หลักสูตร : HS02 เกษตรผสมผสานในรูปแบบโคกหนองนาโมเดล
ดิฉัน นางสาวเบญจวรรณ ศรีพนม ประเภทประชาชน ผู้ปฏิบัติงานตำบลหนองโสน อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์
การปฏิบัติงานในเดือนมิถุนายน 2564 ดิฉันและทีมงานได้ร่วมกิจกรรมหลายอย่างด้วยกัน แบ่งเป็น
-วันที่ 23 พ.ค. 2564 อาจารย์ประจำหลักสูตรได้นัดหมายผู้ปฏิบัติงานให้ลงพื้นที่ไปยังโรงเรียนบ้านหนองยายพิมพ์ ต.หนองยายพิมพ์ อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ เพื่อทำการขุดหลุมเตรียมปลูกต้นไม้ในงานปลูกป่า ปลูกธรรมะที่จะจัดขึ้นในวันที่ 26 พ.ค.2564 ดิฉันและผู้ปฏิบัติงานท่านอื่นๆได้ร่วมด้วยช่วยกันขุดหลุม ในพื้นที่ปลูกจนเสร็จเรียบร้อยในเวลา 12.00 น.หลังจากนั้นได้พักรับประทานอาหารเที่ยงและได้แยกย้ายกันกลับ
จากการประชุมออนไลน์ในวันที่ 21 พ.ค. 64 นั้น อาจารย์ได้ชี้แจงเกี่ยวกับกิจกรรมCovid week ซึ่งกิจกรรมจะแบ่งเป็น 3 กิจกรรมย่อยๆ 3 สเต็ป คือ 1.คลีนพื้นที่ 2. สร้างเขตปลอดภัย และ 3.จัดหาอุปกรณ์ในการป้องกันโควิด ซึ่งดิฉันกลุ่มประชาชนนั้นได้รับผิดชอบในส่วนของการจัดหาเครื่องมือและอุปกรณ์ในการป้องกันโควิด คือจัดหาหน้ากากอนามัยและจัดทำเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ และเมื่อวันที่ 25 พ.ค. 2564 กลุ่มประชาชนจึงได้นัดรวมตัวกันทำเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ นอกจากนี้ยังเตรียมหน้ากากอนามัยจำนวนหนึ่ง และจากนั้นนำอุปกรณ์ทั้งสองอย่างไปแจกจ่ายให้กับชาวบ้านในเขตตำบลหนองโสน เพื่อจะได้นำไปใช้ในการป้องกันตัวเองจากเชื้อโรค
-วันที่ 26 พ.ค. 2564 มีการจัดงานปลูกป่า ปลูกธรรมะ ณ โรงเรียนบ้านหนองยายพิมพ์ ต.หนองยายพิมพ์ อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ ภายในงานมีการจัดกิจกรรมทั้งวัน เริ่มจากการฟังเสวนาลั่นทุ่งสนั่นลั่นสามหนองในช่วงเช้า โดยมีผู้ร่วมเสวนาดังนี้ พระครูวิสุทธิ พัฒนาภิรมย พ่อคำเดื่อง ภาษี ดร.พิสมัย ประชานันท์ นายเกรียงศักดิ์ แผ้วพลสง นายเดช สวัสดิ์พูน นายณรงค์ฤทธิ์ เสนาสังข์ อาจารย์ไพรัช ชื่นศรี นายคำนึง เจริญศิริ นายพิชาญ ดัดตนรัมย์ และร่วมปลูกป่าในช่วงบ่าย กิจกรรมที่ทำร่วมกันคือ ปลูกต้นไม้ในพื้นที่จำนวน 20 ไร่ ณ โรงเรียนบ้านหนองยายพิมพ์ ต้นไม้ที่นำมาปลูกมีหลายหลายชนิดด้วยกัน อย่างเช่น ต้นกล้วย ต้นไผ่ ต้นยางนา ต้นสัก เป็นต้น หลังจากนั้นได้มีการเดินรณรงค์เรื่องการฉีดวัคซีน ให้ความรู้แก่ชาวบ้านที่มาร่วมงานด้วย ซึ่งเป็นกิจกรรมในส่วนของภารกิจ Covid week นอกจากนี้ภายในงานยังมีโรงทานอาหารมากมาย เช่นก๋วยเตี๋ยว ก๋วยจั๊บ ลูกชิ้นทอด ขนมหวาน ผลไม้ และน้ำดื่มมากมายที่ชาวบ้านจัดทำขึ้น เพื่อบริการให้กับผู้เข้าร่วมงานในครั้งนี้
-วันที่ 11 มิ.ย 2564 ดิฉันและกลุ่มผู้ปฏิบัติงานประเภทประชาชน ได้ลงพื้นที่อีกครั้งเพื่อเก็บข้อมูลในแอพพลิเคชั่น U2T เพิ่มเติมจากเดือนที่แล้วที่ยังเก็บไม่ครบตามหัวข้อ ดิฉันได้ลงเก็บในหัวข้อพืชในท้องถิ่น และเกษตรกรในท้องถิ่น พบว่าพืชส่วนใหญ่ในท้องถิ่นจะเป็นไม้ยืนต้นที่กินได้ เช่นมะยม มะม่วง มะละกอ มะพร้าว กล้วย เป็นต้น สำหรับหัวข้อเรื่องเกษตรกร ดิฉันและทีมงานได้ลงไปเก็บพิกัดที่นาของชาวบ้านโดยมีเจ้าของนาเป็นคนพาลงพื้นที่เอง
กิจกรรมการปฏิบัติงานในเดือนนี้ สิ่งที่ได้รับคือ ในงานปลูกป่า ปลูกธรรมะได้เห็นความร่วมมือร่วมแรงกันทำงานระหว่างผู้ปฏิบัติงานของแต่ละตำบล และสำหรับการลงพื้นที่ ดิฉันได้เห็นสภาพแวดล้อมภายในหมู่บ้านซึ่งแต่ละหมู่บ้านก็จะแตกต่างกันออกไป นอกจากนี้ยังได้รับความร่วมมือ และความช่วยเหลือจากชาวบ้านเป็นอย่างดี