ข้าพเจ้านางสาวพัชรียา ลามั่น ประเภทนักศึกษา
หลักสูตร: การส่งเสริมและพัฒนาการทำขนมไทย
ตามโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ 1 มหาลัย 1 ตำบล
(มหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ)
โดยมีการปฏิบัติงานประจำเดือนตุลาคม พ.ศ.2564 ดังนี้
ประชุมออนไลน์การปฏิบัติงานประจำเดือนตุลาคม
วันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2564 ได้เข้าร่วมประชุมออนไลน์ผ่านทาง Google Meet จากการการประชุมมีการแนะนำผู้ร่วมงานคนใหม่ และได้มีการแบ่งพื้นที่เขตรับผิดชอบในการลงพื้นที่ปฏิบัติงานสำรวจข้อมูลชุมชน และมอบหมายการลงพื้นที่ปฏิบัติงานเพื่อสำรวจข้อมูลจัดเก็บข้อมูลประจำเดือนตุลาคม ดังนี้
1. การเก็บข้อมูลกลุ่มที่พักอาศัย
- กลุ่มบัณฑิตจบใหม่ เก็บข้อมูลที่พักอาศัยจำนวน 50 หลังคาเรือน
- กลุ่มประชาชน เก็บข้อมูลที่พักอาศัยจำนวน 30 หลังคาเรือน
- กลุ่มนักศึกษา เก็บข้อมูลที่พักอาศัยจำนวน 20 หลังคาเรือน
2. การเก็บข้อมูลกลุ่มศาสนสถาน : กลุ่มประชาชนเป็นผู้รับผิดชอบ
3. การเก็บข้อมูลกลุ่มโรงเรียนและตลาด : กลุ่มบัณฑิตจบใหม่เป็นผู้รับผิดชอบ
การประชุมวางแผนกิจกรรมอบรมการจัดทำอุปกรณ์ป้องกันตนเองและการเก็บข้อมูลแบบสอบถาม U2T-SROI
วันอังคารที่ 5 ตุลาคม 2564 เวลา 16.00 นาฬิกา อาจารย์ประจำหลักสูตรได้นัดหมายประชุมผ่าน Google meet โดยมีวางแผนการจัดกิจกรรมการอบรมการจัดทำอุปกรณ์ป้องทำกันตนเองมีการสาธิตการน้ำมันเหลือง ยาหม่อง สเปร์ยสมุนไพรป้องกันยุง โดยแบ่งให้นักศึกษารับผิดชอบในการเตรียมสาร สมุนไพรต่าง ๆ ส่วนบัณฑิตจบใหม่และประชาชนจัดเตรียมสถานที่ในการจัดกิจกรรมการอบรม และการชี้แจงรายละเอียดการเก็บข้อมูลแบบสอบถาม U2T-SORI (Social Return On Investment) ซึ่งเป็นการเก็บข้อมูลการประเมินศักยภาพและผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม โดยมีกลุ่มเป้าหมาย ดังนี้
- ตำบลเป้าหมาย
- ลูกจ้างโครงการ
- ครอบครัวลูกจ้าง
- ชุมชนภายใน
- ชุมชนภายนอก
- อาจารย์ผู้ดูแลโครงการ
- เจ้าหน้าที่โครงการ (USI)
- ผู้แทนตําบล
- หน่วยงานภาครัฐ
- อปท.
- เอกชนในพื้นที่
การจัดเตรียมสมุนไพร
ในวันที่ 8 9 และ 14 ตุลาคม 2564 กลุ่มนักศึกษาได้รับมอบหมายให้เตรียมสมุนไพรเพื่อใช้ทำผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรในการจัดกิจกรรมอบรม ในวันที่ 15 ตุลาคม 2564 ซึ่งสมุนไพรที่จัดเตรียม ได้แก่ ผิวมะกรูดและตะไคร้หอมหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ หมักเป็นเวลา 1 สัปดาห์ และนำไพลและขมิ้นมาปอกเปลือกหั่นเป็นชิ้นบาง ๆ
กิจกรรมอบรมการจัดทำอุปกรณ์ป้องกันตนเอง
ในวันที่ 15 ตุลาคม 2564 ได้จัดกิจกรรมการกิจกรรมอบรมการจัดทำอุปกรณ์ป้องกันตนเองจากสมุนไพร ณ ศาลาประชาคมบ้านหนองบัวลาย มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมการอบรม ได้แก่ ตัวแทนแต่ละหมู่บ้านจำนวน 2 คน กลุ่มนักศึกษา บัณฑิตจบใหม่และประชาชน โดยมีวิทยากรที่บรรยายการอบรม คือ ดร.สุกัญญา ทองขัน และดร.สุภาวรัตน์ ทัพสุริย์ อาจารย์จากสาขาวิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ซึ่งในการอบรมครั้งนี้จะเป็นการสาธิตการทำผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร เช่น สเปรย์กันยุงสมุนไพร น้ำมันเหลือง และยาหม่องไพล
สเปรย์กันยุงสมุนไพร
ส่วนประกอบ
- เอทิลแอลกอฮอล์ 1 ลิตร
- ตะไคร้หอมหั่นฝอย 100 กรัม
- ผิวมะกูด 50 กรัม
- การบูร 50 กรัม
วิธีทำ
1. นำตะไคร้หอมและเปลือกมะกูดหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ นำมาห่อด้วยผ้าขาวบาง
2. แช่มะกรูดและตะไคร้ในเอทิลแอลกอฮอล์ เติมการบูร 50 กรัม ปิดฝาหมักทิ้งไว้ 1 สัปดาห์ (เขย่าทุกวัน)
3. กรอกใส่ขวดพร้อมนำใช้งาน
น้ำมันเหลือง
การเตรียมน้ำมันไพล
ส่วนประกอบ
- ไพล 200 กรัม
- ขมิ้น 50 กรัม
- น้ำมันมะพร้าวหรือน้ำมันปาล์ม 100 กรัม
วิธีทำ
นำไพลและขมิ้นที่แก่จัด มาปลอกเปลือกไพลและขมิ้นหั่นเป็นชิ้นบาง (คล้ายกับการทำกล้วยฉาบ) จากนั้นนำไปทอดในน้ำมันมะพร้าวหรือน้ำมันปาล์ม โดยใช้ไฟกลาง จนกระทั่งไพลและขมิ้นกรอบเหลือง (ระวังอย่าให้ไหม้) กรองเอาน้ำมันจะได้น้ำมันไพล (จะได้ประมาณ 70-80 มิลลิลิตร)
ส่วนประกอบของน้ำมันเหลือง
- เมนทอล 120 กรัม
- การบูร 80 กรัม
- พิมเสน 40 กรัม
- น้ำมันไพล 200 มิลลิลิตร
วิธีทำ
ผสมเมนทอล การบูร และพิมเสน คนให้ละลาย (ถ้าละลายไม่หมดสามารถเพิ่มเมนทอลลงไปทีละน้อย) แล้วจึงเติมน้ำมันไพล และเทลงขวดเพื่อนำไปใช้งาน
ยาหม่องไพล
ส่วนประกอบ
- วาสลิน 120 กรัม
- พาราฟิน 80 กรัม
- น้ำมันไพล 60 มิลลิลิตร
- พิมเสน 20 กรัม
- เมนทอล 20 กรัม
- การบูร 20 กรัม
- น้ำมันยูคาลิปตัส 30 มิลลิลิตร
- น้ำมันระกำ 100 มิลลิลิตร
วิธีทำ
1. ชั่งตวงพาราฟินและวาสลินภาชนะ แล้วนำมาให้ความร้อน จะสังเกตเห็นว่าพาราฟินและวาสลินจะเริ่มละลาย (เปลี่ยนเป็นสีใส)
2. ผสมเมนทอล การบูร พิมเสน น้ำมันระกำ น้ำมันยูคาลิปตัส และน้ำมันไพล คนจนสารละลายเป็นเนื้อเดียวกัน
3. เมื่อพาราฟินและวาสลินใสจนเป็นเนื้อเดียวกันให้เติมของผสมระหว่างเมนทอล การบูร พิมเสน น้ำมันระกำ และน้ำมันยูคาลิปตัส จากข้อ 2) แล้วคนให้เป็นเนื้อเดียวกัน
4. เทสารละลายที่ได้ใส่ภาชนะที่บรรจุยาหม่อง ตั้งทิ้งไว้จนยาหม่องแข็งตัว
หมายเหตุ
1. ไม่ควรใช้ความร้อนที่สูงเกิน จะทำให้กลิ่นระเหยหมดและอาจทำให้เกิดไฟลุกไหม้ได้
2. การให้ความร้อนที่มีเปลวไฟ ให้ทำการตุ๋นในน้ำร้อนเพื่อป้องกันการเกิดไฟลุกไหม้
3. สามารถปรับเพิ่มได้ตามอัตราส่วน เมื่อต้องการยาหม่องในปริมาณที่มากขึ้น
เกร็ดความรู้
- การบูร มีลักษณะเป็นเกล็ดสีขาว ออกฤทธิ์ร้อน สรรพคุณช่วยบรรเทาโรคตาแดง ขับเสมหะ ขับลม
- เมนทอล มีลักษณะเป็นผลึกสีขาว มีกลิ่นหอม บรรเทาอาการหวัด คัดจมูก แก้ไข้ แก้ไอ ลดการอักเสบในลำคอ บรรเทาอาการปวดศีรษะ
- พิมเสน มีลักษณะเป็นเกล็ดสีขาวขุ่น มีกลิ่นหอม ใช้สูดดม แก้วิงเวียนศีรษะ ใช้ทาแก้ปวดเมื่อยแก้เคล็ดขัดยอก
- พาราฟิน ใช้เป็นส่วนผสมเพื่อทำให้น้ำมันแข็งตัว
- วาสลิน ใช้เป็นส่วนผสมเพื่อทำให้เกิดความลื่นมัน แสะดวกในการทานวด
- น้ำมันระกำ เป็นน้ำมันใส มีกลิ่นหอม มีสรรพคุณแก้ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ แก้เคล็ดขัดยอก
- น้ำมันยูคาลิปตัส สรรพคุณแก้หวัดคัดจมูก ขับเสมหะ ขับลม แก้โรคหอบหืด
การเก็บข้อมูลแบบสอบถาม U2T-SORI (Social Return On Investment)
ในการจัดเก็บข้อมูลแบบสอบถามโครงการการติดตามประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมโครงการ แบบสอบถามนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ในการวิเคราะห์และประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมของการดำเนินกิจกรรม ภายใต้โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ (U2T) โดยในการปฏิบัติหน้าที่ลูกจ้างโครงการครั้งนี้ ซึ่งดิฉันได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบกลุ่มเป้าหมายลูกจ้างโครงการ
การสำรวจข้อมูลแบบสอบถามสำหรับที่พักอาศัยประจำเดือนตุลาคม
จากการเก็บแบบสำรวจข้อมูลสำหรับที่พักอาศัยประจำเดือนตุลาคมสรุปได้ดังนี้
- การประเมินตนเองเเละบุคคลที่อาศัยอยู่ในครัวเรือน
จากการสำรวจพบว่า ชาวบ้านในชุมชนมีการประเมินอาการตนเองอยู่สม่ำเสมอ หากพบว่ามีความเสี่ยงสูงก็จะรีบไปพบเเพทย์ เพื่อทำการตรวจสอบอาการของตนเอง มีการป้องกันตนเองในการใช้ชีวิตประจำวันคือ การสวมใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์เเละเว้นระยะห่าง 2 เมตรในการทำกิจกรรมต่าง ๆ หากมีญาติกลับมาจากพื้นที่เสี่ยงก็ส่งตัวไปกักตัวทันที เพื่อป้องกันการเเพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19- การสังเกตอาการเเละบุคคลที่อาศัยอยู่ในครัวเรือน
จากการสำรวจพบว่า ชาวบ้านในชุมชนมีการสังเกตุอาการของตนเองเเละอาการบุคคลที่อาศัยอยู่ร่วมกันอย่างสม่ำเสมอ หากพบว่ามีอาการไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส หายใจเร็ว หายใจเหนื่อย หรือหายใจลำบากอย่างใดอย่างหนึ่ง และอาจมีอาการท้องเสียร่วมด้วย ชาวบ้านในชุมชนจะรีบไปพบเเพทย์ทันที- การดูเเลสุขอนามัยตนเองเเละบุคคลที่อาศัยอยู่ในครัวเรือน
จาการสำรวจพบว่า ชาวบ้านในชุมชนมีการดูเเลสุขอนามัยด้วยการล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำเเละสบู่ หรือเจลเเอลกอฮอลล์ โดยเฉพาะก่อนเตรียมปรุงอาหาร ก่อนรับประธานอาหาร หลังเข้าห้องน้ำ หลังหยิบจับสิ่งสกปรก หลังเยี่ยมผู้ป่วยในสถานพยาบาล หลังสัมผัสหรือเล่นกับสัตว์เลี้ยง เเละหลังกลับมาจากนอกบ้านอย่างสม่ำเสมอ- การรับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่เเละใช้ช้อนส่วนตัว
จาการสำรวจพบว่า ชาวบ้านในชุมชนมีการหลีกเลี่ยงอาหารที่ไม่ได้ปรุงสุก เเละมีการใช้ช้อนส่วนตัวหรือช้อนกลางในการรับประธานอาหาร เพื่อป้องกันการเเพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19- ไม่ใช้สิ่งของเครื่องใช้ส่วนตัวร่วมกัน
จาการสำรวจพบว่า ชาวบ้านในชุมชนมีการระมัดระวังในการใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่นเช่น ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว ช้อน เเก้วน้ำ หลอดดูดน้ำ เพื่อป้องกันการเเพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19- ทำความสะอาดตนเองหลังกลับจากการทำภารกิจหรือกิจกกรรมนอกบ้าน
จาการสำรวจพบว่า ชาวบ้านในชุมชนมีการล้างมือ ชำระร่างกาย เปลี่ยนเครื่องเเต่งกายทันที เมื่อกลับจากการทำภารกิจข้างนอกหรือกิจกรรมนอกบ้าน เพื่อป้องกันการเเพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19
สรุปการปฏิบัติงานเดือนตุลาคม
จากการดำเนินการปฏิบัติงานประจำเดือนตุลาคม กลุ่มผู้ปฏิบัติงานตำบลบ้านสิงห์ได้เข้าร่วมการอบรมการจัดทำอุปกรณ์ป้องกันตนเองโดยได้เรียนรู้การทำสเปรย์กันยุงสมุนไพร น้ำมันเหลือง และยาหม่องไพล รวมทั้งการจัดเก็บข้อมูลแบบสอบถามโครงการการติดตามประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมโครงการ แบบสอบถามนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ในการวิเคราะห์และประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมของการดำเนินกิจกรรม ภายใต้โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ (U2T) และเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ยังมีการระบาดอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้เป็นอุปสรรคในการลงพื้นที่เก็บข้อมูล เพราะต้องมีการระมัดระวังในการลงพื้นที่เข้มงวดมากยิ่งขึ้นเพื่อป้องกันตนเองและคนในชุมชน รวมถึงการปฏิบัติตามมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 และได้มีการเข้าถึงข้อมูลอย่างครบถ้วนที่จะทำให้ได้ข้อมูลที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนโครงการเป็นไปอย่างต่อเนื่องและบรรลุวัตถุประสงค์ต่อไป