ข้าพเจ้านางสาวกมลชนก จงชิดกลาง ผู้ปฏิบัติงานโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย ประเภทบัณฑิตจบใหม่ ตำบลบ้านสิงห์
รับผิดชอบในเขตพื้นที่ บ้านสิงห์ หมู่ 3 ตำบลบ้านสิงห์ อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ ได้ลงพื้นที่ ประจำเดือนกันยายนจนถึงเดือนตุลาคม สำรวจข้อมูลระดับบุคคล ครัวเรือน และชุมชน เพื่อติดตามความคืบหน้าเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าหรือโควิด 19
วันที่ 28 กันยายน 2564 ข้าพเจ้าได้รับมอบหมายให้สำรวจข้อมูลในส่วนของโรงเรียนและที่พักอาศัย
จากการสำรวจข้อมูลโรงเรียนพบว่า เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า หรือโควิด 19 ยังมีการแพร่ระบาดอย่างรุนแรง ส่งผลให้ทางโรงเรียนมีการจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ เพื่อลดการแออัดในห้องเรียน ซึ่งอาจจะนำไปสู่การระบาดของไวรัสที่อาจจะเกิดขึ้นได้ อีกทั้งโรงเรียนยังมีมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดโดยมีการเตรียมสถานที่สำหรับชำระล้างเชื้อโรค เช่นอ่างล้างมือสำหรับนักเรียนก่อนเข้าไปยังอาคารเรียน มีการจัดที่นั่งพักแบบเว้นระยะห่าง มีการติดป้ายแนะนำการปฏิบัติเพื่อสุขอนามัยที่ดี และมีการคัดกรองสำหรับนักเรียน ครู หรือผู้เข้ามาติดต่อก่อนเข้าโรงเรียน
จากการสำรวจข้อมูลที่พักอาศัยพบว่า ประชากรในชุมชนส่วนใหญ่มีการดูแลและป้องกันตนเองจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า หรือ โควิด 19 ดังนี้
1. มีการประเมินตนเองและบุคคลที่อาศัยอยู่ในครัวเรือนว่า เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อหรือหากติดเชื้อแล้วจะมีอาการรุนแรงหรือไม่ ในการทำงานหรือการใช้ชีวิตประจำวันมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อหรือไม่ และตนเองหรือบุคคลในครัวเรือนมีการเดินทางกลับจากพื้นที่เสี่ยงหรือพื้นที่ระบาดหรือไม่
2. มีการสังเกตอาการของตนเองและบุคคลที่อาศัยอยู่ร่วมกันหากพบว่ามีไข้ร่วมกับไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส หายใจเร็วหายใจเหนื่อยหรือหายใจลำบากอย่างใดอย่างหนึ่งและอาจมีอาการท้องเสียร่วมด้วยให้รีบไปพบแพทย์ทันที
3. มีการดูแลสุขอนามัยด้วยการล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำและสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์โดยเฉพาะก่อนเตรียมปรุงอาหาร ก่อนรับประทานอาหาร หลังเข้าห้องน้ำ หลังหยิบจับสิ่งสกปรก หลังเยี่ยมผู้ป่วยในสถานพยาบาล หลังสัมผัสหรือเล่นกับสัตว์เลี้ยงและหลังกลับจากนอกบ้าน
4. มีการรับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่และใช้ช้อนส่วนตัว
5. ไม่ใช้สิ่งของเครื่องใช้ส่วนตัวร่วมกันเช่นผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว ช้อน แก้วน้ำ หลอดดูดน้ำ เป็นต้น
วันที่ 2 ตุลาคม 2564 อาจารย์ประจำหลักสูตรได้นัดหมายประชุมแผนการปฏิบัติงานประจำเดือนตุลาคม ผ่านทาง Google meet
และได้แนะนำผู้ปฏิบัติงานกลุ่มนักศึกษา กลุ่มบัณฑิตจบใหม่ และกลุ่มประชาชนที่พึ่งเข้าใหม่แก่สมาชิก และได้ชี้แจงลักษณะงาน การลงเวลาเข้า-ออก การเขียนบทความ การเขียนรายงาน ตลอดจนแนวทางปฏิบัติงานแก่ผู้ปฏิบัติงานรายใหม่ให้รับทราบ
วันที่ 5 ตุลาคม 2564 อาจารย์ประจำหลักสูตรได้นัดหมายประชุมแผนการปฏิบัติงานประจำเดือนตุลาคมเพิ่มเติม เพื่อนัดหมายการลงพื้นที่จัดอบรมการทำผลิตภัณฑ์ป้องกันตนเองจากสมุนไพรให้แก่ชาวบ้าน
ผ่านทาง Google meet เพื่อมอบหมายงานให้ผู้ปฏิบัติงานรับผิดชอบดังนี้
1. กลุ่มนักศึกษา รับผิดชอบจัดเตรียมอุปกรณ์ที่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ซึ่งวัตถุดิบที่ต้องจัดเตรียม คือ 1) มะกรูด 5 กิโลกรัม 2) ตะไคร้ 5 กิโลกรัม 3) ขมิ้นชัน 5 กิโลกรัม 4) ไพลสด 5 กิโลกรัม
2. กลุ่มบัณฑิตจบใหม่ รับผิดชอบจัดเตรียมสถานที่ในการจัดอบรมกิจกรรมดังกล่าว จัดเตรียมเก้าอี้สำหรับผู้เข้าอบรม จัดเตรียมอุปกรณ์เครื่องเสียง ไมค์ และลำโพง จัดเตรียมกาแฟ น้ำดื่ม ขนมบ้าบิ่น และขนมกล้วยฉาบสำหรับช่วงพัก ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ของแม่มาลีและแม่อารมณ์
วันที่ 15 ตุลาคม 2564 ลงพื้นที่จัดอบรมกิจกรรมการทำผลิตภัณฑ์ป้องกันตนเองจากสมุนไพร ณ ศาลาประชาคม บ้านหนองบัวราย ตำบลบ้านสิงห์ อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์
ในครั้งนี้ ผู้ปฏิบัติงานได้เชิญตัวแทนหมู่บ้านๆ ละ 2 ท่าน เพื่อเข้าร่วมกิจกรรม ผลิตภัณฑ์ที่ได้จัดอบรมมีดังนี้
1. น้ำมันเหลือง
2. ยาหม่องไพล
3. สเปรย์กันยุง
ซึ่งวิทยากรในกิจกรรมนี้ ได้รับเกียรติจาก ดร.สุกัญญา ทองขัน และ ดร. สุภาวรัตน์ ทัพสุริย์ อาจารย์จากสาขาวิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์
1. น้ำมันเหลือง
ส่วนประกอบ : เมนทอล 120 กรัม การบูร 80 กรัม พิมเสน 40 กรัม และน้ำมันไพล 200 กรัม
วิธีทำ : ผสมเมนทอล การบูร และพิมเสน ลงในบีกเกอร์ ใช้ไม้พายคนให้ละลาย (ถ้าละลายไม่หมดสามารถเพิ่มเมนทอลลงไปทีละน้อย) แล้วจึงเติมน้ำมันไพล คนให้ส่วนผสมทุกอย่างละลายเข้ากัน และเทลงขวดบรรจุเพื่อนำไปใช้งาน
2. ยาหม่องไพล
ส่วนประกอบ : วาสลิน 120 กรัม พาราฟิน 80 กรัม น้ำมันไพล 60 กรัม พิมเสน 20 กรัม เมนทอล 20 กรัม การบูร 20 กรัม น้ำมันยูคาลิปตัส 30 มิลลิลิตร และน้ำมันระกำ 100 มิลลิลิตร
วิธีทำ : 1) ชั่งพาราฟินและวาสลินลงภาชนะ แล้วนำมาให้ความร้อนจนเริ่มละลาย 2) ผสมเมนทอล การบูร พิมเสน น้ำมันระกำ น้ำมันยูคาลิปตัส และน้ำมันสมุนไพร คนจนละลายเป็นเนื้อเดียวกัน 3) เมื่อพาราฟินและวาสลินใสจนเป็นเนื้อเดียวกันให้เติมของผสมระหว่างเมนทอล การบูรพิมเสน น้ำมันระกำ และน้ำมันยูคาลิปตัส แล้วคนให้เป็นเนื้อเดียวกัน 4) เทสารละลายที่ได้ใส่ภาชนะที่บรรจุยาหม่องตั้งทิ้งไว้จนยาหม่องแข็งตัว
หมายเหตุ : 1) ไม่ควรใช้ความร้อนที่สูงเกินไป จะทำให้กลิ่นระเหยหมดได้ 2) การให้ความร้อนที่มีเปลวไฟ ให้ทำการตุ๋นในน้ำร้อนเพื่อป้องกันการเกิดไฟลุกไหม้ 3) สามารถปรับเพิ่มได้ตามอัตราส่วน เมื่อต้องการยาหม่องในปริมาณที่มากขึ้น
3. สเปรย์กันยุง
ส่วนประกอบ : เอทิลแอลกอฮอล์ 1 ลิตร ตะไคร้หอมหั่นฝอย 100 กรัม ผิวมะกรูด 50 กรัม การบูร 50 กรัม
วิธีทำ : 1) นำตะไคร้หอมและเปลือกมะกรูดหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ นำมาห่อด้วยผ้าขาวบาง 2) แช่มะกรูดและตะไคร้ในเอทิลแอลกอฮอล์ เติมการบูร 50 กรัม ปิดฝาหมักทิ้งไว้ 1 สัปดาห์ *เขย่าทุกวัน* 3) บรรจุใส่ขวดพร้อมนำไปใช้งาน
เกร็ดความรู้
1. การบูรมีลักษณะเป็นเกร็ดสีขาวออกฤทธิ์ร้อนสรรพคุณช่วยบรรเทาโรคตาแดง ขับเสมหะ ขับลม
2. เมนทอลมีลักษณะเป็นผลึกสีขาวมีกลิ่นหอมบรรเทาอาการหวัดคัดจมูก แก้ไอ แก้ไข้ ลดการอักเสบในลำคอ บรรเทาอาการปวดศีรษะ
3. พิมเสนมีลักษณะเป็นเกร็ดสีขาวขุ่นมีกลิ่นหอมใช้สูดดมแก้วิงเวียนศีรษะ ใช้ทาแก้ปวดเมื่อย แก้เคล็ดขัดยอก
4. วาสสลีนใช้เป็นส่วนผสมเพื่อทำให้เกิดความลื่นมันและสะดวกในการทานวด
5. น้ำมันระกำเป็นน้ำมันใสมีกลิ่นหอมมีสรรพคุณแก้ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ แก้เคล็ดขัดยอก
7. น้ำมันยูคาลิปตัสสรรพคุณแก้หวัดคัดจมูก ขับเสมหะ ขับลม แก้โรคหอบหืด