ข้าพเจ้านางสาวกมลชนก จงชิดกลาง ผู้ปฏิบัติงานโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย ประเภทบัณฑิตจบใหม่ ตำบลบ้านสิงห์

รับผิดชอบในเขตพื้นที่ บ้านสิงห์ หมู่ 3 ตำบลบ้านสิงห์ อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์

วันที่ 22 ตุลาคม 2564

เข้าร่วมการอบรมการขอมาตรฐานผลิตภัณฑ์ และการขึ้นทะเบียนสินค้า OTOP ณ ศาลาประชาคม บ้านหนองบัวราย ตำบลบ้านสิงห์ อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ โดยได้รับเกียรติจากท่านวิทยากร คือ คุณภัทรวดี มักขุดทด นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ และ คุณชยุต ชำนาญเนาว์ นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ ที่สละเวลามาให้ความรู้แก่ผู้ปฏิบัติงานทุกๆท่านและประชาชนในตำบลบ้านสิงห์

โครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ถือกำเนิดขึ้นในช่วงที่ประเทศไทยต้องประสบกับปัญหาความยากจน และเพื่อเดินหน้าสู้กับวิกฤตทางเศรษฐกิจที่หนักหน่วง รัฐบาลในสมัยนั้นจึงได้จัดทำโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ขึ้นมา โดยมีแนวทางให้คนในแต่ละชุมชนใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการการพัฒนาสินค้าควบคู่ไปกับความทันสมัย ที่สามารถต่อยอดส่งออกไปขายต่างประเทศได้ ซึ่งสินค้าแต่ละชิ้นเป็นทรัพยากรที่มีอยู่ในท้องถิ่น แล้วนำมาเพิ่มมูลค่าให้เป็นสินค้าที่มีคุณภาพ สามารถตอบโจทย์ผู้บริโภคทุกคนได้เป็นอย่างดี โดยมีหลักการพื้นฐานในการจัดทำดังนี้

  • ภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่สากล
  • พึ่งตนเองและคิดอย่างสร้างสรรค์
  • การสร้างทรัพยากรมนุษย์

สำหรับจุดมุ่งหมายของโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ ตามนโยบายของรัฐบาล ที่ได้แถลงต่อรัฐสภา และตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยคณะกรรมการอำนวยการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์แห่งชาติ พ.ศ. 2544 มีวัตถุประสงค์ ดังนี้

  1. สร้างงาน สร้างรายได้แก่ชุมชน
  2. สร้างความเข้มแข็งแก่ชุมชน ให้สามารถคิดเอง ทำเอง ในการพัฒนาท้องถิ่น
  3. ส่งเสริมภูมิปัญหาท้องถิ่น
  4. ส่งเสริมการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

การจัดตั้งกลุ่มอาชีพ พัฒนาสู่ผลิตภัณฑ์ OTOP

การบริหารจัดการกลุ่ม (5 ก.)
  • ก1  กลุ่ม/สมาชิก ที่มีความสมัครใจพร้อมที่จะให้ความร่วมมือในการดำเนินงานของกลุ่ม
  • ก2  กรรมการ ซึ่งได้รับมอบหมายและเป็นตัวแทนจากสมาชิกให้บริหารกลุ่ม
  • ก3  กฎ กติกา ระเบียบข้อบังคับกลุ่ม เพื่อใช้เป็นแนวทางปฏิบัติร่วมกัน ระหว่างสมาชิกและคณะกรรมการ
  • ก4  กองทุน ปัจจัย เงินหรือเครื่องมือ ที่ท าให้กิจกรรมของกลุ่มดำเนินการได้และบรรลุตามวัตถุประสงค์ของกลุ่ม
  • ก5  กิจกรรม เป็นสิ่งที่ร่วมกันปฏิบัติเพื่อสร้างรายได้ให้กับครัวเรือนและชุมชน

ประเภทผลิตภัณฑ์ หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์

ที่จะนำมาดำเนินการลงทะเบียน ต้องผ่านกระบวนการผลิต โดยใช้ภูมิปัญญาจำนวน 5 ประเภท ดังนี้

  1. ประเภทอาหาร
    หมายถึง ผลผลิตทางการเกษตร และอาหารแปรรูป ซึ่งได้รับมาตรฐาน อย., GAP,GMP, HACCP, Qmark, มผช., มอก., มาตรฐานเกษตรอินทรีย์, ฮาลาล และมีบรรจุภัณฑ์ เพื่อการจ าหน่ายทั่วไป แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้
    1) ผลิตผลทางเกษตรที่ใช้บริโภคสด
    2) ผลิตผลทางการเกษตรที่เป็นวัตถุดิบ และผ่านกระบวนการแปรรูปเบื้องต้น
    3) อาหารแปรรูปกึ่งสำเร็จรูป/สำเร็จรูป
  2. ประเภทเครื่องดื่ม แบ่งเป็น 2 กลุ่ม
    1) เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
    2) เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล
  3. ประเภทผ้า เครื่องแต่งกาย
  4. ประเภทของใช้/ของตกแต่ง/ของที่ระลึก
  5. ประเภทสมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร

ประโยชน์ของการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน

  •  ผลิตภัณฑ์มีคุณภาพดีขึ้น มีความปลอดภัย
  •  ผลิตภัณฑ์มีคุณภาพสม่ำเสมอ
  •  ผู้ซื้อ ผู้บริโภค และผู้เกี่ยวข้องตัดสินใจได้ง่ายขึ้น
  •  สร้างความเชื่อมัน และความน่าเชื่อถือ
  •  เพิ่มโอกาสทางการค้า ผู้ผลิตเข้าถึงตลาดได้ง่ายขึ้น

หลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการรับรอง มผช.

การตรวจติดตามผล

  • ตรวจติดตามผลคุณภาพผลิตภัณฑ์ภายหลังได้รับการรับรอง อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
  • ตรวจประเมิน ณ สถานที่ทำของผู้ได้รับการรับรอง
    – อาจเก็บตัวอย่างเพื่อส่งทดสอบ/ตรวจสอบ
    – แจ้งผลการตรวจสอบให้ผู้ได้รับการรับรองทราบ

การต่ออายุใบรับรอง

  • ให้ยื่นขอใหม่ล่วงหน้า 120 วัน ก่อนที่ใบรับรองจะสิ้นอายุ (หากมีความประสงค์ขอต่ออายุใบรับรอง)
  • หน่วยรับรองจะด าเนินการตามกระบวนการรับรอง มผช.

การสิ้นอายุใบรับรอง

  • ใบรับรองครบอายุ 3 ปี
  • ผู้ได้รับการรับรองขอยกเลิกการรับรอง
  • ผู้ได้รับการรับรองเลิก หรือถูกสั่งให้เลิกประกอบกิจการ
  • มาตรฐานมีการแก้ไข ใบรับรองจะมีอายุ 1 ปี นับแต่วันที่มาตรฐานใหม่มีผลบังคับใช้
  • มาตรฐานมีการยกเลิก
  • ผลิตภัณฑ์ที่ตรวจติดตามผลไม่เป็นไปตามมาตรฐาน 2 ครั้งติดต่อกัน

การตรวจสุขลักษณะการผลิต

  1. สถานที่ตั้งอาคารที่ทำและบริเวณโดยรอบ 
    – สะอาด ไม่มีน้ำขังแฉะ ไม่สกปรก
    – อยู่ห่างสถานที่ที่มีฝุ่น เขม่า ควัน มากผิดปกติ
    – ไม่อยู่ใกล้สถานที่น่ารังเกียจ เช่น แหล่งเก็บขยะ บริเวณที่เพาะเลี้ยงสัตว์
    – พื้น ผนัง เพดาน เป็นวัสดุที่คงทน เรียบ สะอาด อยู่ในสภาพดี
    – แยกเป็นสัดส่วน ไม่อยู่ใกล้สุขา
    – พื้นที่ปฏิบัติงานไม่แออัด แสงสว่างเพียงพอ การระบายอากาศเหมาะสม
  2. เครื่องมือ เครื่องจักร และอุปกรณ์ในการทำ สะอาด เหมาะสมกับ การใช้งาน ไม่ก่อให้เกิดการปนเปื้อน มีเพียงพอ เป็นวัสดุผิวเรียบ ไม่เป็นสนิม ล้างทำความสะอาดง่าย
  3. การควบคุมกระบวนการทำ
    – วัตถุดิบและส่วนผสมในการทำความสะอาด มีคุณภาพดี ล้างก่อนนำไปใช้
    – การทำ เก็บรักษา ขนย้ายมีการป้องกันการปนเปื้อนและการเสื่อมเสียของสินค้า
  4. การสุขาภิบาล การบำรุงรักษา การทำความสะอาด
    – น้ำใช้ต้องสะอาดและเพียงพอ
    – มีวิธีป้องกันและกำจัดสัตว์นำเชื้อ แมลง ฝุ่นผง
    – มีการกำจัดขยะ สิ่งสกปรก น้ำทิ้งอย่างเหมาะสม
    – สารเคมีที่ใช้ทำความสะอาดและกำจัดแมลง สัตว์นำเชื้อ ใช้ในปริมาณที่เหมาะสมและเก็บแยกจากบริเวณที่ทำ
  5. บุคลากรและสุขลักษณะของผู้ทำ ต้องรักษาความสะอาดส่วนบุคคล เช่น เสื้อผ้าสะอาด มีผ้าคลุมผม ไม่ไว้เล็บยาว ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนทำ/หลังการใช้ห้องสุขา

หลักเกณฑ์ของ Primary GMP

ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 193) มีการกําหนดเกณฑ์ ไว้ 6 หมวด

หมวดที่ 1 สถานที่ตั้งและอาคารผลิต

  • สถานที่ตั้งตัวอาคารและที่ใกล้เคียงต้องอยู่ในที่ ๆ จะไม่ทำให้อาหารเกิดการปนเปื้อนได้ง่าย เช่น ไม่มีการสะสมสิ่งของที่ไม่ใช้แล้ว ไม่มีสิ่งปฏิกูล ไม่มีฝุ่นควันมากผิดปกติ ไม่มีน้ำขังสกปรก และไม่มีคอกปศุสัตว์หรือสถานเลี้ยงสัตว์
  • อาคารผลิตหรือบริเวณผลิตต้องรักษาความสะอาดและรักษาให้อยู่ในสภาพที่ถูกสุขลักษณะ เช่น มีการระบายอากาศที่เหมาะสมสำหรับการปฏิบัติงาน สะอาด ถูกสุขลักษณะเป็นระเบียบ อาคารผลิตสามารถป้องกันการปนเปื้อนจากสัตว์ และแมลงเข้าสู่บริเวณผลิตหรือสัมผัสอาหาร

หมวดที่ 2 เครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้ในการผลิต

  • ออกแบบเครื่องมือเครื่องใช้ที่เหมาะสม และคำนึงการปนเปื้อนที่อาจจะเกิดขึ้นรวมทั้งทำความสะอาดได้ง่าย
  • ภาชนะหรืออุปกรณ์ในการผลิตที่สัมผัสกับอาหารต้องทำจากวัสดุที่ไม่ทำปฏิกิริยากับอาหารและง่ายต่อการทำความสะอาด หลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิตอาหารแปรรูปที่บรรจุในภาชนะพร้อมจำหน่าย
  • โต๊ะหรือพื้นผิวที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิตในส่วนที่สัมผัสกับอาหารต้องทำด้วยวัสดุที่ไม่เกิดสนิม ทำความสะอาดง่าย มีความสูงที่เหมาะสมในการปฏิบัติงานหรือมีมาตรการในการป้องกันการปนเปื้อนที่อาจเกิดขึ้นได้

หมวดที่ 3 การควบคุมกระบวนการผลิต

  • วัตถุดิบ ส่วนผสมในการผลิตอาหาร ต้องมีการคัดเลือกให้อยู่ในสภาพที่สะอาดมีคุณภาพ
  • การดำเนินการระหว่างผลิตอาหารมีการขนย้ายวัตถุดิบ ส่วนผสม ภาชนะบรรจุ และบรรจุภัณฑ์ในลักษณะที่ไม่เกิดการปนเปื้อน
  • ผู้ผลิตมีขั้นตอนและวิธีการในการควบคุมกระบวนการผลิตเป็นไปอย่างเคร่งครัด
  • น้ำที่ใช้ในกระบวนการผลิตที่สัมผัสกับอาหารต้องเป็นน้ำที่สะอาด
  • น้ำแข็งใช้ในกระบวนการผลิตที่สัมผัสกับอาหารสะอาด มีคุณภาพมาตรฐานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข
  • การผลิต เก็บรักษา ขนย้าย และขนส่งผลิตภัณฑ์อาหารต้องป้องกันการปนเปื้อน และกันการเสื่อมสลายของอาหารและภาชนะบรรจุด้วย

หมวดที่ 4 การสุขาภิบาล

  • น้ำที่ใช้ภายในสถานที่ผลิตต้องเป็นน้ำสะอาดและจัดให้มีการปรับคุณภาพน้ำตามที่จำเป็น
  • จัดให้มีภาชนะรองรับขยะมูลฝอยที่มีฝาปิดในจำนวนที่เพียงพอ และมีระบบกำจัดขยะมูลฝอยที่เหมาะสม
  • จัดให้มีห้องส้วมและอ่างล้างมือหน้าห้องส้วมให้เพียงพอสำหรับผู้ปฏิบัติงาน และต้องถูกสุขลักษณะมีอุปกรณ์ล้างมือครบถ้วนใช้งานได้ สะอาด และต้องแยกต่างหากจากบริเวณที่ผลิตหรือไม่เปิดสู่บริเวณผลิตโดยตรง
  • จัดให้มีอ่างล้างมือในบริเวณผลิตให้เพียงพอใช้งานได้สะอาด และมีอุปกรณ์ล้างมืออย่างครบถ้วน
  • การจัดการระบายน้ำทิ้งและสิ่งโสโครกอย่างมีประสิทธิภาพ

หมวดที่ 5 การบำรุงรักษาและการทำความสะอาด

  • ตัวอาคารสถานที่ผลิตต้องทำความสะอาด และรักษาให้อยู่ในสภาพที่ถูกสุขลักษณะอย่างสม่ำเสมอ
  • เครื่องมือ เครื่องจักร และอุปกรณ์ในการผลิตมีการทำความสะอาดอย่างสม่ำเสมออยู่ในสภาพที่ใช้งานได้
  • การจัดเก็บสารเคมีทำความสะอาดหรือสารเคมีอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการรักษาสุขลักษณะต้องแยกให้เป็นสัดส่วนปลอดภัยพร้อมมีการแสดงป้ายชื่อ

หมวดที่ 6 บุคลากรและสุขลักษณะผู้ปฏิบัติงาน

  • ผู้ปฏิบัติงานในบริเวณผลิตอาหารไม่มีบาดแผล ไม่เป็นโรคหรือพาหะของโรคตามที่ระบุในกฎกระทรวง หรือมีบาดแผลมี่ก่อให้เกิดการปนเปื้อนของผลิตภัณฑ์
  • ผู้ปฏิบัติงานทุกคนที่ทำหน้าที่สัมผัสอาหารต้องสวมเสื้อผ้าที่สะอาด สวมหมวก หรือผ้าคลุมผมหรือตาข่าย มีมาตรการการจัดการรองเท้าที่ใช้ในการผลิตที่เหมาะสม ไม่สวมเรื่องประดับพร้อมทั้งล้างมือและดูแลเล็บมือให้สะอาดอยู่เสมอ
  • แสดงคำเตือนห้ามหรือป้องกันมิให้บุคคลแสดงพฤติกรรมอันน่ารังเกียจในการผลิตอาหาร
  • วิธีการหรือข้อปฏิบัติสำหรับผู้ไม่เกี่ยวข้องกับการผลิตที่มีความจำเป็นต้องเข้าไปให้ปฏิบัติตามมาตราการ

     พนักงานที่สัมผัสกับอาหารต้องปฏิบัติ ดังนี้

1. สะอาด

2. สวมหมวกคลุมผม และผ้ากันเปื้อน

3. ตัดเล็บให้สั้น งดทาเล็บ

4. จัดรองเท้าที่ใช้ในโรงงานอย่างเหมาะสม

5. ไม่สวมเครื่องประดับ น้ำหอม พกของใช้ส่วนตัว

 

วันที่ 24 ตุลาคม 2564

อาจารย์ประจำหลักสูตรได้มอบหมายหน้าที่ให้ผู้ปฎิบัติงานเก็บข้อมูลเพิ่มเติมตามจำนวนดังนี้

  1. บัณฑิต จำนวน 50 คน
  2. ประชาชน จำนวน 30 คน
  3. นักศึกษา จำนวน 20 คน

วันที่ 29 ตุลาคม 2564

เข้าร่วมการอบรมการประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ และการทำการตลาดออนไลน์ส่งเสริมการขาย ณ ศาลาประชาคมบ้านหนองบัวราย ตำบลบ้านสิงห์ อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์

ในการอบรมครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก อาจารย์ปิติวรรณ ฝ้ายโคกสูง จากสาขาวิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ที่เสียสละเวลามาให้ความรู้เกี่ยวกับการประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ การถ่ายภาพดึงดูดความสนใจ การจัดองค์ประกอบของภาพถ่ายผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่าให้แก่ผลิตภัณฑ์ในชุมชน รวมไปถึงการจัดตั้ง Fanpage บ้านสิงห์ – ของดีบอกต่อ เพื่อเป็นการขายผลิตภัณฑ์ในชมชนอีกหนึ่งช่องทาง

ภาพตัวอย่างผลิตภัณฑ์

วันที่ 7 พฤศจิกายน 2564

อาจารย์ประจำหลักสูตรได้นัดหมายให้ผู้ปฏิบัติงานเข้าร่วมการประชุมออนไลน์ผ่านทาง Google Meet ได้มอบหมายให้ผู้ปฎิบัติงานเก็บข้อมูลแบบสำรวจ CBD เพิ่มเติมให้ครบจำนวน 1000 ชุด และให้นำข้อมูลจาก CBD เพื่อนำมาวิเคราะห์ปัญหา SWOT และแนวทางการแก้ไข ข้อมูลที่นำมาวิเคราะห์เกี่ยวกับภูมิปัญญาในท้องถิ่นโดยใช้เครื่องมือการวิเคราะห์ Pain point (SWOT, VROI หรือ เครื่องมือวิเคราะห์ใด ๆ ตามเหมาะสม) และนำเสนอข้อมูลผ่าน Dash Board หรือ G-map

วันที่ 12 พฤศจิกายน 2564

เข้าร่วมการอบรมการทำลูกประคบจากสมุนไพรไทย ณ ศาลาประชาคมบ้านหนองบัวราย ตำบลบ้านสิงห์ อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งได้รับเกียรติจาก ดร.สุกัญญา ทองขัน และ อาจารย์วิริญรัชญ์ สื่อออก อาจารย์จากสาขาวิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎบุรีรัมย์ เสียสละเวลามาให้ความรู้แก่ผู้ปฏิบัติงานและประชาชนในตำบลบ้านสิงห์

การทำลูกประคบสมุนไพร

อุปกรณ์

  1. ผ้าดิบหรือผ้าฝ้าย ขนาด 40 x 40 เซนติเมตร
  2. ภาชนะสำหรับผสมสมุนไพร
  3. เชือกยาว 200 เซนติเมตร
  4. เครื่องชั่ง

ในสูตรนี้ใช้สมุนไพรแห้ง

  1. ไพล 400 กรัม
  2. ผิวมะกรูด 100 กรัม
  3. การบูร 30 กรัม
  4. ขมิ้นชัน 100 กรัม
  5. ใบมะขาม 100 กรัม
  6. พิมเสน 30 กรัม
  7. ตะไคร้ 200 กรัม
  8. ใบส้มป่อย 50 กรัม
  9. เกลือ 60 กรัม

วิธีทำ

  1. บดหรือทุบสมุนไพรแห้งพอหยาบ
  2. ผสมส่วนผสมทั้งหมดให้เข้ากัน
  3. ชั่งส่วนผสม 100 กรัม วางลงบนผ้า
  4. ห่อผ้าและมัดเชือกให้แน่น
  5. บรรจุลูกประคบไว้ในถุง เก็บในที่แห้ง สามารถเก็บได้ประมาณ 1 ปี

หลังจากอบรมวิธีการทำลูกประคบจากสมุนไพร ยังมีการสาธิตนวดแผนโบราณ โดยได้รับเกียรติจากกลุ่มงานแพทย์แผนไทยจากโรงพยาบาลนางรองมาสอนแก่ประชาชนบ้านสิงห์อีกด้วย

อื่นๆ

เมนู