ดิฉัน นางสาวพรสวรรค์ โกศล ( กลุ่มนักศึกษา )  

การปฏิบัติงานตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย เพิ่มเติมจากเดือนตุลาคม 2564

วันศุกร์ที่ 22 ตุลาคม 2564 เวลา 13.30 น. – 16.00 น. การอบรมการขอมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ คือ การขอ อย. และการขึ้นทะเบียน OTOP และมาตรฐาน มผช. โดยนักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ และนักวิชาการสาธารณสุข ณ ศาลาประชาคม หมู่บ้านหนองบัวราย ต.บ้านสิงห์ อ.นางรอง จังหวัดบุรีรัมย์

              เวลา 13.30 น. – 14.30 น. อบรม เรื่อง การจัดตั้งกลุ่มอาชีพพัฒนาสู่ผลิตภัณฑ์ OTOP บรรยายโดย นางภัททรวดี มักขุนทด นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ ซึ่งมีเนื้อหาดังนี้

 

เกร็ดความรู้เกี่ยวกับ อย.

https://www.fda.moph.go.th/sites/food/SitePages/Manual.aspx

 

การจัดตั้งกลุ่มอาชีพ พัฒนาสู่ผลิตภัณฑ์ OTOP

              ความหมายของ “กลุ่ม” หมายถึง การที่บุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไปมารวมกัน โดยมีการติดต่อสัมพันธ์กัน หรือปฏิสัมพันธ์กัน และมีจุดมุ่งหมายที่จะกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งร่วมกัน และความสัมพันธ์นี้จะช่วยให้สมาชิกกลุ่มอยู่ร่วมกันได้ในระดับพอดี การที่บุคคลมารวมกันเป็นกลุ่มจะต้องมีลักษณะหนึ่งหรือหลายลักษณะต่อไปนี้

  1. จะต้องมีปฏิสัมพันธ์กันเสมอ
  2. แต่ละคนจะถือว่าเป็นคนกันเอง เป็นสมาชิกกลุ่ม
  3. แต่ละคนในกลุ่มจะยอมรับกันเป็นสมาชิกกลุ่ม
  4. มีปทัสถานร่วมกัน (น. แบบแผนสําหรับยึดถือเป็นแนวทางปฏิบัติ)
  5. แต่ละคนจะมีบทบาทที่ชัดเจน
  6. มีการเลียนแบบลักษณะบางอย่างที่ตนคิดว่าเหมาะสมจากสมาชิกในกลุ่ม
  7. สมาชิกมีความคิดว่ากลุ่มจะต้องให้ผลประโยชน์ต่อสมาชิก
  8. สมาชิกจะแสวงหาเป้าหมายร่วมกัน
  9. มีการรับรู้ความเป็นเอกภาพของกลุ่มร่วมกัน
  10. สมาชิกกลุ่มจะต้องปฏิบัติตนให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของกลุ่ม

ความหมายของ “กลุ่มอาชีพ” การรวมตัวของชาวบ้านที่ประกอบอาชีพเดียวกัน ดำเนินกิจกรรมด้านอาชีพ กิจกกรมผลิต และจำหน่ายอย่างต่อเนื่องโดยมีคณะกรรมการดำเนินงานของกลุ่ม มีระเบียบข้อบังคับ

การบริหารจัดการกลุ่ม ( 5 ก )

              ก 1 : กลุ่ม/สมาชิก ที่มีความสมัครใจพร้อมที่จะให้ความร่วมมือในการดำเนินงานของกลุ่ม

              ก 2 : กรรมการ ซึ่งได้รับมอบหมายและเป็นตัวแทนจากสมาชิกให้บริหารกลุ่ม

              ก 3 : กฎ/กติกา ระเบียบข้อบังคับกลุ่มเพื่อใช้เป็นแนวทางปฏิบัติร่วมกัน ระหว่างสมาชิกและคณะกรรมการ

              ก 4 : กองทุน ปัจจัย เงินหรือเครื่องมือที่ทำให้กิจกรรมของกลุ่มดำเนินการได้และบรรลุตามวัตถุประสงค์ของกลุ่ม

              ก 5 : กิจกรรม เป็นสิ่งที่ร่วมกันปฏิบัติเพื่อสร้างรายได้ให้ครัวเรือนและชุมชน

การนำกลุ่มอาชีพเข้าสู่ OTOP

              จากแนวคิด หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (One Tambon One Product : OTOP) ที่เน้นกระบวนการ การสร้างรายได้จากผลิตภัณฑ์ในแต่ละหมู่บ้าน ชุมชน หรือตำบล เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้แต่ละชุมชน ได้นำทรัพยากรภูมิปัญญาในท้องถิ่นมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์และบริการคุณภาพที่มีจุดเด่นและมูลค่าเพิ่มเป็นที่ต้องการของตลาด สอดคล้องกับวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของท้องถิ่น โดยยึดหลักการพึ่งตนเองของชุมชน และรัฐพร้อมที่จะช่วยเหลือในด้านความรู้สมัยใหม่และการบริหารจัดการ เชื่อโยงสินค้าชุมชนสู่ตลาดทั้งในและต่างประเทศ

โครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP)

              ความเป็นมา

              รัฐบาลได้ดำเนินโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 และดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมทั่วทุกภูมิภาคทั่วประเทศ มีการแต่งตั้งคณะกรรมการระดับประเทศในส่วนกลางและคณะกรรมการระดับภูมิภาค โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้

    • สร้างงานและเพิ่มรายได้ให้แก่ชุมชน
    • เสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชน
    • ส่งเสริมการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น
    • ส่งเสริมการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
    • ส่งเสริมความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ของชุมชน

ประเภทผลิตภัณฑ์

          ประเภทผลิตภัณฑ์ หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ ที่จะนำดำเนินการลงทะเบียนต้องผ่านกระบวนการผลิต โดยใช้ภูมิปัญญาจำนวน 5 ประเภท ดังนี้

 

          1) ประเภทอาหาร หมายถึง ผลผลิตทางการเกษตร และอาหารแปรรูป ซึ่งได้รับมาตรฐาน อย., GMP, HACCP, Qmark, มผช., มอก., มาตรฐานเกษตรอินทรีย์, ฮาลาล และมีบรรจุภัณฑ์เพื่อการจำหน่ายทั่วไป แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้

               (1) ผลิตผลทางการเกษตรที่ใช้บริโภคสด

               (2) ผลิตผลทางการเกษตรที่เป็นวัตถุดิบ และผ่านกระบวนการแปรรูปเบื้องต้น

               (3) อาหารแปรรูปกึ่งสำเร็จรูป/สำเร็จรูป

          2) ประเภทเครื่องดื่ม แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้

               (1) เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์

               (2) เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์

          3) ประเภทผ้า เครื่องแต่งกาย

          4) ประเภทของใช้/ของตกแต่ง/ของที่ระลึก

          5) ประเภทสมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร

มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.)

          “ข้อกำหนดคุณลักษณะของผลิตภัณฑ์ที่ผลิตโดยชุมชน มีภูมิปัญญาท้องถิ่นและเอกลักษณ์เฉพาะ อยู่บนพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และเป็นที่ยอมรับของผู้ที่เกี่ยวข้อง”

เครื่องหมายมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน

          เครื่องหมายการรับรองคุณภาพที่แสดงกับผลิตภัณฑ์ชุมชนที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดมีลักษณะเป็นรูปมือประสานต่อเนื่องการภายในกรอบสี่เหลี่ยมจัตุรัสเป็นมุม 45 องศา

          มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน 2546-2563 ครอบคลุมผลิตภัณฑ์ 5 ประเภท

1) ประเภทอาหาร

 

2) ประเภทเครื่องดื่ม

3) ประเภทสมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร

 

4) ประเภทผ้าและเครื่องแต่งกาย

 

5) ประเภทเครื่องใช้ เครื่องประดับตกแต่ง ศิลปะประดิษฐ์และของที่ระลึก

 

หน่วยรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน

    • สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.)
    • สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด (สอจ.)

              สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดบุรีรัมย์

              97/7 ถ.อินจันทร์ณรงค์ ต.ในเมือง อ.เมืองบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์ 31000 โทร. 044-612934 ต่อ 401-404

ประโยชน์ของการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน

    • ผลิตภัณฑ์มีคุณภาพดีขึ้นมีความปลอดภัย
    • ผลิตภัณฑ์มีคุณภาพสม่ำเสมอ
    • ผู้ซื้อผู้บริโภคและผู้เกี่ยวข้องตัดสินใจได้ง่ายขึ้น
    • สร้างความเชื่อมั่นและความน่าเชื่อถือ
    • เพิ่มโอกาสทางการค้าผู้ผลิตท่อถึงการตลาดได้ง่ายขึ้น

          เวลา 14.30 – 16.00 น. อบรม เรื่อง การจัดตั้งกลุ่มอาชีพพัฒนาสู่ผลิตภัณฑ์ OTOP บรรยายโดย นายชยุต ชำนาญเนาว์ นักวิชาการอาหารและยา ปฏิบัติการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ซึ่งมีเนื้อหาดังนี้

 

กรณีศึกษาสถานที่ผลิตอาหารแปรรูปที่บรรจุในภาชะพร้อมจำหน่ายตามมาตรฐาน Primary GMP

          ความปลอดภัย คือ ปลอดภัยจากอันตราย 3 ประการ ได้แก่ กายภาพ เคมี และจุลินทรีย์

หัวใจ 3 ประการ ของการผลิตอาหารที่ปลอดภัย

หัวใจที่ 1 ลดอันตรายเบื้องต้น คัดเลือกวัตถุดิบ ส่วนผสมที่มีคุณภาพดี ใช้ภาชนะบรรจุที่สะอาด และมีการล้างทำความสะอาดรวมทั้งผลิตในสถานที่ที่มีสภาพแวดล้อมที่ดีและเครื่องมือ อุปกรณ์ไม่ก่อให้เกิดการปนเปื้อน

หัวใจที่ 2 ลด/ยับยั้ง-ทำลายเชื้อจุลินทรีย์ ใช้ความร้อนฆ่าเชื้ออย่างเพียงพอ

หัวใจที่ 3 ป้องกันการปนเปื้อนซ้ำ โดยการปฏิบัติงานอย่างถูกสุขลักษณะ แยกระหว่างของสุกและของดิบ

Primary GMP

              ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 342) พ.ศ.2555 เรื่อง วิธีการผลิต เครื่องมือ เครื่องใช้ในการผลิต และการเก็บรักษาอาหารแปรรูปที่บรรจุในภาชนะพร้อมจำหน่าย

ข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ : https://www.fda.moph.go.th

กำหนดหลักเกณฑ์การตรวจประเมินสถานที่ฯ 6 หมวด หลักเกณฑ์ Primary GMP

  1. สถานที่ตั้งและอาคารผลิต
  2. เครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้ในการผลิต
  3. การควบคุมกระบวนการผลิต
  4. การสุขาภิบาล
  5. การบำรุงรักษาและการทำความสะอาด
  6. บุคลากรและสุขลักษณะผู้ปฏิบัติงาน

 

วันพฤหัสบดีที่ 28 ตุลาคม 2564 เข้าร่วมการเสวนา เรื่อง จตุรภาคีสี่ประสาน สู่การพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน (Quadruple Helix) เสวนาออนไลน์ ผ่านระบบ Zoom เวลา 09.00-12.00 น.

 

วันศุกร์ที่ 29 ตุลาคม 2564 การลงพื้นที่อบรมการประชาสัมพันธ์และส่งเสริมการตลาดผลิตภัณฑ์ เรื่อง ตลาด Online สำหรับผู้ประกอบการ วิทยากรบรรยายโดย อาจารย์ปิติวรรณ ฝ้ายโคกสูง สาขาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ เพื่อให้มีความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับตลาดออนไลน์ การทำการตลาดสามารถทำได้โดยใช้สื่อออนไลน์ในการประชาสัมพันธ์ธุรกิจหรือสินค้า เช่น Facebook, Instagram, Google เพื่อให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น การสร้างเพจ “บ้านสิงห์ ของดีบอกต่อ” และการสอนเทคนิคการโพสต์ขายสินค้าอย่างไรจึงจะน่าสนใจดึงดูดลูกค้า

การปฏิบัติงานตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย ประจำเดือนพฤศจิกายน 2564

วันอาทิตย์ที่ 7 พฤศจิกายน 2564 ประชุมแผนการปฏิบัติงานเพื่อการแบ่งหน้าที่การรับผิดชอบในการจัดเก็บข้อมูล CBD เพิ่มเติม และการวิเคราะห์ Pain Point (SWOT, VROI หรือเครื่องมือวิเคราะห์ใดๆ ตามเหมาะสม) การจัดทำ PowerPoint นำเสนอข้อมูลผ่าน Dash Board หรือ G-Map โดยเลือก 3 หัวข้อจากทั้งหมด 10 หัวข้อใน CBD ได้แก่ แหล่งน้ำ อาหาร ภูมิปัญญา

วันเสาร์ที่ 13 พฤศจิกายน 2564 การลงพื้นที่อบรมการส่งเสริมการพัฒนาชุมชนเพื่อยกระดับการท่องเที่ยวและผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นในระดับตำบล ณ ศาลากลางบ้านหนองบัวราย ตำบลบ้านสิงห์ อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ การทำลูกประคบสมุนไพรและการนวดแผนไทย

          วิทยากรสาธิตการทำลูกประคบสมุนไพร : ดร.สุกัญญา ทองขัน และ ดร.วิรัญรัชน์ สื่อออก อาจารย์จากสาขาวิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์

 

สมุนไพรสำหรับทำลูกประคบ ใช้สมุนไพรสดหรือแห้งก็ได้แต่ต้องไม่มีรา

กลุ่มน้ำมันหอมระเหย (ใช้อย่างน้อย 3 อย่าง)

  • ไพล ช่วยลดอาการปวดเมื่อย เคล็ดขัดยอก คลายกล้ามเนื้อ ลดอาการอักเสบ ฟกช้ำ บวม
  • ตะไคร้ แต่งกลิ่น ลดอาการฟกช้ำ ลดอาการปวดเมื่อย
  • ขมิ้นอ้อย ช่วยลดอาการอักเสบ แก้โรคผิวหนัง
  • ขมิ้นชัน ช่วยลดอาการอักเสบ แก้โรคผิวหนัง
  • ผิวมะกรูด มีน้ำมันหอมระเหย แก้วิงเวียน (ถ้าไม่มีใช้ใบแทนได้)
  • ผิวส้ม บรรเทาลมวิงเวียน
  • ข่า รักษาโรคผิวหนัง กลากเกลื้อน

กลุ่มที่มีรสเปรี้ยว (กรดอ่อนๆ)

  • ใบมะขาม ช่วยให้เส้นเอ็นหย่อน แก้โรคผิวหนังผื่นคัน ช่วยบำรุงผิว
  • ใบขี้เหล็ก ช่วยละลายไขมันใต้ผิวหนัง ช่วยบำรุงผิว
  • ใบส้มป่อย ช่วยบำรุง แก้โรคผิวหนัง ลดความดัน

กลุ่มสารที่มีกลิ่นหอม จะระเหยเมื่อถูกความร้อน

  • การบูร แต่งกลิ่น บำรุงหัวใจ
  • พิมเสน แต่งกลิ่น ลดอาการพุพองผดผื่น บำรุงหัวใจ
  • เกลือ ช่วยดูดความร้อน และช่วยพาให้ตัวยาซึมผ่านผิวหนังได้ดีขึ้น

การเก็บรักษาลูกประคบ

  • เก็บไว้ในที่แห้ง ไม่มีฝุ่น
  • สำหรับลูกคบสมุนไพรสด สามารถเก็บไว้ในตู้เย็นได้ 3-5 วัน

การใช้งาน

  • สำหรับลูกประคบแห้ง ควรพรมน้ำบนลูกประคบก่อนนำไปนึ่ง
  • นำลูกประคบที่ได้ไปนึ่งในหม้อนึ่ง ใช้เวลาประมาณ 15-20 นาที

การทำลูกประคบสมุนไพร

วัสดุและอุปกรณ์ (สำหรับลูกประคบจำนวน 10 ลูก)

  1. ผ้าดิบหรือผ้าฝ้าย ขนาด 40×40 เซนติเมตร
  2. เชือก ยาว 200 เซนติเมตร
  3. ภาชนะสำหรับผสมสมุนไพร
  4. เครื่องชั่ง

สูตรนี้ใช้สำหรับสมุนไพรแห้ง (สามารถนำสมุนไพรสดไปตากหรืออบแห้งได้)

  1. ไพล 400 กรัม
  2. ขมิ้นชัน 100 กรัม
  3. ตะไคร้ 200 กรัม
  4. ผิวมะกรูด 100 กรัม
  5. ใบมะขาม 100 กรัม
  6. ใบส้มป่อย 50 กรัม
  7. การบูร 30 กรัม
  8. พิมเสน 30 กรัม
  9. เกลือ 60 กรัม

วิธีการทำลูกประคบ

  1. บดหรือทุบสมุนไพรแห้งพอหยาบ
  2. ผสมส่วนผสมทั้งหมดให้เข้ากัน
  3. ชั่งส่วนผสม 100 กรัม วางลงบนผ้า
  4. ห่อผ้าและมัดเชือกให้แน่น
  5. บรรจุลูกประคบไว้ในถุง เก็บในที่แห้ง สามารถเก็บได้ประมาณ 1 ปี

วิทยากรสาธิตการนวดแผนไทย : คุณสิริเพ็ญ มาตา และขนิษฐา สิงห์สถิตย์ จากโรงพยาบาลนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์

การนวดไทยหรือหัตถเวชกรรมไทย มี 2 ประเภท คือ การนวดราชสำนัก และการนวดเชลยศักดิ์ การนวดราชสำนักใช้นิ้วและอุ้งมือในการนวดเพื่อรักษาเท่านั้น ไม่สามารถใช้เท้าหรือศอกได้ การนวดไทยในโรงพยาบาลส่วนใหญ่ใช้ในการนวดราชสำนักซึ่งมีทั้งการนวดเฉพาะจุด เช่น การนวดบ่าหรือไหล นวดฝ่าเท้า เป็นต้น และการนวดทั้งตัว ผู้ป่วยที่มานวดจะต้องไม่มีไข้ ความดันโลหิตปกติ ไม่มีภาวะอดนอน หรือรับประทานอาหารอิ่มเกินไป และไม่นิยมนวดในสตรีขณะมีประจำเดือน (ธีรยา นิยมศิลป์ และณัฏฐิญา ค้าผล.การให้บริการด้านการแพทย์แผนไทยในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข.วารสารไทยไภษัชยนิพนธ์.2553 : 182.)

วิธีนวดชนิดต่างๆ

  1. การกด มักจะใช้นิ้วมือเป็นการนวด โดยทั่วไปนิยมใช้นิ้วหัวแม่มือเป็นตัวหลัก เทคนิคการวางนิ้วอาจจะกดลงไปตรงๆ ด้วยกลางนิ้วบริเวณข้อต่อที่ 2 ไม่ใช้บริเวณปลายนิ้วกด อาจกดเพียงนิ้วเดียว หรือใช้นิ้วหัวแม่มือทั้งสองวางคู่กันกดลงไปก็ได้ เทคนิคการกดนั้น มักจะใช้กับบริเวณที่เป็นจุดเฉพาะ ซึ่งจะลงน้ำหนักได้แม่นยำตรงจุด ใช้กับการนวดกล้ามเนื้อทั่ว ๆ ไป
  2. การคลึง คือ การหมุนวนเป็นวงกลมขณะนวด พร้อมยังมีการเคลื่อนที่ไปรอบๆบริเวณนั้นด้วย โดยมักจะใช้กับกล้ามเนื้อมัดใหญ่ที่ต้องออกแรงมากโดยใช้นิ้วมือฝ่ามือ หรือสันมือในการคลึงก็ได้ กล้ามเนื้อจะผ่อนคลายได้ดีเราจะรู้สึกสบายเป็นวิธีการที่นุ่มนวลไม่รุนแรง
  3. การบีบ วิธีนี้ใช้กันอยู่บ่อยๆ คือการใช้แรงกระทำต่อกล้ามเนื้อโดยตรง ต้องการให้กล้ามเนื้อทั้งมัดนั้นมีการผ่อนคลาย มักจะใช้กับกล้ามเนื้อใหญ่ เช่น แขน ขา หลัง เป็นต้น และใช้กับกล้ามเนื้อที่มีอาการเกร็งตัวได้ดี
  4. การบิด คือการเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อให้ไปในแนวขวางเป็นการยึดกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น และข้อต่อต่างๆ โดยจับกล้ามเนื้อให้เต็มฝ่ามือ แล้วบิดหมุนเป็นลูกคลื่นไปตามกล้ามเนื้อ ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้กับกล้ามเนื้อมัดใหญ่ๆ เช่น แขน ขา และหลังเป็นต้น
  5. การดัด มักจะใช้กับข้อต่อที่มีการติดแข็ง หรือมีอาการขัดในข้อ เทคนิคนี้ค่อนข้างต้องใช้ความชำนาญสูงเพราะอาจเกิดอันตรายได้ง่าย ทั้งต่อเยื่อพังผืด เส้นเอ็น กล้ามเนื้อ และข้อต่อ
  6. การดึง เป็นการหยิบกล้ามเนื้อยืดออก มักใช้กับรายที่มีการหดรั้งของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นต่างๆ เทคนิคดึงนี้ก็ต้องใช้ความชำนาญเหมือนกัน เพราะจะเกี่ยวข้องกับข้อต่อซึ่งบริเวณที่บาดเจ็บนั้นจะอ่อนแอ และอาจฉีกขาดได้ง่าย ถ้าเราใช้แรงดึงที่มากเกินไป
  7. การทุบ การเคาะ และการสับ เป็นการออกแรงอย่างเป็นจังหวะ อาจใช้กำปั้นหลวมๆ ใช้สันมือหรือใช้ฝ่ามือ เคาะสับลงไปตรงบริเวณที่ต้องการเป็นจังหวะ เพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้อ โดยมากจะใช้กับกล้ามเนื้อใหญ่ๆ เช่น หลัง คอ บ่า ไหล่ เป็นต้น
  8. การเหยียบ มักใช้กับกล้ามเนื้อใหญ่ เช่น แขน ขา หลัง แต่อาจเกิดอันตรายได้ง่าย เนื่องจาก การเหยียบนั้นกะน้ำหนักได้ไม่ค่อยแม่นยำนัก มักจะออกแรงมากเกินไป ทำให้เกิดการบาดเจ็บจากการนวดขึ้นได้ ถ้าจะใช้เทคนิคนี้ต้องแน่ใจในฝีมือจริงๆ และต้องมั่นใจว่าปลอดภัยจึงจะใช้ได้

ประโยชน์ของการนวด

  1. ช่วยให้เลือดลมไหลเวียนคล่อง เพื่อให้เลือดสามารถนำออกซิเจน ไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ภายในร่างกายได้อย่างทั่วถึง
  2. ขับของเสีย ไม่ว่าจะเป็นทางน้ำเหลือง เพื่อไม่ให้มีการสะสมของเสียไว้ในร่างกาย สุขภาพก็ดีขึ้น
  3. แก้อาการปวดต่างๆ เช่นปวดยอก ปวดคอ ปวดหลัง ปวดสะโพก อาการชา เนื่องจากไหลเวียนเลือดไม่ดี เป็นต้น
  4. ช่วยคลายการปวดเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ สลายพังผืด ที่เป็นต้นเหตุในของขัดการไหลเวียนของเลือดและทำให้เกิดการอักเสบปวดกล้ามเนื้อ
  5. แก้ไขในส่วนที่เป็นต้นเหตุของการเจ็บปวด ซึ่งช่วยให้การเคลื่อนไหวร่างกายให้เป็นปกติ
  6. เพิ่มความยืดหยุ่นของข้อต่อ / กล้ามเนื้อ ปรับสมดุลของร่างกาย
  7. ช่วยให้รู้สึกผ่อนคลายสบายอารมณ์ สุขภาพจิตดี อารมณ์สงบ นอนหลับได้ง่ายขึ้น และหายจากอาการซึมเศร้าได้

ข้อห้าม และสิ่งที่ควรระวังจากการนวด

  • ห้ามนวดบริเวณที่เป็นมะเร็ง
  • ห้ามนวดบริเวณที่บาดเจ็บหรืออักเสบเฉียบพลัน บวม แดง ร้อน
  • ห้ามนวดผู้ป่วยภาวะหลอดเลือดดำอุดตัน ภาวะการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ เป็นโรคเลือดต่าง ๆ มีภาวะเกล็ดเลือดต่ำอย่างรุนแรง
  • ห้ามนวดคนที่มีภาวะกระดูกแตก หัก ปริ ร้าว ที่ยังไม่หายดี หรือตำแหน่งที่มีการผ่าตัดกระดูกและยังไม่ประสาน
  • ห้ามนวดคนโรคติดเชื้อทางผิวหนังทุกชนิด
  • สตรีมีครรภ์ เพื่อความปลอดภัยของทารกและตัวคุณแม่เอง
  • ผู้ที่มีภาวะกระดูกพรุน กระดูกบาง
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง
  • ผู้ที่ใส่อวัยวะเทียม

 

 

สรุปการปฏิบัติงานเดือนพฤศจิกายน เนื่องด้วยผู้ปฏิบัติงานและคนในพื้นที่ตำบลบ้านสิงห์ อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสโคโรนา 2019 พอสมควร จึงทำให้มีการลงพื้นที่สำหรับปฏิบัติงานได้สะดวกมากขึ้น แต่ยังคงมีการรักษามาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 19  มีการวางแผนการรับมือ และป้องกันตนเองกับสถานการณ์ฯ อย่างต่อเนื่องและเป็นประจำขึ้น และสำหรับการปฏิบัติงานในเดือนพฤศจิกายนก็ได้มีการอบรมการขอมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ อบรมการประชาสัมพันธ์และส่งเสริมการตลาดผลิตภัณฑ์ อบรมการส่งเสริมการพัฒนาชุมชนเพื่อยกระดับการท่องเที่ยวและผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นในระดับตำบลการทำลูกประคบสมุนไพรและการนวดแผนไทย

 

อื่นๆ

เมนู