สวัสดีค่ะ ดิฉัน นางสาวทิพย์วรรณ เธียรวรรณ์ เป็นเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานกลุ่มบัณฑิตจบใหม่ ต.หนองยายพิมพ์ อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ หลักสูตร: HS01 การส่งเสริมและการพัฒนาการผลิตปุ๋ยชีวภาพอัดเม็ด ดิฉันและทีมงานได้ปฏิบัติงานและดำเนินการทำกิจกรรมต่างๆ ประจำเดือนมีนาคม-เมษายน พ.ศ. 2564 ดังต่อไปนี้
เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2564 เวลา 09.00 น. อาจารย์ประจำหลักสูตรและทีมงานผู้ปฏิบัติงาน ทั้งหมด 3 ตำบล ได้แก่ ต.หนองยายพิมพ์ ต.หนองกง และ ต.หนองโสน ซึ่งการลงพื้นที่ในครั้งนี้กลุ่มผู้ปฏิบัติงานได้ช่วยกันเตรียมสถานที่ ณ บริเวณประกอบพิธียกเสาเอก-เสาโท บ้านโคกว่าน เพื่อความเป็นสิริมงคลในการเริ่มต้นการปลูกสร้างบ้านที่อยู่อาศัยหลังใหม่ที่ชาวบ้านยังให้ความสำคัญและถือปฏิบัติอยู่จนถึงปัจจุบัน โดยมีการประกอบพิธีทางศาสนา ซึ่งมีประธานฝ่ายสงฆ์ พระครูวิสุทธิพัฒนาภิรมย์ เจ้าอาวาสวัดตาไก้พลวงและเจ้าคณะตำบลหนองกง, ประธานฝ่ายฆราวาส นางสาวเพชรรัตน์ ภูมาศ นายอำเภอนางรอง, ประธานยกเสาเอก-เสาโท ดร.สนธยา ไกรรณภูมิ รองประธานคณะกรรมการส่งเสริมกิจการมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ และประธานยกเสาเอก-เสาโท นายวุฒินันท์ ประสงทรัพย์ นายก อบต. เย้ยปราสาท เมื่อเสร็จพิธียกเสาเอก-เสาโทพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ และกลุ่มผู้ปฏิบัติงานช่วยกันจัดเตรียมถวายภัตตาหารเพล จากนั้นรับประทานอาหารร่วมกัน โดยพิธีได้ดำเนินการเสร็จไปอย่างราบรื่น หลังจากนั้นอาจารย์ประจำหลักสูตรได้ประชุมชี้แจงการเตรียมงานการทอดผ้าป่าสามัคคีเพื่อสร้างศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง
เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2564 เวลา 09.00 น. ผู้ปฏิบัติงาน ต.หนองยายพิมพ์ และ ต.หนองกง ซึ่งอาจารย์ประจำหลักสูตรได้นัดประชุมสรุปความก้าวหน้าและสรุปผลการทำงานตลอดระยะเวลา 2 เดือนที่ผ่านมา ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ สำนักงานคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ห้องประชุมอาคาร 25 ชั้น 2 เพื่อนำเสนองานโดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือกลุ่มนักศึกษา กลุ่มบัณฑิตจบใหม่ และกลุ่มประชาชน มีหัวข้อดังนี้
ประเด็นที่ 1 จุดเด่นแต่ละหมู่บ้าน
ประเด็นที่ 2 ความต้องการแต่ละหมู่บ้าน
ประเด็นที่ 3 ปัญหาของแต่ละหมู่บ้าน
-
- การลงพื้นที่เก็บข้อมูลแบบรายงาน
- สิ่งที่ได้จากการทำงาน
- ปัญหาอุปสรรคในการทำงาน
- ข้อเสนอแนะที่จะใช้การทำงาน
ดิฉันและทีมงานผู้ปฏิบัติงาน กลุ่มบัณฑิตจบใหม่ กลุ่มนักศึกษา และกลุ่มประชาชน ได้นำเสนองานของแต่ละหมู่บ้านที่ได้รับผิดชอบอย่างชัดเจน โดยส่วนใหญ่แต่ละหมู่บ้านมีความต้องการและปัญหาของแต่ละหมู่บ้านที่คล้ายๆ กัน เช่น มีความต้องการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย และการสร้างอาชีพที่มั่นคงให้แก่ชุมชน ซึ่งส่วนใหญ่ชาวบ้านมีปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค และปัญหาแสงสว่างไม่เพียงพอ เป็นต้น ในการลงพื้นที่เก็บข้อมูลแบบรายงานในทุกๆ ครั้ง สิ่งที่ได้จากการทำงานได้เรียนรู้เกี่ยวกับการทำงานประสานงานและติดต่อกับหน่วยงานต่างๆ พร้อมทั้งมีการวางแผนงาน และการทำงานเป็นหมู่คณะ โดยมีปัญหาอุปสรรค เช่น ยังขาดการประสานงานไม่ทั่วถึงให้ชาวบ้านได้รับรู้ถึงการไปลงพื้นที่เก็บข้อมูลแบบสอบถาม ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นคนแก่ที่อยู่บ้านคนเดียวไม่มีลูกหลานอยู่ด้วย ทำให้การขอเข้าไปสัมภาษณ์ขอข้อมูลเป็นเรื่องที่ยาก ข้อเสนอแนะที่จะใช้ในการทำงาน คือ ศึกษาหัวข้องานที่ตนเองได้รับให้เข้าใจและถี่ถ้วน และอยากให้มีเสื้อใส่เป็นทีมในการลงพื้นที่ทุกครั้ง เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือของชาวบ้านและสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ปฏิบัติงาน ในการรายงานของแต่ละกลุ่มทำให้รับรู้ถึงปัญหาความเป็นอยู่ที่แตกต่างกันได้อย่างชัดเจน
หลังจากนำเสนองานอาจารย์ประจำหลักสูตรได้แนะนำและให้ข้อเสนอแนะการนำเสนองานในครั้งนี้เพื่อนำไปปรับปรุงแก้ไขในครั้งต่อไปและได้ชี้แจงมอบหมายงานการเก็บข้อมูลแบบสอบถามปุ๋ยชีวภาพ และพูดคุยปรึกษาข้อสงสัยกับผู้ปฏิบัติงาน เพื่อดำเนินการให้เสร็จตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ แต่ด้วยสถานการณ์แพร่ระบาดของ COVID-19 ระบาดอีกครั้ง ทำให้การลงพื้นที่ในครั้งนี้เลื่อนการเก็บข้อมูลแบบสอบถามปุ๋ยชีวภาพออกไปก่อน เพื่อความปลอดภัยของชาวบ้านและเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานทุกท่าน