ข้าพเจ้า นายทองมา ทุมทองหลาง ประเภทนักศึกษา ตำบลหนองยายพิมพ์

หลักสูตร : การส่งเสริมและพัฒนาการผลิตปุ๋ยชีวภาพอัดเม็ด HSO1

          ข้าพเจ้าพร้อมทีมปฏิบัติงานตำบลหนองยายพิมพ์และตำบลหนองกงได้เข้ารับฟังการอบรมในการพัฒนาปุ๋ยหมักชีวภาพของตำบลหนองยายพิมพ์โดยวิทยากรคือผู้ใหญ่บ้านหมู่ 1 ตำบลหนองยายพิมพ์ นางฉมัยพร แผ้วพลสง อีกทั้งได้รับฟังอาจารย์ประจำหลักสูตรชี้แจงรายละเอียดและแบ่งหน้าที่ให้แก่ผู้ปฏิบัติงานในการลงพื้นที่เก็บข้อมูลตามแบบสอบถามในแอพพลิเคชั่น U2T ในเดือนพฤษภาคม

          เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2564 ข้าพเจ้าพร้อมทีมปฏิบัติงานตำบลหนองยายพิมพ์ ตำบลหนองกงและอาจารย์ประจำหลักสูตรเข้ารับฟังการอบรม ในหัวข้อการพัฒนาปุ๋ยหมักชีวภาพของตำบลหนองยายพิมพ์ โดยได้รับเกียรติจากผู้ใหญ่บ้านหมู่ 1 ตำบลหนองยายพิมพ์เป็นวิทยากรในครั้งนี้ ซึ่งผู้ใหญ่บ้านได้กล่าวถึงความเป็นมาเป็นไปของการริเริ่มผลิตปุ๋ยหมักชีวภาพในตำบลหนองยายพิมพ์ โดยแต่เริ่มเดิมทีนั้นการผลิตปุ๋ยหมักชีวภาพในตำบลเกิดจากความต้องการในการที่จะช่วยเหลือเกษตรกรในท้องถิ่น เพื่อลดต้นทุนในการผลิตในการซื้อปุ๋ย แต่เนื่องด้วยในตอนนั้นทางตำบลหนองยายพิมพ์ไม่มีต้นทุนในการผลิตปุ๋ยหมักชีวภาพจึงได้เสนอโครงการต่อรัฐบาลคือ “โครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ ภายใต้ร่มพระบารมี เพื่อพัฒนาการเกษตรอย่างยังยืน” โดยตำบลหนองยายพิมพ์เสนอหัวข้อเกี่ยวกับการผลิตปุ๋ยหมักชีวภาพเพื่อลดต้นทุนในการผลิตซึ่งสอดคล้องกับความต้องการของรัฐบาลที่จะดึงเกษตรกรเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจในการแก้ไขปัญหาสินค้าการเกษตร โดยลักษณะลดต้นทุนการผลิต เพิ่มผลผลิตและยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตร

          เมื่อทางตำบลหนองยายพิมพ์ได้รับต้นทุนจากทางรัฐบาลจึงดำเนินการตามความต้องการของตำบลทันที โดยในครั้งแรกที่ทำการผลิตปุ๋ยหมักชีวภาพภาพนั้นจะใช้วัตถุดิบหลักคือมูลสัตว์ซึ่งหาได้ง่ายในชุมชนนั้นจึงช่วยลดต้นทุนในการผลิตแต่ก็ยังมีวัตถุดิบที่มีราคาแพง จึงทดลองขายให้เกษตรกรในชุมชนในราคาที่ถูก ก็ทำให้ได้รับผลตอบรับที่ดีเกษตรกรในชุมชนซื้อปุ๋ยหมักชีวภาพจนหมด แต่เนื่องด้วยต้นทุนในการผลิตสูงแต่ขายออกในราคาที่ต่ำจึงทำให้ผู้ใหญ่บ้านมีความคิดที่จะหาสูตรในการผลิตปุ๋ยหมักชีวภาพที่มีคุณภาพและราคาถูกมากขึ้น จึงได้ประสานงานขอความร่วมมือกับหน่วยงานที่มีความรู้ในด้านนี้โดยตรงมาให้ความรู้แก่คนในชุมชน จึงทำให้ผลิตปุ๋ยหมักชีวภาพสูตรใหม่ที่มีคุณภาพและราคาที่ถูกยิ่งขึ้น ซึ่งความต้องการต่อไปของตำบลหนองยายพิมพ์คือการนำปุ๋ยหมักชีวภาพมาอัดเม็ดเพื่อจำหน่ายให้แก่เกษตรกรในชุมชนให้สามารถเก็บรักษาปุ๋ยหมักชีวภาพได้นานยิ่งขึ้นโดยยังคงความมีประสิทธิภาพดังเดิม ตามหลักสูตรของข้าพเจ้า HS01 การส่งเสริมและพัฒนาการผลิตปุ๋ยชีวภาพอัดเม็ด

          เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2564 ข้าพเจ้าได้ร่วมรับชมกิจกรรมงานบุญผ้าป่า-ปาฐกถาชุมชนออนไลน์ ผ่านช่องทาง YOUTUBE สถานที่จัดกิจกรรม ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงบ้านโคกว่าน ต.หนองโสน อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ ซึ่งนายธัชกร หัตถาธยากูล ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์เป็นประธานเปิดงานผ่านระบบออนไลน์จากนั้น พระครูวิสุทธิ พัฒนาภิรมณ์ (พระอาจารย์ทองใส) เจ้าอาวาสวัดตาไก้พลวง เจ้าคณะตำบลหนองกง ได้กล่าวถึงการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงแห่งนี้ ว่าจะมีประโยชน์ต่อผู้คนอย่างยิ่ง และยังได้กล่าวชื่นชม มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ที่เข้ามาดำเนินการร่วมกับคนในชุมชน เพื่อพัฒนาศักยภาพในการดำรงชีวิตของคนในชุมชนอีกด้วย

          การปาฐกถาชุมชนออนไลน์ (ยักษ์ จับ โจน) วิทยากรท่านแรกคือ อาจารย์วิวัฒน์ ศัลยกำธร(ยักษ์)ท่านได้เคยรับใช้ในหลวงรัชกาลที่ 9 ถือได้ว่ามีความรู้ในด้านเศรษฐกิจพอเพียงอย่างเชี่ยวชาญ ท่านได้ให้แนวคิดในด้านความพอเพียง ความพอเพียงมีหลายมิติ อาหารพอเพียง ที่อยู่อาศัยพอเพียง การสร้างป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง การปลูกป่าเพื่อรักษาความชื้น การไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบต่อมนุษย์

          วิทยากรท่านที่สองคือ ท่านโจน จันได ท่านได้ให้แนวทางการใช้ชีวิตต่อไปในอนาคต จะเป็นอย่างไร การกิน การอยู่ วิถีการใช้ชีวิตที่ทรัพยากรหลายอย่างเริ่มร่อยหรอลง การทำงานเพื่อเงินที่มากเกินไปเป็นวิกฤตที่น่าเป็นห่วง การเป็นเช่นนี้ทำให้สิ่งเหล่านี้ค่อยๆออกจากตัวคนได้แก่ ความรัก อิสรภาพ ความสุข ดังนั้นการอยู่แบบเศรษฐกิจพอเพียง การอยู่บนพื้นฐานของปัจจัย 4 นับว่ามีความสำคัญ เศรษฐกิจพอเพียงไม่ได้ปฏิเสธความร่ำรวย แต่ชีวิตจะต้องมีความมั่นคง มีรากฐานที่แน่นแล้วค่อยสร้างความร่ำรวย ซึ่งมีคำนึงที่ข้าพเจ้าชอบมากคือ “เงินเป็นสิ่งที่ไม่มีความมั่นคง ความมั่นคงที่แท้จริงคือ การมีทรัพยากรธรรมชาติอย่างครบถ้วน” ความพอเพียง จึงคือหนทางสุดท้ายที่เรียบง่ายที่สุด

          เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2564 ข้าพเจ้าพร้อมทีมนักศึกษาได้ลงพื้นที่ ณ บ้านหนองยายพิมพ์ ต.หนองยายพิมพ์ อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ เพื่อเก็บข้อมูลตามแอพพลิเคชั่น U2T โดยกลุ่มนักศึกษาได้รับมอบหมายจากอาจารย์ประจำหลักสูตรให้เก็บข้อมูลดังนี้ ที่พัก/โรงแรม อาหารที่น่าสนใจ แหล่งน้ำในท้องถิ่น และเกษตรกรในท้องถิ่น หมู่ 1 ซึ่งข้าพเจ้าได้แบ่งหน้าที่กันโดยข้าพเจ้าได้รับมอบหมายให้เก็บข้อมูลเกษตรกรในท้องถิ่น หมู่ 1 โดยข้าพเจ้าได้เก็บข้อมูลและกรอกลงระบบในแอพพลิเคชั่น U2T แต่เนื่องด้วยสถานการณ์ COVID-19 ในปัจจุบันทำให้มีการเก็บข้อมูลได้ล่าช้าและยังมีชาวบ้านบางคนมีความวิตกกังวลในการที่ข้าพเจ้าและทีมงานลงพื้นที่เก็บข้อมูลอยู่บ้าง แต่ข้าพเจ้าและทีมงานนักศึกษาจะรีบดำเนินการเก็บข้อมูลตามคำสั่งของอาจารย์ประจำหลักสูตรทันที

 

อื่นๆ

เมนู