นายสรันย์ พานจันทร์ นายอำเภอชำนิ มอบวัสดุสนับสนุนโครงการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง กิจกรรมขับเคลื่อนการพัฒนาวิถีชีวิตเศรษฐกิจพอเพียง จำนวน 19 หมู่บ้าน เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมในการพัฒนาตนเองและชุมชนอย่างมีทิศทางที่สอดคล้องตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ตามศักยภาพและบริบทของชุมชน ดังนี้
ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
“เศรษฐกิจพอเพียงนี้มีความหมายกว้างขวางกว่า Self-sufficiency คือ Silf-sufficiency นั้น หมายความว่า ผลิตอะไรมีพอที่จะใช้ไม่ต้องไปขอซื้อคนอื่น อยู่ได้ด้วยตนเอง ทำอะไรต้องพอเพียง หมายความว่า พอประมาณไม่สุดโต่งไม่โลภอย่างมาก คนเราก็อยู่เป็นสุข พอเพียงนี้อาจจะมีมาก อาจจะมีของหรูหราก็ได้ แต่ว่าต้องไม่ไปเบียดเบียนคนอื่น ต้องให้พอประมาณตามอัตถภาพ พูดจาก็พอเพียง ทำอะไรก็ พอเพียงปฎิบัติตนก็พอเพียง” (พระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพะเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 4 ธันวาคม 2541)
ความพอเพียงจะต้องประกอบด้วย 3 คุณลักษณะ ดังนี้
ความพอประมาณ หมายถึง ความพอดี ที่ไม่น้อยเกินไป และไม่มากเกินไปโดยไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น เช่น การผลิตและการบริโภค ที่อยู่ในระดับพอประมาณ
ความมีเหตุผล หมายถึง การตัดสินใจเกี่ยวกับระดับของความพอเพียงนั้นจะต้องเป็นไปอย่างมีเหตุผลโดยพิจารณาจากเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้องตลอดจนคำนึงถึงผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการกระทำนั้น ๆ อย่างรอบคอบ
การมีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว หมายถึง การเตรียมตัวให้พร้อมรับผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงด้านต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นโดยคำนึงถึงความเป็นไปได้ของสถานการณ์ต่าง ๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตทั้งใกล้และไกล
ภายใต้เงื่อนไข 2 เงื่อนไข การตัดสินใจและการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ให้อยู่ในระดับพอเพียง ต้องอาศัยทั้งความรู้ และคุณธรรมเป็นพื้นฐาน กล่าวคือ
เงื่อนไขความรู้ ประกอบด้วย ความรอบรู้เกี่ยวกับวิชาการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน ความรอบคอบที่จะนำความรู้เหล่านั้นมาพิจารณาให้เชื่อมโยงกันเพื่อประกอบการวางแผน และความระมัดระวังในขั้นปฎิบัติ
เงื่อนไขคุณธรรม ที่จะต้องเสริมสร้างประกอบด้วยมีความตระหนักในคุณธรรม มีความซื่อสัตย์สุจริตและมีความอดทน มีความเพียรใช้สติปัญญาในการดำเนินชีวิต
กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ได้มีความมุ่งพัฒนาเพื่อให้ชุมชนเข้มแข็งและมีความสามารถพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน ด้วยการส่งเสริมพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็งมีเสถียรภาพ โดยการน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นพื้นฐานในการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน ทั้งนี้เพื่อให้ชุมชนพออยู่พอกิน อยู่ดีกินดี และมั่งมีศรีสุข ตามศักยภาพของชุมชน โดยใช้กลยุทธ์ส่งเสริมการประยุกต์ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อประกอบอาชีพและดำรงชีวิตใน 3 แผนงานหลักคือ
- ส่งเสริมการประกอบอาชีพตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงแก่ครัวเรือนยากจน
- ส่งเสริมการจัดกิจกรรมกลุ่ม องค์กร และเครือข่ายเศรษฐกิจชุมชนตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
- ส่งเสริมการจัดกิจกรรมในชุมชนตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง