เนื่องจากปัจจุบันมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ได้มีการว่าจ้าง นักศึกษา บัณฑิตจบใหม่ และประชาชนทั่วไป เพื่อปฏิบัติงานภายใต้โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ 1 ตำบล 1มหาวิทยาลัย (U2T) ซึ่งข้าพเจ้า นายณัฐวุฒิ จิตสมาน ได้เป็นเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานตำบลหนองยายพิมพ์ กลุ่มงานนักศึกษา สังกัดคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ในหลักสูตรการส่งเสริมและการพัฒนาการผลิตปุ๋ยชีวภาพอัดเม็ด HSO1 ซึ่งในรอบเดือนพฤศจิกายนนี้ ข้าพเจ้าได้ปฏิบัติหน้าที่และมีผลการดำเนินงานดังต่อไปนี้
เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2564 ได้เข้าร่วมการเสวนาผ่านระบบออนไลน์ ZOOM ภายใต้หัวข้อ จตุรภาคีสี่ประสาน สู่การพัฒนาชุมชนที่ยั่งยืน ซึ่งจัดโดยศูนย์ประสานงานชุมชนสัมพันธ์ HUSOC คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ โดยมีวิทยากรผู้ร่วมเสวนาดังต่อไปนี้
1.นายคำเดื่อง ภาษี ประธานกลุ่มปราชญ์ชาวบ้าน จังหวัดบุรีรัมย์
2.รองศาสตราจารย์ ดร.ประสาม เนืองเฉลิม มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
3.นายณัชอิสร์ ศรีสุขพรชัย ประธานหอการค้า จังหวัดบุรีรัมย์
4.นายสุพจน์ สวัสดิ์พุทรา นายกเทศบาลตำบลอิสาณ
5.รองศาสตราจารย์ ดร.อัครพนท์ เนื้อไม้หอม คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
โดยได้รับความรู้และสามารถสรุปได้ดังนี้ จตุรภาคีสี่ประสานคือ รัฐบาล ชุมชน เอกชน มหาวิทยาลัย ที่ต้องประสานความร่วมมือทำงานร่วมกัน ซึ่งการพัฒนาชุมชนได้อย่างยั่งยืนต้องอาศัยความร่วมมือกันของทุกภาคส่วน และทุกมหาวิทยาลัยเพื่อให้การทำงานบรรลุผลตามเป้าหมาย นำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป
เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2564 ข้าพเจ้าพร้อมด้วยทีมงานปฏิบัติงานได้ทำการลงพื้นที่ ณ ศาลาหมู่ที่ 1 บ้านหนองกง ตำบลบ้านสิงห์ อำเภอนางรอง โดยกิจกรรมในวันดังกล่าวแบ่งออกเป็น 2 ช่วงด้วยกัน โดยช่วงแรกคือ จะเป็นการฟังการอบรมให้ความรู้เรื่องการทำปุ๋ยชีวภาพอัดเม็ด โดยได้รับความรู้และสามารถสรุปได้ดังนี้ การผลิตปุ๋ยชีวภาพอัดเม็ด สูตรที่ใช้คือสูตรปุ๋ย ว. 6-3-3 เร่งต้น กระบวนการก่อนที่จะนำปุ๋ยคอกเข้าสู่กระบวนการทำปุ๋ยชีวภาพอัดเม็ดนั้น ลำดับแรกจะต้องนำปุ๋ยคอกไปผสมกับ ปุ๋ยยูเรีย กากน้ำตาล จุลินทรีย์ และฟอสเฟต หลังจากนั้นนำปุ๋ยที่ได้ไปมักโดยหมักทิ้งไว้ 15 – 30 วัน แล้วนำรถไถมาไถกลบปุ๋ย 3 ครั้ง ต่อมาทิ้งปุ๋ยไว้ 1 – 2 เดือน สุดท้ายพลิกปุ๋ยคอกทิ้งไว้รอเชื้อโรคและเมล็ดหญ้าที่ติดมากับปุ๋ยคอกตายหมดแล้วค่อยนำรถไถมาไถเก็บเข้าโรงเรือนไว้เพื่อรอนำไปเข้าสู่กระบวนการผลิต และช่วงที่สองจะเป็นภาคการปฏิบัติโดยได้มีการทำปุ๋ยชีวภาพอัดเม็ด โดยมีขั้นตอนการทำปุ๋ยชีวภาพอัดเม็ดดังต่อไปนี้
1.นำปุ๋ยคอกตากแดดเพื่อทำให้ปุ๋ยคอกแห้ง
2.นำปุ๋ยคอกที่แห้งแล้วไปบดให้ละเอียดผ่านเครื่องบด
3.นำปุ๋ยคอกที่บดเรียบร้อยแล้วเข้าเครื่องผสมเพื่อผสมสูตรปุ๋ย
4.นำปุ๋ยที่ได้จากการผสมเข้าสู่ขั้นการอัดเม็ด
5.เมื่อได้เม็ดปุ๋ยแล้วนำไปตากแดดเพื่อให้ปุ๋ยแห้ง
6.เมื่อแห้งแล้วนำปุ๋ยมาบบรรจุใส่ถุงปุ๋ยและเย็บถุงปุ๋ย
สุดท้ายจากปุ๋ยคอกที่ไม่มีราคา แต่เมื่อได้ผ่านการกระบวนการสร้างมูลค่าเพิ่มโดยผ่านกระบวนการผลิตปุ๋ยชีวภาพอัดเม็ด ก็ทำให้ชุมชนได้มีผลิตภัณฑ์คือปุ๋ยชีวภาพอัดเม็ด และยังสามารถนำผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไปขายเพื่อสร้างรายได้ สร้างงานให้แก่คนในชุมชน