ดิฉัน นางสาววรลักษณ์ ไกรษร กลุ่มบัณฑิตจบใหม่ ต.บ้านสิงห์ อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์
หลักสูตร : ส่งเสริมอาชีพและพัฒนาขนม HS03
เดือนพฤศจิกายน
การปฏิบัติงานในเดือนตุลาคม – เดือนพฤศจิกายน มีความเข้มข้นมากขึ้นเนื่องจากสถานการณ์โรคระบาด โควิด-19 ที่เริ่มคลี่คลายลง ทำให้การปฏิบัติงานดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่องตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ดังนั้นการปฏิบัติงานในเดือนนี้จึงมีการลงพื้นที่เพิ่มมากขึ้นตามจำนวนงานที่ได้รับมอบหมาย
เนื่องจากมีการลงพื้นที่ในช่วงต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา โดยเป็นการลงพื้นที่เพื่ออบรมการทำผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร อาจารย์ประจำหลักสูตรจึงได้นัดหมายให้ผู้ปฏิบัติงานทุกคนเข้าร่วมกิจกกรมในครั้งต่อ ๆ ไปโดยกิจกรรมที่ได้ทำในช่วงปลายเดือนตุลาคม – เดือนพฤศจิกายน มีดังนี้
21 ตุลาคม 2564
ดิฉันและผู้ปฏิบัติงานกลุ่มบัณฑิตจบใหม่ ได้ลงพื้นที่ ณ ศาลาประชาคม บ้านหนองบัวราย หมู่ 7 ต.บ้านสิงห์ อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ เพื่อจัดสถานที่ที่จะใช้ในการอบรมในวันที่ 22 ตุลาคม 2564
22 ตุลาคม 2564
อาจารย์ประจำหลักสูตร ผู้ปฏิบัติงานตำบลบ้านสิงห์ทุกคน และตัวแทนชาวบ้านในแต่ละหมู่บ้านของตำบลบ้านสิงห์ ได้เดินทางมาเข้าร่วมอบรมที่ ศาลาประชาคม บ้านหนองบัวราย หมู่ 7 ต.บ้านสิงห์ อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ เวลา 13.00 – 16.00 น. ในหัวข้อเรื่องการขอมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ คือ การขอ อย. การขึ้นทะเบียนสินค้า OTOP และมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) โดย นางภัทรวดี มักขุนทด นักวิชาการชุมชนชำนาญการ และนายชยุท ชำนาญเนาว์ นักวิชาการสาธารณสุข ซึ่งเนื้อหาที่ใช้ในการอบรมมีดังนี้
การขึ้นทะเบียนสินค้า OTOP
การดำเนินงานโครงการคัดสรรสุดยอดหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ไทย (OTOP Product Champion) เป็นกิจกรรมหนึ่งของการดำเนินงานโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ เพื่อจัดระดับผลิตภัณฑ์ที่จะนำไปสู่การพัฒนา ซึ่งกรมการพัฒนาชุมชนดำเนินการคัดสรรสุดยอดหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ไทย (OTOP Product Champion) ต่อเนื่องจากการลงทะเบียนผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 เพื่อเป็นการส่งเสริมสนับสนุนให้ผลิตภัณฑ์ OTOP ได้มีโอกาสพัฒนาให้มีคุณภาพมาตรฐาน เป็นที่ยอมรับแก่บุคคลทั่วไป จนสามารถใช้เป็นแหล่งสร้างรายได้และความเข้มแข็งให้กับชุมชน อีกทั้งเป็นการกระตุ้นให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมของผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP และชุมชนในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ให้มีมาตรฐานในระดับสากล
- วัตถุประสงค์
1.1 เพื่อจัดระดับผลิตภัณฑ์ (Product Level) ที่จะนำไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ (Product Development)
1.2 เพื่อจัดระบบฐานข้อมูลผลิตภัณฑ์ (Profile) ที่จะใช้ในการทำงานเชิงบูรณาการของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
1.3 เพื่อประชาสัมพันธ์และเสริมสร้างคุณค่าของผลิตภัณฑ์ให้เป็นที่ยอมรับแก่บุคคลทั่วไป จนสามารถใช้เป็นแหล่งสร้างรายได้และความเข้มแข็งให้กับชุมชน
1.4 เพื่อกระตุ้นให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมของผู้ผลิต/ผู้ประกอบการ OTOP และชุมชนในการพัฒนาผลิตภัณฑ์
- กรอบการคัดสรรสุดยอดหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ไทย
2.1 สามารถส่งออกได้ (Exportable) โดยมีความแกร่งของตราผลิตภัณฑ์ (Brand Equity)
2.2 ผลิตอย่างต่อเนื่องและคุณภาพคงเดิม (Continuous & Consistent)
2.3 ความมีมาตรฐาน (Standardization) โดยมีคุณภาพ (Quality) และสร้างความพึงพอใจแก่ลูกค้า (Satisfaction)
2.4 มีประวัติความเป็นมาของผลิตภัณฑ์ (Story of Product) ที่สะท้อนอัตลักษณ์ของชุมชนเชิงพื้นที่
- ประเภทผลิตภัณฑ์ที่เข้าคัดสรรฯ
3.1 ประเภทอาหาร
3.2 ประเภทเครื่องดื่ม
3.3 ประเภทผ้า เครื่องแต่งกาย
3.4 ประเภทของใช้/ของตกแต่ง/ของที่ระลึก
3.5 ประเภทสมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร
- การจัดระดับผลิตภัณฑ์
4.1 ระดับ 5 ดาว (ได้คะแนนตั้งแต่ 90 -100 คะแนน) เป็นสินค้าที่มีคุณภาพมาตรฐาน หรือมีศักยภาพในการส่งออก
4.2 ระดับ 4 ดาว (ได้คะแนนตั้งแต่ 80 – 89 คะแนน) เป็นสินค้าที่มีศักยภาพ เป็นที่ยอมรับระดับประเทศ และสามารถพัฒนาสู่สากล
4.3 ระดับ 3 ดาว (ได้คะแนนตั้งแต่ 70 – 79 คะแนน) เป็นสินค้าที่มีคุณภาพระดับกลางที่สามารถพัฒนาสู่ระดับ 4 ดาวได้
4.4 ระดับ 2 ดาว (ได้คะแนนตั้งแต่ 50 – 69 คะแนน) เป็นสินค้าที่สามารถพัฒนาสู่ระดับ 3 ดาว มีการประเมินศักยภาพเป็นระยะ
4.5 ระดับ 1 ดาว (ได้คะแนนต่ำกว่า 50 คะแนน) เป็นสินค้าที่ไม่สามารถพัฒนาสู่ระดับ 2 ดาวได้ เนื่องจากมีจุดอ่อนมาก และพัฒนายาก
การขอมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.)
1.คุณสมบัติของผู้ยื่นคำขอ
- ผู้ยื่นคำขอต้องเป็นผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ชุมชน ไม่เป็นผู้แอบอ้าง หรือทำการผลิตแอบแฝง และสมบัติในข้อหนึ่งข้อใด ดังต่อไปนี้
1.2 บุคคลทั่วไป
1.3 กลุ่มผู้ผลิตชุมชนที่ขึ้นทะเบียนไว้กับหน่วยงานราชการหรือกลุ่มตามกฎหมายวิสาหกิจชุมชน
1.4 นิติบุคคลที่ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์
- การรับรอง
2.1 การรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์ชุมชน ประกอบด้วยการดำเนินการดังนี้
2.1.1 ตรวจสอบสถานที่ผลิตและเก็บตัวอย่างจากสถานที่ผลิตส่งตรวจสอบ เพื่อพิจารณาออกใบรับรอง
2.1.2 ตรวจติดตามผลคุณภาพผลิตภัณฑ์ชุมชนที่ได้รับการรับรอง โดยสุ่มซื้อตัวอย่างที่ได้รับการรับรองจากสถานที่จัดจำหน่าย เพื่อตรวจสอบ
2.2 การขอการรับรอง ให้ยื่นคำขอต่อสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดที่สถานที่ผลิตตั้งอยู่ พร้อมหลักฐานและเอกสารต่าง ๆ ตามแบบที่สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมกำหนด
หมายเหตุ ให้ยื่นคำขอได้ตั้งแต่ 1 ตุลาคม ถึง 30 มิถุนายน ของปีงบประมาณเท่านั้น
2.3 เมื่อได้รับคำขอตามข้อ 2.2 แล้ว สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม/สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด จะนัดหมายการตรวจสอบสถานที่ผลิตเก็บตัวอย่างส่งทดสอบ
2.4 ประเมินผลการตรวจสอบว่าเป็นไปตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชนที่ได้กำหนดไว้หรือไม่
2.5 ใบรับรองผลิตภัณฑ์ มีอายุ 3 ปี นับตั้งแต่วันที่ระบุในใบรับรอง
2.6 การขอต่ออายุใบรับรองหรือการออกใบรับรองฉบับใหม่เมื่อใบรับรองฉบับเก่าสิ้นอายุ ให้ดำเนินการตามข้อ 2.2 ถึง 2.4
- การตรวจติดตาม
3.1 ผู้ได้รับการรับรอง ต้องรักษาไว้ซึ่งคุณภาพตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน ที่กำหนดไว้ ตลอดระยะเวลาที่ได้รับการรับรอง
3.2การประเมินผลการตรวจสอบตัวอย่างที่สุ่มซื้อเพื่อตรวจติดตามผลต้องเป็นไปตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชนที่กำหนด
3.3 การตรวจติดตามผลทำอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
- การยกเลิกการรับรอง
สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม จะยกเลิกใบรับรอง กรณีใดกรณีหนึ่งดังต่อไปนี้
4.1 ผลิตภัณฑ์ที่ตรวจติดตามผลไม่เป็นไปตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน 2 ครั้ง ติดต่อกัน
4.2 ผู้ได้รับการรับรองขอยกเลิกใบรับรอง
4.3 มีการประกาศแก้ไขหรือยกเลิกมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชนที่ได้กำหนดไว้
4.4 เมื่อใบรับรองครบอายุ 3 ปี นับจากวันที่ได้รับการรับรอง
4.5 กรณีมีการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขต่าง ๆ ที่กำหนด เช่น การอวดอ้างเกินความเป็นจริง โฆษณาการได้รับการรับรองครอบคลุมรวมถึงผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้รับการรับรอง
- อื่น ๆ
5.1 กรณีที่ยกเลิกใบรับรอง ผู้ได้รับการรับรองต้องยุติการใช้สิ่งพิมพ์ สื่อโฆษณา ที่มีการอ้างอิง ถึงการได้รับการรับรองทั้งหมด
5.2 สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ไม่รับผิดชอบในการกระทำใด ๆของผู้ได้รับการรับรองที่ได้กระทำไปโดยไม่สุจริตหรือไม่ปฏิบัติตามหรือฝ่าฝืนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด
คาดประโยชน์ที่ได้รับจากโครงการมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน
- 1. เป็นการสนับสนุนผู้ผลิตรายย่อยให้ทำผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ และสนับสนุนด้านการตลาดโดยการให้เครื่องหมายรับรองซึ่งจะเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน และยกระดับการผลิตต่อไป
- 2. เป็นการสนองตอบนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลในโครงการ หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ ในด้านคุณภาพผลิตภัณฑ์หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ ให้ผ่านการรับรองเพื่อสามารถแสดงสัญลักษณ์
- 3. เป็นการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์เพื่อยกระดับให้มีการปรับปรุงการผลิตให้ดียิ่งขึ้น เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของธุรกิจชุมชน โดยเฉพาะในโครงการ หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ ทั่วประเทศ
- 4. เป็นการส่งเสริมด้านการตลาด ให้เป็นที่ยอมรับและเพิ่มความเชื่อถือของผู้ซื้อในและต่างประเทศ
การขอ อย. กรณีศึกษาสถานที่ผลิตอาหารแปรรูปที่บรรจุในภาชนะพร้อมจำหน่ายตามมาตรฐาน Primary GPM
GMP คือ ระบบประกันคุณภาพที่มีการปฏิบัติและพิสูจน์แล้วจากกลุ่มนักวิชาการด้านอาหารทั่วโลกว่า สามารถทำให้อาหารเกิดความปลอดภัย และเป็นที่เชื่อถือยอมรับจากผู้บริโภค โดยอาศัยหลายปัจจัยที่เชื่อมโยงสัมพันธ์กัน ดังนั้นหากปฏิบัติตามแนวทางที่กำหนดได้ทั้งหมด ก็จะทำให้อาหารมีคุณภาพมีความปลอดภัยและได้มาตรฐาน
ข้อกำหนดทั่วไป หรือ General GMP
- สุขลักษณะของสถานที่ตั้งกับอาคารผลิต สถานที่ตั้งตัวอาคารกับบริเวณใกล้เคียง จะต้องอยู่ในที่ที่จะไม่ทำให้อาหารที่ผลิตเกิดการปนเปื้อนได้ง่าย และอาคารผลิตมีขนาดเหมาะสม มีการออกแบบและก่อสร้างที่ง่ายแก่การบำรุงสภาพรักษาความสะอาด และสะดวกในการปฏิบัติงาน ต้องจัดให้มีพื้นที่เพียงพอ ต้องแยกบริเวณผลิตอาหารออกเป็นสัดส่วน มีการระบายอากาศอย่างเพียงพอ เพื่อลดอันตรายที่อาจเกิดขึ้นเนื่องจากความชื้นหรือฝุ่นละอองจากการผลิต
- เครื่องมือ เครื่องจักร และอุปกรณ์ที่ใช้ในการผลิต จะต้องทำจากวัสดุที่ไม่ทำปฏิกิริยากับอาหาร ไม่เป็นพิษ ไม่เป็นสนิม มีความแข็งแรงทนทาน จำนวนเครื่องมือ เครื่องจักรกับอุปกรณ์ต้องมีอย่างเพียงพอ และเหมาะสมต่อการปฏิบัติงานในแต่ละประเภท การจัดเก็บอุปกรณ์ที่ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อแล้ว ควรจัดเก็บแยกเป็นสัดส่วน อยู่ในสภาพที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้มีโอกาสเกิดการปนเปื้อนจากฝุ่นละอองกับสิ่งสกปรกต่าง ๆ
- การควบคุมกระบวนการผลิต การดำเนินการทุกขั้นตอนจะต้องมีการควบคุมตามหลักสุขาภิบาลที่ดี ทั้งวัตถุดิบ ส่วนผสม ภาชนะบรรจุ การผลิต การเก็บรักษา การขนย้าย และขนส่งผลิตภัณฑ์อาหาร
- การสุขาภิบาล เป็นเกณฑ์สำหรับสิ่งที่อำนวยความสะดวกในการปฏิบัติงานทั้งหลาย เช่น น้ำใช้ อ่างล้างมือ ห้องน้ำ ห้องส้วม ระบบกำจัดขยะมูลฝอย ทางระบายน้ำทิ้ง การป้องกันและกำจัดสัตว์กับแมลง
- การบำรุงรักษา และการทำความสะอาด ช่วยให้การทำงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และป้องกันการปนเปื้อนของสารอันตรายสู่อาหาร โดยต้องทำความสะอาด ดูแลและเก็บรักษาเครื่องมือ เครื่องจักร และอุปกรณ์ในการผลิตให้อยู่ในสภาพที่สะอาด ทั้งก่อนและหลังการผลิต
- บุคลากร สวมเสื้อผ้าที่สะอาดและเหมาะสมต่อการปฏิบัติงาน เพื่อป้องกันการปนเปื้อนจากการปฏิบัติงานและตัวบุคลากร ซึ่งผู้ปฏิบัติงานในบริเวณผลิตจะต้องมีสุขภาพดี ไม่เป็นวัณโรคในระยะอันตราย โรคผิวหนังที่น่ารังเกียจหรือโรคเรื้อน
28 ตุลาคม 2564
ดิฉันและผู้ปฏิบัติงานตำบลบ้านสิงห์ทุกคนได้เข้าร่วมการงานเสวนาออนไลน์ผ่านระบบ Zoom เรื่อง “Quadruple Helix : จตุรภาคีสี่ประสานสู่การพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน”
โดยรองศาสตราจารย์มาลินี จุโฑปะมา อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ เป็นประธานเปิดโครงการเสวนา วิทยากรผู้ร่วมเสวนามีดังนี้
- นายคำเดื่อง ภาษี ประธานกลุ่มปราชญ์ชาวบ้านจังหวัดบุรีรัมย์
- รองศาสตราจารย์ ดร.ประสาท เนืองเฉลิม มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
- นายณัชอิสร์ ศรีสุขพรชัย ประธานหอการค้าจังหวัดบุรีรัมย์
- นายสุพจน์ สวัสดิ์พุทรา นายกเทศมนตรีตำบลอิสาน
- รองศาสตราจารย์ ดร.อัครพนท์ เนื้อไม้หอม คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
ดำเนินการเสวนาโดย นายชมพู อิสริยาวัฒน์ รองคณบดีฝ่ายพันธกิจชุมชนสัมพันธ์และภูมิทัศน์ คณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์
ซึ่งในการเสวนาครั้งนี้ ได้พูดถึงประเด็นต่าง ๆ ในการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนดังต่อไปนี้
SDGs ย่อมาจาก Sustainable Development Goals–SDGs หรือแปลเป็นไทยก็คือ “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” ถ้าถามว่าการพัฒนาที่ยั่งยืนคืออะไร ต้องบอกว่าคือการพัฒนาที่สมดุลกันใน 3 เสาหลักของมิติความยั่งยืน (Three Pillars of Sustainability) นั่นคือ สังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ส่วนรายละเอียดของ SDGs ในมิติสังคมที่ประกอบด้วยเป้าหมาย 5 ข้อ มีดังนี้
เป้าหมายที่ 1: ขจัดความยากจน (No Poverty) เป้าหมายแรกของการพัฒนาอย่างยั่งยืน ในมิติสังคม คือ การขจัดความยากจนทุกรูปแบบในทุกพื้นที่ (End poverty in all its forms everywhere) โดยในทั่วโลก ผู้คนกว่า 800 ล้านคน ต้องอยู่ด้วยเงินน้อยกว่า 1.25 ดอลลาห์ต่อวัน ขาดการเข้าถึงน้ำดื่มสะอาด อาหาร และสุขอนามัยที่เพียงพอ โดย SDGs มีเป้าหมายที่จะขจัดความยากจนในทุกรูปแบบให้แล้วเสร็จภายในปี 2573 ซึ่งเป้าหมายดังกล่าวเกี่ยวข้องกับการกำหนดกลุ่มเป้าหมายที่อาศัยอยู่ในสถานการณ์ที่มีความเสี่ยงในการเข้าถึงทรัพยากรและการบริการขั้นพื้นฐาน รวมถึงช่วยเหลือชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งและภัยพิบัติที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ
เป้าหมายที่ 2: ขจัดความหิวโหย (Zero Hunger) เป้าหมายต่อมาคือ การขจัดความหิวโหย บรรลุความมั่นคงทางอาหารและยกระดับโภชนาการและส่งเสริมเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน (End hunger, achieve food security and improved nutrition and promote sustainable agriculture) โดยมุ่งขจัดความหิวโหยในหลายเรื่อง เช่น การเข้าถึงอาหารที่เพียงพอและมีคุณค่าทางโภชนาการ การยุติภาวะทุพโภชนาการ การเพิ่มผลิตภาพ การเข้าถึงทรัพยากรและโอกาสต่าง ๆ ของเกษตรกรรายย่อย เป็นต้น
เป้าหมายที่ 3: การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี (Good Health And Well-Being) เป้าหมายนี้คือ การสร้างหลักประกันว่าคนมีชีวิตที่มีสุขภาพดีและส่งเสริมสวัสดิภาพสำหรับทุกคนในทุกวัย (Ensure healthy lives and promote well-being for all at all ages) ซึ่งคำว่าสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีครอบคลุมในหลายเรื่อง เช่น การลดอัตราการตายของมารดา การยุติการตายที่ป้องกันได้ของทารกแรกเกิด การลดการตาย ทั้งจากการตายก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อ จากอุบัติเหตุทางถนน และจากสารเคมีอันตราย การปนเปื้อนและจากมลพิษต่าง ๆ รวมถึงการยุติการแพร่กระจายของเอดส์ วัณโรค และมาลาเรีย ปัญหาเรื่องยาเสพติด ปัญหาเรื่องอนามัยการเจริญพันธุ์และการวางแผนครอบครัว ปัญหาการเข้าถึงบริการสาธารณสุข เป็นต้น
เป้าหมายที่ 4: การศึกษาที่เท่าเทียม (Quality Education) เป้าหมายถัดมาก็คือ การสร้างหลักประกันว่าทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม และสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Ensure inclusive and equitable quality education and promote lifelong learning opportunities for all) ซึ่งครอบคลุมหลายประเด็น เช่น การเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพในทุกระดับ ตั้งแต่ปฐมวัย ประถมศึกษา มัธยมศึกษา ระดับเทคนิค อาชีวศึกษา อุดมศึกษา และมหาวิทยาลัย นอกจากนี้เยาวชนทุกคนและผู้ใหญ่ส่วนใหญ่ต้องสามารถอ่านออกเขียนได้และคำนวณได้ เน้นขจัดความเหลื่อมล้ำทางเพศในการศึกษา และการเข้าถึงการศึกษาของผู้พิการ ชนพื้นเมือง และกลุ่มเปราะบาง อีกทั้งยังส่งเสริมให้เพิ่มจำนวนผู้ที่มีทักษะทางเทคนิคและอาชีพสำหรับการจ้างงาน และการเป็นผู้ประกอบการ เป็นต้น
เป้าหมายที่ 5: ความเท่าเทียมทางเพศ (Gender Equality) เป้าหมายข้อสุดท้ายในมิติสังคมคือ การบรรลุความเท่าเทียมระหว่างเพศ และเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่สตรีและเด็กหญิง (Achieve gender equality and empower all women and girls) เป้าหมายนี้ครอบคลุมเรื่องการยุติการเลือกปฏิบัติ การขจัดความรุนแรงทุกรูปแบบต่อผู้หญิงและเด็กหญิง การยอมรับและให้คุณค่าต่อการดูแลและทำงานบ้านแบบไม่ได้รับค่าจ้าง การมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่และมีประสิทธิผลในการเป็นผู้นำและการตัดสินใจในทุกระดับ การเข้าถึงสุขภาพทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์โดยถ้วนหน้า เป็นต้น
เมื่อการเสวนาจบลง รองศาสตราจารย์ ดร.อัครพนธ์ เนื้อไม้หอม คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ กล่าวขอบคุณวิทยากร และกล่าวปิดโครงการ
29 ตุลาคม 2564
อาจารย์ประจำหลักสูตร ผู้ปฏิบัติงานตำบลบ้านสิงห์ทุกคน และตัวแทนชาวบ้านในแต่ละหมู่บ้านเข้าร่วมการอบรม ณ ศาลาประชาคม บ้านหนองบัวราย หมู่ 7 ต.บ้านสิงห์ อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ เวลา 09.00 – 13.00 น. เรื่องตลาดออนไลน์สำหรับผู้ประกอบการ โดยวิทยากรผู้ให้ความรู้คือ อาจารย์ปิติวรรณ ฝ้ายโคกสูง สาขาวิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ โดยการอบรมในครั้งนี้จะมีผู้ที่สนใจนำผลิตภัณฑ์ที่ตนเองทำอยู่มาเข้าร่วมอบรมด้วย คือ ตะกร้าสาน ขนมดอกจอก ขนมทองม้วน มะพร้าวเผา กล้วยฉาบ เพื่อใช้ในการถ่ายรูปประชาสัมพันธ์ การอบรมส่วนใหญ่จะสอนทำการตลาดออนไลน์ผ่านเพจFacebook ซึ่งมีสิ่งที่ควรเรียนรู้ต่าง ๆ ดังนี้
แผนการตลาดที่ดี จะล้อกับองค์ประกอบทั้ง 5 ข้อนี้ ว่าแผนสามารถให้คำตอบในทุกเรื่องได้ดีแค่ไหน
- ธุรกิจกำลังอยู่จุดไหน กำลังจะทำอะไร หรือต้องการขายอะไร (What)
- ธุรกิจต้องการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายแบบไหน (Who)
- ธุรกิจจะเข้าหากลุ่มเป้าหมายได้ที่ไหน (Where)
- ธุรกิจจะทำอย่างไรให้เพื่อกระตุ้นให้กลุ่มเป้าหมายลงมือทำอะไรบางอย่าง หรือตัดสินใจซื้อ (How)
- ธุรกิจจะรู้ได้อย่างไรว่าแผนการประสบความสำเร็จ (How measure)
คู่มือทำการตลาดบนเฟสบุ๊ค เพิ่มยอดขายยังไงให้ปัง
ขั้นที่ 1 กำหนดผู้ชมของคุณ : คุณจำเป็นต้องทำความคุ้นเคยกับสถิติข้อมูลของจำนวนผู้คนที่ใช้เฟสบุ๊ค เมื่อคุณรู้ว่าผู้ใช้คือใครบ้างและมีวิธีการส่งข้อมูลกลับไปยังลูกค้าเป้าหมายของคุณอย่างไร คุณจะสามารถเข้าถึงข้อมูลเชิงลึกของผู้ชมได้
ขั้นที่ 2 ตั้งเป้าหมาย : เป้าหมายของแต่ละธุรกิจก็จะแตกต่างกันไป แต่ทุกธุรกิจควรมุ่งเน้นดำเนินการสร้างผลกระทบอย่างแท้จริงต่อผลกำไร เช่น กิจกรรมทางการตลาด, การเพิ่มการสื่อสารบนเว็บไซต์ คุณจะต้องมั่นใจว่าเป้าหมายของคุณมีความเฉพาะเจาะจงและสามารถวัดผลได้
ขั้นที่ 3 พิจารณาเนื้อหาของคุณ : เมื่อกำหนดเป้าหมายแล้ว คุณจำเป็นต้องสร้างวิธีการเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว สิ่งสำคัญคือการเลือกใช้เนื้อหาที่เหมาะสม ถ้าคุณปฏิบัติตามกฎ 80-20, ใช้พื้นที่ 80% สำหรับโพสต์แจ้งข่าวสาร, ความรู้และบันเทิง และ20% สำหรับการโปรโมตแบรนด์
ขั้นที่ 4 เริ่มโพสต์ : แต่ละโซเชียลเน็ตเวิร์คมีรูปแบบเนื้อหาเป็นของตัวเอง แต่เฟสบุ๊คมักจะก้าวกระโดดโดยคุณสามารถโพสต์ เรื่องราว, ถ่ายทอดสด, รูปภาพ และวิดีโอได้ คุณมีโอกาสทำเนื้อหาของแบรนด์ได้อย่างไร้ขีดจำกัด
ขั้นที่ 5 เพิ่มจำนวนผู้กดไลค์และติดตาม : ในการเพิ่มยอดผู้ชมหน้าเว็บเพจ สิ่งแรกที่ควรทำคือสร้างการโต้ตอบกับผู้ใช้ให้ง่ายที่สุดเพื่อให้พวกเขาสามารถค้นหาหน้าเว็บเพจเฟสบุ๊คของคุณได้ง่ายขึ้น
ขั้นที่ 6 กำหนดกลยุทธ์การทำโฆษณาบนเฟสบุ๊ค : การโฆษณาบนโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเฟสบุ๊ค มีผู้ลงโฆษณาในเฟสบุ๊คมากถึง 4 ล้านรายโดยมีอัตราการคลิกเข้าชมเฉลี่ยอยู่ที่ 0.9% การโฆษณาบนเฟสบุ๊คเป็นเรื่องง่ายก็จริง แต่ก็ไม่ใช้จะสร้างกันได้ง่ายๆ คุณยังคงต้องการทำโฆษณาแบรนด์และผลิตภัณฑ์ให้สมบูรณ์แบบ
ขั้นที่ 7 ติดตาม, วัดผล และปรับปรุง : คุณสามารถติดตามจำนวนของผู้ชมที่เข้ามามีส่วนร่วมกับเนื้อหาบนเฟสบุ๊คเพจของคุณด้วย Facebook Insights วิธีนี้จะทำให้คุณสามารถวัดจำนวนการกดไลค์, การเข้าถึง(จำนวนผู้ใช้ที่เห็นโพสต์ของคุณ) และจำนวนครั้งที่ผู้ใช้กดเข้าอ่านเนื้อหา ผ่านการคำนวณอย่างต่อเนื่องตามเงื่อนไขการกำหนดเป้าหมาย, การวัดผล และการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์
เมื่ออบรมเสร็จ ทางวิทยากรได้ให้กลุ่มผู้ปฏิบัติงานตำบลบ้านสิงห์สร้างเพจเฟสบุ๊ค และไลน์แอดขึ้น เพื่อใช้ในการประชาสัมพันธ์และจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ในตำบลบ้านสิงห์ โดยเพจเฟสบุ๊คมีชื่อว่า “บ้านสิงห์ ของดีบอกต่อ” หรือลิงค์เพจ https://www.facebook.com/บ้านสิงห์-ของดีบอกต่อ-111144401364423/ และไลน์แอดชื่อว่า “ของดีบ้านสิงห์” หรือไอดี @448rjmed ในช่วงสุดท้ายวิทยากรยังสอนการถ่ายภาพให้มีความสวยงามเพื่อนำไปโพสต์ให้เป็นที่น่าสนใจต่อกลุ่มลูกค้าอีกด้วย
9 – 11 พฤศจิกายน 2564
จากการประชุมออนไลน์กับอาจารย์ประจำหลักสูตรผ่านระบบ Google meet ในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2564 เกี่ยวกับการวิเคราะห์ข้อมูลจากการเก็บข้อมูลผ่าน Application https://cbd.u2t.ac.th/ จาก สป.อว. และเก็บข้อมูลเพิ่มเติมในบางส่วน ซึ่งให้นำข้อมูลจาก CBD เข้าสู่ G-Map เพื่อวิเคราะห์ข้อมูล ทั้งนี้ แต่ละตำบล เลือกเพียง 3 หัวข้อจาก 10 หัวข้อ ใน CBD มาทำในสไลค์เดียวกัน
- วิเคราะห์ Pain point (SWOT, VROI หรือ เครื่องมือวิเคราะห์ ใด ๆ ตามเหมาะสม)
- นำเสนอข้อมูลผ่าน Dash Board หรือ G-map
โดยมีข้อมูลที่จะต้องทำ PowerPoint ทั้งหมด 3 แผ่นดังนี้
แผ่นแรก คือ painpoint เป็นการอธิบายปัญหาในประเด็นที่เราเลือกมาว่ามีปัญหาอะไร
แผ่นที่ 2 เป็นการบรรยายถึงข้อมูลของประเด็นที่เราทำ เช่น ในชุมชนมีอาหารท้องถิ่นอะไร มีภูมิปัญญาอะไร หรือมีแหล่งน้ำที่ไหน ใส่ชื่อและระบุตำแหน่ง
แผ่นที่ 3 เป็นการเสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหาในประเด็นที่เราเลือก
โดยกลุ่มบ้านสิงห์ได้แบ่งกลุ่มทั้งหมดเป็น 3 กลุ่ม 3 หัวข้อ ได้แก่ ภูมิปัญญาท้องถิ่น อาหารที่น่าสนใจประจำถิ่น และแหล่งน้ำในท้องถิ่น ดิฉันและผู้ปฏิบัติงานกลุ่มบ้านสิงห์อีก 4 คนได้เลือกหาข้อมูลและทำ PowerPoint เกี่ยวกับ อาหารที่น่าสนใจประจำถิ่น คือ ขนมบ้าบิ่น ขนมทองม้วน และกล้วยฉาบ ซึ่งการวิเคราะห์ปัญหาและการแก้ปัญหาต่าง ๆ มีดังนี้
เนื่องจากเป็นขนมไทย ที่ต้องทำสดใหม่ทุกวัน และวัตถุดิบในการทำส่วนใหญ่ค่อยข้างหายาก เพราะวัตถุดิบบางอย่างมีแค่ในบางฤดูกาลทำให้มีปัญหาดังนี้
- มีระยะวลาในการเก็บรักษาน้อย
- ต้นทุนในการผลิตสูง
- กำไรน้อย
- วัตถุดิบบางอย่างหายาก
- ไม่มีตลาดรองรับ
แนวทางการแก้ปัญหา
- พรีออเดอร์
- หาแหล่งตลาดใหม่ ๆ เช่นตลาดออนไลน์
- จัดทำโปรโมชั่นที่น่าสนใจ
- จัดทำบรรจุภัณฑ์สินค้าให้น่าสนใจ
- บรรจุในบรรจุภัณฑ์ที่สามารถเก็บรักษาได้นานขึ้น
ผลที่คาดว่าจะได้รับ
- มียอดขายเพิ่มขึ้น
- สินค้าเก็บได้นานยิ่งขึ้น
- ส่งเสริมอาชีพให้กับชุมชน
12 พฤศจิกายน 2564
อาจารย์ประจำหลักสูตร ผู้ปฏิบัติงานตำบลบ้านสิงห์ และตัวแทนชาวบ้านในแต่ละหมู่บ้าน เข้าร่วมอบรมเกี่ยวกับการทำลูกประคบและการนวดแผนไทย ณ ศาลาประชาคมบ้านหนองบัวราย หมู่ 7 ต.บ้านสิงห์ อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ โดย ดร.วิริญรัชญ์ สื่อออก สาขาวิชาคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ และกลุ่มแพทย์แผนไทย โรงพยาบาลนางรอง เป็นวิทยากรในการอบรมครั้งนี้ สมุนไพรสำหรับทำลูกประคบใช้สมุนไพรสดหรือแห้งก็ได้แต่ต้องไม่มีรา
การทำลูกประคบสมุนไพร
วัสดุ – อุปกรณ์ (ได้ลูกประคบประมาณ 10 ลูก)
- ผ้าดิบ หรือผ้าฝ้าย ขนาด 40*40 ซม.
- เชือกยาว 200 ซม.
- ภาชนะสำหรับผสมสมุนไพร
- เครื่องชั่ง
ในสูตรนี้ใช้ในสมุนไพรแห้ง (สามารถนำสมุนไพรสดไปตากหรืออบให้แห้งได้)
- ไพล 400 กรัม
- ขมิ้นชัน 100 กรัม
- ตะไคร้ 200 กรัม
- ผิวมะกรูด 100 กรัม
- ใบมะขาม 100 กรัม
- ใบส้มป่อย 50 กรัม
- การบูร 30 กรัม –
- พิมเสน 30 กรัม
- เกลือ 60 กรัม
วิธีทำ
- บทหรือทุบสมุนไพรแห้งพอหยาบ
- ผสมส่วนผสมทั้งหมดให้เข้ากัน
- ชั่งส่วนผสม 100 กรัม วางลงบนผ้า
- ห่อผ้าและมัดเชือกให้แน่น
- บรรจุลูกประคบไว้ในถุง เก็บในที่แห้ง สามารถเก็บได้ประมาณ 1 ปี
การเก็บรักษาลูกประคบ
- เก็บไว้ในที่แห้ง ไม่มีฝุ่น
- สำหรับลูกประคบสมุนไพรสด สามารถเก็บไว้ในตู้เย็นได้ 3 – 5 วัน
การใช้งาน
- สำหรับลูกประคบแห้ง ควรพรหมน้ำบนลูกประคบก่อนนำไปนึ่ง
- นำลูกประคบที่ได้นึ่งในหม้อนึ่ง ใช้เวลานึ่งประมาณ 15 – 20 นาที
ประโยชน์ของลูกประคบ
- บรรเทาอาการปวดเมื่อย
- ช่วยลดอาการบวม อักเสบของกล้ามเนื้อ เอ็น ข้อต่อหลัง 24-48 ชั่วโมง
- ลดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อ
- ช่วยให้เนื้อเยื่อ พังผืด ผืดตัวออก
- ลดการติดขัดของข้อต่อ
- ลดอาการปวด
- ช่วยเพิ่มการไหลเวียนของโลหิต
เมื่ออบรมและสาธิตการทำลูกประคบเสร็จแล้วก็ได้มีการสาธิตเกี่ยวกับการนวดแผนไทยจากกลุ่มแพทย์แผนไทย โรงพยาบาลนางรอง ให้กับชาวบ้าน และผู้ปฏิบัติงานเพื่อนำความรู้ไปใช้ในครัวเรือนหรือชีวิตประจำวันต่อไป
จากการปฏิบัติงานในเดือนนี้ ถือว่ามีความสนุกและเหน็ดเหนื่อยในบางช่วงปะปนกันไป แต่ก็ทำให้เราได้มีความรู้ และสามรถชักชวนชาวบ้านให้มาเข้าร่วมอบรมในการหาความรู้ต่าง ๆ จากวิทยากรที่มาให้ความรู้ ไม่ว่าจะเป็นการขอมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน การขอขึ้นทะเบียนสินค้า OTOP การทำเพจเพื่อการทำการตลาดออนไลน์ การทำลูกประคบสมุนไพร เพื่อนำไปใช้ในครัวเรือน หรือเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตนเองทำอยู่นั้นให้เกิดประโยชน์ สุดท้ายนี้ขอขอบพระคุณผู้ให้ความร่วมมือในการปฏิบัติงานทุก ๆ ฝ่าย ทั้งอาจารย์ประจำหลักสูตร ทีมวิทยากร ทีมผู้ปฏิบัติงานตำบลบ้านสิงห์ทุกคน และตัวแทนชาวบ้านในแต่ละหมู่บ้าน ที่ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ซึ่งดิฉันจะนำความรู้และข้อมูลที่ได้มาพัฒนาและก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป