ข้าพเจ้านางสาวอุทัยทิพย์ บุญญาคุณานนต์ เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน กลุ่มประชาชน ต.หนองยายพิมพ์ อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ หลักสูตร : การส่งเสริมและพัฒนาการผลิตปุ๋ยชีวภาพอัดเม็ด HS01 ข้าพเจ้าขอนำเสนอการปฏิบัติงานประจําเดือนพฤษภาคม – มิถุนายน 2564 ดังต่อไปนี้

วันอาทิตย์ที่ 23 พฤษภาคม 2564 ผู้ปฏิบัติงานกลุ่มประชาชน กลุ่มบัณฑิตจบใหม่ ตำบลหนองยายพิมพ์ และตำบลหนองกง ได้รับมอบหมายจากอาจารย์ประจำหลักสูตร ทำการขุดหลุมเพื่อเตรียมการปลูกป่า ณ โรงเรียนบ้านหนองยายพิมพ์ ตำบลหนองยายพิมพ์ อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ ในโครงการรวมใจปลูกต้นไม้ปลูกธรรมะวันวิสาขบูชา 2564 เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในวันที่ 26 พฤษภาคม 2564

วันพุธที่ 26 พฤษภาคม 2564 ผู้ปฏิบัติงานกลุ่มนักศึกษา ตำบลหนองยายพิมพ์และตำบลหนองกง เข้าร่วมกิจกรรมปลูกป่าสร้างคุณค่าสู่แผ่นดิน ณ โรงเรียนบ้านหนองยายพิมพ์ ตำบลหนองยายพิมพ์ อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ ภายใต้ “โครงการรวมใจปลูกต้นไม้ปลูกธรรมะวันวิสาขบูชา 2564 เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว” โดยการร่วมมือของกลุ่มรักษ์นางรองสีเขียวยั่งยืน องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้บริหารการปกครองท้องที่ และศูนย์ประสานชุมชนสัมพันธ์ HUSOC มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์

ทั้งนี้ร่วมฟังการเสวนาลั่นทุ่งสนั่นทั่วสามหนอง โดยเครือข่ายปราชญ์บุรีรัมย์และส่วนราชการ

พิธีเปิดการเสวนาปลูกป่าชุมชนโดย : นางสาวเพชรรัตน์ ภูมาศ นายอำเภอนางรอง

ผู้ร่วมเสวนา :
พระครูวิสุทธิ์พัฒนาภิรมย
พ่อคําเดื่อง ภาษี
ดร.พิสมัย ประชานันท์
นายกฯเกรียงศักดิ์ แผ้วพลสง
กำนันเดช สวัสดิ์พูน
อาจารย์ไพรัช ชื่นศรี
คุณคำนึง เจริญศิริ
ช้างดำอินดี้
นายณรงค์ฤทธิ์ เสนาสังข์
ดำเนินการเสวนาโดย : คุณมนัญญา ม่วงสมมุธ

ถ่ายทอดสดผ่านช่อง HUSOC-BRU CHANNEL

วันเสาร์ที่ 29 พฤษภาคม 2564 ผู้ปฏิบัติงานตำบลหนองยายพิมพ์และตำบลหนองกง เข้าร่วมอบรมการแปรรูปปุ๋ยอินทรีย์อัดเม็ด ณ โรงปุ๋ยบ้านหนองยายพิมพ์หมู่ 1 วิทยากรบรรยายและสาธิตการแปรรูปปุ๋ยอินทรีย์อัดเม็ดโดย นางสาวฉะไมพร แผ้วพลสง ผู้ใหญ่บ้านหนองยายพิมพ์
โดยมีการแบ่งกลุ่มให้ผู้ปฏิบัติงานชมการสาธิตขั้นตอนการแปรรูปปุ๋ยอินทรีย์อัดเม็ด จากนั้นให้ลงมือแปรรูปปุ๋ยอินทรีย์อัดเม็ดด้วยตนเอง

ขั้นตอนการผลิตปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูง ตามสูตรของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)

ขั้นตอนที่ 1 : ขั้นตอนการหมักปุ๋ยอินทรีย์
เตรียมวัตถุดิบ
1.มูลสัตว์ อัตราส่วน 1000 กิโลกรัม
มูลสัตว์ทุกชนิดเป็นสารอินทรีย์ที่เหมาะกับการหมักปุ๋ยอินทรีย์ เพราะใช้ระยะเวลาในการย่อยสลายน้อย และมีอินทรีย์วัตถุจำนวนมาก
2.ปุ๋ยยูเรีย อัตราส่วน 2 กิโลกรัม/ตัน
การใส่ปุ๋ยยูเรียเพื่อใช้เป็นอาหารให้จุลินทรีย์ย่อยสลายสารอินทรีย์จนกลายเป็นปุ๋ย
3.หินฟอสเฟต อัตราส่วน 25 กิโลกรัม/ตัน
ช่วยในการปรับสภาพดินให้มีค่าความเป็นกรดและความเป็นด่าง อยู่ในอัตราที่เหมาะสม

วิธีการหมักปุ๋ย
1.ผสมคลุกเคล้าวัสดุทั้งหมดให้เข้ากันพร้อมรดน้ำให้ทั่วกองปุ๋ยจนกระทั่งเข้ากัน
ขณะที่ทำการผสมให้เติมน้ำให้มีความชื้นประมาณ 50% (หรืออาจผสมน้ำสกัดชีวภาพในอัตรา 1:500 ใช้เป็นหัวเชื้อจุลินทรีย์เร่งกระบวนการย่อยสลายอินทรีย์ให้เร็วขึ้น และช่วยลดกลิ่นเหม็นที่เกิดจากกระบวนการหมัก) ปริมาณความชื้นดังกล่าวสามารถวัดได้โดยการนำมูลสัตว์ที่ผสมกันเรียบร้อยแล้ว นำมากำด้วยมือ ถ้าปล่อยมือออกมูลสัตว์ยังคงรูปได้ แสดงว่าปุ๋ยมีความชื้นพอเหมาะ แต่ถ้ากำแล้วปล่อยก้อนมูลสัตว์แตกเป็นก้อนเล็กๆแสดงว่าปริมาณน้ำยังไม่พอ ต้องเพิ่มน้ำอีก
2.ตักปุ๋ยขึ้นกองให้มีความสูงพอเหมาะ จากนั้นคลุมด้วยพลาสติกหรือผ้าใบให้สนิท เพื่อป้องกันลมและฝนชะกองปุ๋ย

การกลับกองปุ๋ย
ปุ๋ยที่หมักไว้จะเกิดความร้อนเนื่องจากเป็นกระบวนการที่จุลินทรีย์ทำหน้าที่ย่อยสลายสารอินทรีย์ในกองปุ๋ย ความร้อนนี้จะช่วยในการกำจัดเมล็ดวัชพืช เชื้อโรค และไข่พยาธิที่ติดมากับวัตถุดิบ แต่เพื่อไม่ให้ความร้อนสูงจนเกินไป จึงต้องมีการกลับกองเพื่อลดความร้อนลง ดังนี้
กลับกองปุ๋ยครั้งที่ 1 เมื่อหมักปุ๋ยได้ 3 วัน
กลับกองปุ๋ยครั้งที่ 2 เมื่อหมักปุ๋ยได้ 10 วัน
กลับกองปุ๋ยครั้งที่ 3 เมื่อหมักปุ๋ยได้ 17 วัน
กลับกองปุ๋ยครั้งที่ 4 เพื่อหมักปุ๋ยได้ 24 วัน

ขั้นตอนที่ 2: ขั้นตอนการผสมปุ๋ยสูตร
วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต
1. ปุ๋ยอินทรีย์
2. แม่ปุ๋ยเคมี
2.1 แม่ปุ๋ยเคมีสูตร 46-0-0
2.2 แม่ปุ๋ยเคมีสูตร 18-46-0
2.3 แม่ปุ๋ยเคมีสูตร 0-0-60
2.4 ดินเหนียวบดละเอียด

วิธีการผสมปุ๋ยสูตร ทำได้ 2 วิธีคือ
1. วิธีการผสมปุ๋ยแบบคลุกเคล้า
วิธีการนี้ทำได้โดยการนำปุ๋ยอินทรีย์ที่หมักเรียบร้อยแล้วมาทำการอัดเม็ดแล้วนำปุ๋ยอินทรีย์ที่อัดเม็ดไปตากแดดให้แห้ง จากนั้นทำการชั่งปุ๋ยอินทรีย์และแม่ปุ๋ยเคมีแต่ละชนิดตามที่กำหนดไว้ มาผสมคลุกเคล้าให้เข้ากันแล้วบรรจุในกระสอบซึ่งมีถุงพลาสติกอยู่ชั้นในเพื่อป้องกันไม่ให้ปุ๋ยชื้น วิธีการนี้เป็นวิธีที่ง่าย สะดวก โดยที่เกษตรกรไม่ต้องจัดเก็บแม่ปุ๋ยเคมีไว้ เมื่อต้องการจะใช้ปุ๋ยก็เพียงแต่นำปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยเคมีมาผสมกันตามสูตร แล้วนำไปใช้ได้เลย แต่วิธีนี้ก็มีข้อควรระวังคือ การหาซื้อแม่ปุ๋ยเคมีที่มีขนาดใกล้เคียงกันเพื่อป้องกันการแยกตัวของปุ๋ยแต่ละชนิด ส่วนข้อดีของวิธีนี้คือ ทำได้ง่ายและมีการสูญเสียปุ๋ยน้อยในกระบวนการผลิต

2.วิธีการผสมปุ๋ยแบบผสม
วิธีการนี้ทำได้โดยนำแม่ปุ๋ยเคมีมาบดให้ละเอียดด้วยเครื่องบด จากนั้นจึงนำแม่ปุ๋ยที่บดแล้วมาผสมกับดินเหนียวบดละเอียดและปุ๋ยอินทรีย์หมักผสมคลุกเคล้ากันด้วยเครื่องผสมปุ๋ย เติมน้ำให้ปุ๋ยมีความชื้นที่พอเหมาะ นำปุ๋ยไปอัดเม็ดด้วยเครื่องอัดเม็ดปุ๋ย ถ้ายังไม่สามารถอัดเม็ดได้อาจต้องเติมน้ำลงไปอีกเล็กน้อยหรือเติมดินเหนียว หลังจากอัดเม็ดปุ๋ยแล้วให้นำปุ๋ยที่ได้ไปทำการตากแดดสัก 1-2 แดด ปุ๋ยจะแห้ง นำไปบรรจุใส่กระสอบปุ๋ย เย็บปากกระสอบให้เรียบร้อย นำปุ๋ยไปเก็บไว้ในโรงเรือนเก็บผลิตภัณฑ์

ภาคบ่ายของวันที่ 29 พฤษภาคม 2564 มีการประชุมมอบหมายงานและสรุปงานจากอาจารย์ประจำหลักสูตร ณ ศาลาประชาคมบ้านหนองยายพิมพ์ มอบหมายให้ผู้ปฏิบัติงานแต่ละกลุ่ม (กลุ่มประชาชน กลุ่มบัณฑิตจบใหม่ และกลุ่มนักศึกษา) ร่วมรณรงค์ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด 19 โดยการถือป้ายรณรงค์ ติดสติ๊กเกอร์รณรงค์ฉีดวัคซีนตามบ้าน และแจกหน้ากากอนามัยพร้อมทั้งเจลแอลกอฮอล์ให้แก่ชาวบ้านในตำบลหนองยายพิมพ์

“U2T COVID-19 WEEK ก้าวต่อไปสู้ภัยโควิด”
“รุกคลีนพื้นที่ เคลียร์เชื้อร้ายสร้างความปลอดภัยในชุมชน”
“รวมพลังวัคซีน หยุดเชื้อเพื่อชาติ ลดการระบาดโควิด”

อื่นๆ

เมนู