สวัสดีค่ะ ดิฉัน นางสาว ทิพย์วรรณ เธียรวรรณ์ เป็นเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานประเภทกลุ่มบัณฑิตจบใหม่ ต.หนองยายพิมพ์ อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ หลักสูตร: HS01 การส่งเสริมและการพัฒนาการผลิตปุ๋ยชีวภาพอัดเม็ด ของโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ 1 ตำบล 1 มหาลัย จากมหาวิทยาลัยสู่ตำบล เพื่อสร้างรากแก้วให้ประเทศ โดยอาจารย์ประจำหลักสูตรนัดพบปะพูดคุยกับผู้ปฏิบัติงานกับทีมงาน เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2564  เวลา 13.00 น. ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ สำนักงานคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ อาคาร 25 ชั้น 2 เพื่อรับฟังอาจารย์ประจำหลักสูตรชี้แจงแบบสอบถาม 05 รายงานสถานภาพตำบล (Tambon Profile) และ แบบสอบถาม 06 แบบสำรวจเพื่อเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคติดต่ออุบัติใหม่ เพื่อให้เกิดความเข้าใจตรงกัน และมอบหมายการลงพื้นที่ปฏิบัติงานเป็นไปตามเป้าหมายประจำเดือนมีนาคม 2564 ที่ตั้งไว้ในครั้งนี้

เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 09.00 น. ดิฉันและทีมงานกลุ่มบัณฑิตจบใหม่ได้เข้าไปติดต่อประสานงาน ณ องค์การบริหารส่วนตำบลหนองยายพิมพ์ และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล บ้านหนองยาง ตำบลหนองยายพิมพ์ อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อขอข้อมูลจำนวนประชากรและข้อมูลด้านสุขภาพของประชาชนในตำบล และได้ศึกษาค้นคว้าหาข้อมูลจาก TPMAP เพื่อใช้ประกอบการประเมินสถานภาพตำบล ซึ่งได้รับผิดชอบส่วนที่ 1 สถานภาพตำบล (Tambon Profile) โดยการทำเป็นรายงาน ซึ่งประกอบไปด้วย 6 ส่วน ดังนี้

1) ข้อมูลพื้นฐาน/ข้อมูลทั่วไป

2) สถานภาพด้านสุขภาพ

3) สถานภาพด้านความเป็นอยู่

4) สถานภาพด้านการศึกษา

5) สถานภาพด้านรายได้

6) สถานภาพด้านการเข้าถึงบริการรัฐ

จากการสำรวจสอบถามข้อมูลจากบุคลากรในองค์การบริหารส่วนตำบลหนองยายพิมพ์ และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล บ้านหนองยาง ตำบลหนองยายพิมพ์ อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ ได้ให้การต้อนรับเป็นอย่างดี และให้ความร่วมมือที่ดี ยิ้มแย้ม แจ่มใส และให้ข้อมูลที่เป็นจริง เพื่อเป็นไปตามเป้าหมาย นอกจากนี้ยังได้ลงพื้นที่สำรวจแบบสอบถาม 06 แบบสำรวจเพื่อเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคติดต่ออุบัติใหม่ (Emerging infectious diseases) จึงได้แบ่งงานในการเก็บข้อมูลเพื่อให้เกิดความสะดวกรวดเร็ว ซึ่งดิฉันได้รับผิดชอบ หมู่ที่ 3 บ้านบุตาสุ่ม, หมู่ที่ 4 บ้านหนองโจด และหมู่ที่ 5 บ้านหนองยาง โดยสำรวจชุดที่ 1 สำหรับที่พักอาศัย มีการประเมินตนเองและบุคคลที่อาศัยอยู่ในครัวเรือน-เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อหรือหากติดเชื้อแล้วจะมีอาการรุนแรง มีการสังเกตอาการตนเอง การดูแลสุขอนามัยด้วยการล้างมือ เป็นต้น

  เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 09.00 น. ดิฉันและทีมงานผู้ปฏิบัติงาน ตำบลหนองยายพิมพ์ และตำบลหนองกง ได้ร่วมอบรมการทำปุ๋ยหมักชีวภาพ ณ ศาลาหมู่ที่ 1 บ้านหนองกง ตำบลหนองกง อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งได้รับการอบรม จากวิทยากร นายประทวน ดำเสนา ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านบ้านหนองกง ได้ให้ข้อมูลในการทำปุ๋ยหมักชีวภาพ และสอนวิธีการทำปุ๋ยหมักชีวภาพ โดยมีกลุ่มชาวบ้านเข้าร่วมการอบรมในครั้งนี้ ซึ่งจากการสอบถามชาวบ้านในชุมชนส่วนใหญ่จะใช้ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมักที่ทำจากหอยเชอรี่ หยวกกล้วย และเศษอาหาร ในการทำเกษตร ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่หาได้ง่ายมีทั่วไปในชุมชน แต่การหมักที่ทำจากหอยเชอรี่ใช้เวลานาน และสิ้นเปลืองพื้นที่ในการจัดเก็บ โดยท่านวิทยาการจึงได้แนะนำการทำปุ๋ยหมักชีวภาพที่ประหยัดเวลา ใช้พื้นที่ในการจัดเก็บไม่เยอะ ซึ่งสะดวกและรวดเร็ว ที่สำคัญยังมีสารอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืชอีกด้วย คือ

  • การทำปุ๋ยหมักชีวภาพจากจุลินทรีย์สังเคราะห์แสงซึ่งมีวิธีการทำ ดังนี้

1) จุลินทรีย์จากธรรมชาติ มีส่วนผสมของดินปุ๋ยไผ่ 3 ช้อนโต๊ะ, รำอ่อน, น้ำตาลทรายแดง 3 ช้อนโต๊ะ และน้ำ โดยจะนำส่วนผสมต่างๆ ผสมจนเป็นเนื้อเดียวกัน แล้วปั้นเป็นก้อนๆ ห่อด้วยกระดาษแล้วใส่ในกระสอบปุ๋ยเก็บไว้ประมาณ 1 อาทิตย์ เก็บให้พ้นแสงแดด เพื่อให้จุลินทรีย์เติบโตได้เร็ว

2) จุลินทรีย์ที่ซื้อมา หรือฮอร์โมนไข่ มีส่วนผสมจากกะปิ 1 ช้อนโต๊ะ, น้ำปลา 1 ช้อนโต๊ะ, ผงชูรส 1 ช้อนโต๊ะ, นมจืด 1 ช้อนโต๊ะ, ไข่ไก่ 3 ฟอง, ยาคูลท์ 1 ช้อนโต๊ะ, ขวดพลาสติกโปร่งแสง และน้ำ (กรอกน้ำใส่ขวด น้ำที่ใช้คือน้ำจากสระ ซึ่งน้ำในสระจะมีจุลินทรีย์ที่ได้ประสิทธิภาพดีกว่าน้ำประปา) นำส่วนผสมทั้งหมดผสมเข้าด้วยกัน นำใส่ขวดน้ำที่กรอกไว้เขย่าให้เข้ากันตากแดดประมาณ 20 วัน เพื่อสังเคราะห์จุลินทรีย์จากแสงแดด จะเห็นได้ว่าพบการเปลี่ยนแปลงของสีน้ำหมักกลายเป็นสีแดงหรือสีเขียว หมักทิ้งไว้ 3 เดือน ผสมในอัตราส่วน 1 ช้อน ต่อน้ำเปล่า 20 ลิตร

  • ประโยชน์ของปุ๋ยหมักชีวภาพ ได้แก่

1) ช่วยในการเจริญเติบโตของพืช, การแตกหน่อ, แตกใบ

2) ช่วยไม่ให้รากเน่า

3) บำรุงดอก, เร่งดอก, เร่งผล ช่วยทำให้ขั้วเหนียว

4) ช่วยขยายรากฝอย

  หลังจากฟังบรรยายการอบรมการทำปุ๋ยหมักชีวภาพ ได้ลงพื้นที่ชมแปลงผักรอบสระของหมู่บ้านบ้านหนองกงที่ใช้ปุ๋ยหมักชีวภาพ ที่ใช้ผสมรดน้ำในช่วงที่พืชเจริญเติบโตเต็มที่พร้อมจะออกดอกออกผล เมื่อนำไปใช้กับผักทานใบ จะช่วยให้ผักมีรสชาติหวาน กรอบ อร่อยยิ่งขึ้น ซึ่งจะต้องผสมรดน้ำในอัตราส่วนที่เหมาะสม เช่น การรดพริก ต้นหอม ผักชี ถั่วฝักยาว และกระเทียม เพื่อเร่งดอก เร่งผล และกำจัดศัตรูพืช และเพิ่มผลผลิตได้จำนวนมาก หลังจากชมแปลงผักเสร็จสิ้น อาจารย์ประจำหลักสูตรและผู้ปฏิบัติงานและทีมงาน ตำบลหนองยายพิมพ์ ตำบลหนองกง และชาวบ้าน ร่วมรับประทานอาหารกลางวันร่วมกัน เมื่อเสร็จสิ้นการรับทานอาหาร อาจารย์ประจำหลักสูตรได้ชี้แจงการมอบหมายงานการเก็บข้อมูลแบบฟอร์ม 01, 02 และ 06 เพิ่มเติม และพูดคุยปรึกษาข้อสงสัยกับผู้ปฏิบัติงาน เพื่อดำเนินการให้เสร็จตามเป้าหมายที่กำหนดไว้

•ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการใช้ปุ๋ยหมักชีวภาพ

    1. การใช้สารเคมีทางการเกษตรลดลง ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้
    2. ผลผลิตมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค รสชาติดีมีคุณภาพ
    3. เกษตรกรมีสุขอนามัยดีขึ้น
    4. ฟื้นฟูดินให้ดีขึ้น มีความยั่งยืนทางการเกษตร และรักษาสิ่งแวดล้อม

 

 

 

 

 

 

 

 

อื่นๆ

เมนู