ข้าพเจ้านางสาวธัญชนก กองน้อย ผู้เข้าร่วมปฏิบัติงานโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย ประเภทบัณฑิตจบใหม่ ตำบลหนองยายพิมพ์ อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์
หลักสูตร: HS01 การส่งเสริมและพัฒนาการผลิตปุ๋ยชีวภาพอัดเม็ด โดยข้าพเจ้าและทีมงานได้ดำเนินการปฏิบัติงานประจำเดือนพฤษภาคม ดังต่อไปนี้
เมื่อวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2564 ข้าพเจ้าและทีมงานตำบลหนองยายพิมพ์และตำบลหนองกง ได้เข้าร่วมอบรมหลักสูตรการทำปุ๋ยชีวภาพอัดเม็ด ณ ห้องประชุมชัยคณารักษ์กูล มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ โดยมีผู้ใหญ่บ้านหนองยายพิมพ์มาเป็นวิทยากรในการให้ความรู้เกี่ยวกับขั้นตอนการผลิตปุ๋ยชีวภาพอัดเม็ดของชุมชน ซึ่งปุ๋ยหมักชีวภาพอัดเม็ดได้รับการยอมรับจากเกษตรกร เนื่องจากราคามีย่อมเยาว์ และ ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพและปลอดสารเคมี ประชากรในตำบลหนองยายพิมพ์ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกร และ เลี้ยงสัตว์จำนวนมาก สามารถนำมูลสัตว์มาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตปุ๋ยหมักชีวภาพได้ง่าย และ ส่วนประกอบอื่นๆที่ใช้ในการผลิต ได้แก่ ปลาป่น เกลือ โดโลไมท์ ปูนขาว และ ยูเรีย
วิธีการผลิตปุ๋ยหมักชีวภาพอัดเม็ด : นำวัตถุดิบทั้งหมดมาหมักรวมกัน พอคลุกเคล้าเข้ากันดีแล้ว ก็นำผ้าใบมาปิดไว้ และ กลับกองปุ๋ยที่หมักไว้ทุกๆ 7 วัน จำนวน3ครั้ง สูตรนี้ใช้เวลาหมัก 24 วัน เมื่อครบกำหนดแล้ว เอาปุ๋ยที่หมักไว้ไปตากแดด 1 วัน และสามารถนำไปอัดเม็ดบรรจุถุงได้
เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2564 ข้าพเจ้าได้เข้าร่วมรับชมการถ่ายทอดสดงานบุญผ้าป่าที่จัดขึ้น ณ ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง บ้านโคกว่าน ตำบลหนองโสน อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ และรับชมการถ่ายทอดสดการปาฐกถาชุมชนออนไลน์ทั้งหมด 2 เรื่อง ได้แก่
- ปาฐกถาพิเศษเรื่อง “กสิกรรมธรรมชาติบนรากฐานปรัชญาแห่งเศรษฐกิจพอเพียงสู่การพัฒนาที่มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนในยุค World Disruption” บรรยายโดย ดร.ยักษ์ ฯพณฯ วิวัฒน์ ศัลยกำธร ประธานมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ และ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
- บรรยายพิเศษเรื่อง “กสิกรรมธรรมชาติตามศาสตร์พระราชา : ทางเลือกและทางรอดในโลกยุค World Disruption” โดย คุณโจน จันได ผู้เชี่ยวชาญในการสร้างบ้านดิน และ ผู้ก่อตั้งพันพรรณศูนย์การเรียนรู้เพื่อการพึ่งตนเองและศูนย์เมล็ดพันธุ์
เดือนพฤษภาคมข้าพเจ้าและทีมงานบัณทิตจบใหม่ได้รับมอบหมายในการลงพื้นที่สำรวจและเก็บข้อมูลเพิ่มเติม ดังนี้
– ผู้ที่ย้ายกลับบ้านเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19
– ร้านอาหารในท้องถิ่น
– ภูมิปัญญาท้องถิ่น ได้แก่ หมอดิน หมูกระจก กล้วยฉาบ ทอเสื่อ จักสาน หมอเป่าสมานกระดูก เป็นต้น
– สถานที่ท่องเที่ยวในท้องถิ่น ได้แก่ คลีนฟาร์ม เมล่อน ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงเกษตร
– ข้อมูลเกษตรกรในท้องถิ่น หมู่6 บ้านหนองยาง หมู่7 บ้านก้านเหลือง หมู่8 บ้านจาน และหมู่10 บ้านหนองตารัก
ตำบลหนองยายพิมพ์มีชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกร เช่น การทำนาปี การทำสวน การปลูกพืชผักสวนครัว การปลูกผลไม้เพื่อแปรรูปและจำหน่าย และ เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ส่งผลให้การลงพื้นที่เก็บข้อมูลล่าช้ามากขึ้น ทั้งนี้ทีมงานปฏิบัติงานจะลงพื้นที่สำรวจและเก็บข้อมูล เพื่อให้สำเร็จลุล่วงตามแผนการปฏิบัติงานต่อไป