามกิ่งอ่อนและยอดอ่อนมีขนและมีรอยแผลใบเห็นได้ชัด ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด (เด็ดปีกออกก่อนนำไปเพาะ เมล็ดจะงอกภายในเวลา 12 วัน และภายในเวลา 7 เดือน ต้นกล้าจะมีความสูงได้ประมาณ 30-35 เซนติเมตร และพร้อมที่จะย้ายไปปลูกได้) เป็นพรรณไม้กลางแจ้งที่เจริญเติบโตได้ดีในสภาพดินแทบทุกชนิด ชอบดินที่มีอินทรียวัตถุค่อนข้างอุดมสมบูรณ์ ความชื้นปานกลาง และแสงแดดแบบเต็มวัน (หลังต้นอายุ 1 ปี) มักขึ้นในป่าดงดิบ ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง ป่าดิบชื้น ตามที่ต่ำชุ่มชื้นใกล้แม่น้ำลำธารทั่วไป และตามหุบเขาทั่วทุกภาคของประเทศ ที่ความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 50-400 เมตร ประโยชน์ของยางนา 1.น้ำมันยางจากต้นสามารถนำมาใช้โดยตรงเพื่อใช้ผสมชันไม้อื่น ๆ ใช้ยาเครื่องจักสานกันน้ำรั่ว ยาแนวเรือเพื่ออุดรอยรั่ว ทาไม้ ใช้ผสมขี้เลื่อยจุดไฟ หรือใช้ทำไต้จุดไฟส่องสว่าง (ของใช้สำหรับจุดไฟให้สว่าง หรือทำเป็นเชื้อเพลิง ทำด้วยไม้ผุหรือเปลือกเสม็ดคลุกกับน้ำมันยาง แล้วนำมาห่อด้วยใบไม้เป็นดุ้นยาว ๆ หรือใส่กระบอก)  ใช้เดินเครื่องยนต์แทนน้ำมันขี้โล้ ใช้ทำน้ำมันชักเงา ฯลฯ หรือนำมาใช้เป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์อื่น ๆ เช่น สีทาบ้าน หมึกพิมพ์  2. น้ำมันยางเป็นอีกหนึ่งสินค้าส่งออกที่สำคัญของประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันชาวบ้านก็ยังมีการเก็บหากันอยู่ แต่ก็ยังไม่พอใช้จนต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศเพิ่มเติม 3. เนื้อไม้ยางนาสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการก่อสร้างอาคารบ้านเรือนได้ดี ยิ่งเมื่อนำมาอาบน้ำยาให้ถูกต้องก็จะช่วยทำให้มีความทนทานมากขึ้น สามารถนำไปใช้กับงานภายนอกได้ทนทานนับ 10 ปี ด้วยเหตุที่ไม้ยางนาเป็นไม้ขนาดใหญ่ เปลาตรง สูง และไม่ค่อยมีกิ่งก้าน การตัดไม้ยางนามาใช้จึงได้เนื้อไม้มาก โดยเนื้อไม้ที่ได้จะมีความแข็งปานกลาง สามารถนำมาเลื่อยไสกบตกแต่งให้เรียบได้ง่าย ด้วยเหตุนี้จึงมีการใช้ประโยชน์จากไม้ยางนากันมาตั้งแต่อดีต โดยนิยมนำมาเลื่อยทำเสาบ้าน รอด ตง ไม้พื้น ไม้ระแนง ไม้คร่าว โครงหลังคา ฝ้าเพดาน เครื่องเรือนต่าง ๆ ทำรั้วบ้าน ทำเรือขุด เรือขนาดย่อม แจว พาย กรรเชียง รวมไปถึงตัวถังเกวียน ถังไม้ หมอนรองรางรถไฟ ฯลฯ แต่ในปัจจุบันการใช้ประโยชน์จากเนื้อไม้ยางนาที่สำคัญคือการนำไปทำเป็นไม้อัดและแผ่นใยไม้อัด จนไม่เพียงพอต่อการใช้งาน และต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศบางส่วนด้วย 4. ลำต้นใช้ทำไม้ฟืน ถ่านไม้ 5. ไม้ยางนาจะขึ้นอยู่ในพื้นที่ที่มีเชื้อเห็ดราไมคอร์ไรซาส์ (Micorrhyzas) ซึ่งเป็นตัวเอื้อประโยชน์ในการเจริญเติบโต โดยเชื้อราเหล่านี้จะสร้างดอกเห็ดเมื่อมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม โดยเฉพาะในช่วงฝนแรกของทุกปีจะมีดอกเห็ดหลายชนิดให้หาเก็บมารับประทานได้มากมาย เช่น เห็ดชะโงกเหลือง เห็ดเผาะ เห็ดน้ำหมาก เห็ดยาง เป็นต้น 6. ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับตามสองฝั่งถนน เพื่อความสวยงาม และปลูกเพื่อประโยชน์ทางด้านนิเวศ ให้ร่มเงา กำบังลม ให้ความชุ่มชื้น ควบคุมอุณหภูมิในอากาศ ป้องกันการพังทลายของหน้าดิน ฯลฯ

วันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ.2564 ลงพื้นที่ปลูกป่าเพิ่มเติมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ เป็นครั้งที่ 2 บริเวณพื้นที่คลองโนนตะโก บ้านโคกว่าน ตำบลหนองโสน ผู้ปฏิบัติงานทีมตำบลหนองโสนร่วมด้วยช่วยกันกับชาวบ้าน และผู้ปฏิบัติงานทีมตำบลหนองกงและหนองยายพิมพ์มาช่วยกันปลูกป่า หลังจากครั้งแรกที่ช่วยกันปลูกในวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ.2564 จากการช่วยกันปลูกต้นไม้สร้างคุณค่าให้แผ่นดินรวมสองครั้ง จึงทำให้บริเวณสองฝั่งคลองยาวร่วม 1 กิโลเมตรกว่าๆ เต็มไปด้วยพันธุ์ไม้หลากหลายชนิด เช่น ยางนา พะยูง สัก เป็นต้น

         โคก-หนอง-นา โมเดล คือ การจัดการพื้นที่ซึ่งเหมาะกับพื้นที่การเกษตร ซึ่งเป็นผสมผสานเกษตรทฤษฎีใหม่ เข้ากับภูมิปัญญาพื้นบ้านที่อยู่อย่างสอดคล้องกับธรรมชาติในพื้นที่นั้นๆ โคก-หนอง-นา โมเดล เป็นการที่ให้ธรรมชาติจัดการตัวมันเองโดยมี มนุษย์เป็นส่วนส่งเสริมให้มันสำเร็จเร็วขึ้น อย่างเป็นระบบ โคก-หนอง-นา โมเดล ซึ่งเป็นแนวทางทำเกษตรอินทรีย์และการสร้างชีวิตที่ยั่งยืน โดยมีองค์ประกอบดังนี้

1.โคก : พื้นที่สูง
ดินที่ขุดทำหนองน้ำนั้นให้นำมาทำโคก บนโคกปลูก “ป่า 3อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง” ตามแนวทางพระราชดำริปลูกพืช ผัก สวนครัว เลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ เลี้ยงปลา ทำให้พออยู่ พอกิน พอใช้ พอร่มเย็น เป็นเศรษฐกิจพอเพียงขั้นพื้นฐาน ก่อนเข้าสู่ขั้นก้าวหน้า คือ ทำบุญ ทำทาน เก็บรักษา ค้าขาย และเชื่อมโยงเป็นเครือข่าย ปลูกที่อยู่อาศัยให้สอดคล้องกับสภาพภูมิประเทศ และภูมิอากาศ

2.หนอง : หนองน้ำหรือแหล่งน้ำ
ขุดหนองเพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ยามหน้าแล้งหรือจำเป็น และเป็นที่รับน้ำยามน้ำท่วม (หลุมขนมครก) ขุด “คลองไส้ไก่” หรือคลองระบายน้ำรอบพื้นที่ตามภูมิปัญญาชาวบ้าน โดยขุดให้คดเคี้ยวไปตามพื้นที่เพื่อให้น้ำกระจายเต็มพื้นที่เพิ่มความชุ่มชื้น ลดพลังงานในการรดน้ำต้นไม้ ทำ ฝายทดน้ำ เพื่อเก็บน้ำเข้าไว้ในพื้นที่ให้มากที่สุด โดยเฉพาะเมื่อพื้นที่โดยรอบไม่มีการกักเก็บน้ำ น้ำจะหลากลงมายังหนองน้ำ และคลองไส้ไก่ ให้ทำฝายทดน้ำเก็บไว้ใช้ยามหน้าแล้ง พัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ ทั้งการขุดลอก หนอง คู คลอง เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ยามหน้าแล้ง และเพิ่มการระบายน้ำยามน้ำหลาก

3.นา
พื้นที่นานั้นให้ปลูกข้าวอินทรีย์พื้นบ้าน โดยเริ่มจากการฟื้นฟูดิน ด้วยการทำเกษตรอินทรีย์ยั่งยืน คืนชีวิตเล็กๆ หรือจุลินทรีย์กลับคืนแผ่นดินใช้การควบคุมปริมาณน้ำในนาเพื่อคุมหญ้า ทำให้ปลอดสารเคมีได้ ปลอดภัยทั้งคนปลูก คนกิน ยกคันนาให้มีความสูงและกว้าง เพื่อใช้เป็นที่รับน้ำยามน้ำท่วม ปลูกพืชอาหารตามคันนา

วันที่ 12 กันยายน พ.ศ.2564 ผู้ปฏิบัติงานทีมตำบลหนองโสน ได้ร่วมด้วยช่วยกันถอดบทเรียนจากการลงพื้นที่ศึกษาแปลงโคกหนองนาโมเดล ทั้งหมด 11 แปลงได้แก่

1.แปลงนายลือ นวลปักษี

2. แปลงนายจุล ชื่นชู

3. แปลงนายมีชัย หรบรรพ์

4. แปลงนางสาวดนุลดา ธรรมศิริ

5. แปลงนางสาวปรีดา จรกระโทก

6. แปลงนายสว่าง อุดมดัน

7. แปลงนายอุทัย งามแพง

8. แปลงนางเปรมวิภา คนงาม

9. แปลงกำนันบุญทัน ห้าวหาญ

10. แปลงนางจิตรานุช โพหิรัญ

11. แปลงนายวงศกร สุดาจันทร์

โดยแบ่งเป็น 3 ด้าน ได้แก่ ด้านการเกษตร ด้านประมง และด้านปศุสัตว์ ซึ่งทั้ง 3 ด้านนี้ผู้ปฏิบัติงานได้วิเคราะห์ช่วยกันถอดบทเรียนโดยแบ่งออกเป็นปัญหาที่พบ สิ่งที่ได้เรียนรู้ในแต่ละด้าน และประโยชน์ที่ได้รับ ดังต่อไปนี้ 1)ด้านการเกษตร ปัญหาที่พบ ได้แก่ สภาพดิน หน้าดินแห้ง ดินไม่เก็บน้ำ ส่วนใหญ่เป็นดินเหนียวปนกรวดแข็ง ไม่เหมาะแก่การเพาะปลูก สภาพน้ำ น้ำมีสภาพขุ่นมัว ไม่ใสสะอาด ปริมาณน้ำไม่เพียงพอ เนื่องจากมีช่วงที่ฝนไม่ตก พืชพันธุ์นำมาปลูกบางต้นไม่ค่อยสมบูรณ์ สิ่งที่ได้เรียนรู้ การแบ่งสัดส่วนของพื้นที่ ในการทำโคกหนองนา ทำให้ได้ใช้พื้นที่มากยิ่งขึ้นและใช้ประโยชน์มากยิ่งขึ้น การแก้ไขปัญหาปรับสภาพหน้าดิน น้ำ โดยการปลูกต้นไม้เพื่อปรับสมดุลของสภาพดินให้พร้อมต่อการปลูกชนิดอื่น ระบบการจัดพื้นที่ที่ใช้ทำการเกษตรขนาดย่อม คือ 1 ไร่ และ 3 ไร่ ได้รู้ถึงลักษณะทางพันธุศาสตร์ของพืชต่างๆ การใช้ประโยชน์จากพันธุ์ไม้ต่างๆ เช่น ต้นสักทอง ต้นยางนา ต้นมะฮอกกานี ต้นพยุง เป็นต้น ประโยชน์ที่ได้รับ ได้แก่ เกิดการพึ่งพาตนเอง มีผลผลิตไว้กินเอง เกิดรายได้จากการนำผลผลิตไปจำหน่าย มีความมั่นคงในการดำรงชีวิต ช่วยให้ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จากการปฏิบัติตามทฤษฏีเศรษฐกิจพอเพียง ช่วยอนุรักษ์ดินและน้ำ การปลูกพืชที่หลากหลายช่วยสร้างระบบนิเวศที่สมดุลให้กับพื้นที่ ไม้กินได้ นำมาเป็นอาหารและยาสมุนไพร ไม้ใช้สอย นำมาสร้างบ้าน ทำเล้าไก่ เล้าเป็ด ไม้เศรษฐกิจ นำไปจำหน่ายเพื่อสร้างรายได้ 2)ด้านประมง ปัญหาที่พบ ได้แก่ น้ำขุ่นมัว ไม่ใสสะอาด บางพื้นที่มีปริมาณน้ำน้อย ทำให้ไม่เพียงพอต่อการเกษตร ขาดแคลนน้ำในการกักเก็บน้ำไว้ใช้หน้าแล้ง เนื่องจากฝนทิ้งช่วงและตกไม่ตามฤดูกาล สิ่งที่ได้เรียนรู้ ได้แก่ ได้รู้ชนิดพันธุ์ปลาต่างๆ ได้รู้กรรมวิธีการเลี้ยงปลาแต่ละสายพันธ์ุ ได้เรียนรู้วิธีการบำบัดน้ำเสียเพื่อให้เหมาะต่อการเลี้ยงปลา ประโยชน์ที่ได้รับ สร้างรายได้ให้กับตนเองและคนในครอบครัวมีรายได้เสริม มีอาหารไว้บริโภคไม่ต้องซื้อ การรู้จักประหยัด อดออม และลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ใช้ชีวิตแบบพอมีพอกิน 3)ด้านปศุสัตว์ ปัญหาที่พบ ได้แก่ การกระจายความเสี่ยง เมื่อเกิดความเสียหายและเกิดโรคระบาดของสัตว์ ผลกระทบของสภาพดินที่มีลักษณะเป็นดินแข็งมากกว่าดินร่วน การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ มลพิษจากไนโตเจนและฟอสฟอรัส การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตามฤดูกาล การจัดการมูลสัตว์ในแต่ละพื้นที่ยังไม่ถูกสุขอนามัย สิ่งที่ได้เรียนรู้ ได้แก่ ได้เรียนรู้เรื่องที่เกิดขึ้นในสัตว์แต่ละประเภท ทำให้รู้ว่าแต่ละพื้นที่มีการเลี้ยงสัตว์หลายประเภท ได้เรียนรู้ในการสร้างที่อยู่อาศัยของสัตว์ประเภทต่างๆ เลี้ยงสัตว์แบบใช้อาหารสัตว์ที่ผลิตเองได้ที่มีอยู่ในไร่นาและท้องถิ่นเป็นหลัก เช่น รำข้าว ใบข้าวโพด ใบมันสำปะหลัง ประโยชน์ที่ได้รับ ได้แก่ เพื่อสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนและเป็นการสร้างความมั่นคงด้านอาหารโปรตีนให้แก่ครัวเรือน เพื่อให้เกษตรใช้ประโยชน์ร่วมกันได้มากที่สุด การนำมูลสัตว์มาใช้ประโยชน์ เป็นปุ๋ย เพื่อบำรุงพืช ให้มีผลผลิตมากขึ้นแทนการใช้ปุ๋ยเคมีเพื่อลดรายจ่ายในครัวเรือน ทำให้สภาพแวดล้อมดีขึ้น ทั้งนี้ผู้ปฏิบัติงานก็ได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน หลังจากผู้ปฏิบัติงานได้ถอดบทเรียนแล้ว อาจารย์ประจำหลักสูตรก็ได้ชี้แจงและมอบหมายงานให้ทำเพื่อที่จะจัดกิจกรรมนิทรรศการโคกหนองนาโมเดลในครั้งต่อไป

          จากการลงพื้นที่ปฏิบัติงานในครั้งนี้ ผู้ปฏิบัติงานทีมตำบลหนองโสนและชาวบ้านให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี มีความสามัคคีในหมู่คณะ ทำให้งานราบรื่นและสำเร็จไปด้วยดี และได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากการช่วยกันถอดบทเรียนจากการลงพื้นที่ศึกษาแปลงโคกหนองนาโมเดล

 

 

อื่นๆ

เมนู