หลักสูตร: HS03 โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ 1 ตำบล
1 มหาวิทยาลัย จากมหาวิทยาลัยสู่ตำบลเพื่อสร้างรากแก้วให้ประเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ประจำเดือน พฤศจิกายน 2564
ข้าพเจ้า นางสาวเจตจิรา แก้วพลงาม ผู้ปฏิบัติงานประเภท บัณฑิตจบใหม่
ปฏิบัติงานในเขตพื้นที่ตำบลบ้านสิงห์ อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ ได้รับมอบหมายจากอาจารย์ประจำหลักสูตรให้ผู้ปฏิบัติงานวางแผนและแบ่งหน้าที่การปฏิบัติงาน เนื่องด้วยในช่วงที่ผ่านมาเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทำให้คนในพื้นที่เสี่ยงติดเชื้อเป็นจำนวนมากรวมทั้งผู้ที่มาจากพื้นที่เสี่ยง เพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นไปตามเป้าหมายได้ดำเนินการต่อไปนี้
จัดเตรียมสถานที่การฝึกอบรม
วันที่ 21 ตุลาคม 2564 เวลา 13.00 น. อาจารย์ประจำหลักสูตรได้มอบหมายให้กลุ่มบัณฑิตจบใหม่จัดเตรียมสถานที่ในการอบรมการจัดตั้งกลุ่มอาชีพ พัฒนาสู่ผลิตภัณฑ์ OTOP และกรณีศึกษาสถานที่ผลิตอาหารแปรรูปที่บรรจุในภาชนะพร้อมจำหน่ายตามมาตรฐาน Primary GMP ณ ศาลากลาง หมู่บ้านหนองบัวราย ตำบลบ้านสิงห์ อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์
อบรมการจัดตั้งกลุ่มอาชีพ พัฒนาสู่ผลิตภัณฑ์ OTOP
วันที่ 22 ตุลาคม 2564 เวลา 13.00 น. ณ ศาลากลาง หมู่บ้านหนองบัวราย ตำบลบ้านสิงห์ โดยการจัดอบรมจะแบ่งเป็นทั้งหมด 2 ช่วง ในช่วงแรกจะเป็นการจัดอบรมการจัดตั้งกลุ่มอาชีพ พัฒนาสู่ผลิตภัณฑ์ OTOP การจัดอบรมในครั้งนี้ได้รับเกียรติวิทยากรโดย นางภัทรวดี มักขุนทด นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ มาอบรมให้ความรู้แก่ชาวบ้านตำบลบ้านสิงห์เกี่ยวกับการตั้งกลุ่มอาชีพ ประเภทผลิตภัณฑ์ OTOP เครื่องหมายมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน ขั้นตอน หลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการรับรอง มผช. การตรวจสุขลักษณะการผลิต รวมถึงการเตรียมผลิตภัณฑ์เพื่อการส่งตรวจขอมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.)
อบรมกรณีศึกษาสถานที่ผลิตอาหารแปรรูป ที่บรรจุในภาชนะพร้อมจำหน่าย ตามมาตรฐาน Primary GMP
โดยวันที่ 22 ตุลาคม 2564 ในช่วงที่ 2 หลังจากพักรับประทานอาหารเบรคจะเป็นการอบรมต่อในเรื่องกรณีศึกษาสถานที่ผลิตอาหารแปรรูป ที่บรรจุในภาชนะพร้อมจำหน่าย ตามมาตรฐาน Primary GMP ได้รับเกียรติวิทยากรมาให้ความรู้โดยมีเนื้อหารายละเอียดเกี่ยวกับสถานที่ผลิตอาหารแปรรูป ตามมาตรฐาน Primary GMP ซึ่งมีด้วยกันทั้งสิ้น 6 หมวด ในแต่ละหมวดจะมีคะแนนตามเกณฑ์ในการตรวจ จากการยอมรับผลการตรวจว่าผ่านการประเมินจะต้องมีคะแนนที่ได้รวมแต่ละหัวข้อ ไม่น้อยกว่า ร้อยละ 60 และต้องไม่พบข้อบกพร่องที่รุนแรง
สำรวจข้อมูลชุมชนเพิ่มเติมในหมู่ 4 บ้านโคกไม้แดง ตำบลบ้านสิงห์ อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ จำนวน 50 คน
วันที่ 25 ตุลาคม 2564 ได้ลงพื้นที่สำรวจข้อมูลชุมชนลงระบบ CBD โดยอาจารย์ประจำหลักสูตรได้มอบหมายให้ผู้ปฏิบัติงานทุกคนเก็บข้อมูลในหมู่บ้านที่รับผิดชอบ ตามจำนวนดังต่อไปนี้
- บัณฑิต จำนวน 50 คน
- ประชาชน จำนวน 30 คน
- นักศึกษา จำนวน 20 คน
โดยข้าพเจ้าได้ลงพื้นที่สำรวจข้อมูลรับผิดชอบในชุมชนหมู่ 4 บ้านโคกไม้แดง ตำบลบ้านสิงห์ อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ ในการลงพื้นที่สำรวจข้อมูลข้าพเจ้าได้ติดต่อประสานงานกับผู้ใหญ่บ้านหรือผู้นำชุมชนในการดำเนินการสำรวจข้อมูลในครั้งนี้
เสวนาออนไลน์ เรื่อง “Quadruple Helix : จตุรภาคีสี่ประสานสู่การพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน”
วันที่ 28 ตุลาคม 2564 เวลา 09.00 – 12.00 น. ข้าพเจ้าได้เข้าร่วมการลงทะเบียนและได้รับฟังการเสวนาออนไลน์ผ่านระบบ ZOOM เรื่อง “Quadruple Helix : จตุรภาคีสี่ประสานสู่การพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน” โดยมีวิทยากรผู้ร่วมเสวนาดังนี้
– นายคำเดื่อง ภาษี ประธานปราชญ์ชาวบ้านบุรีรัมย์
– รองศาสตราจารย์ ดร.ประสาท เนืองเฉลิม จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม
– นายสุพจน์ สวัสดิ์พุทรา นายกเทศมนตรีตำบลอิสาณ
– นายณัชอิสร์ ศรีสุขพรชัย ประธานหอการค้า จังหวัดบุรีรัมย์
– รองศาสตราจารย์ ดร.อัครพนท์ เนื้อไม้หอม คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ดำเนินการเสวนาโดย อาจารย์ชมพู อิสริยาวัฒน์ รองคณบดีฝ่ายพันธกิจชุมชนสัมพันธ์และภูมิทัศน์
ในการเสวนาในครั้งนี้ข้าพเจ้าได้รับเกียรติบัตรเพื่อแสดงว่าได้เข้าร่วมงานเสวนาออนไลน์และได้รับความรู้มากมายสำหรับใช้ในการพัฒนาชุมชนให้มีความยั่งยืนต่อไป
อบรมตลาด online สำหรับผู้ประกอบการ ณ ศาลากลาง หมู่บ้านหนองบัวราย ตำบลบ้านสิงห์ อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์
วันที่ 29 ตุลาคม 2564 เวลา 09.00 น. การจัดอบรมตลาด online สำหรับผู้ประกอบการ ณ ศาลากลาง หมู่บ้านหนองบัวราย ตำบลบ้านสิงห์ ในครั้งนี้ได้รับเกียรติจากวิทยากร
อาจารย์ปิติวรรณ ฝ้ายโคกสูง ประจำสาขาวิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ และผู้ช่วยวิทยากร 2 ท่าน มาร่วมถ่ายทอด อบรมให้ความรู้แก่ชาวบ้านตำบลบ้านสิงห์ โดยได้สอนเกี่ยวกับการตลาดโดยเฉพาะอย่างยิ่งในชุมชนตำบลบ้านสิงห์แต่ละหมู่บ้านจะมีผลิตภัณฑ์ในการสร้างรายได้ให้กับคนในชุนชนของตนเอง โดยให้แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ
1) ผลิตภัณฑ์ประเภทอาหาร อาทิเช่น ขนมดอกจอก ขนมทองม้วน ขนมบ้าบิ่น ขนมกล้วยฉาบ ขนมใส่ไส้ ขนมนางเล็ด เป็นต้น
2) ผลิตภัณฑ์ประเภทสิ่งของเครื่องใช้ อาทิเช่น ตะกร้าสาน แห สุ่มไก่ พวงหรีด ดอกไม้จันทน์ ผ้าไหม ผ้าฝ้าย กระเป๋าจากผ้า เสื่อกก กรงนก บายศรี เป็นต้น ได้สอนเทคนิควิธีในการสร้างเพจขายของบนเฟสบุ๊ค (Facebook Page) เพื่อจะได้ทำช่องทางการขายที่สะดวก ง่ายต่อการขาย อีกทั้งยังสอนเทคนิคการถ่ายภาพสินค้าผลิตภัณฑ์ให้น่าสนใจ สวยงาม โดยลูกค้าส่วนใหญ่จะตัดสินใจในการซื้อได้ง่ายคือดูจากรูปภาพที่สวยงาม
ประชุมออนไลน์มอบหมายแผนงานเพิ่มเติม
วันที่ 7 พฤศจิกายน 2564 เวลา 16.00 นาฬิกา ได้เข้าร่วมประชุมออนไลน์ผ่าน
Google meet ในการประชุมอาจารย์ประจำหลักสูตรได้ชี้แจงและมอบหมายงานให้ผู้ปฏิบัติงาน
- แจ้งยอดเก็บข้อมูลในระบบ CBD ให้เก็บข้อมูลถึง 1,000 ข้อมูล ภายในวันที่
11 พฤศจิกายน 2564 แต่เดิมเก็บข้อมูลยังไม่ถึงเป้าที่กำหนดโดยจะเพิ่มให้ผู้ปฏิบัติงานเก็บข้อมูลเพิ่มเติมแบ่งเป็น บัณฑิตเก็บเพิ่มจำนวน 20 คน และประชาชนเก็บเพิ่มจำนวน 15 คน - จัดทำวิเคราะห์ปัญหาในชุมชนโดยนำข้อมูลจากระบบ CBD มาวิเคราะห์เพื่อพัฒนา ปรับปรุง แก้ไข นำข้อมูลจากระบบ CBD เข้าสู่ G-Map ทั้งนี้ แต่ละตำบล เลือกเพียง 3 หัวข้อจาก 10 หัวข้อใน CBD ซึ่งตำบลบ้านสิงห์ อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ ได้เลือกหัวข้อในการวิเคราะห์ ดังนี้
– อาหารที่น่าสนใจประจำถิ่น
– ภูมิปัญญาท้องถิ่น
– แหล่งน้ำในท้องถิ่น
โดยสิ่งที่ต้องทำการวิเคราะห์ประกอบด้วย
(1) วิเคราะห์ Pain point (SWOT, VROI หรือ เครื่องมือวิเคราะห์ใด ๆ ตามเหมาะสม)
(2) นำเสนอข้อมูลผ่าน Dash Board หรือ G-map
3. แจ้งกำหนดการอบรมการทำลูกประคบสมุนไพรและนวดแผนโบราณ วันที่ 13 พฤศจิกายน 2564 ณ ศาลากลาง หมู่บ้านหนองบัวราย ตำบลบ้านสิงห์ อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ เวลา 13.30 น. โดยได้มอบหมายให้กลุ่มบัณฑิตจบใหม่จัดเตรียมสถานที่ในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2564 เวลา 14.00 น.
วิเคราะห์ปัญหาแหล่งน้ำในชุมชนรายพื้นที่ของตำบลบ้านสิงห์ อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์
โดยการเก็บข้อมูลตัวอย่างข้างต้น กลุ่มบัณฑิตจบใหม่กลุ่มที่ 1 ได้ช่วยกันระดมความคิดในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2564 ได้รับผิดชอบปัญหาแหล่งน้ำซึ่งข้อมูลได้จากการนำข้อมูลจากระบบ CBD เข้าสู่ G-Map ทั้งนี้ แต่ละตำบล เลือกเพียง 3 หัวข้อจาก 10 หัวข้อใน CBD สิ่งที่ต้องทำการวิเคราะห์ประกอบด้วย
- วิเคราะห์ Pain point (SWOT, VROI หรือ เครื่องมือวิเคราะห์ใด ๆ ตามเหมาะสม)
- นำเสนอข้อมูลผ่าน Dash Board หรือ G-map
ได้ดำเนินการวิเคราะห์ผลของการดำเนินงานปัญหาหลัก ๆ ในด้านแหล่งน้ำในชุมชนรายพื้นที่ของตำบลบ้านสิงห์ อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์
ปัญหา
- ช่วงฤดูร้อนน้ำแห้งขอด
- ปริมาณน้ำไม่เพียงพอในการทำเกษตรในช่วงหน้าแล้ง
- คุณภาพน้ำอยู่ในระดับน้อย มีตะกอน (ใช้ทำการเกษตร/อุตสาหกรรมได้)
- ช่วงฤดูฝนน้ำหลากเข้าท่วมหมู่บ้าน
- ไม่สามารถระบายน้ำได้ดีเท่าที่ควร
- ฝ่ายชำรุดไม่สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
แนวทางการแก้ปัญหาแหล่งน้ำ
- ซ่อมแซมฝายชะลอน้ำเพื่อให้สามารถกักเก็บน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ, เพียงพอต่อการทำเกษตรในหน้าแล้ง
- วางทอระบายน้ำเพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วมขังในเขตชุมชนและพื้นที่ทำการเกษตร
- ปรับปรุงคุณภาพของน้ำดิบให้เป็นน้ำประปาที่สะอาดและมีคุณภาพที่ได้มาตรฐานเพียงพอต่อการนำไปใช้อุปโภคบริโภค
ผลลัพธ์ที่คาดหวัง
- น้ำอยู่ในลำห้วยได้นานขึ้น, มีปริมาณน้ำเพียงพอต่อการทำเกษตรในช่วงหน้าแล้ง
- ระบายน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพไม่หลากเข้าท่วมหมู่บ้าน
- คุณภาพน้ำดีขึ้นและอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานที่สามารถนำมาใช้อุปโภคบริโภคได้โดยไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย
อบรมการทำลูกประคบสมุนไพรและนวดแผนโบราณ
วันที่ 13 พฤศจิกายน 2564 เวลา 13.30 น. การจัดอบรมการทำลูกประคบสมุนไพรและนวดแผนโบราณ ณ ศาลากลาง หมู่บ้านหนองบัวราย ตำบลบ้านสิงห์ ในครั้งนี้โดยการทำลูกประคบสมุนไพรได้รับเกียรติจากวิทยากร อาจารย์ประจำสาขาวิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ และได้สอนวิธีการนวดแผนโบราณโดยวิทยากร กลุ่มงานการแพทย์แผนไทย โรงพยาบาลนางรอง มาร่วมถ่ายทอด อบรมให้ความรู้แก่ชาวบ้านตำบลบ้านสิงห์ มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
การทำลูกประคบสมุนไพร
วัสดุ/อุปกรณ์ (ได้ลูกประคบประมาณ 10 ลูก)
– ผ้าดิบ หรือผ้าฝ้าย ขนาด 40 x 40 เซนติเมตร | – เชือก ยาว 200 เขนติเมตร |
– ภาชนะสำหรับผสมสมุนไพร | – เครื่องชั่ง |
ในสูตรนี้ใช้สมุนไพรแห้ง (สามารถนำสมุนไพรสดไปตากหรืออบให้แห้งได้)
– ไพล 400 กรัม | – ขมิ้นชัน 100 กรัม | – ตะไคร้ 200 กรัม |
– ผิวมะกรูด 100 กรัม | – ใบมะขาม 100 กรัม | – ใบส้มป้อย 50 กรัม |
– การบูร 30 กรัม | – พิมเสน 30 กรัม | – เกลือ 60 กรัม |
วิธีการทำ
บดหรือทุบสมุนไพรแห้งพอหยาบแล้วผสมส่วนผสมทั้งหมดให้เข้ากัน ชั่งส่วนผสม 100 กรัม วางลงบนผ้า จากนั้นห่อผ้าและมัดเชือกให้แน่นเสร็จแล้วนำบรรจุลูกประคบไว้ในถุง เก็บในที่แห้ง สามารถเก็บได้ประมาณ 1 ปี
สมุนไพรสำหรับทำลูกประคบ ใช้สมุนไพรสดหรือแห้งก็ได้แต่ต้องไม่มีรา
– สมุนไพรสำหรับทำลูกประคบ ใช้สมุนไพรสดหรือแห้งก็ได้แต่ต้องไม่มีรา
ไพล | ช่วยลดอาการปวดเมื่อย เคล็ดขัดยอก คลายกล้ามเนื้อ ลดอาการอักเสบ ฟกช้ำ บวม |
ตะไคร้ | แต่งกลิ่น ลดอาการฟกช้ำ ลดอาการปวดเมื่อย |
ขมิ้นอ้อย | ช่วยลดอาการอักเสบ แก้โรคผิวหนัง |
ขมิ้นขัน | ช่วยลดอาการอักเสบ แก้โรคผิวหนัง |
ผิวมะกรูด | มีน้ำมันหอมระเหย แก้ลมวิงเวียน (ถ้าไม่มีใช้ใบแทนได้) |
ผิวส้ม | บรรเทาลมวิงเวียน |
ข่า | รักษาโรคผิวหนัง กลากเกลื้อน |
– กลุ่มที่มีรสเปรี้ยว (กรดอ่อนๆ)
ใบมะขาม | ช่วยให้เส้นเอ็นหย่อน แก้โรคผิวหนังผื่นคัน ช่วยบำรุงผิว |
ใบขี้เหล็ก | ช่วยละลายไขมันใต้ผิวหนัง ทำให้หลับสบาย |
ใบส้มป่อย | ช่วยบำรุงผิว แก้โรคผิวหนัง ลดความดัน |
– กลุ่มสารที่มีกลิ่นหอม จะระเหยเมื่อถูกความร้อน
การบูร | แต่งกลิ่น บำรุงหัวใจ |
พิมเสน | แต่งกลิ่น ลดอาการพุพองผดผื่น บำรุง หัวใจ |
เกลือ | ช่วยดูดความร้อน และช่วยพาให้ตัวยาซึม ผ่านผิวหนังได้ดีขึ้น |
การเก็บรักษาลูกประคบ
– เก็บไว้ในที่แห้ง ไม่มีฝุ่น
– สำหรับลูกประคบสมุนไพรสด สามารถเก็บไว้ในตู้เย็นได้ 3 – 5 วัน
การใช้งาน
– สำหรับลูกประคบแห้ง ควรพรมน้ำบนลูกประคบก่อนนำไปนึ่ง
– นำลูกประคบที่ได้ไปนึ่งในหม้อนึ่ง ใช้เวลานึ่งประมาณ 15 – 20 นาที
สรุปบทเรียนที่ได้รับจากการปฏิบัติงาน
- ในการจัดอบรมการจัดตั้งกลุ่มอาชีพ พัฒนาสู่ผลิตภัณฑ์ OTOP และกรณีศึกษาสถานที่ผลิตอาหารแปรรูป ที่บรรจุในภาชนะพร้อมจำหน่าย ตามมาตรฐาน Primary GMP ได้รับความรู้เกี่ยวกับการตั้งกลุ่มอาชีพ ประเภทผลิตภัณฑ์ OTOP เครื่องหมายมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน ขั้นตอน หลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการรับรอง มผช. การตรวจสุขลักษณะการผลิต รวมถึงการเตรียมผลิตภัณฑ์เพื่อการส่งตรวจขอมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) เพื่อทำให้ผลิตภัณฑ์ในชุมขนมีคุณภาพดีขึ้น มีคุณภาพที่สม่ำเสมอ ผู้ซื้อ ผู้บริโภค รวมถึงผู้เกี่ยวข้องตัดสินใจได้ง่ายขึ้น สร้างความเชื่อมั่น ความน่าเชื่อถือของผลิตภัณฑ์ และเพิ่มโอกาสทางการค้า ผู้ผลิตสามารถเข้าถึงตลาดได้ง่ายขึ้น เป็นการสร้างรายได้ให้คนในชุมชนในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้
- การจัดอบรมตลาด online สำหรับผู้ประกอบการ ในครั้งนี้ได้รับเกียรติจากวิทยากร อาจารย์ปิติวรรณ ฝ้ายโคกสูง ประจำสาขาวิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ และผู้ช่วยวิทยากร 2 ท่าน มาร่วมถ่ายทอด อบรมให้ความรู้ด้านการขายออนไลน์สามารถช่วยเพิ่มยอดขายของผลิตภัณฑ์ ได้รู้เทคนิควิธีในการสร้างเพจขายของบนเฟสบุ๊ค (Facebook Page) เพื่อจะได้ทำช่องทางการขายที่สะดวก ง่ายต่อการขาย อีกทั้งยังสอนเทคนิคการถ่ายภาพสินค้าผลิตภัณฑ์ให้น่าสนใจ สวยงาม โดยลูกค้าส่วนใหญ่จะตัดสินใจในการซื้อได้ง่ายคือดูจากรูปภาพที่สวยงาม
- การลงพื้นที่เก็บข้อมูลระบบ CBD นั้นข้าพเจ้าได้ลงพื้นที่สำรวจข้อมูลรับผิดชอบในชุมชนหมู่ 4 บ้านโคกไม้แดง ตำบลบ้านสิงห์ อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ ในการลงพื้นที่สำรวจข้อมูลข้าพเจ้าได้ติดต่อประสานงานกับผู้ใหญ่บ้านหรือผู้นำชุมชน ในการดำเนินการสำรวจพบว่า เกษตรกรในท้องถิ่นส่วนมากจะปลูกพืชจำพวกข้าวและมันสำปะหลัง โดยรายได้เฉลี่ยต่อปีอยู่ระหว่าง 50,000 – 100,000 บาทขึ้นไป ส่วนมากใช้เทคโนโลยีในการทุ่นแรง เช่น รถเกี่ยวข้าว รถไถนา เป็นต้น แต่ยังมีส่วนน้อยที่ยังคงใช้กรรมวิธีแบบดั่งเดิม จึงถือได้ว่าเป็นหมู่บ้านที่ยึดอาชีพเกษตรกรเป็นหลักในการหาเลี้ยงชีพ
- การทำลูกประคบสมุนไพรเป็นวิธีการบำบัดรักษาของการแพทย์แผนไทยอีกวิธีหนึ่ง ซึ่งสามารถนำไปใช้ควบคู่กับการนวดแผนโบราณ ผลของการรักษาด้วยการประคบสมุนไพรเกิดจากผลของความร้อนที่ได้จากการประคบ และผลจากการที่ตัวยาสมุนไพรซึมผ่านชั้นผิวหนังเข้าสู่ร่างกาย ตัวยาสมุนไพรส่วนใหญ่มีตัวยาที่มีสรรพคุณในการแก้เคล็ดขัดยอกฟกช้ำ ทำให้เส้นเอ็นหย่อน ซึ่งเมื่อผสานกับความร้อนจากลูกประคบแล้วก็เท่ากับเป็นการเสริมฤทธิ์ในการรักษาซึ่งกันและกัน อีกทั้งขั้นตอนการทำไม่ยุ่งยาก เป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่สามารถสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้อีกด้วย