(บทความการปฏิบัติงานประจำเดือน พฤศจิกายน พ.ศ. 2564)
ข้าพเจ้า นายชูเกียรติ ชาวสวน ผู้ปฏิบัติงานกลุ่มประเภทนักศึกษา
หลักสูตร : การส่งเสริมเเละพัฒนาการผลิตปุ๋ยอัดเม็ด HS01
ตำบลหนองยายพิมพ์ อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์
……………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………….
เนื่องด้วยปัจจุบันมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ได้มีการว่าจ้าง นักศึกษา บัณฑิตจบใหม่ และประชาชนทั่วไป เพื่อปฏิบัติงานภายใต้โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย (U2T) ซึ่งข้าพเจ้า นายชูเกียรติ ชาวสวน ได้เป็นผู้ปฏิบัติงานใหม่ ตำบลหนองยายพิมพ์ กลุ่มงานนักศึกษา สังกัดคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ซึ่งในเดือนพฤศจิกายนนี้ ข้าพเจ้าได้ปฏิบัติหน้าที่และมีผลการดำเนินงานดังต่อไปนี้
วันเสาร์ที่ 30 ตุลาคม 2564
ข้าพเจ้าผู้ปฏิบัติงานกลุ่มประเภทนักศึกษา ตำบลหนองยายพิมพ์ อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ ได้ลงพื้นที่ ณ ศาลาหมู่ 1 บ้านหนองกง พร้อมกับผู้ปฏิบัติงาน ได้แก่
1. กลุ่มนักศึกษาทุกคน
2. กลุ่มบัณฑิตเฉพาะที่เข้ามาปฏิบัติงานใหม่
3. กลุ่มประชาชนเฉพาะที่เข้ามาปฏิบัติงานใหม่
เพื่อเรียนรู้กระบวนการทำปุ๋ยชีวภาพอัดเม็ด ซึ่งเป็นกิจกรรมร่วมกลุ่มการสร้างอาชีพสร้างรายได้ของกลุ่มชาวบ้านต.หนองกง ในการอบรมครั้งนี้ มีนายประทวน ดำเสนา (ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน) เป็นวิทยากรให้ความรู้และกล่าวถึงความเป็นมาของกลุ่มอาชีพ และมีอาจารย์ประจำหลักสูตรเป็นวิทยากรร่วมในการซักถามปัญหาและความรู้ต่าง ๆ โดยมีรายละเอียดพอสังเขป ดังนี้
นายประทวน ดำเสนา กล่าวว่า หน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดสรรทรัพยากร อันได้แก่ เทคโนโลยี เครื่องอัดเม็ดปุ๋ย เครื่องบดปุ๋ย และเครื่องผสมสูตรปุ๋ย ซึ่งได้รับการสนับสนุนจัดสรรโดย กระทรวงวิทยาศาสตร์ ครั้งแรกที่มีการผลิตในกลุ่มไม่พอกันแจกจ่ายใช้ จากการรวมกลุ่มสมาชิก 600 คน กระทรวงวิทยาศาสตร์จึงเข้ามาสนับสนุนในการผลิตในจำนวนที่มากขึ้น แต่กลับกลายเป็นว่าผลิตได้แต่สมาชิกไม่นำไปใช้ทำให้มีหลงเหลือค้างอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ผลสะท้อนจากผู้ที่ใช้จริงบอกต่อว่า ใช้แล้วดินร่วนซุยดี นอกจากนี้ท่านยังเป็นผู้อธิบายวิธีการทำปุ๋ยอัดเม็ด
ในเบื้องต้นนั้น กระบวนการทำปุ๋ยอินทรีย์อัดเม็ดจะประกอบไปด้วยกระบวนการ สาม 3 ส่วน คือ
1. กระบวนการย่อยสลายอินทรีย์วัตถุหรือการ (บดปุ๋ย)
2.กระบวนการสลายสารและผสมสารอินทรีย์ (ผสมสูตร)
3.กระบวนการอัดเม็ดปุ๋ย (การอัดเม็ด)
โดยการเรียนรู้จะแบ่งออกเป็นสามฐานตามกระบวนการขั้นตอนการผลิตปุ๋ยอัดเม็ด และมีวิทยากรประจำฐานได้แก่
1.ฐานบดปุ๋ย มีผู้ช่วยประจำ คือ คุณสมหวัง ขำอเนก
เป็นกระบวนการแรกของการทำปุ๋ย หลังจากที่เรานำปุ๋ยคอกหรืออินทรีย์ต่าง ๆ จากธรรมชาติมารวบรวมและหมักแล้ว ซึ่งประกอบไปด้วย แกลบ ปุ๋ยขี้วัว และเศษพืช มีระยะเวลาในการหมัก เนื่องจากต้องรอให้เมล็ดหญ้าและพืชตายหมดก่อน ขั้นนี้จะต้องนำปุ๋ยที่ผ่านการหมักไปบดละเอียดในเครื่องบดก่อนนำไปเข้าสู่กระบวนการผสมสูตรเพื่ออัดเม็ด
2. ฐานผสมสูตรปุ๋ย มีผู้ช่วยประจำ คือ คุณสร้อย นวลปักศรี
กระบวนการที่สืบเนื่องจากขั้นแรกเมื่อบดละเอียดแล้วจะต้องนำมาผสมสูตรปุ๋ย ซึ่งสูตรปุ๋ยในการผลิตแต่ละครั้งจะประกอบไปด้วยปุ๋ยสูตร 18-46-0 จำนวน 11 กิโลกรัม 46-0-0 11 กิโลกรัม ปุ๋ยสูตร 0-0-60 11 กิโลกรัม ปุ๋ยอินทรีย์ 77 กิโลกรัม ในน้ำที่พ่นในสูตรอินทรีย์ในถังหมัก จะมีการหมักแบบชีวภาพโดยใช้หอยเชอรรี่ผสมกากน้ำตาลผสมอยู่ด้วย
3. ฐานอัดเม็ด มีผู้ช่วยประจำ คือ คุณหัณ ปักศา
ขั้นตอนนี้คือขั้นของการอัดเม็ด จากขั้นที่แล้วปุ๋ยที่จะนำเข้าสู่ขั้นตอนนี้ได้ จะต้องกดแล้วจับตัวเป็นก้อน กล่าวคือ ปุ๋ยจะต้องมีความชื้อพอเหมาะที่จะสามารถอัดเป็นเม็ดได้ หลังจากที่เครื่องอัดเม็ดเสร็จแล้ว จะนำไปตากให้แห้งและบรรจุภัณฑ์ ซึ่งทางกลุ่มจะมีบรรจุภัณฑ์เป็นของตัวเอง
จากการสอบถามข้อมูลที่นายประทวน ดำเสนา (ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน) พบว่า ปัจจุบันจำหน่ายถุงละ 250 บาท ต่อ 50 กิโลกรัม เนื่องจากในคลังเก็บยังมีเหลืออยู่เป็นจำนวนมาก ทั้งแบบเคมีและชีวภาพ ดังนั้นเพื่อการระบายปุ๋ยเก่าให้หมดจึงขายอยู่ที่ราคาดังกล่าว ประกอบกับต้นทุนในการทำนาข้าวปัจจุบันสูงขึ้น