จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า (COVID-19) องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านสิงห์ อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ ถือเป็นพื้นที่เสี่ยงสูง ที่ได้รับผลกระทบต่าง ๆ ทั้งเรื่องจัดสรรงบประมาณเพื่อใช้ในการดูแล เฝ้าระวัง และป้องกันการแพร่ระบาดของโควิดในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง รวมถึงวิธีการเตรียมความพร้อมฉีดวัคซีน โดยมีหน่วยงานสาธารณสุข ผู้นำชุมชน และรพ.สต. เป็นกำลังสำคัญในการผ่านวิกฤตครั้งนี้ ทำให้การลงพื้นที่ในการปฏิบัติงานแต่ละครั้งมีความยากมากขึ้น เนื่องจากการลงพื้นที่สอบถามข้อมูลจะต้องใกล้ชิดกับคนในชุมชน ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการลงพื้นที่ ติดต่อประสานงานกับชาวบ้าน และในการปฏิบัติงานทุกครั้งจะต้องปฏิบัติตามมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า (COVID-19) ตามที่ประกาศจังหวัดบุรีรัมย์กำหนดไว้
การปฏิบัติงานประจำเดือนสิงหาคม มีดังนี้
วันที่ 31 กรกฎาคม 2564 อาจารย์ธิดารัตน์ คีมกระโทก และอาจารย์พลอยไพลิน ศรีวิเศษ ได้นำทีมผู้ปฏิบัติงานตำบลบ้านสิงห์ลงพื้นที่บริจาคอาหารแห้งและสิ่งของที่จำเป็นให้กับชาวบ้านที่กักตัว ในนามของโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ (1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย) หรือ U2T ณ ศูนย์กักตัวตำบลบ้านสิงห์ จัดตั้งขึ้นภายในวัดโพธิ์คงคา ตำบลบ้านสิงห์ อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ เนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า (COVID-19) ที่แพร่ระบาดอย่างหนัก ทำให้ในช่วงนี้มีประชาชนที่ติดเชื้อจำนวนมาก และมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงจัดตั้งศูนย์กักตัวหรือศูนย์พักคอยให้สำหรับผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยงหรือผู้ที่เดินทางไปยังพื้นที่เสี่ยงที่มีแนวโน้มที่จะติดเชื้อแล้วเดินทางมายังตำบลบ้านสิงห์จะต้องเข้ากักตัวเป็นเวลา 14 วัน ดังนั้นทางโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ (1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย) หรือ U2T จึงได้เห็นถึงความสำคัญและอยากมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือผู้ที่เข้ารับการกักตัวและสนับสนุนการฏิบัติงานของบุคลากรทางการแพทย์ จึงได้ร่วมกันบริจาคสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็นและอาหารแห้งให้แก่ศูนย์กักตัวตำบลบ้านสิงห์
วันที่ 14 สิงหาคม 2564 ได้เข้าร่วมประชุม Online ผ่าน Google Meet กับอาจารย์ประจำหลักสูตรและผู้ปฏิบัติงานในโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ ตำบลบ้านสิงห์ เพื่อชี้แจงการจัดเก็บข้อมูลในระบบ OTOU โดยผู้ปฏิบัติงานทุกคนต้องลงพื้นที่เก็บข้อมูลสำหรับที่พักอาศัย และมีการแบ่งกลุ่มเก็บข้อมูลสำหรับโรงเรียน ศาสนสถาน และตลาด ตามจำนวนที่ได้รับมอบหมาย ดังนี้
การเก็บข้อมูลสำหรับที่พักอาศัย
– กลุ่มบัณฑิตจบใหม่ เก็บข้อมูลสำหรับที่พักอาศัยจำนวน 50 หลังคาเรือน
– กลุ่มประชาชน เก็บข้อมูลสำหรับที่พักอาศัยจำนวน 30 หลังคาเรือน
– กลุ่มนักศึกษา เก็บข้อมูลสำหรับที่พักอาศัยจำนวน 20 หลังคาเรือน
การเก็บข้อมูลสำหรับศาสนสถาน : กลุ่มประชาชนเป็นผู้รับผิดชอบในการเก็บข้อมูล
การเก็บข้อมูลสำหรับตลาดและโรงเรียน : กลุ่มบัณฑิตจบใหม่เป็นผู้รับผิดชอบในการเก็บข้อมูล
วันที่ 15 สิงหาคม 2564 ได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูล หมู่ 5 บ้านหนองตาชี ตำบลบ้านสิงห์ อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อเก็บข้อมูลแบบสำรวจสำหรับที่พักอาศัย โดยมีข้อมูล ดังนี้
- มีการประเมินตนเองและบุคคลที่อาศัยอยู่ในครัวเรือนว่า
- เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อหรือหากติดเชื้อแล้วจะมีอาการรุนแรงหรือไม่ เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเรื้อรัง หรือไม่
- ในการทำงานหรือการใช้ชีวิตประจำวันมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ เช่น บุคลากรทางการแพทย์ ผู้ปฏิบัติงานในสถานบันเทิง/สถานบริการต่างๆ เป็นต้น หรือไม่
- ตนเองหรือบุคคลในครัวเรือนมีการเดินทางกลับจากพื้นที่เสี่ยงหรือพื้นที่ระบาด หรือไม่มีการสังเกตอาการของตนเองและบุคคลที่อาศัยอยู่ร่วมกัน หากพบว่ามีไข้ ร่วมกับไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส หายใจเร็ว หายใจเหนื่อย หรือหายใจลำบากอย่างใดอย่างหนึ่ง และอาจมีอาการ ท้องเสียร่วมด้วย ให้รีบไปพบแพทย์ทันที หรือไม่
- มีการดูแลสุขอนามัยด้วยการล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์โดยเฉพาะก่อนเตรียม ปรุงอาหาร ก่อนรับประทานอาหาร หลังเข้าห้องน้ำ หลังหยิบจับสิ่งสกปรก หลังเยี่ยมผู้ป่วยในสถานพยาบาล หลังสัมผัสหรือเล่นกับสัตว์เลี้ยง และหลังกลับจากนอกบ้าน หรือไม่
- มีการรับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ และใช้ช้อนส่วนตัว หรือไม่
- ไม่ใช้สิ่งของเครื่องใช้ส่วนตัวร่วมกัน เช่น ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว ช้อน แก้วน้ำ หลอดดูดน้ำ หรือไม่
- เมื่อกลับจากการทำภารกิจหรือกิจกรรมนอกบ้าน ให้ล้างมือ ชำระร่างกาย เปลี่ยนเครื่องแต่งกายทันที หรือไม่
จากการลงพื้นที่เก็บข้อมูลสำหรับที่พักอาศัยพบว่า ชาวบ้านมีการประเมินตนเองและบุคคลที่อาศัยอยู่ในครัวเรือนว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อหรือไม่ และในการทำงานหรือใช้ชีวิตประจำวันของชาวบ้านบ้านหนองตาชีไม่ค่อยมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ เนื่องจากส่วนใหญ่คนในหมู่บ้านจะทำอาชีพเกษตรกร ไม่ได้ไปพบปะผู้คนมากนัก และไม่ได้ไปในพื้นที่ที่แออัด จึงทำให้ไม่เสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสโคโรน่า (COVID-19) และคนในชุมชนมีการสังเกตอาการของตนเองและอาการของบุคคลที่อาศัยอยู่ร่วมกันว่ามีอาการเข้าข่ายการติดเชื้อไวรัสโคโรน่า (COVID-19) หรือไม่ และคนในชุมชนมีการดูแลสุขอนามัยด้วยการล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์ หลังจากทำกิจกรรมหรือสัมผัสสิ่งของต่าง ๆ มีการรับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ และใช้ช้อนส่วนตัว และไม่ใช้สิ่งของเครื่องใช้ส่วนตัวร่วมกัน แต่จะมีเพียงบางครัวเรือนเท่านั้นที่ใช้แก้วน้ำร่วมกัน และหลังจากที่กลับจากการทำภารกิจหรือกิจกรรมนอกบ้าน ส่วนใหญ่ชาวบ้านจะล้างมือ ชำระร่างกาย และเปลี่ยนเครื่องแต่งกายทันที