ข้าพเจ้า นางสาวปรียานันท์ พันทะกัน ประเภทนักศึกษา ตำบลบ้านสิงห์

ในเดือนตุลาคม ข้าพเจ้าได้วางแผนการปฏิบัติงาน ได้ลงพื้นที่เพื่อทำแบบสอบถามและเก็บรวบรวมข้อมูล โดยการปฏิบัติงานประจำเดือนตุลาคม มีดังนี้

          วันที่ 24 กันยายน 2564 ได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูล หมู่ 5 บ้านหนองตาชี ตำบลบ้านสิงห์ อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อเก็บข้อมูลแบบสำรวจสำหรับที่พักอาศัย โดยมีข้อมูล ดังนี้

  1. มีการประเมินตนเองและบุคคลที่อาศัยอยู่ในครัวเรือนว่า
  • เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อหรือหากติดเชื้อแล้วจะมีอาการรุนแรงหรือไม่ เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเรื้อรัง หรือไม่
  • ในการทำงานหรือการใช้ชีวิตประจำวันมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ เช่น บุคลากรทางการแพทย์ ผู้ปฏิบัติงานในสถานบันเทิง/สถานบริการต่างๆ เป็นต้น หรือไม่
  • ตนเองหรือบุคคลในครัวเรือนมีการเดินทางกลับจากพื้นที่เสี่ยงหรือพื้นที่ระบาด หรือไม่มีการสังเกตอาการของตนเองและบุคคลที่อาศัยอยู่ร่วมกัน หากพบว่ามีไข้ ร่วมกับไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส หายใจเร็ว หายใจเหนื่อย หรือหายใจลำบากอย่างใดอย่างหนึ่ง และอาจมีอาการ ท้องเสียร่วมด้วย ให้รีบไปพบแพทย์ทันที หรือไม่

     2. มีการดูแลสุขอนามัยด้วยการล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์โดยเฉพาะก่อนเตรียม ปรุงอาหาร ก่อนรับประทานอาหาร หลังเข้าห้องน้ำ หลังหยิบจับสิ่งสกปรก หลังเยี่ยมผู้ป่วยในสถานพยาบาล หลังสัมผัสหรือเล่นกับสัตว์เลี้ยง และหลังกลับจากนอกบ้าน หรือไม่

      3. มีการรับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ และใช้ช้อนส่วนตัว หรือไม่

      4. ไม่ใช้สิ่งของเครื่องใช้ส่วนตัวร่วมกัน เช่น ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว ช้อน แก้วน้ำ หลอดดูดน้ำ หรือไม่

      5.  เมื่อกลับจากการทำภารกิจหรือกิจกรรมนอกบ้าน ให้ล้างมือ ชำระร่างกาย เปลี่ยนเครื่องแต่งกายทันที หรือไม่

          จากการลงพื้นที่เก็บข้อมูลสำหรับที่พักอาศัยพบว่า ชาวบ้านมีการประเมินตนเองและบุคคลที่อาศัยอยู่ในครัวเรือนว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อหรือไม่ และในการทำงานหรือใช้ชีวิตประจำวันของชาวบ้านบ้านหนองตาชีไม่ค่อยมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ เนื่องจากส่วนใหญ่คนในหมู่บ้านจะทำอาชีพเกษตรกร ไม่ได้ไปพบปะผู้คนมากนัก และไม่ได้ไปในพื้นที่ที่แออัด จึงทำให้ไม่เสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสโคโรน่า (COVID-19) และคนในชุมชนมีการสังเกตอาการของตนเองและอาการของบุคคลที่อาศัยอยู่ร่วมกันว่ามีอาการเข้าข่ายการติดเชื้อไวรัสโคโรน่า (COVID-19) หรือไม่ และคนในชุมชนมีการดูแลสุขอนามัยด้วยการล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์ หลังจากทำกิจกรรมหรือสัมผัสสิ่งของต่าง ๆ มีการรับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ และใช้ช้อนส่วนตัว และไม่ใช้สิ่งของเครื่องใช้ส่วนตัวร่วมกัน แต่จะมีเพียงบางครัวเรือนเท่านั้นที่ใช้แก้วน้ำร่วมกัน และหลังจากที่กลับจากการทำภารกิจหรือกิจกรรมนอกบ้าน ส่วนใหญ่ชาวบ้านจะล้างมือ ชำระร่างกาย และเปลี่ยนเครื่องแต่งกายทันที 

          วันที่ 2 ตุลาคม 2564 ได้เข้าร่วมประชุม Online ผ่าน Google Meet  กับอาจารย์ประจำหลักสูตรและผู้ปฏิบัติงานในโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ ตำบลบ้านสิงห์ เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานที่รับสมัครเข้ามาเพิ่มเติมได้แนะนำตนเองเพื่อทำความรู้จักกับผู้ปฏิบัติงานคนอื่น ๆ และชี้แจงการจัดเก็บข้อมูลในระบบ OTOU โดยผู้ปฏิบัติงานทุกคนต้องลงพื้นที่เก็บข้อมูลสำหรับที่พักอาศัย และมีการแบ่งกลุ่มเก็บข้อมูลสำหรับโรงเรียน ศาสนสถาน และตลาด ตามจำนวนที่ได้รับมอบหมาย ดังนี้

การเก็บข้อมูลสำหรับที่พักอาศัย

          – กลุ่มบัณฑิตจบใหม่ เก็บข้อมูลสำหรับที่พักอาศัยจำนวน 50 หลังคาเรือน

          – กลุ่มประชาชน เก็บข้อมูลสำหรับที่พักอาศัยจำนวน 30 หลังคาเรือน

          – กลุ่มนักศึกษา เก็บข้อมูลสำหรับที่พักอาศัยจำนวน 20 หลังคาเรือน

การเก็บข้อมูลสำหรับศาสนสถาน : กลุ่มประชาชนเป็นผู้รับผิดชอบในการเก็บข้อมูล

การเก็บข้อมูลสำหรับตลาดและโรงเรียน : กลุ่มบัณฑิตจบใหม่เป็นผู้รับผิดชอบในการเก็บข้อมูล

          วันที่ 5 ตุลาคม 2564 ได้เข้าร่วมประชุม Online ผ่าน Google Meet  กับอาจารย์ประจำหลักสูตรและผู้ปฏิบัติงานในโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ ตำบลบ้านสิงห์ เพื่อชี้แจงการเก็บข้อมูลเพิ่มเติม โดยให้ผู้ปฏิบัติงานทำแบบสอบถามตามที่ตนเองได้รับมอบหมาย และแจกแจงหน้าที่สำหรับการจัดอบรมการจัดทำอุปกรณ์ป้องกันตนเองในวันที่ 15 ตุลาคม 2564 โดยให้ผู้ปฏิบัติงานแบ่งหน้าที่การจัดเตรียมสถานที่สำหรับอบรม และจัดเตรียมอุปกรณ์และส่วนประกอบต่าง ๆ ในการทำผลิตภัณฑ์สมุนไพรเพื่อจัดทำอุปกรณ์ป้องกันตนเอง

          วันที่ 8-9 และ 14 ตุลาคม 2564 อาจารย์ประจำหลักสูตรและผู้ปฏิบัติงานกลุ่มนักศึกษาได้ร่วมกันจัดเตรียมอุปกรณ์สำหรับการทำผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร โดยให้ผู้ปฏิบัติงานช่วยกันหั่นเปลือกมะกรูด ตะไคร้หอม และปลอกเปลือกขมิ้น ไพลแล้วหั่นเป็นชิ้นบาง ๆ จากนั้นก็นำขมิ้นและไพลไปทอดกับน้ำมันมะพร้าว โดยใช้ไฟกลาง จนกระทั่งขมิ้นและไพลกรอบเหลือง จากนั้นก็กรองเอาน้ำมันจะได้น้ำมันไพล

          วันที่ 15 ตุลาคม 2564  อาจารย์ประจำหลักสูตรและผู้ปฏิบัติงานในโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ ตำบลบ้านสิงห์ ร่วมกับประชาชนตำบลบ้านสิงห์ได้เข้าร่วมการจัดอบรมการจัดทำอุปกรณ์ป้องกันตนเอง โดยผลิตภัณฑ์ได้ทำมาจากสมุนไพร การจัดอบรมในครั้งนี้ได้จัดขึ้น ณ ศาลากลางหมู่บ้านบ้านหนองบัวราย หมู่ 7 ตำบลบ้านสิงห์ อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ ประชาชนที่มาเข้าร่วมการอบรมเป็นตัวแทนของแต่ละหมู่บ้านในตำบลบ้านสิงห์ โดยมีอาจารย์ประจำหลักสูตรและวิทยากรมาแนะนำและสาธิตวิธีการทำผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร และให้ผู้ปฏิบัติงานและประชาชนตำบลบ้านสิงห์ได้แบ่งกลุ่มในการทำผลิตภัณฑ์ออกเป็น 5 กลุ่ม และจัดทำผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร 3 อย่างได้แก่ สเปรย์กันยุงสมุนไพร น้ำมันเหลือง และยาหม่องไพล โดยผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรมีส่วนประกอบและวิธีทำดังนี้

          1. สเปรย์กันยุงสมุนไพร

ส่วนประกอบ

  • เอทิลแอลกอฮอล์ 1 ลิตร
  • ตะไคร้หอมหั่นฝอย 100 กรัม
  • ผิวมะกรูด 50 กรัม
  • การบูร 50 กรัม

วิธีทำ

  1. นำตะไคร้หอมและเปลือกมะกรูดหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ นำมาห่อด้วยผ้าขาวบาง
  2. แช่มะกรูดและตะไคร้ในเอทิลแอลกอฮอล์  เติมการบูร 50 กรัม ปิดฝาหมักทิ้งไว้ 1 สัปดาห์ (เขย่าทุกวัน)
  3. กรอกใส่ขวดพร้อมนำไปใช้งาน

          2. น้ำมันเหลือง

การเตรียมน้ำมันไพล

ส่วนประกอบ

  • ไพล 200 กรัม
  • ขมิ้น 50 กรัม
  • น้ำมันมะพร้าวหรือน้ำมันปาล์ม 100 กรัม

วิธีทำ: นำไพลและขมิ้นที่แก่จัดมาปลอกเปลือกและหั่นเป็นชิ้นบาง จากนั้นนำไปทอดในน้ำมันมะพร้าวหรือน้ำมันปาล์ม โดยใช้ไฟกลาง จนกระทั่งไพลและขมิ้นหรอบเหลือง (ระวังอย่าให้ไหม้) กรองเอาน้ำมันจะได้น้ำมันไพล (จะได้น้ำมันไพลประมาณ 70-80 มิลลิลิตร)

ส่วนประกอบของน้ำมันเหลือง

  • เมนทอล 120 กรัม
  • การบูร 80 กรัม
  • พิมเสน 40 กรัม 
  • น้ำมันไพล 200 มิลลิลิตร

วิธีทำ

        ผสมเมนทอล การบูร และพิมเสน คนให้ละลาย (ถ้าละลายไม่หมดสามารถเพิ่มเมนทอลลงไปทีละน้อย) แล้วจึงเติมน้ำมันไพล และเทลงขวดบรรจุเพื่อนำไปใช้งาน

          3. ยาหม่องไพล

ส่วนประกอบ

  • วาสลิน 120 กรัม
  • พาราฟิน 80 กรัม
  • น้ำมันไพล 60 มิลลิลิตร
  • พิมเสน 20 กรัม
  • เมนทอล 20 กรัม
  • การบูร 20 กรัม
  • น้ำมันยูคาลิปตัส 30 มิลลิลิตร
  • น้ำมันระกำ 100 มิลลิลิตร

วิธีทำ

  1. ชั่งพาราฟินและวาสลินลงภาชนะ แล้วนำมาให้ความร้อน จำสังเกตเห็นว่าพาราฟินและวาสลินจะเริ่มละลาย
  2. ผสมเมนทอล การบูร พิมเสน น้ำมันระกำ น้ำมันยูคาลิปตัส และน้ำมันสมุนไพร คนจนสารละลายเป็นเนื้อเดียวกัน
  3. เมื่อพาราฟินและวาสลินใสจนเป็นเนื้อเดียวกันให้เติมของผสมระหว่างเมนทอล การบูร พิมเสน น้ำมันระกำ และน้ำมันยูคาลิปตัส จากข้อ 2. แล้วคนให้เป็นเนื้อเดียวกัน
  4. เทสารละลายที่ได้ใส่ภาชนะที่บรรจุยาหม่อง ตั้งทิ้งไว้จนยาหม่องแข็งตัว

หมายเหตุ

  1. ไม่ควรใช้ความร้อนสูงเกินไป จะทำให้กลิ่นระเหยหมดและอาจทำให้เกิดไฟลุกไหม้ได้
  2. การให้ความร้อนที่มีเปลวไฟ ให้ทำการตุ๋นในน้ำร้อนเพื่อป้องกันการเกิดไฟลุกไหม้
  3. สามารถปรับเพิ่มได้ตามอัตราส่วน เมื่อต้องการยาหม่องในปริมาณที่มากขึ้น

เกร็ดความรู้

  1. การบูร มีลักษณะเป็นเกล็ดสีขาว ออกฤทธิ์ร้อน สรรพคุณ ช่วยบรรเทาโรคตาแดง ขับเสมหะ ขับลม
  2. เมนทอล มีลักษณะเป็นผลึกสีขาว มีกลิ่นหอม บรรเทาอาการหวัด คัดจมูก แก้ไข้ แก้ไอ ลดการอักเสบในลำคอ บรรเทาอาการปวดศีรษะ
  3. พิมเสน มีลักษณะเป็นเกล็ดสีขาวขุ่น มีกลิ่นหอม ใช้สูดดม แก้วิงเวียนศีรษะ ใช้ทาแก้ปวดเมื่อยแก้เคล็ดขัดยอก
  4. พาราฟิน ใช้เป็นส่วนผสมเพื่อทำให้น้ำมันแข็งตัว
  5. วาสลิน ใช้เป็นส่วนผสมเพื่อทำให้เกิดความลื่นมัน และสะดวกในการทานวด
  6. น้ำมันระกำ เป็นน้ำมันใส มีกลิ่นหอม มีสรรพคุณแก้ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อแก้เคล็ดขัดยอก
  7. น้ำมันยูคาลิปตัส สรรพคุณ แก้หวัดคัดจมูก ขับเสมหะ แก้โรคหอบหืด

          หลังจากจัดอบมการจัดทำอุปกรณ์ป้องกันตนเองเสร็จแล้ว อาจารย์ประจำหลักสูตรและผู้ปฏิบัติงาน ร่วมกับประชาชนตำบลบ้านสิงห์ร่วมกันถ่ายภาพ และได้แจกจ่ายผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรให้กับผู้ที่เข้าร่วมการอบรมในครั้งนี้ ส่วนผลิตภัณฑ์ที่เหลือก็นำไปมอบให้ผู้นำชุมชนตำบลบ้านสิงห์ต่อไป

 

อื่นๆ

เมนู