นางสาวรัตนาพร แก้วแจ่มจันทร์ กลุ่มบัณฑิตจบใหม่ ตำบลบ้านสิงห์ อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์
ปฏิบัติงานประจำเดือนกันยายน 2564 ณ ตำบลบ้านสิงห์ อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์
หลักสูตร HS03 การส่งเสริมและพัฒนาขนมไทย
เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าหรือโควิด-19 ที่ระบาดอย่างรุนแรง และกระจายไปทั่วประเทศไทย รวมถึงจังหวัดบุรีรัมย์มีการระบาดค่อนข้างหนัก ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการลงพื้นที่ติดต่อประสานงานกับชาวบ้าน ทางกลุ่มจึงมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานประจำเดือนกันยายน 2564 ในรูปแบบออนไลน์ เพื่อลดการรวมตัวกันเป็นจำนวนมากและการสัมผัสกับคนในชุมชน เป็นการป้องกันทั้งคนในชุมชนและตัวผู้ปฏิบัติงาน
การปฏิบัติงานประจำเดือนกันยายน 2564
จัดกิจกรรมการแปรรูปเพื่อความหลากหลายให้กับผลิตภัณฑ์ ณ บ้านหนองขาม ตำบลบ้านสิงห์ อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ และ ห้องปฏิบัติการ สาขาวิชานวัตกรรมอาหารและการแปรรูป อาคาร 22 วิทยาศาสตร์สุขภาพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎบุรีรัมย์ โดยการแบ่งผู้ปฏิบัติงานออกเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มบัณฑิต กลุ่มประชาชน ปฏิบัติงานที่บ้านหนองขามร่วมกับผู้ทำขนม และกลุ่มนักศึกษาปฏิบัติงานที่ห้องปฏิบัติการร่วมกับทีมวิทยากรโดยได้รับเกียรติจากอาจารย์ประจำสาขาวิชานวัตกรรมอาหารและการแปรรูป มาบรรยายและให้ความรู้แก่ผู้ทำขนม โดยการประชุมผ่าน google meet เพื่อลดการรวมตัวกันเป็นจำนวนมาก กิจกรรมแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ดังนี้
ส่วนที่ 1 กล้ายฉาบแม่อารมณ์ จากการพูดคุยกับแม่อารมณ์ สรุปได้ว่ากล้วยฉาบของแม่อารมณ์มีหลากหลายสูตรจึงต้องการเพียงบรรจุภัณฑ์ที่หลากหลายและการรักษากล้วยฉาบไม่ให้เหม็นหืน โดยวิทยากรได้แนะนำบรรจุภัณฑ์ 2 ชนิดคือ ถุงซิปล็อคหน้าใสหลังฟอยล์แบบตั้งได้และถุงคราฟท์ซิปล็อคหน้าต่างใสตั้งได้ ถุงมีคุณสมบัติรักษาความกรอบ รักษาสภาพขนมไม่ให้แตกหัก มีซิปล็อคหลังใช้งาน รวมถึงการบรรจุสารกันชื้นและ Oxygen Absorber ลงไปในถุงก่อนบรรจุกล้วยฉาบลงถุง เพื่อเป็นการรักษากล้วยฉาบให้มีอายุนานขึ้นและเพิ่มมูลค่าให้กับกล้วยฉาบ
ส่วนที่ 2 ขนมบ้าบิ่นแม่มาลี จากการพูดคุยกับแม่มาลี สรุปได้ว่า ขนมบ้าบิ่นของแม่มาลีมีรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์มีความหอมและหวาน สดใหม่ทุกวันไม่สามารถเก็บไว้ข้ามวันได้ แม่มาลีจึงต้องการยืดอายุขนมบ้าบิ่นและไม่ให้เหม็นหืนจากน้ำมันที่ทอด โดยวิทยากรได้แนะนำให้ลดน้ำมันในกระบวนการทอดให้น้อยลงหรือไม่ใช้น้ำมันในการทอด จากการทดลองทอดทั้งสองแบบมีความแตกต่างที่เห็นได้ชัดคือ การทอดแบบดั้งเดิมขนมบ้าบิ่นมีรสชาติและผิวสัมผัสที่นุ่ม หวาน มัน และการทอดแบบไร้น้ำมันขนมบ้าบิ่นมีความกรอบด้านนอก ด้านในขนมมีความนุ่ม หวาน มัน แต่ไม่แห้งเกรียมจนเกินไปเพราะมีความมันวาวจากน้ำมันมะพร้าวในส่วนประกอบของขนมบ้าบิ่น
จากการจัดกิจกรรมการแปรรูปเพื่อความหลากหลายให้กับผลิตภัณฑ์ในครั้งนี้ทำให้ผู้ทำขนมทั้งสองชนิดสามารถนำมาปรับใช้ได้จริงในการผลิตและจัดจำหน่ายขนม ที่สามารถยืดอายุขนม เพิ่มมูลค่า และจำหน่ายได้ในตลาดที่กว้างขึ้น
ลงพื้นที่สำรวจข้อมูล ณ ตลาดนัดเย็นสี่แยกบ้านหนองขามและตลาดนัดเย็นบ้านโคกไม้แดง
ในการลงพื้นที่สำรวจข้อมูลได้รับความอนุเคราะห์จากพ่อค้าแม่ค้าในตลาดเป็นผู้ให้ข้อมูล โดยสรุปได้ดังนี้
- มีการกำหนดทางเข้าออกอย่างชัดเจน และมีการคัดกรองพนักงาน เจ้าหน้าที่ และผู้รับบริการ พร้อมทำสัญลักษณ์ให้กับผู้ที่ผ่านการคัดกรอง หากพบว่ามีอาการไข้หรือวัดอุณหภูมิได้ ตั้งแต่ 37.5 องศา เซลเซียสขึ้นไป ร่วมกับ ไอ น้ำมูก เจ็บคอ จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส หายใจเร็ว หายใจเหนื่อย หรือหายใจ ลำบาก อย่างใดอย่างหนึ่ง และอาจมีอาการท้องเสียร่วมด้วย แนะนำไปพบแพทย์ทันทีและห้ามเข้าไปซื้อของในตลาด
- มีมาตรการให้ผู้ค้าและผู้ใช้บริการต้องสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่ใช้บริการ
- จัดให้มีที่ล้างมือด้วยสบู่และน้ำหรือเจลแอลกอฮอล์ ให้บริการแก่ผู้ค้าและผู้ซื้ออย่างเพียงพอ
- มีการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ ให้ความรู้ในการป้องกันโรคติดเชื้อโควิดตามช่องทางต่าง ๆ และสื่อสาร เน้นย้ำประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบกิจการเจ้าของร้าน/แผงในตลาด รวมถึงผู้ช่วยขายทั้งชาวไทยและแรงงาน ต่างด้าว ให้สังเกตอาการตนเอง หรือถ้าได้เดินทางไป หรือเกี่ยวข้องกับแหล่งที่เกิดการระบาด แนะนำให้ไป ตรวจคัดกรอง COVID-19 โดยเร็วที่สุด
ลงพื้นที่เก็บข้อมูล ณ หมู่ 10 บ้านหนองทะยิง ต.บ้านสิงห์ อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ การเก็บข้อมูลครั้งนี้เป็นการเก็บข้อมูลสำหรับที่พักอาศัย จำนวน 50 ครัวเรือน โดยสรุปข้อมูลได้ดังนี้
- ในแต่ละครัวเรือนมีการสำรวจประเมินตนเองและบุคคลที่อาศัยอยู่ในครัวเรือนตลอดว่า เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อหรือหากติดเชื้อแล้วจะมีอาการรุนแรงหรือไม่เช่นผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเรื้อรัง เป็นต้น อีกทั้งยังมีการสำรวจว่าตนเองและบุคคลในครัวเรือนมีการทำงานหรือการใช้ชีวิตประจำวันมีความเสี่ยต่อการติดเชื้อ หรือเดินทางกลับจากที่เสี่ยงหรือไม่
- มีการสังเกตอาการของตนเองและบุคคลที่อาศัยอยู่ร่วมกันหากพบว่ามีไข้ ร่วมกับมีไอ หรือมีอาการต่าง ๆ ที่เข้าข่ายเสี่ยงติดโรคโควิด-19 ให้รีบไปพบแพทย์ทันที
- มีการดูแลสุขอนามัยตลอดโดยการล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ หรือน้ำสบู่ ทั้งก่อนปรุงอาหาร ก่อนรับประทานอาหาร หลังเข้าห้องน้ำ หลังหยิบจับสิ่งสกปรก และหลังกลับจากนอกบ้านทุกครั้ง
- มีการรับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ และใช้ช้อนส่วนตัวในการรับประทานอาหาร
- ส่วนใหญ่บุคคลในครัวเรือนจะแยกของใช้ส่วนตัวกัน เช่น แก้วน้ำ ผ้าเช็ดตัว ผ้าเช็ดหน้า แต่ในบางครัวเรือนจะยังใช้แก้วน้ำร่วมกับคนในครัวเรือนอยู่
- เมื่อกลับจากทำภารกิจหรือกิจกรรมนอกบ้านจะเปลี่ยนเสื้อผ้า ล้างมือ หรืออาบน้ำโดยทันที
สรุปบทเรียนที่ได้รับจากการปฏิบัติงาน
เดือนกุมภาพันธ์ จัดการประชุม ณ ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านสิงห์ เพื่อสอบถามและทราบถึงข้อมูลของผลิตภัณฑ์ในท้องถิ่น และ ลงพื้นที่ทำแบบสอบถามข้อมูลระดับบุคคล ครัวเรือนและชุมชน โดยมีการประสานขอความร่วมมือกับผู้นำในชุมชนช่วยประชาสัมพันธ์ให้กับชาวบ้านได้รับทราบและให้ความร่วมมือ ปัญหาในเดือนนี้คือชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรในช่วงว่างจากการทำเกษตรได้เดินทางไปทำงานในตัวอำเภอ ทำให้การเก็บข้อมูลล้าช้าและไม่สมบูรณ์ แก้ปัญหาโดยปรับเปลี่ยนเวลาลงพื้นที่เก็บข้อมูลเป็นในช่วงเย็นจะทำให้ได้ข้อมูลเพิ่มขึ้น
เดือนมีนาคม ลงพื้นที่ทำแบบสอบถามข้อมูลระดับบุคคล ครัวเรือนและชุมชน,แบบสอบถามเกี่ยวกับผลกระทบจากโรคระบาดโควิด -19 และแบบสำรวจเพื่อเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคติดต่ออุบัติใหม่ โดยมีการประสานขอความร่วมมือกับผู้นำในชุมชนช่วยประชาสัมพันธ์ให้กับชาวบ้านได้รับทราบและให้ความร่วมมือ ปัญหาเดือนมีนาคมมีสักษณะเหมือนกับเดือนกุมภาพันธ์เนื่องจากเป็นการลงพื้นที่เก็บข้อมูล พบปะพูดคุยกับชาวบ้านเป็นส่วนใหญ่
เดือนเมษายน ร่วมพิธียกเสาเอก-เสาโทศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงอำเภอนางรอง ณ ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงอำเภอนางรอง บ้านโคกว่าน ตำบลหนองโสน อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ และการจัดเวทีวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อการแปรรูปขนม ณ ห้องประชุม องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านสิงห์ ปัญหาหลักในการทำขนมในตำบลบ้านสิงห์คือขาดแคลนวัตถุดิบและหายากในบางช่วง โดยที่ยังไม่มีวิธีการแก้ปัญหาได้อย่างจริงจัง
เดือนพฤษภาคม รับชมการบรรยายการถ่ายทอดสดผ่านช่อง HUSOC-BRH CHANNEL ในหัวข้อ “งานบุญผ้าป่า ปาฐกถาชุมชนออนไลน์ ยักษ์ จับ โจน” เนื่องในงาน ทอดผ้าป่า ปาฐกถาชุมชน ณ ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงอำเภอนางรอง บ้านโคกว่าน ตำบลหนองโสน อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ และลงพื้นที่สำรวจข้อมูลพื้นฐานบ้านหนองทะยิง โดยมีหัวข้อดังนี้ ผู้ที่ย้ายกลับบ้านเนื่องจากสถานการณ์โควิด แหล่งท่องเที่ยว ที่พัก/โรงแรม ร้านอาหารในท้องถิ่น อาหารที่น่าสนใจประจำท้องถิ่น เกษตรกรในท้องถิ่น พืชในท้องถิ่น สัตว์ในท้องถิ่น ภูมิปัญญาท้องถิ่นและแหล่งน้ำในท้องถิ่น ปัญหาในการทำงานคือการลงพื้นที่เก็บข้อมูลล่าช้าเนื่องจากมีข้อมูลที่สอบถามค่อนข้างเยอะและละเอียดรวมถึงในช่วงกลางวันชาวบ้านส่วนใหญ่ออกไปทำงานจึงจำให้การสอบถามข้อมูลทำได้ในช่วงเย็น
เดือนมิถุนายน เข้าร่วมอบรม “การออกแบบบรรจุภัณฑ์” ณ ห้องประชุม องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านสิงห์ อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์,ถ่ายทำวิดิโอ ณ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านสิงห์ อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ ,ร่วมกิจกรรมปลูกป่า ณ โรงเรียนบ้านหนองยายพิมพ์ ต.หนองยายพิมพ์ อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ ภายใต้โครงการ“โครงการรวมใจปลูกต้นไม้ปลูกธรรมะวันวิสาขบูชา 2564เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระวชิระเกล้าเจ้าอยู่หัว” ,เตรียมสเปรย์แอลกอฮอล์ ณ ชั้น 1 อาคารมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์,จัดเตรียมสเปรย์แอลกอฮอล์สำหรับการแจกจ่ายให้กับประชาชนในพื้นที่ตำบลบ้านสิงห์ และร่วมอบรมการรณรงค์การฉีดวัคซีน ณ ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านสิงห์ ปัญหาในการทำงานเดือนนี้คือการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้รวมตัวในการจัดการประชุมไม่ได้ และเข้าทำกิจกรรมในชุมชนโดยการรวมตัวกันไม่ได้ แก้ปัญหาโดยการทำงานส่วนใหญ่จัดขึ้นในรูปแบบออนไลน์ แบ่งผู้ปฏิบัติงานออกเป็น2ทีมในการทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อลดการรวมตัวกันเป็นจำนวนมาก
เดือนกรกฎาคม ถ่ายทำวิดิโอในการส่งเข้าแข่งขันในโครงการ “นวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อนเศรษกิจรากฐาน U2T Hackathon 2021″ การถ่ายทำครั้งนี้ได้ลงพื้นที่ถ่ายทำ ณ วัดโพธิ์คงคา วัดภูม่านฟ้า โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านสิงห์ และบ้านผู้เข้าร่วมโครงการ และเก็บแบบสำรวจเพื่อเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคติดต่ออุบัติใหม่ ในพื้นที่บ้านหนองทะยิง ปัญหาที่พบจะมีลักษณะคล้ายกับเดือนมิถุนายน เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ค่อนข้างรุนแรง ทำให้ยากต่อการเข้าพื้นที่
เดือนสิงหาคม ลงพื้นที่บริจาคอาหารแห้งและสิ่งของที่จำเป็นในช่วงกักตัว ในนามโครงการยกระดับเศรษกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ (มหาวิทยาลัยสู่ตำบลสร้างรากแก้วให้ประเทศ) หรือ U2T ณ ศูนย์กักตัวตำบลบ้านสิงห์และศูนย์พักคอยตำบลบ้านสิงห์ และเก็บแบบสำรวจเพื่อเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคติดต่ออุบัติใหม่ ปัญหาที่พบจะมีลักษณะคล้ายกับเดือนมิถุนายน เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ค่อนข้างรุนแรงและมีผู้ติดเชื้อในพื้นที่ค่อนข้างเยอะ ทำให้ยากต่อการเข้าพื้นที่
ในการทำงานทุกเดือนจะมีการประชุมผ่าน google meet เพื่อเป็นการชี้แจงทำความเข้าใจในการทำงานแต่ละครั้งให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการจัดกิจกรรมนั้นๆ อีกทั้งยังเป็นช่องทางในการแลกเปลี่ยนความคิด ปัญหาอุปสรรคในการทำงานของทีม
กระบวนการในการปฏิบัติงานและหลักการทำงาน
1. ศึกษาข้อมูลพื้นฐานและความต้องการของชุมชน นำมาวิเคราะห์ความต้องการเพื่อให้ตรงตามวัตถุประสงค์ของโครงการ
2. ลงพื้นที่เข้าไปทำงานกับชุมชนอย่างเป้นกันเองและอย่างต่อเนื่อง
3. ทำให้ชุมชนเห็นประโยชน์จากการปฏิบัติงานอย่างชัดเจน
ความรู้ที่ได้จากการเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ
1. ได้เรียนรู้การทำงานร่วมกับชุมชนร่วมถึงวิธีการวางตัวเพื่อให้เข้ากับคนในชุมชนได้ง่าย
2. ได้เรียนรู้การประสานงานและทำงานร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ในพื้นที่เพื่อให้ตรงตามวัตถุประสงค์
3. ได้รับรู้และเข้าใจถึงปัญหาและร่วมส่งเสริมพัฒนาการทำขนมในชุมชน
การเพิ่มกิจกรรมเพื่อให้เกิดประโยชน์กับการทำงานอย่างแท้จริง
จัดอบรมการเพิ่มช่องทางในการขายผ่านระบบออนไลน์ให้กลุ่มผู้ทำขนมได้เรียนรู้และเข้าใจมากขึ้น เพื่อให้ผู้ทำขนมมีตลาดที่กว้างขึ้นและมีรายได้มากขึ้น