สวัสดีค่ะ ดิฉัน นางสาวทิพย์วรรณ เธียรวรรณ์ เป็นเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานกลุ่มบัณฑิตจบใหม่ ต.หนองยายพิมพ์ อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ หลักสูตร: HS01 การส่งเสริมและการพัฒนาการผลิตปุ๋ยชีวภาพอัดเม็ด ในโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ (มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์) ดิฉันและทีมงานได้ปฏิบัติงานและดำเนินการทำกิจกรรมต่างๆ ประจำเดือนตุลาคม พ.ศ. 2564 ดังต่อไปนี้
เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2564 เวลา 16.00 น. ดิฉันและทีมงานผู้ปฏิบัติงานตำบลหนองยายพิมพ์ และตำบลหนองกง ได้เข้าร่วมประชุมออนไลน์ผ่าน Google Meet เพื่อรับฟังคำชี้แจงจากอาจารย์ประจำหลักสูตรในการมอบหมายงานในการลงพื้นที่เก็บแบบสอบถาม การประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม ภายใต้โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย (U2T) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินผลตอบแทนทางเศรษฐกิจและสังคมของโครงการ ฯ และสามารถนำผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นไปใช้ 1) พัฒนา Framework ของการประเมินผลตอบแทนทางสังคม (SIA/SROI) ที่เหมาะสม 2) ประเมินผลตอบแทนทางสังคม (SROI) ของโครงการ ในการเก็บข้อมูลแบบสอบถามครั้งนี้จะเก็บข้อมูลจากผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียในการดำเนินโครงการทั้งหมด 11 กลุ่ม รวมทั้งสิ้น 11 แบบสอบถาม ดังนี้
- ตำบลเป้าหมาย
- ลูกจ้างโครงการ
- ครอบครัวลูกจ้าง
- ชุมชนภายใน
- ชุมชนภายนอก
- อาจารย์ผู้ดูแลโครงการ
- เจ้าหน้าที่โครงการ (USI)
- ผู้แทนตำบล
- หน่วยงานภาครัฐ
- อปท.
- เอกชนในพื้นที่
เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2564 เวลา 09.00 น. ดิฉันและทีมงานผู้ปฏิบัติงานกลุ่มบัณฑิตจบใหม่ ได้ลงพื้นที่เก็บแบบสอบถามการประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม ภายใต้โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย (U2T) โดยการเก็บข้อมูลแบบสอบถามครั้งนี้จะเก็บข้อมูลจากผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียในการดำเนินโครงการทั้งหมด 11 กลุ่ม รวมทั้งสิ้น 11 แบบสอบถาม ในครั้งนี้ผู้ปฏิบัติงานจะได้รับผิดชอบงานกลุ่ม 2 (ลูกจ้างโครงการ) ทำแบบสอบถามทุกคน ซึ่งกลุ่มบัณฑิตจบใหม่ ได้รับผิดชอบทั้งหมด 7 กลุ่ม ได้แก่ 3, 4, 5, 8, 9, 10 และ 11 (ดังข้างต้นที่กล่าวมา) โดยกลุ่มบัณฑิตจบใหม่ได้ปรึกษากันในไลน์กลุ่มและแบ่งงานกันลงพื้นที่ ซึ่งจะแบ่งงานออกเป็น กลุ่มละ 2 คน เพื่อความสะดวกในการลงพื้นที่และให้เสร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ดิฉันกลุ่มบัณฑิตจบใหม่ได้รับผิดชอบกลุ่ม 5 (ชุมชนภายนอก) จากการลงพื้นที่ดิฉันได้รับผิดชอบลงพื้นที่นอกตำบล คือ ตำบลหนองกง ซึ่งเป็นตำบลใกล้เคียงที่สะดวกในการสัญจร ซึ่งเป็นร้านค้าที่ตั้งอยู่นอกพื้นที่ชุมชน (ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการ ฯ ) โดยผู้ให้ข้อมูลทำแบบสอบถามชื่อ นายพิมล ทรงสังข์ ประกอบอาชีพ ข้าราชการบำนาญ ชื่อสถานการณ์ประกอบการ/ร้านค้า “มีเกษตรรุ่งเรือง” ตั้งอยู่ บ้านเลขที่ 145 หมู่ที่ 4 ตำบลหนองกง อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งเป็นเจ้าของร้านอุปกรณ์การเกษตร ได้ให้ข้อมูลที่เป็นจริงและเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ การปฏิบัติงานในครั้งนี้ผู้ให้ข้อมูล ผู้ทำแบบสอบถาม และร้านอุปกรณ์การเกษตร ได้ปฏิบัติตามมาตราการป้องกัน COVID-19 อย่างเคร่งครัด โดยการสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ และเว้นระยะห่าง อีกทั้งยังเป็นผู้ที่ได้เข้ารับการฉีดวัคซีนเป็นที่เรียบร้อย
เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2564 เวลา 09.00 น. ดิฉันและทีมงานผู้ปฏิบัติงานตำบลหนองยายพิมพ์ ได้ร่วมกิจกรรมการออกแบบบรรจุภัณฑ์ ณ ศาลาหมู่ 1 บ้านหนองยายพิมพ์ ตำบลหนองยายพิมพ์ อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งได้รับการอบรม จากวิทยากร ดร.สินีนาฏ รามฤทธิ์ ได้ให้ความรู้การออกแบบบรรจุภัณฑ์ หลักการในการออกแบบ การตั้งชื่อให้น่าสนใจและดึงดูดผู้ซื้อ การเก็บรักษาได้นานตลอดอายุการวางขาย เป็นต้น เมื่อฟังวิทยากรอบรมให้ความรู้การออกแบบบรรจุภัณฑ์เสร็จ อาจารย์ประจำหลักสูตรให้ผู้ปฏิบัติงานและกลุ่มชาวบ้านร่วมกันเสนอชื่อแบรนด์ พร้อมโหวตให้คะแนน โดยชื่อที่เสนอ ได้แก่ ดินยิ้ม, คนสู้งาน, ปุ๋ยยายพิมพ์, พิมมี่การเกษตร, ปุ๋ยพิมพ์ดิน, ปุ๋ยดีแม่พิมพ์ และปุ๋ยงามเจิ๋น เป็นต้น คะแนนโหวตที่ได้ คือ “ปุ๋ยยายพิมพ์” ต่อมาได้ร่วมกันคิดโลโก้แบรนด์ ผู้ใหญ่บ้าน บ้านหนองยายพิมพ์ นางสาวฉะไมพร แผ้วพลสง ได้เสนอรูปปั้นของยายพิมพ์ที่เป็นตำนานของตำบลในการทำโลโก้แบรนด์ในครั้งนี้ จากนั้นพักรับประทานอาหารกลางวันร่วมกัน ต่อมาช่วงบ่ายอาจารย์ประจำหลักสูตร ได้แจ้งให้ผู้ปฏิบัติงานส่งเอกสารการลงพื้นที่เก็บแบบสอบถาม SROI จากนั้นอาจารย์ประจำหลักสูตรได้แนะนำผู้ปฏิบัติงานรายใหม่ให้ทราบและให้ผู้ปฏิบัติงานทำความรู้จักกัน ต่อมาอาจารย์ประจำหลักสูตรได้แนะนำและชี้แจงการเขียนบทความให้แก่ผู้ปฏิบัติงานรายใหม่ในการเขียนบทความส่งประจำเดือนตุลาคม พ.ศ. 2564
เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2564 เวลา 09.00 น. อาจารย์ประจำหลักสูตรและทีมงานผู้ปฏิบัติงาน ทั้งหมด 3 ตำบล ได้แก่ ตำบลหนองยายพิมพ์ ตำบลหนองกง และตำบลหนองโสน ได้ร่วมกิจกรรมเสวนาเกษตรทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคกหนองนาโมเดล: ทางเลือกและทางรอดในยุค NEW NORMAL ณ ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง บ้านโคกว่าน อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ โดยมีกลุ่มชาวบ้านเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ โดยมีผู้ร่วมเสวนา คือ พระครูวิสุทธิพัฒนาภิรมย์ เจ้าอาวาสวัดตาไก้พลวง เจ้าคณะตำบลหนองกง และคณะอาจารย์ พร้อมกลุ่มชาวบ้านที่เข้าร่วมโครงการโคกหนองนาโมเดล ได้ให้ความรู้ในการจัดการพื้นที่ซึ่งเหมาะกับพื้นที่การเกษตร ที่เป็นการผสมผสานเกษตรทฤษฎีใหม่เข้ากับภูมิปัญญาพื้นบ้านที่อยู่อย่างสอดคล้องกับธรรมชาติในพื้นที่นั้นๆ เป็นการพัฒนาโคกหนองนาโมเดลตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชน เป็นการสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับครัวเรือนและชุมชน เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก ฟื้นฟูและพัฒนาท้องถิ่นของตนเอง เมื่อเสร็จกิจกรรมเสวนาเกษตรทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคกหนองนาโมเดล: ทางเลือกและทางรอดในยุค NEW NORMAL จากนั้นรับประทานอาหารร่วมกัน โดยกิจกรรมได้ดำเนินการเสร็จไปอย่างราบรื่นและเดินทางกลับบ้านอย่างสวัสดิภาพ
จากการปฏิบัติงานประจำเดือนตุลาคม พ.ศ. 2564 ทำให้ดิฉันได้เรียนรู้กระบวนการทำงานเป็นทีม การประสานงานกับผู้นำชุมชน และบุคคลต่างตำบล อีกทั้งยังได้มีความรู้เกี่ยวกับการออกแบบบรรจุภัณฑ์ การตั้งชื่อสินค้าให้เป็นที่น่าสนใจและดึงดูดผู้ซื้อ และได้มีความรู้และเข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับการทำโคกหนองนาโมเดลที่สามารถต่อยอดผลผลิตให้เป็นมูลค่าที่สามารถจำหน่ายได้ เพื่อสร้างรายได้ให้กับครัวเรือนและชุมชน