สวัสดีค่ะ ดิฉัน นางสาวทิพย์วรรณ เธียรวรรณ์ เป็นเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานกลุ่มบัณฑิตจบใหม่ ต.หนองยายพิมพ์ อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ หลักสูตร: HS01 การส่งเสริมและการพัฒนาการผลิตปุ๋ยชีวภาพอัดเม็ด ดิฉันและทีมงานได้ปฏิบัติงานและดำเนินการทำกิจกรรมต่างๆ ประจำเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม พ.ศ. 2564 ดังต่อไปนี้
เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2564 เวลา 09.30 น. อาจารย์ประจำหลักสูตรและทีมงานผู้ปฏิบัติงาน ต.หนองยายพิมพ์ และ ต.หนองกง ได้ร่วมอบรมการทำสบู่เหลวฆ่าเชื้อ และสบู่ก้อนฆ่าเชื้อ ณ ศาลาหมู่ที่ 1 บ้านหนองกง ต.หนองกง อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ ซึ่งได้รับการอบรม จากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญในการทำสบู่ จากนั้นอาจารย์ประจำหลักสูตรได้แบ่งกลุ่มในการทำสบู่เหลวฆ่าเชื้อ และสบู่ก้อนฆ่าเชื้อ ออกเป็น 6 กลุ่ม เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานได้ลงมือทำสบู่ร่วมกันและสามารถนำความรู้ที่ได้ไปใช้ในชีวิตประจำวันโดยมีวิธีการทำสบู่เหลวฆ่าเชื้อ และสบู่ก้อนฆ่าเชื้อ ดังนี้
- สูตรการทำสบู่เหลวฆ่าเชื้อ (สำหรับ 10 กก.)
– วัสดุอุปกรณ์
- หัวเชื้อสบู่เหลว (แบบใส, แบบมุก) 1 กก.
- หัวเชื้อ N8000 1 กก.
- ผงฟอง 1 ขีด
- ผงข้น 4 ขีด
- สารกันบูด 15 ซีซี
- น้ำหอม 30 ซีซี
- K.D (สารให้ความข้นหนืด) 1.5 ขีด
- เดทตอล 2-3 ฝา
- น้ำสะอาด 8 กก.
- สีผสมอาหาร (ใส่จนได้สีตามต้องการ)
วิธีทำ
- ผงฟองแช่น้ำละลายทิ้งไว้จนเป็นน้ำใสๆ และนำผงข้นแช่น้ำ กวนให้ละลายทิ้งไว้จนเป็นน้ำใสๆ เช่นกัน
- จากนั้นนำหัวเชื้อ ข้อ 1, 2 และผงฟองที่ละลายน้ำไว้แล้ว เทผสมกัน ใช้ไม้พายกวนไปในทางเดียวกันจนละลายเข้าเป็นเนื้อเดียวกัน
- หลังจากนั้นค่อยๆ ใส่น้ำทีละ 2 กก. ใส่ไปกวนไปเรื่อยๆ จนครบ
- เมื่อทุกอย่างละลายเป็นเนื้อเดียวกันแล้วใส่ K.D และผงข้นที่ละลายน้ำไว้ และกวนให้เข้ากันอีก 5 นาที จนทุกอย่างละลายเข้ากัน
- เติมสี กลิ่น และสารกันบูด เป็นอันเสร็จขั้นตอน บรรจุลงภาชนะที่เตรียมไว้
- สูตรการทำสบู่ก้อนฆ่าเชื้อ (สูตรนี้สามารถทำได้ 10-15 ก้อน ขึ้นอยู่กับขนาดแม่พิมพ์)
– วัสดุอุปกรณ์
- กลีเซอรีนก้อน, เบสสบู่ 1 กก.
- กลีเซอรีนเหลว 30 ซีซี
- เดทตอล 1-2 ฝา
- น้ำหอม 20 ซีซี
- สีผสมอาหาร (ใส่จนได้สีตามต้องการ)
วิธีทำ
- นำกลีเซอรีนก้อนละลายบนเตาหม้อต้มน้ำ ใช้วิธีเหมือนการตุ๋น จนละลายทั้งหมด
- ใส่กลีเซอรีนเหลว เดทตอล น้ำหอม และสีผสมอาหาร กวนจนเป็นเนื้อเดียวกัน
- หลังจากนั้นตักใส่แม่พิมพ์ที่เตรียมไว้
- ผ่านไปประมาณ 15-20 นาที สบู่แข็งตัว สามารถแกะออกจากพิมพ์และแพ็คใส่ซองหรือกล่อง เป็นอันเสร็จ
หลังจากที่ได้เรียนรู้การทำสบู่เหลวฆ่าเชื้อ และสบู่ก้อนฆ่าเชื้อเป็นที่เรียบร้อย อาจารย์ประจำหลักสูตรและทีมงานผู้ปฏิบัติงานได้รับประทานอาหารร่วมกัน เวลา 13.00 น. ได้รับฟังความรู้เกี่ยวกับการเตรียมตัวในการฉีดวัคซีน จากวิทยากรโรงพยาบาลห้วยราช ซึ่งพบว่า ปัจจุบันประเทศไทยกำลังมีการเร่งฉีดวัคซีน Covid- 19 เนื่องจากสถานการณ์โรคระบาด Covid- 19 ถือเป็นวิกฤตระดับชาติที่ส่งผลกระทบถึงประชาชนคนไทยทุกครัวเรือน นอกจากจะเป็นโรคที่ส่งผลร้ายต่อระบบทางเดินหายใจ โดยเฉพาะอวัยวะสำคัญอย่างปอด ยังเป็นโรคที่สามารถติดต่อจากคนสู่คน แพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว หากไม่มีภูมิคุ้มกันก็จะสามารถติดเชื้อ Covid- 19 ได้ และอาการจะทรุดหนักถึงขั้นระยะร้ายแรงได้ในเวลาอันรวดเร็ว จึงมีต้องมีการรักษาระยะห่างระหว่างผู้คน สวมหน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือให้ถูกวิธี และใช้เจลแอลกอฮอล์ เป็นเพียงการช่วยยับยั้งการแพร่ระบาดได้ในเบื้องต้น แต่การได้รับภูมิคุ้มกันเข้าสู่ร่างกายโดยการฉีดวัคซีน Covid- 19 ถือเป็นการช่วยป้องกันการติดเชื้อแบบรุนแรงได้ดี จึงเกิดการรณรงค์ให้ทุกคนออกไปรับการฉีดวัคซีน Covid- 19 ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา เพราะหากได้รับวัคซีนที่มีประสิทธิภาพจะสามารถทำให้ร่างกายเกิดภูมิคุ้มกัน ส่งผลต่อการออกไปใช้ชีวิตร่วมกันในสังคมได้อย่างสันติสุข เมื่อฟังวิทยากรให้ความรู้เสร็จเรียบร้อย อาจารย์ประจำหลักสูตรได้แบ่งงานให้ทีมงานผู้ปฏิบัติงาน ต.หนองยายพิมพ์ และ ต.หนองกง โดยดิฉันและทีมงานได้ร่วมกันติดสติ๊กเกอร์ข้างซองสบู่ก้อน จากนั้นจัดแบ่งสบู่เหลวฆ่าเชื้อ และสบู่ก้อนฆ่าเชื้อ ให้แต่ละหมู่ เพื่อนำไปแจกให้ผู้ใหญ่บ้านของ ต.หนองยายพิมพ์ และ ต.หนองกง ซึ่งดิฉันและทีมงานกลุ่มบัณฑิตจบใหม่ได้รับผิดชอบ ต.หนองยายพิมพ์ ทั้งหมด 4 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านหนองถนน หมู่ 6, บ้านก้านเหลือง หมู่ 7, บ้านจาน หมู่ 8 และบ้านหนองตารัก หมู่ 10 โดยได้ดำเนินการเสร็จไปอย่างราบลื่น และเดินทางกลับบ้านโดยสวัสดิภาพ
เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2564 เวลา 09.00 น. ดิฉันและทีมงานกลุ่มบัณฑิตจบใหม่ได้เข้าไปติดต่อประสานงาน ณ องค์การบริหารส่วนตำบลหนองยายพิมพ์ และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล บ้านหนองยาง ตำบลหนองยายพิมพ์ อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อขอข้อมูลจำนวนประชากรและข้อมูลด้านสุขภาพของประชาชนในตำบล และได้ศึกษาค้นคว้าหาข้อมูลจาก TPMAP เพื่อใช้ประกอบการประเมินสถานภาพตำบล ซึ่งได้รับผิดชอบส่วนที่ 1 สถานภาพตำบล (Tambon Profile) โดยการทำเป็นรายงาน ซึ่งประกอบไปด้วย 6 ส่วน ดังนี้
1) ข้อมูลพื้นฐาน/ข้อมูลทั่วไป 2) สถานภาพด้านสุขภาพ 3) สถานภาพด้านความเป็นอยู่ 4) สถานภาพด้านการศึกษา 5) สถานภาพด้านรายได้ 6) สถานภาพด้านการเข้าถึงบริการรัฐ
จากการสำรวจสอบถามข้อมูลจากบุคลากรในองค์การบริหารส่วนตำบลหนองยายพิมพ์ และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล บ้านหนองยาง ตำบลหนองยายพิมพ์ อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ ได้ให้การต้อนรับเป็นอย่างดี และให้ความร่วมมือที่ดี ยิ้มแย้ม แจ่มใส และให้ข้อมูลที่เป็นจริงทุกประการ
เมื่อวันที่ 7-12 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 เวลา 09.00 น. ดิฉันและทีมงานกลุ่มบัณฑิตจบใหม่ได้ลงพื้นที่สำรวจแบบสอบถาม 06 แบบสำรวจเพื่อเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคติดต่ออุบัติใหม่ (Emerging infectious diseases) โดยสำรวจที่พักอาศัย ตลาด ศาสนสถาน และโรงเรียน ประจำเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม พ.ศ. 2564 ซึ่งกลุ่มบัณฑิตจบใหม่ได้รับผิดชอบทั้งหมด 7 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านหนองโจด หมู่ 4, บ้านหนองยาง หมู่ 5, บ้านหนองถนน หมู่ 6, บ้านก้านเหลือง หมู่ 7, บ้านจาน หมู่ 8, บ้านโนนศาลา หมู่ 9 และบ้านหนองตารัก หมู่ 10 จึงได้แบ่งงานในการเก็บข้อมูลเพื่อให้เกิดความสะดวกรวดเร็ว และเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้
จากการปฏิบัติงานประจำเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมา ทำให้ดิฉันได้เรียนรู้การทำงานเป็นทีม มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย และการทำงานร่วมกันให้เสร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ อีกทั้งยังได้เรียนรู้ขั้นตอนการทำสบู่เหลวฆ่าเชื้อ และสบู่ก้อนฆ่าเชื้อ ที่สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ และได้รับความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการเตรียมตัวในการรับมือฉีดวัคซีน เพื่อความปลอดภัยในการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสันติสุข