สวัสดีค่ะ ดิฉัน นางสาวทิพย์วรรณ เธียรวรรณ์ เป็นเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานกลุ่มบัณฑิตจบใหม่ ต.หนองยายพิมพ์ อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ หลักสูตร: HS01 การส่งเสริมและการพัฒนาการผลิตปุ๋ยชีวภาพอัดเม็ด ดิฉันและทีมงานได้ปฏิบัติงานและดำเนินการทำกิจกรรมต่างๆ ประจำเดือนเมษายน-พฤษภาคม พ.ศ. 2564 ดังต่อไปนี้

เมื่อวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2564 เวลา 13.00 น. อาจารย์ประจำหลักสูตรและทีมงานผู้ปฏิบัติงาน ต.หนองยายพิมพ์ และ ต.หนองกง ได้ร่วมอบรมการทำปุ๋ยหมักชีวภาพอัดเม็ด ณ ห้องประชุมชัยคณารักษ์กูล อาคาร 6 ชั้น 2 มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ซึ่งได้รับการอบรม จากวิทยากร นางสาวฉะไมพร แผ้วพลสง ดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านบ้านหนองยายพิมพ์ หมู่ที่ 1 ได้ให้ความรู้ในการทำปุ๋ยหมักชีวภาพอัดเม็ด โดยหมู่บ้านหนองยายพิมพ์เป็นหมู่บ้านที่มีขนาดใหญ่ ประกอบอาชีพทำนาและเลี้ยงสัตว์ เช่น วัว ควาย เป็นต้น จึงทำให้มีมูลสัตว์จำนวนมาก เหมาะแก่การนำมาทำปุ๋ยหมักชีวภาพอัดเม็ด ซึ่งจะใช้มูลสัตว์ 80% และมีส่วนผสมของเกลือ, ปลาป่น และน้ำ ที่ให้แร่ธาตุต่อพืช ซึ่งเป็นวัตถุดิบในท้องถิ่นที่หาได้ง่าย ช่วยส่งเสริมรายได้ของเกษตรกรที่ขายมูลสัตว์ โดยหมู่บ้านหนองยายพิมพ์ได้ทำปุ๋ยหมักชีวภาพอัดเม็ด 10 ตัน จำนวน 200 กระสอบ บรรจุ กระสอบละ 50 กก. ซึ่งส่วนใหญ่จะใส่ปุ๋ยในสวนส้มโอ, กล้วย, และมะนาว เป็นต้น แต่เป้าหมายของการทำปุ๋ยของหมู่บ้านหนองยายพิมพ์ต้องการขายให้แก่กลุ่มชาวนา และกลุ่มปลูกมัน เพราะเป็นกลุ่มที่ใช้ปุ๋ยปริมาณมากในแต่ละปี โดยชาวบ้านส่วนใหญ่ทำนาในแต่ละปีจะใช้ปุ๋ยเคมีที่มีราคาแพง และเป็นอันตรายต่อสุขภาพ วิทยากรจึงมีความต้องการหน่วยงานที่มีความรู้ด้านปุ๋ยต่างๆ มาให้คำแนะนำ เพื่อพัฒนาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และปลอดภัยต่อเกษตรกร เมื่อฟังวิทยากรอบรมให้ความรู้การทำปุ๋ยหมักชีวภาพอัดเม็ดเสร็จ อาจารย์ประจำหลักสูตรได้แบ่งงานลงพื้นที่เก็บข้อมูลในระบบ U2T โดยกลุ่มบัณฑิตได้รับผิดชอบ 4 หัวข้อ ได้แก่ ผู้ย้ายกลับบ้าน เนื่องจากสถานการณ์โควิด, แหล่งท่องเที่ยว, ร้านอาหารในท้องถิ่น และภูมิปัญญาในท้องถิ่น  และเก็บข้อมูล 01, 02 และ 06 เพิ่มเติม

เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2564 ได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูล ดิฉันได้รับผิดชอบเก็บข้อมูลภูมิปัญญาในท้องถิ่น ต.หนองยายพิมพ์ มีทั้งหมด 10 หมู่บ้าน โดยแต่ละหมู่บ้านมีภูมิปัญญาที่มีลักษณะแตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น ได้แก่ 1) ด้านงานฝีมือ เช่น การทอผ้าไหม, ปั้นดินเผา, ทอเสื่อกก/เสื่อไหล และการสานกระเป๋าจากซองกาแฟ เป็นต้น  2) ด้านการรักษาโรค ประเพณี ความเชื่อต่างๆ เช่น หมอพรามหมณ์ และหมอเป่าสมานกระดูก 3) ด้านอาหาร เช่น ข้าวแต๋น, กล้วยฉาบ และการแปรูปหมูกระจก พัฒนาและต่อยอดเป็นสินค้า OTOP เนื่องจากเกิดองค์ความรู้ใหม่ๆ มีทักษะการพัฒนาปรับเปลี่ยนได้เหมาะสมกับยุคสมัย เช่น การรู้จักนำเครื่องอบลมร้อนที่ใช้ในการอบขนมข้าวแต๋น เพื่อให้ขนมข้าวแต๋นแห้งเร็ว ช่วยให้ประหยัดเวลา โดยไม่ต้องนำขนมไปตากแดด ทำให้การผลิตขนมได้รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากขึ้น ถือเป็นการใช้ภูมิปัญญาปรับปรุงประยุกต์ใช้ได้ตามยุคสมัย ซึ่งแต่ละหมู่บ้านนำภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ได้รับการพัฒนาและต่อยอด เพื่อสร้างรายได้ให้แก่ครอบครัว

เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2564 ได้เข้าร่วมชมงานทอดผ้าป่า–ปาฐกถาชุมชนออนไลน์ ซึ่งในช่วงเช้ามีพิธีเปิดงานบุญผ้าป่าสามัคคี ณ ศูนย์การเรียนรู้ฯ บ้านโคกว่าน ต.หนองโสน อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ หลังจากนั้นได้รับฟังปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “กสิกรรมธรรมชาติบนรากฐานปรัชญาแห่งเศรษฐกิจพอเพียง สู่การพัฒนาที่มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนในยุค World Disruption” โดย ดร.ยักษ- ฯพณฯ วิวัฒน์ ศัลยกำธร ประธานมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตร และสหกรณ์ ซึ่งความรู้ที่ได้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันได้อย่างประสิทธิภาพ จากนั้นถวายภัตตาหารเพลแก่พระสงฆ์  และพิธีทอดผ้าป่าสามัคคี หลังจากนั้นได้รับฟังการบรรยายพิเศษ เรื่อง “กสิกรรมธรรมชาติตามศาสตร์พระราชา : ทางเลือกและทางรอดในโลกยุค Vital Disruption” โดย คุณโจน จันได ผู้เชี่ยวชาญในการสร้างบ้านดิน และผู้ก่อตั้งพันพรรณ ศูนย์การเรียนรู้เพื่อการพึ่งตนเองและศูนย์เมล็ดพันธุ์ ซึ่งทำให้ทราบถึงการพึ่งพาตัวเองด้วยการใช้ชีวิตด้วยหลักปรัชญาเศรษฐกิจมาใช้ในชีวิตประจำวัน

เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2564 ได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูลเกษตรกรในท้องถิ่น ดิฉันได้รับผิดชอบ บ้านก้านเหลือง หมู่ที่ 7 ต.หนองยายพิมพ์ อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ โดยชาวบ้านสวนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกร โดยการปลูกข้าว และปลูกพืชผักสวนครัว เช่น ปลูกมะเขือ, มะม่วง, กล้วย, มะพร้าว, พริก, ผักบุ้ง และมะนาว เป็นต้น ส่วนใหญ่จะปลูกไว้ทานเอง เนื่องสถานการณ์ COVID-19 เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายในการอุปโภค/บริโภค และชาวบ้านบางส่วนเลี้ยงสัตว์ เพื่อจำหน่ายภายในชุนชนและนอกชุมชน เช่น เลี้ยงหมู เลี้ยงปลา เป็นต้น ในการทำเกษตรในปัจจุบันจะใช้เทคโนโลยีในการทุ่นแรง เพื่อประหยัดเวลา และประหยัดค่าใช้จ่าย โดยใช้ปุ๋ยอินทรีย์ที่ทำเอง นอกจากนี้ได้เก็บข้อมูลแบบสอบถามปุ๋ยชีวภาพ พบว่าชาวบ้านส่วนใหญ่ใช้ปุ๋ยชีวภาพ แบบเม็ด เพราะชาวบ้านในชุมชนมีอาชีพทำนาเป็นหลัก ส่วนใหญ่จะซื้อปุ๋ยชีวภาพจากสหกรณ์/ธกส และมีความความต้องการให้มีการอบรมการใช้หรือการทำปุ๋ยชีวภาพ

เนื่องจากสถานการณ์ COVID-19 ระลอกใหม่ ทำให้การลงพื้นที่ในเดือนพฤษภาคม เกิดความล่าช้า ซึ่งมีชาวบ้านส่วนใหญ่เริ่มป้องกันตัวจากเชื้อ COVID-19 และมีความวิตกกังวลจากสถานการณ์ในปัจจุบัน จึงทำให้การลงเก็บข้อมูลในการเข้าถึงชาวบ้านได้ยาก ทำให้ได้ข้อมูลที่ล่าช้าและยังไม่ตรงตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ แต่อย่างไรก็ตามดิฉันและทีมงานผู้ปฏิบัติงานจะดำเนินการลงพื้นที่ให้เสร็จตามเป้าหมายที่กำหนดไว้

อื่นๆ

เมนู