นางสาวสมพร จงประเสริฐวงศ์ พัฒนาการอำเภอชำนิ และอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสุรินทร์ ร่วมพิจารณาการพัฒนาลายผ้าประจำถิ่นอำเภอชำนิเพื่อให้เป็นอัตลักษณ์ของชาวอำเภอชำนิ และลงพื้นที่ให้คำปรึกษาแนะแนวในการทอผ้าลายประจำถิ่นกับกลุ่มทอผ้าอำเภอชำนิ เพื่อให้เป็นอัตลักษณ์ของชาวอำเภอชำนิ

การแต่งกายด้วยผ้าไทย ถือเป็นอัตลักษณ์หนึ่งของคนไทยที่สร้างความภาคภูมิให้คนไทยมาช้านาน สะท้อนถึงมรดกภูมิปัญญา วิถีชีวิต วัฒนธรรม ประเพณี และประวัติศาสตร์ในแต่ละยุคสมัย หากย้อนหลังกลับไปยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ จะเห็นได้ว่า การแต่งกายของคนไทยมีวิวัฒนาการ จากแค่เครื่องห่มกาย จนนำไปสู่การสร้างงาน สร้างรายได้ กระตุ้นเศรษฐกิจ ยกระดับผ้าไทยสู่สากล

สมัยรัชกาลที่ ๑ การใช้ผ้าเป็นไปตามฐานะและตำแหน่งหน้าที่การงานเช่นเดียวกับในสมัยอยุธยา ร.๑ โปรดเกล้าฯ ให้ออกพระราชบัญญัติว่าด้วยการแต่งกายของขุนนางชั้นผู้ใหญ่ ขุนนางชั้นผู้น้อย และราษฎรทั่วไป มีรายละเอียดของเครื่องแต่งกาย และเครื่องประดับที่อนุญาต และไม่อนุญาตให้สวมใส่

สมัยรัชกาลที่ ๒ ปรากฏว่ามีผ้าเพิ่มขึ้นอีกชนิดหนึ่ง เรียกว่า ผ้าโหมด หรือ ผ้าโหมดเทศ เป็นผ้าทอจากอินเดีย ทำด้วยกระดาษเงินและกระดาษทองพันเส้นไหมทอกับไหมสีต่างๆ เช่น สีม่วง สีน้ำเงิน เป็นลายริ้วหรือเป็นลายดอก ผ้าชนิดนี้ใช้ตัดเสื้อ ตอนแรกๆใช้สำหรับเจ้านาย แต่ต่อมาสามัญชนนำมาใช้ได้ และเป็นผ้าพระราชทานแก่แม่ทัพนายกองที่มีความชอบ

สมัยรัชกาลที่ ๓-๔ มีการกล่าวถึงการแต่งกายของสามัญชนบ้าง ผ้าบางชนิดนิยมใช้กับคนบางกลุ่ม เช่น คนมีเงินนิยมใช้แพรจีนสีต่างๆ โดยห่มหรือเย็บซ้อนกัน ๒ ชั้นใช้ผ้าสีนวลอยู่ข้างใน ริมผ้าขลิบลูกไม้ส่วนมุมผ้าติดพู่ ข้าราชการนิยมนุ่งผ้าปูม แต่เวลาเข้าเฝ้าจะนุ่งผ้าสมปัก ส่วนเจ้านายทรงผ้าลายเขียนทอง ผ้าปักทองแล่ง ผ้าเข้มขาบ

สมัยรัชกาลที่ ๕ มีจุดเปลี่ยนแปลง และส่งเสริมงานผ้ามากขึ้น โดย ร.๕ โปรดเกล้าฯ ให้ข้าราชการที่เข้าเฝ้าเลิกนุ่งผ้าสมปัก เปลี่ยนมานุ่งผ้าม่วงสีน้ำเงินแก่แทน และใส่เสื้อสีต่างๆ ตามกระทรวง เช่น ข้าราชการกระทรวงกลาโหมใช้สีลูกหว้า กระทรวงมหาดไทยใช้สีเขียวแก่ กระทรวงการต่างประเทศใช้สีน้ำเงินแก่ อาลักษณ์และโหรใช้สีขาว

ได้ทรงสถาปนา “กรมช่างไหม” ขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๔๕๒ มีพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเพ็ญพัฒนพงศ์ กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดมเป็นอธิบดีกรม และโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งโรงเรียนช่างไหมขึ้นที่วังใหม่สระปทุม โดยจ้างชาวญี่ปุ่นมาเป็นครูสอน ส่งผลให้มีการจัดทำเครื่องสาวไหมแบบญี่ปุ่น ซึ่งทำงานได้รวดเร็วและเส้นไหมเรียบสม่ำเสมอใช้แทนเครื่องสาวไหมของไทยที่ใช้กันมาแต่เดิม รวมทั้งได้แจกจ่ายเครื่องสาวไหมแบบใหม่นี้ไปให้แก่โรงเรียนช่างไหมที่ตั้งขึ้นในจังหวัดนครราชสีมาและจังหวัดบุรีรัมย์ด้วย รวมทั้งหมดถึง ๔๐๘ เครื่อง เป็นที่น่าเสียดายว่า เมื่อพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดมสิ้นพระชนม์แล้ว ไม่มีผู้ใดดำเนินงานต่อ โรงเรียนช่างไหมจึงล้มเลิกไป

จะเห็นได้ว่าการเดินทางของผ้าไทย นอกจากจะบ่งชี้ภูมิปัญญา ฝีมือ ความชำนาญ ยังสามารถเชื่อมโยงการพัฒนาเศรษฐกิจก่อเกิดเม็ดเงินทั้งภายในและภายนอกประเทศ จึงไม่อาจปฏิเสธในการคงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ของผ้าไทยในแต่ละท้องถิ่น หากได้ศึกษาประวัติ จะทราบถึงความน่าทึ่งที่เรามีไม่แพ้ชาติใดในโลกเลย

โดยอำเภอชำนิมีการสืบสานการทอผ้าเป็นภูมิปัญญา หากแต่ยังไม่มีการพัฒนาลวดลายที่เป็นอัตลักษณ์ของชุมชน และด้วยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2563 เห็นชอบมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้และสวมใส่ผ้าไทย ตามที่กระทรวงมหาดไทย ให้สวมใส่ผ้าไทยอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 วัน เพื่ออนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมที่สะท้อนให้เห็นบริบททางสังคมและวัฒนธรรมของแต่ละพื้นที่ ตลอดจนส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากสร้างรายได้กระจายสู่ชุมชนอย่างรวดเร็วและทั่วถึง ได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสุรินทร์ สาขาสิ่งทอและการออกแบบ นางสาวทัศนียา นิลฤทธิ์ หัวหน้าศูนย์วิจัยและพัฒนาไหมราชมงคลอีสาน และ นางจันทิมา พันษี เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ฯ ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาลายผ้าทอ ได้มาให้คำปรึกษาแนะแนวในการทอผ้าลายประจำถิ่นกับกลุ่มทอผ้า อำเภอชำนิ จังหวัดบุรีรัมย์

อื่นๆ

เมนู