ข้อมูลการปฏิบัติหน้าที่ประจำเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2564
ข้าพเจ้า นางสาวอรวรรณ คิดรัมย์ (กลุ่มนักศึกษา)
ตำบลบ้านสิงห์ อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ ตามโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ
(1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย)
วันศุกร์ที่ 7 เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2564 เวลา 11.00 น. ได้เข้าร่วมการประชุมผ่าน Google meet
เรื่อง การเตรียมความพร้อมก่อนเข้าใช้ Application U2T เพื่อทำความเข้าใจและวางแผนก่อนปฏิบัติงานจริง ในการประชุมอาจารย์ประจำหลักสูตรได้มอบหมาย
ให้ผู้ปฏิบัติงานสำรวจข้อมูลที่เกี่ยวกับ ผู้ที่ย้ายกลับบ้านเนื่องจากสถานการณ์โควิด แหล่งท่องเที่ยว ที่พัก/โรงแรม ร้านอาหารในท้องถิ่น อาหารที่น่าสนใจประจำท้องถิ่น
เกษตรกรในท้องถิ่น พืชในท้องถิ่น สัตว์ในท้องถิ่น ภูมิปัญญาในท้องถิ่น แหล่งน้ำในท้องถิ่น โดยแบ่งหน้าที่ตามหมู่บ้านที่ตนรับผิดชอบ
หลังจากนั้นอาจารย์ประจำหลักสูตรได้สอบถามถึงปัญหาในการลงพื้นที่ เนื่องด้วยเกิดสถานการณ์การระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่ทำให้ในบางพื้นที่ไม่สามารถเข้าไปเก็บข้อมูลได้ หากลงพื้นที่ต้องขออนุญาตผู้นำชุมชนก่อน และต้องดูแลป้องกันตนเอง โดยการสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา
คู่มือการใช้งานของ Application U2T สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ลิงค์ คู่มือการเข้าใช้งาน U2T-Manual
วันพุธที่ 12 เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2564
เวลา 09.00 น. – 15.00 น. ได้เข้าร่วมงานบุญผ้าป่า – ปาฐกถาชุมชนออนไลน์ “ ยักษ์ จับ โจน ”
ซึ่งมี 2 ระบบ คือ 1. ระบบ Google meet โดยมีคณะผู้บริหาร วิทยากร และคณาจารย์ประจำหลักสูตร ทั้ง 11 ตำบล ซึ่งใช้เป็นห้องทำพิธีเปิดงานครั้งยิ่งใหญ่
2. ระบบถ่ายทอดสดผ่านทางช่อง Youtube : HUSOC-BRU Channel โดยมีผู้เข้าร่วมรับชม และฟังคำบรรยายต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก
กำหนดการและกิจกรรมงานบุญผ้าป่า – ปาฐกถาชุมชนออนไลน์ ตามลำดับ ดังนี้
เวลา 09.00 น. พิธีเปิดงานบุญผ้าป่า – ปาฐกถาชุมชนผ่านระบบออนไลน์
กล่าวรายงานโดย นางสาวเพชรรัตน์ ภูมาศ นายอำเภอนางรอง ประธานฝ่ายฆราวาสในการจัดงานทอดผ้าป่า – ปาฐกถาชุมชนผ่านระบบออนไลน์ เนื่องด้วยสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 คณะผู้จัดงานจึงได้ปรับรูปแบบออนไลน์เกือบทั้งหมด จะมีพิธีทอดผ้าป่าเท่านั้น ที่ประกอบพิธี ณ ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง อำเภอนางรอง บ้านโคกว่าน ได้จำกัดจำนวนผู้เข้าร่วมเป็นตัวแทนของชุมชนต่าง ๆ ไม่เกิน 50 คน และทุกคนที่เข้าร่วมพิธีต้องปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัด เช่น สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา เว้นระยะห่างอย่างน้อย 2 เมตร มีเจ้าหน้าที่ อสม. คอยตรวจวัดอุณหภูมิ และมีเจลแอลกอฮอล์ให้บริการอย่างเพียงพอ ในการจัดงานบุญทอดผ้าป่าสามัคคี เพื่อสมทบทุนสร้างศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง อำเภอนางรอง และการปาฐกถาพิเศษของผู้ทรงคุณวุฒิโดยสังเขปดังนี้ ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง อำเภอนางรอง ตั้งอยู่ที่บ้านโคกว่าน ตำบลหนองโสน อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ พื้นที่ประมาณ 1 ไร่ ซึ่งนายมานพ บุญรอดพร้อมครอบครัวได้บริจาคไว้ เพื่อเป็นสาธารณสมบัติ ต่อมาชาวอำเภอนางรองร่วมใจตั้งกลุ่มรักนางรองสีเขียวยั่งยืน และศูนย์ประสานงานชุมชนสัมพันธ์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ได้ประชุมศึกษาหารือกัน เพื่อสร้างศูนย์การเรียนรู้ชุมชน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้อำเภอนางรอง มีศูนย์การเรียนรู้ศาสตร์พระราชาและปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เป็นศูนย์อบรมหลักสูตรพัฒนาสัมมาชีพต่าง ๆ และเป็นแหล่งศึกษาดูงานของหน่วยงานต่าง ๆ ที่สนใจเกี่ยวกับกสิกรรมธรรมชาติ ด้วยความสำคัญของศูนย์การเรียนรู้ดังกล่าว ฯ คณะกรรมการจัดงาน และศรัทธาสาธุชน จึงได้ร่วมกันจัดงานทอดผ้าป่าสามัคคีขึ้น เพื่อสมทบทุนสร้างศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงของอำเภอนางรองขึ้นเป็นปีแรก เมื่อวันที่ 18 เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 แต่ยังได้รับคุณทรัพย์ไม่เพียงพอต่อการก่อสร้างศาลาการเรียนรู้ ดังนั้นคณะกรรมการจึงได้จัดงานทอดผ้าป่าสามัคคีขึ้น เป็นปีที่สอง ในวันที่ 12 เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2564 เพื่อจะระดมคุณทรัพย์เป็นค่าก่อสร้างศาลาการเรียนรู้ประมาณ 1 ล้านบาท ให้แล้วเสร็จ ตามเจตนารมณ์ของทุกฝ่าย
นอกจากนี้ยังมีการปาฐกถาพิเศษผ่านทางออนไลน์ โดยผู้ทรงคุณวุฒิ คือ ท่านดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร หรือ ดร.ยักษ์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประธานสถาบันเศรษฐกิจพอเพียง ประธานมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ ประธานกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ จะปาฐกถาพิเศษในหัวข้อเรื่อง “ กสิกรรมธรรมชาติบนรากฐานปรัชญาแห่งเศรษฐกิจพอเพียง สู่การพัฒนาที่มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนในยุค World Disruption ” และคุณโจน จันได ผู้ก่อตั้งพันพรรณ ศูนย์การเรียนรู้เพื่อการพึ่งตนเอง และศูนย์เก็บเมล็ดพันธุ์ จะปาฐกถาพิเศษในหัวข้อเรื่อง “ กสิกรรมธรรมชาติตามศาสตร์พระราชา : ทางเลือกและทางรอด ในโลกยุค Viral Disruption หรือโรคไวรัสระบาด ”
นายธัชกร หัตถาธยากูล ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ เป็นผู้กล่าวพิธีเปิด
เนื่องด้วยเกิดสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทำให้ชาวจังหวัดบุรีรัมย์ มีผู้ติดเชื้อจำนวนประมาณ 200 กว่าคน เพื่อไม่ให้มีการขัดต่อคำสั่งของจังหวัดบุรีรัมย์ และคำสั่งของ สปค. ในเรื่องของการรวมตัวกันไม่เกิน 50 คน จึงขออนุญาตมาร่วมในงานบุญผ้าป่า – ปาฐกถาชุมชนผ่านระบบออนไลน์ และขอให้พี่น้องประชาชนคนบุรีรัมย์ทุกท่าน ได้อยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อชาติ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในนามของจังหวัดขอชื่นชม และขอขอบคุณทุกท่านทุกฝ่าย ทั้งคณะสงฆ์ ทั้งภาคราชการ ภาคเอกชน และพี่น้องพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย ที่ได้ร่วมด้วยช่วยกัน “ จัดงานบุญทอดผ้าป่าสามัคคี ” เพื่อสมทบทุนสร้างศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง อำเภอนางรอง และจัดปาฐกถาชุมชนออนไลน์ขึ้น ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง อำเภอนางรอง ที่ได้ร่วมด้วยช่วยกันในการสร้างครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์ที่ใช้เป็นศูนย์การเรียนรู้อบรมและเรียนรู้ศาสตร์พระราชา ทั้งเรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง การเกษตรกสิกรรมธรรมชาติ และโคกหนองนาโมเดล ซึ่งเป็นต้นแบบของจังหวัดบุรีรัมย์
กล่าวขอบคุณโดย ท่านรองศาสตราจารย์มาลิณี จุโฑปะมา รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์
ในฐานะเป็นเจ้าภาพหลักของการจัดกิจกรรมงานบุญผ้าป่า – ปาฐกถาชุมชนออนไลน์
เนื่องด้วยสถานการณ์เชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เกิดการแพร่ระบาดอย่างหนัก เพื่อความปลอดภัยต่อตนเอง สังคม และผู้ที่เกี่ยวข้อง จึงทำให้มีการจัดกิจกรรมงานบุญผ้าป่า – ปาฐกถาชุมชนออนไลน์ขึ้น มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์เป็นสถาบันอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น มีการร่วมมือร่วมแรงร่วมใจของบวร ด้วยท่านเถรานุเถระคณะสงฆ์ให้ความร่วมมือ ตลอดจนสถาบันอุดมศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ เป็นการดำเนินการของคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ โดยมีพื้นที่รับผิดชอบของอำเภอนางรองและอำเภอลำปลายมาศ มหาวิทยาลัยนั้นได้ทำหน้าที่ตามศาสตร์พระราชา ถือเป็นหน้าที่ของราชภัฏคนของพระราชาข้าของแผ่นดิน ซึ่งในหลวงรัชกาลที่ 10 ได้ให้พระบรมราโชบายให้ดูแลชุมชน ตั้งใจที่จะให้เกิดการพัฒนาชุมชนอย่างจริงจัง โดยเป็นศูนย์ประสานงานชุมชนสัมพันธ์ของคณะมนุษยศาสตร์ ฯ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ เป็นการทำหน้าที่เพื่อดำเนินการรวบรวมความสมัครสมานสามัคคีทุกส่วนฝ่าย ในการสร้างศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงตามศาสตร์พระราชานั้น เป็นส่วนหนึ่งที่ภาคภูมิใจของประเทศไทย และเพื่อต่อยอดเผยแพร่การเรียนรู้ต่าง ๆ ทำให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม และประเทศชาติอย่างยั่งยืน
ท่านพระเดชพระคุณหลวงพ่อพระครูวิสุทธิ พัฒนาภิรมย์ เจ้าอาวาสวัดตาไก้พลวง เจ้าคณะตำบลหนองกง
และประธานกลุ่มรักนางรองสีเขียวยั่งยืน ซึ่งเป็นประธานฝ่ายสงฆ์ ได้กล่าวสัมโมทนียกถาแด่ทุกท่านในชุมชนออนไลน์
เวลา 10.00 น. – 11.00 น. เข้าสู่การปาฐกถาพิเศษผ่านออนไลน์ HUSOC-BRU Channel โดย ท่านดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร หรือ ดร.ยักษ์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประธานสถาบันเศรษฐกิจพอเพียง ประธานมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ ประธานกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ บรรยายเรื่อง “ กสิกรรมธรรมชาติบนรากฐานปรัชญาแห่งเศรษฐกิจพอเพียง สู่การพัฒนาที่มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนในยุค World Disruption ”
เวลา 11.00 น. – 12.00 น. รับชมการถ่ายทอดสดพิธีทอดผ้าป่าสามัคคี และถวายภัตตาหารเพลแด่พระสงฆ์ ณ ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง อำเภอนางรอง บ้านโคกว่าน ตำบลหนองโสน อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์
เวลา 13.00 น. – 14.30 น. การฟังปาฐกถาพิเศษผ่านออนไลน์ โดยคนต้นเรื่องของการสร้างปั้นดิน ผู้ก่อตั้งพันพรรณ
ศูนย์การเรียนรู้เพื่อการพึ่งตนเอง และศูนย์เก็บเมล็ดพันธุ์ “ โจน จันได ” บรรยายหัวข้อที่น่าสนใจและเข้ากับยุคสมัยมาก
นั่นคือ หัวข้อเรื่อง “ กสิกรรมธรรมชาติตามศาสตร์พระราชา : ทางเลือกและทางรอด ในโลกยุค Viral Disruption หรือโรคไวรัสระบาด ”
โจน จันได ได้กล่าวในวิดีโอไว้ว่า “ หญ้าไม่ใช่ศัตรู หญ้าคือสวามิตรที่ยิ่งใหญ่ หญ้าเกิดขึ้นมาเพื่อพัฒนาดิน เพื่อช่วยเกษตรกร ”
การใช้ประโยชน์จากหญ้า มีวิธีการดังนี้
- การตัดหญ้าลง เดือนละ 1 ครั้งในหน้าฝน ปล่อยให้หญ้าสูงขึ้นมาแล้ว ก็ตัดมันลง ถมไว้ ห้ามขนย้าย ห้ามเผาเด็ดขาด ไม่ถึง 2 อาทิตย์หญ้าเหล่านั้นก็จะเน่าเปื่อยกลายเป็นปุ๋ย
- การปลูกต้นไม้หรือผลไม้ ถ้ามีหญ้าขึ้นมาสูง ๆ ให้เหยียบหญ้ารอบ ๆ ต้นไม้ลง แล้วเอาฟางคลุม เมื่อหญ้าเหล่านั้นไม่ถูกแสงแดด หญ้าก็จะเน่าเปื่อยกลายเป็นปุ๋ยของต้นไม้ต่อไป
- “ หญ้าในนา ” นาที่ปลูกข้าว แล้วปล่อยให้หญ้ากับข้าวโตขึ้นมาพร้อม ๆ กัน ให้สังเกตว่าหญ้าเริ่มมีข้อ (สีน้ำตาล) โดยปกติหญ้าจะมีอายุสั้นกว่าข้าว เมื่อสังเกตว่าหญ้ามีข้อ แต่ต้นข้าวยังไม่มีข้อ ให้ใช้เครื่องตัดหญ้า ตัดทั้งหญ้าและข้าวพร้อม ๆ กัน ให้เหลือตอไว้ประมาณ 2 – 3 นิ้ว หลังจากนั้นวันที่ 2 ตอข้าวจะแทงยอดขึ้นมา สูงประมาณ 2 – 3 นิ้ว ฉะนั้นข้าวจะสูงขึ้นมาปกคลุมหญ้า และหญ้าก็ไม่สามารถที่จะโตแข่งกับข้าวได้อีก
- การใช้หญ้าในแปลงผัก
– ถ้าเป็นพืชประเภท พริก มะเขือ ข้าวโพด เมื่อสังเกตเห็นหญ้าขึ้นมาเยอะ ๆ ให้ใช้มือกดหญ้าลง นำเอาฟางมาวางคลุม หรือเอาหญ้าที่แห้งแล้วมาคลุม หญ้าเหล่านั้นก็จะยุติการเจริญเติบโต และเน่าเปื่อยกลายเป็นปุ๋ยต่อไป
– ถ้าเป็นผักต้นเล็ก สามารถทำแปลงผักให้ดี นำเอาฟางมาวางคลุมให้หนา และเอาต้นกล้าปลูกลงไปในฟางได้เลย ซึ่งจะทำให้เมล็ดหญ้างอกไม่ได้ เพราะไม่ได้รับแสงแดด ฉะนั้นสวนผักก็จะมีปัญหาเรื่องหญ้าน้อยลง
หญ้าไม่ใช่ศัตรูพืช หญ้าไม่ใช่ศัตรูของมนุษย์ หญ้าคือสิ่งที่มาช่วยให้มนุษย์มีดินที่ดีขึ้น มาช่วยมนุษย์ทำการเกษตร
ฉะนั้นไม่ควรที่จะฆ่าหญ้า ควรที่จะหาทางใช้ประโยชน์จากหญ้าน่าจะดีกว่า การหาสารเคมีที่มาฆ่าหญ้าจึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ ทำไมต้องฆ่าหญ้า การแบนสารเคมีฆ่าหญ้ามันจะต้องง่าย ถ้ามันยากแสดงว่ามันผิด
เวลา 15.00 น. กล่าวพิธีปิดโดย ท่านพระเดชพระคุณหลวงพ่อพระครูวิสุทธิ พัฒนาภิรมย์
เจ้าอาวาสวัดตาไก้พลวง เจ้าคณะตำบลหนองกง และประธานกลุ่มรักนางรองสีเขียวยั่งยืน
สามารถรับชมรับฟังวิดีโอ “ งานบุญผ้าป่า – ปาฐกถาชุมชนออนไลน์ ” ฉบับเต็ม กดลิงค์ด้านล่างได้เลยนะคะ
การลงพื้นที่ปฏิบัติงาน เพื่อสำรวจข้อมูล และจัดเก็บข้อมูลลงใน Application U2T
ในวันที่ 12 เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2564 ณ บ้านหนองตาชี หมู่ที่ 5 ตำบลบ้านสิงห์ อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์
สวนดาวเรือง ดาวเรือง (ชื่อวิทยาศาสตร์ : Tagetes erecta L.) มีชื่อตามภาษาท้องถิ่นว่า คำปู้จู้ (ภาคเหนือ) นิยมปลูกตัดดอก เป็นดาวเรืองในกลุ่ม African หรือ American marigold เป็นพันธุ์ดอกใหญ่ พันธุ์ที่ใช้เป็นการค้าในประเทศไทยได้แก่พันธุ์ซอเวอริน (soverign) นอกจากนี้ยังมีสายพันธุ์ใหม่ ๆ ที่นำเข้ามาได้แก่ พันธุ์จาเมกาและอื่น ๆ อีกหลายพันธุ์
- ลักษณะการใช้งาน คือ ประดับตกแต่ง เพื่อจำหน่าย ใช้ในงานพิธีกรรม และใช้กลิ่น
- จำนวนที่พบประมาณ 100 ต้นขึ้นไป
- ช่วงเดือนที่พบได้มาก ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมจนถึงเดือนกรกฏาคม
- มีเจ้าของ
สวนมันสำปะหลัง มันสำปะหลัง (ชื่อวิทยาศาสตร์ : Manihot esculenta (L.) Crantz) เป็นพืชหัวชนิดหนึ่ง เป็นพืชอาหารที่สำคัญอันดับ 5 รองจากข้าวสาลี ข้าวโพด ข้าว และมันฝรั่ง ชื่อสามัญเรียกหลายชื่อ เช่น Cassava Yuca Mandioa Manioc Tapioca ชาวไทยเดิมเรียกกันว่า มันสำโรง มันไม้ ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือเรียกว่า มันต้นเตี้ย ภาคใต้เรียกมันเทศ (แต่เรียกมันเทศว่า “ มันหลา ”) คำว่า “ สำปะหลัง ” ที่นิยมเรียกอาจมาจากคำว่า “ ซำเปอ (Sampou) ” ของชวาตะวัน
- ลักษณะการใช้งาน คือ เป็นอาหารสัตว์ อาหารมนุษย์ และเพื่อจำหน่าย
- จำนวนที่พบประมาณ 2000 ต้นขึ้นไป
- ช่วงเดือนที่พบได้มาก ตั้งแต่เดือนเมษายนจนถึงเดือนมกราคม
- มีเจ้าของ
สวนยางพารา ยางพารา เป็นไม้ยืนต้น มีถิ่นกำเนิดบริเวณลุ่มน้ำแอมะซอน ประเทศบราซิลและประเทศเปรู ทวีปอเมริกาใต้ โดยชาวพื้นเมืองเรียกว่า “ เกาชู ” (cao tchu) แปลว่า ต้นไม้ร้องไห้ จนถึงปี พ.ศ. 2313 (ค.ศ. 1770) โจเซฟ พรีสต์ลีย์ พบว่ายางสามารถนำมาลบรอยดำของดินสอได้ จึงเรียกว่ายางลบหรือตัวลบ (rubber) ซึ่งเป็นศัพท์ใช้ในประเทศอังกฤษ และประเทศเนเธอร์แลนด์เท่านั้น ศูนย์กลางของการเพาะปลูก และซื้อขายยางในอเมริกาใต้แต่ดั้งเดิมอยู่ที่รัฐปารา (Pará) ของประเทศบราซิล ยางชนิดนี้จึงมีชื่อเรียกว่า ยางพารา
- ลักษณะการใช้งาน คือ เพื่อจำหน่าย
- จำนวนที่พบประมาณ 20 ต้นขึ้นไป
- ช่วงเดือนที่พบได้มาก ตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงเดือนธันวาคม
- มีเจ้าของ
สวนดอกมะลิ มะลิ เป็นไม้พุ่มหรือไม้เถาในวงศ์มะลิ มีประมาณ 200 ชนิด มีถิ่นกำเนิดในพื้นที่เขตร้อน และกึ่งเขตร้อนในแถบทวีปยุโรป เอเชีย และแอฟริกา ลักษณะดอกและกลิ่นมีความแตกต่างกันไปตามแต่ละชนิดหรือพันธุ์ มะลิมีทั้งชนิดไม้ผลัดใบและไม้ไม่ผลัดใบที่ลำต้นตั้งตรงหรือกางออก หรือเป็นไม้พุ่มและไม้เถา ใบเรียงใบแบบตรงข้ามหรือเรียงใบแบบสลับ สามารถเป็นใบเดี่ยว มีสามใบ หรือเป็นแบบขนนก
- ลักษณะการใช้งาน คือ ประดับตกแต่ง เพื่อจำหน่าย ใช้เป็นยา และใช้กลิ่น
- จำนวนที่พบประมาณ 200 ต้น
- ช่วงเดือนที่พบได้มาก ตั้งแต่เดือนมีนาคมจนถึงเดือนตุลาคม
- มีเจ้าของ
ต้นส้มโอ ส้มโอ เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางในตระกูลเดียวกับส้ม มีชื่อพื้นเมืองอื่น ๆ อีกคือ โกร้ยตะลอง (ภาษาเขมร) มะขุน (เหนือ) มะโอ (เหนือ) ลีมาบาลี (มลายู ยะลา) และสังอู (กะเหรี่ยง มลายู) มีชื่อสามัญในภาษาอังกฤษว่า Pomelo ซึ่งมีรากศัพท์มาจากภาษาดัตช์ pompelmoes ซึ่งแปลตรงตัวว่า “ ส้มที่ลูกเท่าฟักทอง ” แหล่งกำเนิดอยู่ในเขตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส้มโอจัดว่าเป็นไม้ผลเศรษฐกิจชนิดหนึ่งของไทย นิยมปลูกทางภาคตะวันตกของประเทศ
- ลักษณะการใช้งาน คือ เป็นอาหารมนุษย์ และเพื่อจำหน่าย
- จำนวนที่พบประมาณ 8 – 20 ต้น
- ช่วงเดือนที่พบได้มาก ตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงเดือนธันวาคม
- มีเจ้าของ
- ผู้ให้ข้อมูล คือ นางฉอ้อน อินทร์ไกรดี
ต้นผักหวานป่า ผักหวานป่า (ชื่อวิทยาศาสตร์ : Melientha suavis Pierre) เป็นพืชในวงศ์ Opiliaceae เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ต้นที่โตเต็มที่อาจสูงถึง 13 เมตร ที่พบโดยทั่วไปมักมีลักษณะเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก หรือเป็นไม้พุ่ม เนื่องจากมีการหักกิ่งเด็ดยอดเพื่อกระตุ้นให้เกิดกิ่งและยอดอ่อน ซึ่งเป็นส่วนที่ใช้บริโภค ใบเป็นใบเดี่ยวเรียงสลับกัน ใบอ่อนรูปร่างแคบรี ปลายใบแหลม สีเขียวอมเหลือง ใบแก่เต็มที่รูปร่างรีกว้าง ถึงรูปไข่หรือรูปไข่กลับ ใบสีเขียวเข้ม เนื้อใบกรอบ ขอบใบเรียบ ปลายใบมน ก้านใบสั้น ช่อดอกแตกกิ่งก้านคล้ายช่อดอกมะม่วงหรือลำไย และเกิดตามกิ่งแก่ หรือตามลำต้นที่ใบร่วงแล้ว ดอกมีขนาดเล็กเป็นตุ่มสีเขียวอัดกันแน่นเป็นกระจุก ขณะที่ยังอ่อนอยู่ ผลเป็นผลเดี่ยวติดกันเป็นพวง เหมือนช่อผลของมะไฟหรือลางสาด แต่ละผลมีขนาดประมาณ 1.5 x 2.5 ซม. ผลอ่อนสีเขียวมีนวลเคลือบ และเปลี่ยนเป็นสีเหลืองถึงเหลืองอมส้ม เมื่อผลสุกแต่ละผลมีเมล็ดเดียว สามารถนำยอดและใบอ่อนมาปรุงอาหารได้หลากหลายทั้งต้ม ผัด แกง เช่น แกงเลียงผักหวานป่า ต้มจืดผักหวานป่า ฯลฯ
- ลักษณะการใช้งาน คือ เป็นอาหารมนุษย์ และเพื่อจำหน่าย
- จำนวนที่พบประมาณ 10 – 30 ต้น
- ช่วงเดือนที่พบได้มาก ตั้งแต่เดือนมีนาคมจนถึงเดือนเมษายน
- มีเจ้าของ
- เจ้าของ คือ นางสุนิษา สุขไกร
ต้นมะขาม มะขาม เป็นไม้เขตร้อน มีถิ่นกำเนิดอยู่ในทวีปแอฟริกาแถบประเทศซูดาน ประเทศแคเมอรูน ประเทศไนจีเรีย ประเทศเคนยา ประเทศแซมเบีย และประเทศแทนซาเนีย ต่อมามีการนำเข้ามาในแถบประเทศเขตร้อนของเอเชียและประเทศแถบลาตินอเมริกา และในปัจจุบันพบมากในประเทศเม็กซิโก ชื่อมะขามในภาคต่าง ๆ เรียก มะขามไทย ภาคกลาง ขาม ภาคใต้ ตะลูบ โคราช ม่วงโคล้ง (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี) อำเปียล เขมร จังหวัดสุรินทร์ ในภาษาอังกฤษใช้คำว่า tamarind ซึ่งมาจากภาษาอาหรับ แปลว่า Indian date มะขามเป็นพันธุ์ไม้มงคลพระราชทานและต้นไม้ประจำจังหวัดเพชรบูรณ์ มะขามในไทยมี 2 ชนิด คือ มะขามเปรี้ยว และมะขามหวาน โดยมะขามหวานมีหลายพันธุ์ เช่น พันธุ์น้ำผึ้ง อินทผลัม หมื่นจง สีทอง ในบางครั้งจะเรียกมะขามตามลักษณะของฝัก เช่น มะขามขี้แมว คือมะขามฝักกลม มะขามกระดาน คือมะขามฝักแบน มะขามข้อเดียว คือมะขามที่ฝักมีข้อเดียวออกกลมป้อม
- ลักษณะการใช้งาน คือ เป็นอาหารสัตว์ อาหารมนุษย์ และเพื่อจำหน่าย
- จำนวนที่พบประมาณ 10 – 20 ต้น
- ช่วงเดือนที่พบได้มาก ตั้งแต่เดือนตุลาคมจนถึงเดือนพฤษภาคม
- มีเจ้าของ
ต้นเชอรี่ เชอรี่ (ไทย) มีชื่อเรียกว่า “ Acerola cherry หรือ Barbados cherry หรือ West indian cherry ” เป็นไม้ผลที่มีถิ่นกำเนิดในหมู่เกาะเขตร้อน แถบทะเลแคริเบียน มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Malpinghia glabal L อยู่ในวงศ์ Malpighiaceae ถือเป็นเชอรี่เขตร้อน ต่างจากเชอรี่นอกที่เป็นไม้ผลเขตหนาวจำพวก Stone Fruit และมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Prunus avium L
- ลักษณะการใช้งาน คือ เป็นอาหารสัตว์ อาหารมนุษย์ และเพื่อจำหน่าย
- จำนวนที่พบประมาณ 5 – 10 ต้น
- ช่วงเดือนที่พบได้มาก ตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงเดือนธันวาคม
- มีเจ้าของ
- ผู้ให้ข้อมูล คือ นางฉอ้อน อินทร์ไกรดี
สวนใบเตย เตยหอม ชื่อวิทยาศาสตร์ : Pandanus amaryllifolius come เป็นไม้ยืนต้นพุ่มเล็ก ขึ้นเป็นกอ ใบเป็นใบเดี่ยว เรียงสลับเวียนเป็นเกลียวขึ้นไปจนถึงยอด ใบเป็นทางยาว สีเข้ม เป็นมันเผือก ขอบใบเรียบ แต่ใบบางต้นอาจมีหนาม ในใบมีกลิ่นหอมจากน้ำมันหอมระเหย Fragrant Screw Pine สีเขียวจากใบเป็นสีของคลอโรฟิลล์ ใช้แต่งสีขนมได้
- ลักษณะการใช้งาน คือ เป็นอาหารมนุษย์ ประดับตกแต่ง เพื่อจำหน่าย ใช้เป็นยา และใช้กลิ่น
- จำนวนที่พบประมาณ 50 ต้น
- ช่วงเดือนที่พบได้มาก ตั้งแต่เดือนมีนาคมจนถึงเดือนตุลาคม
- มีเจ้าของ
ต้นสับปะรด สับปะรด (ชื่อทางวิทยาศาสตร์ : Ananas comosus) เป็นพืชล้มลุกชนิดหนึ่ง ที่มีต้นกำเนิดมาจากบริเวณทวีปอเมริกาใต้ ลำต้นมีขนาดสูงประมาณ 80 – 100 ซม. การปลูกสามารถปลูกได้ง่าย โดยการฝังกลบหน่อหรือส่วนยอดของผล ที่เรียกว่า จุก เปลือกของผลสับปะรดภายนอกมีลักษณะคล้ายตาล้อมรอบผล
- ลักษณะการใช้งาน คือ ใช้เป็นอาหารมนุษย์
- จำนวนที่พบประมาณ 50 ต้น
- ช่วงเดือนที่พบได้มาก ตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงเดือนธันวาคม
- มีเจ้าของ คือ นางฉอ้อน อินทร์ไกรดี
ต้นตะไคร้หอม ตะไคร้หอม (ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cymbopogon nardus) เป็นพืชวงศ์หญ้าอายุหลายปี มีต้นกำเนิดในเขตร้อนของเอเชีย มีน้ำมันหอมระเหย ซึ่งใช้ไล่ยุงได้ ไม่นิยมรับประทานมีฤทธิ์ทางอัลลีโลพาที โดยสารสกัดด้วยเอทานอลจากลำต้น สามารถยับยั้งการเจริญของคะน้าได้ และนอกจากนี้ผู้ที่นำเข้าตะไคร้หอมเข้ามาในประเทศไทย คือ คุณหลวงมิตรธรรมพิทักษ์ โดยนำเข้ามาจากอินเดีย และนำไปปลูกที่ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรีเป็นที่แรก ปัจจุบันมีการนำไปปลูกทั่วประเทศ
- ลักษณะการใช้งาน คือ เพื่อจำหน่าย ใช้เป็นยา และใช้กลิ่น
- จำนวนที่พบประมาณ 100 ต้น
- ช่วงเดือนที่พบได้มาก ตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงเดือนธันวาคม
- มีเจ้าของ คือ นางฉอ้อน อินทร์ไกรดี
ต้นแก้วมังกร แก้วมังกร เป็นไม้เลื้อย มีลำต้นยาวประมาณ 5 เมตร มีรากทั้งในดินและรากอากาศ ชอบดินร่วนระบายน้ำดี ชอบแสงแดดพอเหมาะ โล่งแจ้ง แต่ไม่แรงเกินไป ดอกสีขาว ขนาดใหญ่กลีบยาวเรียงซ้อนกัน บานตอนกลางคืน ผลแก้วมังกรมีรูปทรงเป็นทรงกลมรี สีของเปลือกผลเมื่อดิบเป็นสีเขียว เมื่อสุกเป็นมีสีแดงม่วงหรือสีบานเย็น มีกลีบเลี้ยงสีเขียวติดอยู่รอบผล เนื้อของผลแก้วมังกรสีขาวหากผลนั้นเป็นแก้วมังกรพันธุ์เวียดนามหรือพันธุ์ไทย และเนื้อผลจะมีสีแดงหรือชมพูเมื่อผลนั้นเป็นพันธุ์เนื้อสีขาวโดยมีเมล็ดสีดำเล็กคล้าย ๆ เม็ดงา หรือเม็ดแมงลักกระจายฝังอยู่ทั่วเนื้อ
- ลักษณะการใช้งาน คือ ใช้เป็นอาหารสัตว์ อาหารมนุษย์ และเพื่อจำหน่าย
- จำนวนที่พบประมาณ 20 ต้น
- ช่วงเดือนที่พบได้มาก ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมจนถึงเดือนตุลาคม
- มีเจ้าของ คือ นางฉอ้อน อินทร์ไกรดี
ต้นกระบุก บุกคางคก ชื่อวิทยาศาสตร์ : Amorphophallus paeoniifolius (Dennst.) Nicolson. เป็นพืชในวงศ์ Araceae ชื่ออื่น ๆ ได้แก่ มันซูรัน (กลาง) บุกคุงคก (ชลบุรี) เบีย เบือ บุกหนาม บุกหลวง (แม่ฮ่องสอน) หัวบุก (ปัตตานี) บักกะเดื่อ (สกลนคร) กระบุก (บุรีรัมย์) บุกรอ หัววุ้น เป็นพืชล้มลุก เจริญเติบโตในฤดูฝน และพักตัวในฤดูหนาว มีหัวใต้ดินขนาดใหญ่ สีน้ำตาล อายุหลายปี ลำต้นกลม อวบน้ำ ผิวขรุขระ มีลายสีเขียวสีแดงใบเดี่ยว ออกที่ปลายยอด ใบแผ่ออกคล้ายกางร่มแล้วหยักเว้าเข้าหาเส้นกลางใบ ขอบใบจักเว้าลึก กลม อวบน้ำ ดอกออกเป็นช่อแทงขึ้นมาจากหัวใต้ดิน บริเวณโคนต้น เป็นแท่งมีลายสีเขียวหรือสีแดงแกมสีน้ำตาล ดอกช่อ แทงออกมาจากหัวใต้ดิน ช่อดอกมีกาบหุ้ม ลักษณะเป็นแท่งสีแดงแกมน้ำตาล ก้านช่อดอกสั้น มีใบประดับ รูปกรวยหุ้มช่อดอก ขอบหยักเป็นคลื่น และบานออก ปลายช่อ ดอกเป็นรูปกรวยคว่ำขนาดใหญ่ ยับเป็นร่องลึก สีแดงอมน้ำตาลหรือสีม่วงเข้ม ดอกตัวผู้อยู่ตอนบน ดอกตัวเมียอยู่ตอนล่าง มีกลิ่นเหม็นคล้ายซากสัตว์เน่า ผลรูปทรงรียาว มีจำนวนมากติดกันเป็นช่อ หัวบุกมีลักษณะค่อนข้างกลม เนื้อในหัวสีชมพูสด เหลืองอมชมพู หรือขาวเหลือง ผลสด เนื้อนุ่ม เมื่ออ่อนสีเขียว สุกแล้วเป็นสีเหลือง สีส้มจนถึงแดง
- ลักษณะการใช้งาน คือ เป็นอาหารมนุษย์ และเพื่อจำหน่าย
- จำนวนที่พบประมาณ 6 ต้น
- ช่วงเดือนที่พบได้มาก ตั้งแต่เดือนมีนาคมจนถึงเดือนตุลาคม
- มีเจ้าของ
ต้นกล้วย กล้วย เป็นพรรณไม้ล้มลุกในสกุล Musa มีหลายชนิดในสกุล บางชนิดก็ออกหน่อ แต่ว่าบางชนิดก็ไม่ออกหน่อ ใบแบนยาวใหญ่ ก้านใบตอนล่างเป็นกาบยาวหุ้มห่อซ้อนกันเป็นลำต้น ออกดอกที่ปลายลำต้นเป็น ปลี และมักยาวเป็นงวง มีลูกเป็นหวี ๆ รวมเรียกว่า เครือ พืชบางชนิดมีลำต้นคล้ายปาล์ม ออกใบเรียงกันเป็นแถวทำนองพัดคลี่ คล้ายใบกล้วย เช่น กล้วยพัด (Ravenala madagascariensis)
- ลักษณะการใช้งาน คือ ใช้เป็นอาหารสัตว์ อาหารมนุษย์ และเพื่อจำหน่าย
- จำนวนที่พบประมาณ 10 – 50 ต้น
- ช่วงเดือนที่พบได้มาก ตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงเดือนธันวาคม
- มีเจ้าของ
- ผู้ให้ข้อมูล คือ นางฉอ้อน อินทร์ไกรดี
ต้นลำไย ลำไย ชื่อวิทยาศาสตร์ : Dimocarpus longan (มักเขียนผิดเป็น ลำใย) มีชื่อเรียกทางพื้นบ้านภาคเหนือว่า ” บ่าลำไย ” ชื่อภาษาอังกฤษว่า Longan อยู่ในวงศ์ Sapindaceae เป็นพืชไม้ผลเขตร้อนและกึ่งร้อน เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ลำต้นสีน้ำตาล ออกดอกเป็นช่อ สีขาวครีม ผลทรงกลมเป็นช่อ ผลดิบเปลือกสีน้ำตาลอมเขียว ผลสุกสีน้ำตาลล้วน เนื้อลำไยสีขาวหรือชมพูอ่อน เมล็ดสีดำเป็นมัน เนื้อล่อนเม็ด
- ลักษณะการใช้งาน คือ ใช้เป็นอาหารสัตว์ อาหารมนุษย์ และเพื่อจำหน่าย
- จำนวนที่พบประมาณ 5 ต้น
- ช่วงเดือนที่พบได้มาก ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมจนถึงเดือนสิงหาคม
- มีเจ้าของ
- ผู้ให้ข้อมูล คือ นางฉอ้อน อินทร์ไกรดี
ต้นมะม่วง มะม่วง (ชื่อวิทยาศาสตร์ : Mangifera Indica) เป็นไม้ยืนต้นในสกุล Mangifera ซึ่งเป็นไม้ผลเมืองร้อนในวงศ์ Anacardiaceae (กลุ่มเดียวกับถั่วพิสตาชีโอและมะม่วงหิมพานต์) เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในอินเดีย เพราะการที่ภูมิภาคนั้นมีความหลากหลายทางพันธุกรรมและร่องรอยฟอสซิลที่หลากหลาย มะม่วงมีความแตกต่างประมาณ 49 สายพันธุ์ กระจายอยู่ตามประเทศในเขตร้อน ตั้งแต่อินเดียไปจนถึงฟิลิปปินส์ จากนั้นจึงแพร่หลายไปทั่วโลก เป็นไม้พุ่มขนาดกลาง ใบโต ยาว ปลายแหลม ขอบใบเรียบ ใบอ่อนสีแดง ออกดอกเป็นช่อตามปลายกิ่ง ดอกขนาดเล็ก สีขาว ผลอ่อนสีเขียว ผลแก่สีเหลือง เมล็ดแบน เปลือกหุ้มเมล็ดแข็ง
- ลักษณะการใช้งาน คือ ใช้เป็นอาหารสัตว์ อาหารมนุษย์ และเพื่อจำหน่าย
- จำนวนที่พบประมาณ 10 – 20 ต้น
- ช่วงเดือนที่พบได้มาก ตั้งแต่เดือนเมษายนจนถึงเดือนมิถุนายน
- มีเจ้าของ
- ผู้ให้ข้อมูล คือ นางฉอ้อน อินทร์ไกรดี
ต้นมะกรูด มะกรูด เป็นพืชในสกุลส้ม (Citrus) มีถิ่นกำเนิดในประเทศลาว อินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นิยมใช้ใบมะกรูดและผิวมะกรูดเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องปรุงอาหารหลายชนิด นอกจากในประเทศไทยและลาวแล้ว ยังมีความนิยมในกัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย และอินโดนีเซีย
- ลักษณะการใช้งาน คือ ใช้เป็นอาหารมนุษย์ เพื่อจำหน่าย ใช้เป็นยา ใช้กลิ่น
- จำนวนที่พบประมาณ 50 ต้น
- ช่วงเดือนที่พบได้มาก ตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงเดือนธันวาคม
- มีเจ้าของ
ต้นสีหวด มะหวดหรือกำชำ ชื่อวิทยาศาสตร์ : Lepisanthes rubiginosa เป็นไม้ยืนต้นในวงศ์ Sapindaceae ผิวเปลือกเรียบหรือเป็นแผ่นสะเก็ด สีน้ำตาลอมแดง แตกกิ่งจำนวนมาก ใบประกอบแบบขนนกชั้นเดียว ขอบใบเรียบ ดอกช่อแบบแตกแขนง แยกเพศไม่แยกต้น กลีบเลี้ยงมีขนสีน้ำตาล กลีบดอกสีขาวอมชมพู ดอกตัวผุ้มีเกสรตัวผู้ 8 อัน ผลเดี่ยว กลมรี อ่อนเป็นสีเขียว สุกแล้วเป็นสีแดงแล้วเปลี่ยนเป็นดำ มีเมล็ดเดียว ใบอ่อนกินเป็นผัก ผลกินเป็นผลไม้ รสหวาน รากใช้แก้ไข้ ปวดศีรษะ พอกรักษาโรคผิวหนังผื่นคัน แก้พิษฝี ตำพอกที่หัวฝี แก้โรคผิวหนัง เมล็ดแก้โรคไอ
- ลักษณะการใช้งาน คือ ใช้เป็นอาหารสัตว์ อาหารมนุษย์ และใช้เป็นยา
- จำนวนที่พบประมาณ 10 ต้น
- ช่วงเดือนที่พบได้มาก ตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงเดือนธันวาคม
- ไม่มีเจ้าของ
ต้นกระท้อน กระท้อน เป็นไม้ผลเขตร้อนยืนต้นในวงศ์กระท้อน (Meliaceae) ที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในบริเวณเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผลกระท้อนมีสีสะดุดตา เป็นต้นไม้ที่ทนแล้งได้ดี
- ลักษณะการใช้งาน คือ ใช้เป็นอาหารสัตว์ อาหารมนุษย์ และเพื่อจำหน่าย
- จำนวนที่พบประมาณ 10 ต้น
- ช่วงเดือนที่พบได้มาก ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมจนถึงเดือนสิงหาคม
- มีเจ้าของ
- ผู้ให้ข้อมูล คือ นางฉอ้อน อินทร์ไกรดี
ต้นน้อยหน่า น้อยหน่า(อังกฤษ : Sugar apple ; ชื่อวิทยาศาสตร์ : Annona squamosa Linn.) ชื่ออื่น ๆ บักเขียบ (ตะวันออกเฉียงเหนือ) ลาหนัง (ปัตตานี) บะน้อแน่ บะแน่ (เหนือ) หน่อเกล๊ะแซ (เงี้ยว-แม่ฮ่องสอน) มะออจ้า มะโอจ่า (เงี้ยว-เหนือ) เตียบ (เขมร) เป็นพืชยืนต้น ผลมีเนื้อสีขาว เมล็ดดำ รสหวาน ถิ่นกำเนิดอยู่ในแถบอเมริกากลาง และใต้ แต่จะพบอยู่ทั่วไปในเขตร้อน ในประเทศไทยปลูกมากทางภาคกลางและตะวันออกเฉียงเหนือ
- ลักษณะการใช้งาน คือ ใช้เป็นอาหารสัตว์ อาหารมนุษย์ เพื่อจำหน่าย และใช้เป็นยา
- จำนวนที่พบประมาณ 10 ต้น
- ช่วงเดือนที่พบได้มาก ตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงเดือนธันวาคม
- มีเจ้าของ
ต้นไม้ไผ่ ไผ่ เป็นไม้พุ่มหลายชนิดและหลายสกุลใน วงศ์หญ้า (วงศ์ Poaceae ; เดิมคือวงศ์ Gramineae) วงศ์ย่อย Bambusoideae เป็นไม้ไม่ผลัดใบใน ขึ้นเป็นกอ ลำต้นเป็นปล้องๆ เช่น ไผ่จีน (Arundinaria suberecta Munro) ไผ่ป่า (Bambusa arundinacea Willd.) ไผ่สีสุก (B. flexuosa Munro และ B. blumeana Schult.) ไผ่ไร่ (Gigantochloa albociliata Munro) ไผ่ดำ (Phyllostachys nigra Munro) ผลผลิตจากไผ่ที่สำคัญคือ หน่อไม้ ซึ่งเป็นอาหารสำคัญของคนไทย นิยมทานกันมากในเกือบทุกภาคของประเทศไทย โดยเฉพาะภาคเหนือและอีสาน นอกจากนี้ไม้ไผ่ยังมีคุณสมบัติพิเศษทั้งด้านความแข็งแรงและยืดรหยุ่นที่เหนือกว่าวัสดุสังเคราะห์หลายชนิด ดังนั้นจึงยังได้รับความนิยมในการทำเครื่องมือเครื่องใช้หลายประเภท ใช้ชะลอน้ำที่เข้าป่าชายเลน นั่งร้านก่อสร้างและบันได เป็นต้น
- ลักษณะการใช้งาน คือ ใช้เป็นอาหารสัตว์ อาหารมนุษย์ และเพื่อจำหน่าย
- จำนวนที่พบประมาณ 30 ต้น / 1 กอ
- ช่วงเดือนที่พบได้มาก ตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงเดือนธันวาคม
- มีเจ้าของ
วัว เป็นสัตว์มีกีบเท้าที่เป็นสัตว์เลี้ยงขนาดใหญ่ชนิดที่สามัญที่สุด เป็นสมาชิกสมัยใหม่ที่โดดเด่นในวงศ์ย่อย Bovinae เป็นชนิดที่แพร่หลายที่สุดในสกุล Bos และถูกจำแนกเป็นกลุ่มอย่างกว้างขวางที่สุดว่า Bos primigenius วัวถูกเลี้ยงเป็นปศุสัตว์ เพื่อเอาเนื้อ เพื่อเอานม และผลิตภัณฑ์นมอื่น ๆ และเป็นสัตว์ลากเทียม ผลิตภัณฑ์อื่นจากวัว และมูลเพื่อใช้เป็นปุ๋ยคอก หรือเชื้อเพลิง ในบางประเทศ เช่น อินเดีย วัวเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์
- ประเภทของสัตว์ คือ เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม
- จำนวนสัตว์เพศผู้ 10 ตัว
- จำนวนสัตว์เพศเมีย 42 ตัว
- ลักษณะการใช้งาน คือ เลี้ยงไว้เพื่อจำหน่าย
- ช่วงเดือนที่พบได้มาก ตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงเดือนธันวาคม
- เป็นสัตว์มีเจ้าของ
หมู หรือ สุกร (ชื่อวิทยาศาสตร์ : Sus scrofa domesticus) เป็นสัตว์เลี้ยงขนาดใหญ่ ซึ่งมีบรรพบุรุษ คือ หมูป่า (Sus scrofa) สามารถจำแนกเป็นสปีชีส์ย่อยของหมูป่า หรือเป็นอีกสปีชีส์หนึ่งแยกต่างหาก หัวและความยาวลำตัวอยู่ระหว่าง 0.9 ถึง 1.8 เมตร ตัวโตเต็มวัยหนักระหว่าง 50 ถึง 350 กิโลกรัม สุกรแม้จะเป็นสัตว์กีบคู่ซึ่งมักกินพืชเป็นอาหาร แต่กินได้ทั้งพืชและสัตว์เป็นอาหารเหมือนกับบรรพบุรุษหมูป่า สุกรมีวิวัฒนาการกระเพาะอาหารใหญ่ขึ้นและลำไส้ยาวขึ้นเพราะพืชย่อยได้ยากกว่าเนื้อ
- ประเภทของสัตว์ คือ เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม
- จำนวนสัตว์เพศผู้ 5 ตัว
- จำนวนสัตว์เพศเมีย 8 ตัว
- ลักษณะการใช้งาน คือ เลี้ยงไว้เพื่อจำหน่าย
- ช่วงเดือนที่พบได้มาก ตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงเดือนธันวาคม
- เป็นสัตว์มีเจ้าของ
นกเอี้ยง (อังกฤษ : Mynas) เป็นสกุลของนกเกาะคอนสกุลหนึ่ง ใช้ชื่อสกุลว่า Acridotheres ในวงศ์นกเอี้ยงและนกกิ้งโครง (Sturnidae) มีรูปร่างอ้วนป้อม หางสั้น กินแมลงและผลไม้เป็นอาหาร รวมถึงน้ำหวานในดอกไม้ อยู่รวมกันเป็นฝูง ชอบส่งเสียงร้องเจื้อยแจ้ว แพร่กระจายพันธุ์ตั้งแต่เอเชียใต้ จากภาคตะวันออกของอิหร่านถึงภาคใต้ของจีน และอินโดนีเซีย นิยมเลี้ยงกันเป็นสัตว์เลี้ยง บางชนิดถูกนำเข้าและแพร่ขยายพันธุ์ในซีกโลกใหม่ เช่น บริติชโคลัมเบีย, แวนคูเวอร์ หรือนิวซีแลนด์
- ประเภทของสัตว์ คือ สัตว์ปีก
- จำนวนสัตว์ไม่ทราบเพศ 1 ตัว
- ลักษณะการใช้งาน คือ เป็นสัตว์เลี้ยง
- เป็นสัตว์มีเจ้าของ
- เจ้าของ คือ นางฉอ้อน อินทร์ไกรดี
แห เป็นเครื่องจับปลาชนิดหนึ่ง ถักเป็นตาข่าย ใช้ทอดแผ่ลงในน้ำแล้วค่อย ๆ ดึงขึ้นมา
- ประเภทของภูมิปัญญาท้องถิ่น คือ งานหัตถกรรม
- สถานะของภูมิปัญญาท้องถิ่น คือ เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ได้รับการพัฒนา และต่อยอด
- ลักษณะเด่นหรือเอกลักษณ์ของภูมิปัญญาท้องถิ่น คือ การถักด้วยความประณีตให้เป็นตาข่าย ใช้ด้ายไนลอนสีขาว
- วัตถุดิบ/เครื่องมือ ที่นำมาใช้ในภูมิปัญญาท้องถิ่น คือ ชนุน ไม้ไผ่หรือปาน กรรไกร ลูกแหหรือลูกโซ่ ฯลฯ
- การประชาสัมพันธ์/เผยแพร่ ซึ่งในปัจจุบันยังไม่เคยมีการเผนแพร่/ใช้เฉพาะบุคล และขายให้คนในชุมชนเดียวกันเท่านั้น ในราคา 400 – 750 บาท
- ผู้ให้ข้อมูล/เจ้าของ คือ นายรวน กลิ่นภิรมย์
กับดักแย้หรือด้วงแย้ เป็นเครื่องมือจับตายแย้ ไม่มีเหยื่อล่อ
- ประเภทของภูมิปัญญาท้องถิ่น คือ งานหัตถกรรม
- สถานะของภูมิปัญญาท้องถิ่น คือ เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นดั้งเดิม
- ลักษณะเด่นหรือเอกลักษณ์ของภูมิปัญญาท้องถิ่น คือ มีลักษณะคล้ายด้วงดักหนู แต่ขนาดเล็กกว่า
- วัตถุดิบ/เครื่องมือ ที่นำมาใช้ในภูมิปัญญาท้องถิ่น คือ ไม้ไผ่ เชือกหรือเอ็น มีด ไฟแช็ก ถุงพลาสติก ฯลฯ
- การประชาสัมพันธ์/เผยแพร่ ซึ่งในปัจจุบันยังไม่เคยมีการเผนแพร่/ใช้เฉพาะบุคล
- ผู้ให้ข้อมูล/เจ้าของ คือ นายรวน กลิ่นภิรมย์
สระน้ำบ้านหนองตาชี
- ประเภทของแหล่งน้ำ คือ บึง
- ช่วงเวลาที่มีน้ำ คือ ตั้งแต่เดือนกันยายนจนถึงเดือนมกราคม
- ช่วงเวลาน้ำแห้ง ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์จนถึงเดือนพฤษภาคม
- คุณภาพน้ำ อยู่ในลักษณะน้อย (ใช้ทำการเกษตร/อุตสาหกรรมได้)
จากการสำรวจ พบว่าคนในชุมชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพในพื้นที่อำเภอที่อาศัย ด้านการเกษตร เช่น ทำนา ทำสวน ทำไร่ และมีบางส่วนประกอบอาชีพเลี้ยงสัตว์ รับจ้างทั่วไป/บริการ รับราชการ และว่างงาน/ไม่มีงานทำ ด้านวิถีการผลิตของคนในหมู่บ้าน ส่วนใหญ่จะทำนา ปีละ 1 ครั้ง โดยเริ่มไถหว่านเมล็ดพันธุ์เดือนมิถุนายน และเก็บเกี่ยวผลผลิตในเดือนพฤศจิกายนของทุกปี เพื่อใช้บริโภค/อุปโภค และจำหน่าย ทำสวนดอกมะลิ และทำสวนดอกดาวเรือง ทำเป็นประจำทุกวัน เพื่อจำหน่าย แหล่งทรัพยากรที่สำคัญของชุมชน คือ ป่าไม้/ป่าชุมชน เป็นพื้นที่สาธารณะ ช่วงฤดูฝน ชาวบ้านจะเข้าไปหาของป่า เช่น เห็ด ผักหวานป่า เป็นต้น
สภาพปัญหาของชุมชน มีดังนี้
1.ปัญหาขาดเเคลนน้ำสะอาดในการอุปโภคบริโภค
2.ปัญหาเส้นทางการสัญจรเกิดการชำรุด เป็นหลุม เป็นบ่อตลอดเส้นทางเข้าหมู่บ้าน
3.ปัญหาแสงสว่างไม่เพียงพอ ทำให้เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง
4.ปัญหาควันพิษฝุ่นละอองจากการเผาถ่าน
แนวทางการแก้ไขปัญหาของคนในชุมชน มีดังนี้
1.การรองน้ำกักเก็บน้ำในช่วงฤดูฝนให้ได้มากที่สุด เพื่อลดการขาดแคลนน้ำในการอุปโภคบริโภค
2.หลีกเลี่ยงการขับรถยามกลางคืน เพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน และรองบจากภาครัฐในการมาปรับปรุงซ่อมแซมการชำรุดของถนน
สำหรับการปฏิบัติงานในเดือนพฤษภาคม ด้วยสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งในแต่ละพื้นที่ยังมีการเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง ชาวบ้านมีการประเมิน การสังเกตอาการตนเองและบุคคลที่อาศัยอยู่ในครัวเรือน การป้องกันด้วยการสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา เว้นระยะห่างอย่างน้อย 2 เมตร ดูแลสุขอนามัยด้วยการล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะก่อนเตรียมปรุงอาหาร ก่อนรับประทานอาหาร หลังเข้าห้องน้ำ หลังหยิบจับสิ่งสกปรก หลังสัมผัสหรือเล่นกับสัตว์เลี้ยง หลังจากกลับเข้าอยู่สม่ำเสมอ และทำตามมาตรการอย่างเคร่งครัด มีเจ้าหน้าที่ อสม. คอยตรวจวัดอุณหภูมิคัดกรองบุคคลเข้า – ออกภายในชุมชน จึงส่งผลถึงการลงพื้นที่สำรวจและเก็บข้อมูลต่าง ๆ เป็นไปด้วยความยากและมีความเสี่ยงอันตรายต่อโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และยังส่งผลกระทบในด้านรายได้ของคนในชุมชนอีกด้วย