ข้าพเจ้า นางสาวสุวนันท์ สีโกตะเพชร ประเภทกลุ่มบัณฑิตจบใหม่ (กพร.)

หลักสูตร : HS02 โคกหนองนาโมเดล ตำบลหนองโสน อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์

การปฏิบัติงานในเดือนกันยายน มีการลงพื้นที่ปลูกป่าเพิ่มเติม บริเวณคลองโนนตะโก บ้านโคกว่าน พร้อมทั้งมีการสัมภาษณ์การเข้าร่วมกิจกรรมปลูกป่า และการถอดบทความการลงปฏิบัติงานโคกหนองนาโมเดล

วันอังคารที่ 17 สิงหาคม 2564 ข้าพเจ้า และผู้ปฏิบัติงานท่านอื่นได้รับการแจ้งการเข้าร่วมกิจกรรม ในวันเสาร์ที่ 21 สิงหาคม 2564 ณ บริเวณคลองโนนตะโก บ้านโคกว่าน ตำบลหนองโสน อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ จากอาจารย์ผู้ดูแลโครงการ โดยการนัดหมาย ในช่วงเวลา 09.00 น.

วันเสาร์ที่ 21 สิงหาคม 2564 ข้าพเจ้า และผู้ปฏิบัติงานท่านอื่นได้เข้าร่วมกิจกรรม ณ บริเวณคลองโนนตะโก บ้านโคกว่าน โดยพร้อมเพียงกันตั้งแต่เวลา 09.00 น. การเข้าร่วมกิจกรมในครั้งนี้เป็นการทำกิจกรรมปลูกต้นไม้เพิ่มเติมต่อเนื่องมาจากการปลูกต้นไม้เนื่องในกิจกรรมวันแม่แห่งชาติ โดยจะปลูกเพิ่มเติมให้สุดเส้นทางรอบข้างของบริเวณคลองโนนตะโก มีผู้เข้าร่วมกิจกรรม หลายกลุ่ม ได้แก่ กลุ่มชาวบ้าน กลุ่มผู้ปฏิบัติงานตำบลหนองกง กลุ่มผู้ปฏิบัติงานตำบลหนองยายพิมพ์ กลุ่มผู้ปฏิบัติงานตำบลหนองโสน ผศ.ดร.อัครพนท์ เนื้อไม้หอม อาจารย์ชมพู อิสริยวัฒน์ นายเกรียงศักดิ์ แผ้วพลสง นายก อบต.หนองโสน ปลัดกรุณา สวัสดิ์สิง ร่วมด้วยพระครูวิสุทธิพัฒนาภิรม เจ้าอาวาสวัดตาไก้พลวง โดยพันธุ์ไม้ที่ใช้ในการปลูกครั้งนี้ ก็เป็นพันธุ์ไม้ชนิดเดียวกันที่ใช้ในการปลูกเนื่องในวันแม่แห่งชาติ ซึ่งได้แก่ ต้นหญ้าแฝก  ต้นยางนา ต้นพยูง ฯลฯ ในครั้งนี้จะไม่มีการนำต้นสักทองลงเนื่องจากในกิจกรรมวันแม่มีการปลูกไปเยอะพอสมควรแล้ว

ต้นหญ้าแฝก จัดเป็นไม้จำพวกหญ้า มีอายุหลายปี เป็นหญ้าที่ขึ้นเป็นกอแน่น ใบยาวตั้งตรงขึ้นได้สูงประมาณ 1-2 เมตร กอแฝกจะมีขนาดค่อนข้างใหญ่ โคนกอเบียดแน่นไม่มีไหล ส่วนโคนของลำต้นจะแบน โดยเกิดจากส่วนของโคนใบที่แบนเรียงซ้อนกัน และลำต้นแท้จะมีขนาดเล็กซ่อนอยู่ในกาบใบบริเวณคอดิน มีรากเหง้าเป็นฝอยอยู่ใต้ดินและมีกลิ่นหอม มักพบขึ้นเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ หรือขึ้นกระจายกันแต่ไม่ไกลกันมากนัก ส่วนการเจริญและแตกกอพบว่าจะมีการแตกหน่อใหม่ทดแทนต้นเก่าอยู่เสมอ โดยจะแตกหน่อออกทางด้านข้างรอบ ๆ กอ ในบ้านเราจะพบหญ้าแฝกได้มากที่โล่งแจ้ง โดยเฉพาะบริเวณที่มีความชื้นสูง หรือใกล้น้ำ และในป่าเต็งรัง

แหล่งที่มา: http://charoensinhos.go.th//2017/04/10/หญ้าแฝก-สรรพคุณและประโย/

ต้นยางนา  ไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ ไม่ผลัดใบหรือผลัดใบระยะสั้น สูงได้ถึง 50 เมตร ลำต้นเปลาตรง เปลือกต้นสีออกเทาอ่อน เกลี้ยง หลุดลอกออกเป็นชิ้นกลมๆ โคนต้นมักเป็นพูพอน เรือนยอดเป็นพุ่มกลม ทึบ ตามกิ่งอ่อนและยอดอ่อนมีขน และมีรอยแผลใบเห็นชัด ใบ เป็นใบเดี่ยว เรียงเวียนสลับ รูปไข่แกมรูปขอบขนาน กว้าง 6-14 เซนติเมตร ยาว 12.5-25 เซนติเมตร ใบมีขนปกคลุม ใบด้านท้องใบมีขนรูปดาวสั้นๆ เนื้อใบหนาและเหนียว ย่นเป็นลอน โคนใบมนกว้าง ปลายใบสอบทู่ๆ ขอบใบเป็นคลื่นเล็กน้อย ใบอ่อนมีขนสีเทา ใบแก่เกลี้ยงหรือเกือบเกลี้ยง ก้านใบยาว 3-4 เซนติเมตร มีขนประปราย ใบมีหูใบขนาดใหญ่ ดอกออกรวมกันเป็นช่อสั้นๆแบบช่อกระจะ ตามง่ามใบตอนปลายกิ่ง ดอกขนาด 4 เซนติเมตร สีชมพูอ่อน ช่อละ 4-5 ดอก ดอกขนาดใหญ่เรียงตัวหลวมๆ เป็นช่อห้อยยาวถึง 12 เซนติเมตร ก้านช่อมีขน กลีบดอกมี 5 กลีบ รูปขอบขนาน ส่วนปลายกลีบมนและบิดเวียน โคนกลีบชิดกัน ชั้นกลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วยมีครีบตามยาว 5 ครีบ ปลายแยกเป็น 5 แฉก มีแฉกยาว 2 แฉก และสั้น 3 แฉก มีขนสั้นๆสีน้ำตาลปกคลุม เกสรเพศผู้มากกว่า 25 อัน ก้านชูอับเรณูสั้น ปลายอับเรณูมีรยางค์รูปเส้นด้าย รังไข่มีขน ก้านเกสรตัวเมียอ้วน และมีร่อง ผลเป็นผลแห้งรูปกระสวย มีหลอดกลีบเลี้ยงหุ้มจนมิด ยาว 2-2.5 เซนติเมตร มีปีกขนาดใหญ่ 2 อัน ที่พัฒนามาจากกลีบเลี้ยง สีแดงอมชมพู กว้าง 2-2.5 เซนติเมตร  ยาว 11-15 เซนติเมตร เมื่อสุกสีน้ำตาล เส้นปีกตามยาวมี 3 เส้น ปีกสั้น 3 ปีก ยาวประมาณ 1 เซนติเมตร ส่วนกลางผล มีครีบตามยาว 5 ครีบ เส้นผ่านศูนย์กลางผล 2.2-2.8 เซนติเมตร มี 1 เมล็ดต่อผล เมล็ดมีขนสั้นนุ่ม ปลายมีติ่งแหลม มักขึ้นในป่าดิบแล้ง ใกล้ลำธาร ที่สูงจากระดับน้ำทะเล 50-400 เมตร ออกดอกราวเดือนมีนาคมถึงเมษายน ติดผลเดือนพฤษภาคมถึงกรกฎาคม

แหล่งที่มา : http://www.phargarden.com/main.php?action=viewpage&pid=274

ต้นพยูง  เป็นไม้ยืนต้นผลัดใบ สูง 15-20 เมตร เปลือกสีเทาเรียบ เรือนยอดทรงกลมหรือรูปไข่ ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกสองชั้นเรียงสลับ ปลายใบแหลม โคนใบสอบ หลังใบสีเขียวเข้ม ท้องใบสีจาง ลักษณะคล้ายใบประดู่ ดอกขนาดเล็ก กลิ่นหอมอ่อน ออกรวมกันเป็นช่อสีขาวหรือเหลืองอ่อนตามง่ามใบและตามปลายกิ่งในช่วงเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม ผลเป็นฝักรูปขอบขนานแบบบางตรงบริเวณที่หุ้มเมล็ด เมล็ดรูปไตสีน้ำตาลเข้ม พะยูงเป็นไม้ทนแล้ง มีถิ่นกำเนิดในป่าดิบแล้งและป่าเบญจพรรณชื้น กระจายพันธุ์ในป่าภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ความสูงจากระดับทะเลปานกลาง 100-250 เมตร นอกจากนี้ ยังมีพบที่ลาว กัมพูชา และเวียดนาม คติไทยยกพะยูงเป็นไม้มงคล ตามชื่อที่พ้องกับพยุง ซึ่งแปลว่าประคองให้อยู่ในสภาพปกติ ช่วยให้ทรงตัวไว้ เชื่อว่าบ้านใดปลูก จะทำให้บุคคลในบ้านมีแต่ความเจริญ ฐานะดีขึ้น ช่วยไม่ให้ชีวิตตกต่ำ เป็นไม้มงคลที่ใช้ในการก่อสร้างอาคารหรือก่อฐานประดิษฐ์ถาวรวัตถุต่างๆ และเชื่อว่าควรปลูกในวันเสาร์ ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ในทางวิชาการ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช จัดพะยูงเป็น 1 ใน 9 ของไม้มงคลของไทยที่ประกอบด้วย ราชพฤกษ์ หมายถึงความเป็นใหญ่และมีอำนาจวาสนา, ขนุน หมายถึงหนุนให้ดีขึ้นร่ำรวยขึ้น ทำอะไรจะมีผู้ให้การเกื้อหนุน, ชัยพฤกษ์ หมายถึงมีโชคชัย ชัยชนะ, ทองหลาง หมายถึงมีเงินมีทอง, ไผ่สีสุก หมายถึงมีความสุข, ทรงบาดาล หมายถึงความมั่นคง หรือทำให้มั่นคงแข็งแรง, สัก หมายถึงความมีศักดิ์ศรี มีเกียรติ, กันเกรา หมายถึงป้องกันภัยอันตรายต่างๆ หรืออีกชื่อหนึ่งคือ ตำเสา ซึ่งอาจหมายถึงทำให้เสาเรือนมั่นคง และพะยูง เชื่อว่ามงคลคือพยุงฐานะให้ดีขึ้น ด้วยความเป็นไม้มงคล ทั้งลวดลายไม้สวยงาม เนื้อแข็งแรง ทนทาน พะยูงเป็นที่ต้องการจำนวนมากของตลาดนอกประเทศ โดยเฉพาะจีน สิงคโปร์ ไต้หวัน ฮ่องกง นำสู่ปัญหาใหญ่ของประเทศคือการลักลอบตัดไม้พะยูงเพื่อส่งออก ทั้งนี้ เคยมีการเสนอแนวทางแก้ปัญหาการลักลอบตัดและขาย ด้วยการขึ้นทะเบียนเป็นไม้หวงห้าม อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการดำเนินการเรื่องนี้

แหล่งที่มา : https://rosewood25556.wordpress.com/2013/03/31/ลักษณะทั่วไปของไม้พยูง/

หลังจากทำการปลูกต้นไม้เรียบร้อยทางผู้ปฏิบัติงานยังได้มีภารกิจในการสัมภาษณ์ ผู้เข้าร่วมกิจกรรมโคกหนองนา โดยมีการแบ่งการสัมภาษณ์ ดังต่อไปนี้

กลุ่มประชาชน สัมภาษณ์ นายมานพ บุญรอด เจ้าของที่ศูนย์การเรียนรู้ บทสัมภาษณ์ เกี่ยวกับวิธีการขุดหลุม วัดระยะความห่าง และการขึงเชือกมีวัตถุประสงค์เพื่ออะไร และนายเกรียงศักดิ์ แผ้วพลสง นายก อบต.หนองโสน บทสัมภาษณ์เกี่ยวกับ คิดอย่างไรเกี่ยวกับโครงการปลูกป่าชุมชน มีเป้าหมายอย่างไร และคิดอย่างไรที่กลุ่มต่าง ๆ เข้ามาร่วมกิจกรรม

กลุ่มนักศึกษา สัมภาษณ์คณบดี บทสัมภาษณ์เกี่ยวกับ ท่านคณบดีมีแนวคิดอย่างไรในการลงพื้นที่ขับเคลื่อนชุมชน เป้าหมายการเข้าร่วมโครงการ รวมไปถึงสิ่งที่คาดหวังจากกิจกรรมการปลูกป่านี้ และชาวบ้าน หรือเยาวชนเก็บขยะในพื้นที่ ที่เข้าร่วมการปลูกต้นไม้ บทสัมภาษณ์ ในการเก็บขยะแต่ละครั้ง ลงมือทำเองหรือไม่ มีความเห็นอย่างไรบ้างที่เข้ามาช่วยการเก็บขยะ รวมไปถึงชอบต้นไม้ และการปลูกป่าหรือไม่

กลุ่มบัณฑิต สัมภาษณ์พระอาจารย์ทองใส หรือพระครูวิสุทธิพัฒนาภิรม เจ้าอาวาสวัดตาไก้พลวง บทสัมภาษณ์ ทางท่านพระอาจารย์คิดอย่างไรกับการลงพื้นที่ปลูกต้นไม้ในพื้นที่ต่าง ๆ ในอำเภอนางรอง แล้วเหตุผลอะไรจึงปลูกต้นพยุง ยางนา และต้นสักทองเป็นหลัก รวมไปถึงมีเป้าหมายอย่างไรบ้าง และผู้ปฏิบัติงาน ตำบลหนองกง รวมถึงผู้ปฏิบัติงานตำบลหนองยายพิมพ์ บทสัมภาษณ์ มีความคิดเห็นอย่างไรในการร่วมโครงการปลูกป่า กับทั้งสามหนอง มีความตั้งใจมาหรือไม่ รวมทั้งมีเป้าหมายอะไรไหม และมีการสัมภาษณ์ท่านปลัดกรุณา สวัสดิ์สิงห์ ปลัดตำบลหนองโสน เพิ่มเติมในเรื่องการเข้าทำกิจกรรมครั้งนี้ และการสานต่ออุดมการณ์ในอนาคตต่อไป

หลังจากทำกิจกรรมการปลูกต้นไม้ และการสัมภาษณ์เรียบร้อย ทางชาวบ้าน และอาจารย์ประจำหลักสูตร ก็ได้จัดเตรียมอาหารกลางวัน เคื่องดื่ม ให้แก่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมให้ได้รับประทาน โดยการรับประทานก็มีการคำนึงถึงการเว้นระยะห่างเนื่องในสถานการณ์โควิด-19 ในปัจจุบัน ก่อนที่ทางผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกท่านจะแยกย้ายกันเดินทางกลับ หลังจากเสร็จสิ้นกิจกรรมดังกล่าวแล้ว

วันพฤหัสบดีที่ 9 กันยายน 2564 ข้าพเจ้า และผู้ปฏิบัติงานท่านอื่นได้รับแจ้งการลงพื้นที่ปฏิบัติงาน ในวันอาทิตย์ที่ 12 กันยายน 2564 ณ  ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ณ โนนตะโก บ้านโคกว่าน เวลา 09.00 น. เพื่อหาลือการถอดบทความการลงพื้นที่ปฏิบัติงานโคกหนองนาโมเดล ซึ่งการถอดบทความในครั้งนี้ จะมีการแบ่งสรุปรายละเอียดการทำโคกหนองนาโมเดล ทั้งหมดด้วยกัน 3 ด้าน ซึ่งได้แก่ ด้านการเกษตร ด้านการประมง และด้านการปศุสัตว์ ในแต่ละด้านก็จะแบ่งการวิเคราะห์ถอดความคิดเห็นของผู้ปฏิบัติงานแต่ละท่านออกมา เพื่อรวบรวมข้อมูล มีทั้งหมด 3 ข้อมูล คือ ข้อมูลด้านปัญหาที่พบ ข้อมูลด้านสิ่งที่ได้เรียนรู้ และข้อมูลด้านประโยชน์ที่ได้รับ เมื่อผู้ปฏิบัติงานทุกท่านเสนอความคิด กันแล้วก็จะมีการสรุปความคิดที่คล้าย หรือซ้ำกัน รวมเป็นแค่ข้อมูลเดียวเพื่อลดการซ้ำซ้อนของข้อมูล ก่อนจะทำการเขียนข้อมูลดังกล่าวลงกระดาษชาร์ท เพื่อนำไปสรุปและทำเป็นอินโฟรกราฟฟิกให้เข้าใจง่ายในการนำเสนองานในกิจกรรมต่อไป เมื่อทำการหาลือกิจกรรมดังกล่าวเสร็จสิ้นก็ได้รับประทานอาหารร่วมกัน โดยอาหารอาจารย์ประจำหลักสูตรได้จัดเตรียมไว้ เพื่อรับรองผู้ปฏิบัติงาน ก่อนจะได้รับประทานอาหารร่วมกัน และแยกย้ายกันกลับ

จากการลงพื้นที่การทำงานในเดือนกันยายนนี้ มีกิจกรรมที่สานต่อมาจากการปลูกต้นไม้เนื่องในวันแม่แห่งชาติ ซึ่งก็ดำเนินไปได้อย่างราบรื่นด้วยการร่วมมือร่วมใจของชาวบ้าน ผู้ปฏิบัติงาน และผู้เข้าร่วมกิจกรรมท่านอื่น แม้พื้นที่ในการปลูกต้นไม้จะเยอะ เมื่อเทียบกับจำนวนผู้ที่เข้าร่วมกิจกรรม แต่กิจกรรมก็สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี และใช่เวลาไม่นานเพราะความสามัคคีของผู้เข้าร่วมกิจกรรม ในส่วนของการถอดบทความก็ราบรื่นไปได้ด้วยดี ผู้ปฏิบัติงานทุกท่านให้ความร่วมมือกันเป็นอย่างดี ต่อเนื่องมาจากการเข้าลงพื้นที่ด้วยกันหลายครั้งตลอดหลายเดือนที่ผ่านมาทำให้ผู้ปฏิบัติงานสนิทสนมกันมากขึ้นการทำงานเลยไม่มีข้อขัดแย้งใด จากบทความข้างต้นทั้งหมดข้าพเจ้า ต้องขอบพระคุณทุกท่าน และขออภัยหากมีข้อผิดพลาดไว้ ณ ที่นี้ด้วย

อื่นๆ

เมนู