สวัสดีค่ะ ดิฉัน นางสาวทิพย์วรรณ เธียรวรรณ์ เป็นเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานกลุ่มบัณฑิตจบใหม่ ต.หนองยายพิมพ์ อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ หลักสูตร: HS01 การส่งเสริมและการพัฒนาการผลิตปุ๋ยชีวภาพอัดเม็ด ในโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ (มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์) ดิฉันและทีมงานได้ปฏิบัติงานและดำเนินการทำกิจกรรมต่างๆ ประจำเดือนธันวาคม พ.ศ. 2564 ดังต่อไปนี้

เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2564 เวลา 09.00 น. อาจารย์ประจำหลักสูตรได้มอบหมายงานให้กลุ่มบัณฑิตจบใหม่ เก็บข้อมูล 05 หรือรายงานสถานภาพตำบล (Tambon Profile)  โดยศึกษาข้อมูลจาก TPMAP ซึ่งได้รับผิดชอบส่วนที่ 1 สถานภาพตำบล โดยการทำเป็นรายงานเพิ่มเติมจากที่ผ่านมา

เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2564 เวลา 09.00 น. ดิฉันและทีมงานกลุ่มบัณฑิตจบใหม่ได้เข้าไปติดต่อประสานงาน ณ องค์การบริหารส่วนตำบลหนองยายพิมพ์ ตำบลหนองยายพิมพ์ อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อขอข้อมูลจำนวนประชากรและข้อมูลด้านสุขภาพของประชาชนในตำบล และได้ศึกษาค้นคว้าหาข้อมูลจาก TPMAP เพื่อใช้ประกอบการประเมินสถานภาพตำบล ซึ่งได้รับผิดชอบส่วนที่ 1 สถานภาพตำบล (Tambon Profile)  โดยการทำเป็นรายงาน ซึ่งประกอบไปด้วย 6 ส่วน ดังนี้

1) ข้อมูลพื้นฐาน/ข้อมูลทั่วไป

2) สถานภาพด้านสุขภาพ

3) สถานภาพด้านความเป็นอยู่

4) สถานภาพด้านการศึกษา

5) สถานภาพด้านรายได้

6) สถานภาพด้านการเข้าถึงบริการรัฐ

จากการสำรวจสอบถามข้อมูลจากบุคลากรในองค์การบริหารส่วนตำบลหนองยายพิมพ์ ตำบลหนองยายพิมพ์ อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ ได้ให้การต้อนรับเป็นอย่างดี และให้ความร่วมมือที่ดี ยิ้มแย้ม แจ่มใส และให้ข้อมูลที่เป็นจริงทุกประการ ซึ่งเป็นข้อมูลที่ใช้ในปัจจุบัน

เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2564 เวลา 13.30 น. อาจารย์ประจำหลักสูตรและทีมงานผู้ปฏิบัติงาน บ้านหนองยายพิมพ์ หมู่ที่ 1 ตำบลหนองยายพิมพ์ อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งมีวิทยากรให้ความรู้เกี่ยวกับการทำปุ๋ยมูลไส้เดือน โดย นางสาวฉะไมพร แผ้วพลสง ดำรงตำแหน่งกำนันตำบลหนองยายพิมพ์ และ นายสำราญ สาทิพย์จันทร์ ได้ให้ความรู้การทำปุ๋ยมูลไส้เดือน ปุ๋ยมูลไส้เดือน คือ การที่ไส้เดือนดินกินมูลวัวนม เพราะวัวนมจะได้รับสารอาหารที่เป็นวิตามินมากกว่าวัวทุ่งและวัวขุน และผ่านกระบวนการย่อยสลายอินทรีย์วัตถุต่างๆ ภายในลำไส้ของไส้เดือนดิน แล้วจึงขับถ่ายเป็นมูลออกมา ลักษณะเป็นเม็ดร่วนละเอียดสีดำ ที่มีธาตุอาหารในรูปที่พืชสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ ซึ่งการเลี้ยงไส้เดือนมี 2 วิธี คือ การเลี้ยงไส้เดือนในบ่อซีเมนต์ และการเลี้ยงไส้เดือนในกะละมัง โดยมีขั้นตอนการเลี้ยงไส้เดือน ดังนี้

  1. วิธีเลี้ยงไส้เดือนในบ่อซีเมนต์
  • วัสดุและอุปกรณ์ในการเลี้ยงไส้เดือนในบ่อซีเมนต์
  1. ไส้เดือนประมาณ 1 กิโลกรัม/บ่อ
  2. มูลวัวประมาณ 1-1 ½ กระสอบ
  3. บ่อซีเมนต์ทรงกลม กว้างประมาณ 80-100 เซนติเมตร
  • ขั้นตอนการเลี้ยงไส้เดือนในบ่อซีเมนต์
  1. ใส่มูลวัวลงในบ่อซีเมนต์ แล้วรดน้ำเรื่อย ๆ ประมาณ 1-2 สัปดาห์ เพื่อล้างแก๊สและความร้อน
  2. รอจนมูลวัวเย็นพอดี สามารถวัดได้ด้วยการนำมือล้วงลงไป เพื่อเช็คความอุ่นและความเย็น
  3. ใส่ไส้เดือนลงไปบนมูลวัว ไม่ต้องฝัง เดี๋ยวไส้เดือนจะไชลงไปเอง

 

  1. วิธีเลี้ยงไส้เดือนในกะละมัง
  • วัสดุและอุปกรณ์ในการเลี้ยงไส้เดือนในกะละมัง
  1. ไส้เดือนประมาณ 3 ขีด
  2. มูลวัวที่ปราศจากเศษฟางหรือเศษวัสดุอื่น
  3. กากมะพร้าวสับที่ล้างยางมะพร้าวแล้ว
  4. กะละมังกว้างประมาณ 1 ศอก
  • ขั้นตอนการเลี้ยงไส้เดือนในกะละมัง
    1. เจาะรูเล็ก ๆ ให้ทั่วกะละมัง เพื่อให้น้ำไหลออกสะดวก
    2. รดน้ำใส่มูลวัวให้เปียกสักประมาณ 1-2 สัปดาห์ เพื่อล้างแก๊สและความร้อน
    3. ผสมกากมะพร้าวสับเข้ากับมูลวัว อัตราส่วน 30:70 เพื่อเพิ่มความเย็น
    4. คลุกให้เข้ากัน แล้วนำไปใส่ในกะละมังประมาณครึ่งกะละมัง                                                                                                    5. ใส่ไส้เดือนลงไปบนมูลวัว ไม่ต้องฝัง เดี๋ยวไส้เดือนจะไชลงไปเอง แล้วนำไปไว้ในโรงเรือน แล้วคอยรดน้ำให้ความชื้นประมาณ 1 ครั้ง/3-4 วัน                                                                                                                                                                   6. คอยรดน้ำให้ความชื้นประมาณ 1 ครั้ง/3-4 วัน รอประมาณ 1-2 เดือน ก็จะได้ปุ๋ยไส้เดือนที่พร้อมใช้งาน

หมายเหตุ: การเลี้ยงไส้เดือนในบ่อซีเมนต์จะใช้ปริมาณไส้เดือนมากกว่าในกะละมัง เนื่องจากบ่อซีเมนต์กว้างกว่ากะละมังและจะได้ปริมาณมูลไส้เดือนมาก

 

  • สิ่งที่ควรคำนึงในการเลี้ยงไส้เดือน
  1. พื้นที่เลี้ยงต้องทำในร่มเพื่อป้องกันแสงแดดและฝน
  2. จะต้องรดน้ำอย่างสม่ำเสมอ
  3. ไม่ควรใช้ปุ๋ยคอกใหม่ ควรตากให้แห้งและควรบดก่อนนำมาใช้
  4. การใช้มูลสัตว์ชนิดอื่นๆ ควรมีการผสมกับมูลวัวก่อน
  5. ศัตรูของไส้เดือน เช่น มด ไก่ นก และแมลงต่างๆ ดังนั้น ในการเลี้ยงจึงจำเป็นต้องมีตาข่าย ป้องกันแมลงและสัตว์ต่างๆ เข้าไปกิน

จากการปฏิบัติงานประจำเดือนธันวาคม พ.ศ. 2564 ทำให้ดิฉันได้เรียนรู้กระบวนการทำงานเป็นทีม และการประสานงานบุคลากรในองค์การบริหารส่วนตำบลหนองยายพิมพ์ อีกทั้งยังได้มีความรู้เกี่ยวกับการทำปุ๋ยมูลไส้เดือนที่สามารถต่อยอดผลผลิตให้เป็นมูลค่าที่สามารถจำหน่ายได้ เพื่อสร้างรายได้ให้กับครัวเรือนและวิสาหกิจในชุมชน

 

อื่นๆ

เมนู