ดิฉัน นางสาววรลักษณ์ ไกรษร กลุ่มบัณฑิตจบใหม่ ต.บ้านสิงห์ อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์

หลักสูตร : ส่งเสริมอาชีพและพัฒนาขนมในชุมชน HS03  

เดือนกันยายน

แม้ในช่วงสถานการณ์โรคระบาดโควิด – 19 ที่กำลังแพร่ระบาดอย่างหนักในตอนนี้ทำให้ผู้คนมากมายหวาดกลัวไม่กล้าเดินทางออกนอกพื้นที่ที่อยู่อาศัยสักเท่าไร แต่เมื่อชีวิตต้องดำเนินต่อไปเพื่อความอยู่รอดจึงต้องมีการเดินทางออกไปยังสถานที่ต่าง ๆ เพื่อที่จะปฏิบัติงานของตนเอง และผู้ปฏิบัติงานตำบลบ้านสิงห์ทุกคนยังคงปฏิบัติงานที่ได้รับมอบหมายไปเรื่อย ๆ ตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายเพื่อให้งานสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี 

20 สิงหาคม 2564

อาจารย์ประจำหลักสูตร และผู้ปฏิบัติงานตำบลบ้านสิงห์ทุกคนได้เดินทางเข้าร่วมกิจกรรมการแปรรูปเพื่อสร้างความหลากหลายให้กับผลิตภัณฑ์ ซึ่งการปฏิบัติงานในครั้งนี้ต้องแบ่งกลุ่มผู้ปฏิบัติงานออกเป็น 2 ทีม เนื่องจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด – 19 ทำให้ไม่สามารถลงพื้นที่กันได้ทุกคน โดยทีมแรกมีอาจารย์ประจำหลักสูตร กลุ่มบัณฑิตจบใหม่ กลุ่มประชาชน และเจ้าของผลิตภัณฑ์ในชุมชน 2 ท่านคือแม่มาลี และแม่อารมณ์  ทีมที่ 2 จะเป็นอาจารย์จากคณะวิทยาศาสตร์ สาขานวัตกรรมอาหารเเละแปรรูป มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ และกลุ่มนักศึกษา ซึ่งการปฏิบัติงานดำเนินไปดังนี้ทีมแรกจะลงพื้นที่ ที่บ้านเลขที่ 2 หมู่ 11 ต.บ้านสิงห์ อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ ซึ่งมีการเตรียมอุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อที่จะทำการแปรรูปผลิตภัณฑ์ในส่วนของแม่อารมณ์ ได้แก่ กล้วยฉาบ มันฉาบ ถุงซีลสุญญากาศ สารดูดความชื้น ตาชั่ง  ในส่วนของแม่มาลี ได้แก่ แป้งข้าวเหนียว น้ำตาลมะพร้าว เกลือ กะทิ มะพร้าวทึนทึกขูด น้ำมันพืช งาดำ กระทะสำหรับทอดบ้าบิ่น เตา  ช้อนตวงต่าง ๆ พิมพ์รูปวงกลม ตะหลิว

ส่วนทีมที่ 2 จะลงพื้นที่อยู่ที่ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ จะเตรียมอุปกรณ์เช่นเดียวกัน เพื่อที่จะทำการสาธิตวิธีการการแปรรูปผลิตภัณฑ์ให้กับแม่มาลี และแม่อารมณ์ ให้มีความหลากหลายมากขึ้น โดยการสื่อสารของทั้ง 2 ฝ่ายคือจะสื่อสารกันผ่านทางระบบออนไลน์ Google meet  

 

ในส่วนแรกจะเป็นผลิตภัณฑ์ของแม่อารมณ์ คือ กล้วยฉาบ มันฉาบ ซึ่งทางแม่อารมณ์ไม่ต้องการปรับสูตรของผลิตภัณฑ์แต่เพียงต้องการทำผลิตภัณฑ์อย่างอื่นเพิ่ม เพื่อเพิ่มความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ อีกทั้งยังต้องการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้มีความทันสมัยและสวยงามมากขึ้น ซึ่งบรรจุภัณฑ์ที่แม่อารมณ์ใช้ในตอนแรกนั้นคือถุงพลาสติกกับริบบิ้นลวดเท่านั้น และต้องการให้มีการชั่งตวงผลิตภัณฑ์ก่อนที่จะนำไปบรรจุในบรรจุภัณฑ์ ในช่วงที่ผ่านมาแม่อารมณ์ไม่ได้มีการชั่งตวงก่อนบรรจุผลิตภัณฑ์ลงบรรจุภัณฑ์จึงทำให้ผลิตภัณฑ์แต่ละถุงมีน้ำหนักไม่เท่ากัน ซึ่งทางอาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ สาขานวัตกรรมอาหารและแปรรูปก็ได้แนะนำให้เปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ให้อยู่ในรูปแบบใหม่ คือ ใช้ถุงซีลสุญญากาศเพื่อให้ยืดอายุการเก็บรักษาผลิตภัณฑ์ได้นานขึ้น และใส่สารกันชื้นเพื่อลดกลิ่นอับในผลิตภัณฑ์ ต่อมาคือการตวงผลิตภัณฑ์ ใน 1 ถุงจะใส่กล้วยฉาบหรือมันฉาบ ประมาณ 70 กรัม เพื่อให้ได้น้ำหนักที่พอดี และผลิตภัณฑ์มีความพอดีกับถุง

ต่อมาเป็นส่วนของแม่มาลี คือ ขนมบ้าบิ่น ซึ่งทางแม่มาลีต้องการปรับสูตรขนมเพื่อให้สามารถเก็บรักษาได้นานขึ้น เนื่องจากปกติขนมบ้าบิ่นของแม่มาลีจะทำขายวันต่อวัน ไม่สามารถเก็บรักษาได้นานกว่านั้น ทางอาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ สาขานวัตกรรมอาหารเเละแปรรูปจึงได้แนะนำแม่มาลีดังนี้ คือเมื่อทอดบ้าบิ่น สูตรของแม่มาลีจะใช้น้ำมันในการทอดมากกว่าสูตรของอาจารย์สาขานวัตกรรมอาหารและแปรรูป เนื่องจากกระทะที่ใช้ทอดเป็นกระทะคนละแบบ กระทะของแม่มาลีถ้าใช้น้ำมันน้อยจะทำให้บ้าบิ่นไหม้ได้ แต่กระทะของอาจารย์สาขานวัตกรรมอาหารและแปรรูปไม่ต้องใช้น้ำมันเลยก็สามารถทอดได้ เมื่อขนมบ้าบิ่นไร้น้ำมันทำให้สามารถเก็บรักษาได้ 1 – 2 วัน ดังนั้นจึงต้องปรับหาสูตรอีกเพื่อที่จะทำให้สามารถเก็บรักษาขนมไว้ได้นานไม่ว่าจะใช้กระทะแบบใด

 

 

กิจกรรมต่าง ๆ ที่ทำตั้งแต่เริ่มปฏิบัติงาน

เดือนกุมภาพันธ์ : ลงพื้นที่ ณ องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านสิงห์เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูล โดยนำข้อมูลที่ได้มาใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนของชุมชนของท่านตามโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการเพื่อสร้างรากแก้วให้ประเทศ โดยเป็นการเก็บข้อมูลของชาวบ้าน บ้านหนองม่วง หมู่ 12 ต.บ้านสิงห์ อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ เกี่ยวกับอาชีพ เศรษฐกิจของครัวเรือนและชุมชน ภาวะรายได้ของครัวเรือน ภาวะหนี้สินของครัวเรือน ภาวะการออมเงินของครัวเรือน สิ่งแวดล้อมและสังคมของชุมชน การท่องเที่ยวของชุมชน สภาพและความต้องการของชุมชน

เดือนมีนาคม : ลงพื้นที่เก็บข้อมูลแบบฟอร์ม 06 (แบบสำรวจเพื่อเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคติดต่ออุบัติใหม่) และเก็บแบบสอบถามในส่วนอื่น ๆ เพิ่มเติม คือแบบฟอร์ม 01 (แบบสอบถามข้อมูลระดับบุคคล ครัวเรือนและชุมชน) และ 02 (แบบสอบถามเกี่ยวกับผลกระทบจากโรคโควิด-19) ซึ่งมีการเก็บบางส่วนมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์แล้ว

เดือนเมษายน  : อาจารย์ประจำหลักสูตร และทีมงานผู้ปฏิบัติงานตำบลบ้านสิงห์ทุกคนได้เดินทางไปยัง บ้านโคกว่าน ตำบลหนองโสน อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อเข้าไปร่วมพิธียกเสาเอก-เสาโท ศาลาเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง และเข้าร่วมเวทีประชุมโดยดิฉัน อาจารย์ประจำหลักสูตร ผู้ปฏิบัติงานทุกคน และสมาชิกบางกลุ่มที่ได้มีการติดต่อไว้เข้ามาร่วมเวทีประชุมกัน ที่ ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านสิงห์ โดยมีการพูดถึงขนมที่เป็นจุดเด่นของแต่ละหมู่บ้าน และผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่เป็นจุดเด่นอีกด้วย

เดือนพฤษภาคม : เข้าร่วมรับชมการถ่ายทอดสด งานบุญผ้าป่า-ปาฐกถาชุมชนออนไลน์ “ยักษ์จับโจน” ผ่านทางช่อง Youtube : HUSOC-BRU Channel โดย นายธัชกร  หัตถาธยากูล ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ เป็นประธานในพิธีเเละมีวิทยากรพิเศษที่ได้รับเชิญมาร่วมบรรยายด้วย 2 ท่านคือ ดร. วิวัฒน์ ศัลยกำธร หรือ ดร. ยักษ์ บรรยายในหัวข้อ “กสิกรรมธรรมชาติ บนรากฐานปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสู่การพัฒนาที่มั่นคงมั่งคั่งเเละยั่งยืน” และลงพื้นที่เก็บข้อมูลอีกครั้งในช่วงสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 โดยเป็นการเก็บข้อมูลผ่านทาง Application https://cbd.u2t.ac.th/ จาก สป.อว.

เดือนมิถุนายน :

  • อาจารย์ประจำหลักสูตรและผู้ปฏิบัติงานตำบลบ้านสิงห์ทุกคนได้ลงพื้นที่ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ ณ ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านสิงห์ โดยมี อาจารย์ชินานาง สวัสดิ์รัมย์ เป็นวิทยากรในการอบรม
  • ลงพื้นที่ ณ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านสิงห์เพื่อทำการถ่ายวีดีโอเพื่อนำไปตัดต่อเป็นคลิปวีดีโอรณรงค์การฉีดวัคซีนป้องกันโรคระบาด โควิด-19
  • ลงพื้นที่ปฏิบัติงานโครงการ “ รวมใจปลูกต้นไม้ปลูกธรรมมะวันวิสาขบูชา ๒๕๖๔ ” เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว
  • ลงพื้นที่ ณ โรงเรียนบ้านหนองยายพิมพ์ ต.หนองยายพิมพ์ อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ โดยลงพื้นที่เพื่อไปสำรวจต้นไม้ที่ได้มีการปลูกจากโครงการ “ รวมใจปลูกต้นไม้ปลูกธรรมมะวันวิสาขบูชา ๒๕๖๔ ”
  • อบรมเกี่ยวกับโรคระบาดโควิด-19 และทำความเข้าใจเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคระบาดโควิด-19 ณ ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านสิงห์

เดือนกรกฎาคม : ลงพื้นที่ ณ บ้านหนองม่วง หมู่ 12 ต.บ้านสิงห์ อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ โดยเป็นการลงพื้นที่เก็บข้อมูลเกษตรกร ร้านอาหารในท้องถิ่น สัตว์ในท้องถิ่น ภูมิปัญญาท้องถิ่น พืชในท้องถิ่น และแหล่งน้ำในท้องถิ่น โดยเป็นการเก็บข้อมูลผ่านทาง  Application https://cbd.u2t.ac.th/ จาก สป.อว. ในส่วนที่ยังสำรวจและเก็บข้อมูลไม่หมด

เดือนสิงหาคม : ได้มีลงพื้นที่บริจาคสิ่งของให้กับศูนย์ประสานงานเฝ้าระวัง โควิด-19 ในตำบลบ้านสิงห์ อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ โดยการบริจาคสิ่งของในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ U2T โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ สร้างรากแก้วให้ประเทศ และได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูลสำหรับที่อยู่อาศัยและตลาดประจำเดือนสิงหาคมในการเฝ้าระวังโรคระบาดโควิด – 19 ในชุมชนอีกด้วย

 

                 ในการปฏิบัติงานทุกครั้งจะต้องมีการวางแผนกับเพื่อนร่วมงานและอาจารย์ประจำหลักสูตรก่อนเริ่มงาน โดยจะมีการประชุมกันผ่านทางระบบออนไลน์ Google meet การพบปะกันในแต่ละเดือนเพื่อพูดคุยหาข้อมูลและวางแผนเกี่ยวกับการดำเนินงานในเดือนต่อ ๆ ไป อีกทั้งยังปรับปรุงแก้ไขงานในเดือนที่ผ่านมาให้มีความสมบูรณ์มากขึ้น ซึ่งในการปฏิบัติงานที่ผ่าน ๆ มานั้นทำให้ดิฉันได้เรียนรู้เกี่ยวกับอะไรหลาย ๆ อย่างไม่ว่าจะเป็นข้อมูลด้านเศรษฐกิจ อาชีพของชาวบ้าน ความเป็นอยู่ การปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์โรคระบาดโควิด – 19 ของชาวบ้านเพื่อที่จะให้สามารถดำเนินชีวิตผ่านไปให้ได้ ปัญหาความขัดแย้งของหมู่บ้าน และผลิตภัณฑ์ที่เป็นจุดเด่นของหมู่บ้านนั้น ส่วนปัญหาและอุปสรรคในการทำงานนั้น โดยส่วนใหญ่จะอยู่ที่สถานการณ์โรคระบาดโควิด – 19 ที่ระบาดอย่างหนัก ทำให้บางช่วงการลงพื้นที่ปฏิบัติงานเป็นไปด้วยความยากลำบาก แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ไม่ว่าการปฏิบัติงานจะมีอุปสรรคเพียงใด ทางอาจารย์ประจำหลักสูตรและทีมผู้ปฏิบัติงานทุกคนก็พยายามปฏิบัติหน้าที่ ที่ตัวเองได้รับมอบหมายให้ได้มากที่สุด เพื่อให้งานออกมาสมบูรณ์แบบและประสบผลสำเร็จมากที่สุด

 

 

อื่นๆ

เมนู