หลักสูตร : HS02 เกษตรผสมผสานในรูปแบบโคกหนองนาโมเดล

ดิฉัน นางสาวอาภาศิริ  มาลา ประเภทบัณฑิตจบใหม่ ผู้ปฏิบัติงานตามโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ (มหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ) ต.หนองโสน อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์

       ในวันที่ 21 พ.ค. 2564 อาจารย์ประจำหลักสูตรได้นัดประชุมออนไลน์ผ่านระบบ Google Meet ได้อธิบายและชี้แจงเกี่ยวกับเรื่องภารกิจพิเศษที่มอบหมายให้แก่ผู้ปฏิบัติงานนั่นคือ งาน U2T Covid -19 week ก้าวต่อไป สู้ภัยโควิด โดยแบ่งเป็น 2 กิจกรรม ดังนี้

กิจกรรมที่ 1 รุกคลีนพื้นที่ เคลียร์เชื้อร้าย สร้างความปลอดภัยในชุมชน แบ่งเป็น 3 สเต็ปคือ

  1. ประกอบด้วย 3 สเต็ป คือ คลีนพื้นที่  เคลียร์เชื้อร้าย
  2. สร้าง safe zone เขตปลอดภัย ห่างไกลโควิด
  3. จัดหาเครื่องมือให้พอและพร้อมกับสถานการณ์โควิด

กิจกรรมที่ 2 รวมพลังวัคซีน หยุดเชื้อเพื่อชาติ ลดการระบาดโควิด

ในส่วนของกิจกรรมที่ 1 นั้น ทางผู้ปฏิบัติงานได้แบ่งหน้าที่กันรับผิดชอบตามประเภทกลุ่ม ดิฉันและผู้ปฏิบัติงานกลุ่มบัณฑิตได้รับผิดชอบในสเต็ปที่ 1 เรื่องการคลีนพื้นที่ เคลียร์เชื้อร้าย โดยได้ลงพื้นที่ไปยังโรงเรียนบ้านโคกตะโกซึ่งเป็น 1 สถานศึกษาที่ให้บริการในเขตตำบลหนองโสน ลงพื้นที่พร้อมทีมงาน รวมทั้งหมด 9 คน ในวันที่ 24 พ.ค. 2564 เพื่อทำความสะอาดโรงเรียนคลีนพื้นที่ เคลียร์เชื้อร้าย ก่อนเปิดเทอม พื้นที่ที่ทำความสะอาดได้แก่ห้องเรียน ห้องน้ำ และหอประชุม ทั้งนี้ได้บริจาคอุปกรณ์ทำความสะอาดให้กับโรงเรียนด้วย ได้แก่

  • ไม้กวาดดอกหญ้า
  • ไม้กวาดก้านมะพร้าว
  • ไม้ถูพื้น
  • แปรงขัดห้องน้ำ
  • น้ำยาถูพื้น
  • น้ำยาล้างห้องน้ำ
  • ขันตักน้ำ

ก่อนที่จะเริ่มปฏิบัติงาน ได้เข้าไปพูดคุยและทำการขออนุญาตในการลงพื้นที่ทำความสะอาดกับนาย ธีรภาพ  นาราช ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านโคกตะโก  เนื่องจากยังเป็นช่วงปิดเทอม เพราะติดกับสถานการณ์โควิด ทำให้การเปิดเทอมเลื่อนไปอีก ในวันที่ลงปฏิบัติงานนั้น มีเพียงคุณครูที่เข้ามาเตรียมการเรียนการสอนเพื่อต้อนรับการเปิดเทอม  ทางผู้อำนวยการและคุณครูมีความยินดีอย่างยิ่งและดีใจที่มีจิตอาสามาทำประโยชน์ที่โรงเรียนและยังให้การต้อนรับผู้ปฏิบัติงานเป็นอย่างดี ในส่วนของกิจกรรมที่ 2 รวมพลังวัคซีน ทางผู้ปฏิบัติงานได้เดินรณรงค์เชิญชวนชาวบ้านให้ไปฉีดวัคซีนต้านโควิด โดยมีการให้ข้อมูลเกี่ยวกับวัคซีน  การปฏิบัติทั้งก่อนและหลังฉีด เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับชาวบ้าน

ภาพ กิจกรรม U2T Covid Week

              งานปลูกป่า-เสวนาชุมชน จัดทำขึ้นในโครงการ ปลูกต้นไม้ ปลูกธรรมะวันวิสาขบูชา ๒๕๖๔ โดยงานจัดขึ้นในวันที่ 26 พฤษภาคม 2564 ณ โรงเรียนบ้านหนองยายพิมพ์ ต.หนองยายพิมพ์ อ.นางรอง  จ.บุรีรัมย์ โครงการนี้เป็นการปลูกป่าสร้างคุณค่าแผ่นดินในพื้นที่ 20 ไร่ บริเวณด้านหลังโรงเรียนบ้านหนองยายพิมพ์ งานจัดขึ้น 2 ช่วงด้วยกัน คือ ช่วงเช้า พิธีเปิดงานเสวนาปลูกป่าชุมชนโดย นางสาวเพชรรัตน์ ภูมาศ นายอำเภอนางรองประธานในพิธีและได้ปลูกต้นสักเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว จากนั้นมีการเสวนาเรื่อง ปลูกป่าสร้างคุณค่าแผ่นดิน ในการรับฟังเสวนาครั้งนี้ได้จัดเสวนาอยู่ใต้อาคารโรงเรียน โดยจำกัดผู้เข้าร่วมการฟังเสวนาไม่เกิน 50 คน เนื่องจากสถานการณ์โควิด 19 ที่ยังมีการแพร่ระบาดอยู่ทั้งนี้ผู้เข้าร่วมงานทุกคนปฏิบัติตนตามมตราการป้องกันโควิด 19ได้เป็นอย่างดี โดยการสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา  ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์และรักษาระยะห่างระหว่างกันและกัน

             ช่วงบ่าย  ผู้เข้าร่วมงานร่วมปลูกป่า สร้างคุณค่าแผ่นดิน งานนี้นอกจากผู้ปฏิบัติงานต.หนองโสนแล้ว ยังมีผู้ปฏิบัติงานตำบลหนองยายพิมพ์ ตำบลหนองกงและตำบลอื่นๆในกลุ่มของ HUSOC และชาวบ้านระแวกใกล้เคียง ก็มาร่วมด้วยช่วยกันปลูกต้นไม้ด้วย ต้นไม้ที่ปลูกเป็นไม้ยืนต้นสูงใหญ่ ได้แก่ ต้นสัก ต้นยางนา ต้นพยูง นอกจากนี้ยังปลูกพืชอื่นๆด้วย เช่น ต้นกล้วย ต้นสะเดา ต้นไผ่ เป็นต้น และก่อนที่จะถึงวันจัดงาน ดิฉันและผู้ปฏิบัติงานต.หนองโสน ร่วมด้วย ผู้ปฏิบัติงานต.หนองยายพิมพ์ ต.หนองกงและชาวบ้านได้ร่วมด้วยช่วยกันขุดหลุมเพื่อเตียมปลูกต้นไม้อีกด้วย บรรยากาศภายในงานครึกครื้น  แต่อย่างไรก็ตามผู้เข้าร่วมงานทุกคนมีการสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ล้างมือด้วยเจลแอกอลฮอล์ และรักษาระยะห่างเพื่อปฏิบัติตามมาตราการป้องกันโรคโควิด19 

ภาพกิจกรรมขุดหลุมเตรียมปลูกต้นไม้และงานปลูกป่า ปลูกธรรมะ ณ โรงเรียนบ้านหนองยายพิมพ์

     

          สำหรับการลงพื้นที่เก็บข้อมูลในเดือนมิถุนายน 2564 เนื่องจาก ทางกระทรวงอว. ได้ขอข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับตำบล โดยให้เก็บข้อมูลผ่านแอพพลิเคชั่น U2T  ซึ่งในแอพพลิเคชั่นจะมี 10 หัวข้อด้วยกันที่ต้องเก็บ ได้แก่ 1.ผู้ที่ย้ายกลับบ้านเนื่องจากสถานการณ์โควิด 2. แหล่งท่องเที่ยว 3. ที่พัก/โรงแรม 4.ร้านอาหารในท้องถิ่น 5. อาหารที่น่าสนใจประจำถิ่น 6. เกษตรในท้องถิ่น 7.พืชในท้องถิ่น 8.สัตว์ในท้องถิ่น 9.ภูมิปัญญาท้องถิ่น 10.แหล่งน้ำในท้องถิ่น

        การเก็บข้อมูลในครั้งนี้ ทางผู้ปฏิบัติงานได้แบ่งหน้าที่กัน โดยแบ่งเป็นหมู่บ้านที่แต่ละกลุ่มผู้ปฏิบัติงานรับผิดชอบ  ดิฉันและทีมงานอีก 1 คนได้ลงปฏิบัติหน้าที่ ณ บ้านจันดุม หมู่ที่ 2 ต.หนองโสน อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่รับผิดชอบ ก่อนทำการลงพื้นที่ ได้มีการเข้าไปพูดคุยกับนางสวภาว์ ไชยสุวรรณ  ดำรงตำแหน่ง ผู้ใหญ่บ้านจันดุม เพื่อปรึกษาเกี่ยวกับการลงพื้้นที่ เนื่องจากสถานการณ์โควิด 19 ที่เกิดการระบาดอีกครั้ง ทำให้การลงพื้นที่ต้องระมัดระวังการเข้าออกชุมชน  เมื่อปรึกษากันเรียบร้อยแล้ว ทางผู้ใหญ่บ้าน ได้อนุญาตให้ดิฉันและทีมงานทำการลงพื้นที่ได้ ทั้งนี้ดิฉันและทีมงานเองก็ได้มีการป้องกันตัวเองในการปฏิบัติงานครั้งนี้ด้วย

       วันที่13-14 พฤษภาคม 2564  ดิฉันและทีมงานได้ไปเก็บข้อมูลในหัวข้อ พืชในท้องถิ่น สัตว์ในท้องถิ่น แหล่งน้ำในท้องถิ่น และร้านอาหารในท้องถิ่น จากการสำรวจพบว่า 

-พืชในท้องถิ่น ส่วนใหญ่ชาวบ้านจะปลูกไม้ยืนต้นที่ให้ผลผลิตที่รับประทานได้ เช่นมะม่วง มะยม มะพร้าว ต้นกล้วย และมีการปลูกผักสวนครัว เช่น ข่า ตะไคร้ เป็นต้น

-สัตว์ในท้องถิ่น ชาวบ้านบ้านจันดุมส่วนใหญ่จะเลี้ยงวัว กันเป็นจำนวนมาก รองลงมาคือ สุกร และควาย  จากการสอบถามจากปศุสัตว์ของหมู่บ้าน ทราบว่า ที่ชาวบ้านส่วนใหญ่เลียงวัวกันเนื่องจากมีพื้นที่จำกัด และวัวเป็นสัตว์ที่เลี้ยงง่าย ถึงแม้จะต้องอยู่แต่ในคอก ก็มีหัวอาหารให้กิน ส่วนควายนั้นเป็นสัตว์ที่ชอบพื้นที่กว้างๆ ซึ่งขัดต่อพื้นที่ที่ชาวบ้านมี สำหรับสุกร มีหลายบ้านด้วยกันที่เลี้ยงไว้เพื่อจำหน่าย และใช้เป็นพ่อพันธ์ุ แม่พันธ์ุ

-แหล่งน้ำในท้องถิ่น  ในหมู่บ้านมีแหล่งน้ำ 2 ที่ด้วยกัน คือ สระตาปู่ และสระจันดุม  ผู้ใหญ่สวภาว์ได้ให้ข้อมูลว่าสระตาปู่จะมีน้ำน้อย และแห้งแล้งมากกว่าสระจันดุม

-ร้านอาหารในท้องถิ่น ในหมู่บ้านมีร้านอาหารเพียง 1 ร้านคือร้านขายก๋วยเตี๋ยว สภาพแวดล้อมมีที่จอดรถ  มีที่นั่งให้รับประทาน

-ภูมิปัญญาท้องถิ่น  มีกลุ่มจักสานตะกร้าจากพลาสติก เป็นงานหัตถกรรมที่ได้รับการพัฒนาและต่อยอดมาเรื่อยๆ โดยได้นำวัสดุเหลือใช้จากพลาสติกมาทำให้เกิดประโยชน์ และได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มสัมมาชีพในชุมชนของอำเภอนางรอง

 

และวันที่ 2-3 มิถุนายน 2564  ดิฉันและทีมงานได้ลงพื้นที่ไปบ้านจันดุมอีกครั้งเพื่อทำการเก็บข้อมูลลงในแอพพลิเคชั่น U2T  เพิ่มเติม การลงพื้นที่ครั้งนี้ เป็นการเก็บข้อมูลเพิ่มเติมในส่วนของหัวข้อเกษตรกรในท้องถิ่น ก่อนที่จะทำการลงพื้นที่ได้ทำการติดต่อ พูดคุยกับนางสวภาว์  ไชยสุวรรณ ผู้ใหญ่บ้านจันดุมก่อนทุกครั้ง ทางผู้ใหญ่บ้านได้จัดหาผู้เชี่ยวชาญ จำนวน 3 คน ในการพาลงพื้นที่ไปตามทุ่งนาของเกษตรกรเนื่องจากว่าพิ้นที่นาของแต่ละคนอยู่ห่างกัน จึงแบ่งเป็นโซนต่างๆ การลงพื้นที่ไปตามทุ่งนาจริงๆนั้นเพื่อจับพิกัดของที่นาและเก็บภาพการสำรวจพื้นที่นาของเกษตรกรคนนั้นๆ จากการสำรวจพบว่า

-เกษตรกรท้องถิ่นในหมู่บ้านจันดุมนั้นประกอบอาชีพทำนา มีราวๆ 43 คน โดยส่วนใหญ่มีพื้นที่นาอยู่บริเวณรอบๆหมู่บ้าน มีบางคนที่มีที่นาอยู่ที่อื่นนอกหมู่บ้าน บางคนก็ทำนาเช่า  และส่วนใหญ่แล้ว ที่นาจะเป็นการแบ่งกันกับญาติ ประมาณ 3-8 ไร่  สำหรับในหัวข้ออื่นๆ คือ  1.ผู้ที่ย้ายกลับบ้านเนื่องจากสถานการณ์โควิด 2. แหล่งท่องเที่ยว 3. ที่พัก/โรงแรม  5. อาหารที่น่าสนใจประจำถิ่น ทางบ้านจันดุมไม่มีข้อมูลตามดังหัวข้อดังกล่าว

         หมู่บ้านจันดุม เป็นหมู่บ้านเล็กๆ ในตำบลหนองโสน มีครัวเรือนไม่ถึง 60 ครัวเรือน ทำให้ผู้นำชุมชนดูแลลูกบ้านได้อย่างทั่วถึง สภาพแวดล้อมในหมู่บ้านจันดุมนั้นจะอยู่ท่ามกลางทุ่งนาของชาวบ้านและด้วยความที่ในหมูบ้านมีพืชประจำท้องถิ่นอย่างเช่นไม้ยืนต้นต่างๆทำให้หมู่บ้านร่มรื่น น่าอยู่ จากการลงพื้นที่ทุกครั้งชาวบ้านทุกคนเป็นกันเองมากๆ ยิ้มแย้ม ทักทาย พูดคุยกับผู้ปฏิบัติงาน และได้รับการต้อนรับจากชาวบ้านเป็นอย่างดี  สำหรับการลงพื้นที่ครั้งนี้ ดิฉันและทีมงานขอขอบพระคุณผู้ใหญ่บ้าน ผู้เชี่ยวชาญในการนำทางลงพื้นที่สำรวจและชาวบ้านจนดุมทุกๆท่านมา ณ ที่นี้ด้วย

วิดีโอการปฏิบัติงานประจำเดือนมิถุนายน 2564

อื่นๆ

เมนู