- นายปริวัติ จำเนียรกูล กลุ่มบัณฑิตจบใหม่ ตำบลบ้านสิงห์ อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์
ปฏิบัติงานประจำเดือนกันยายน 2564 ณ บ้านหนองขาม ตำบลบ้านสิงห์ อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์
หลักสูตร HS03 การส่งเสริมและพัฒนาขนมไทย
เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าหรือโควิด-19 ที่ระบาดอย่างรุนแรง และกระจายไปทั่วประเทศไทย รวมถึงจังหวัดบุรีรัมย์มีการระบาดค่อนข้างหนัก ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการลงพื้นที่ติดต่อประสานงานกับชาวบ้าน ทางกลุ่มจึงมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานประจำเดือนกันยายน 2564 ในรูปแบบออนไลน์ เพื่อลดการรวมตัวกันเป็นจำนวนมากและการสัมผัสกับคนในชุมชน เป็นการป้องกันทั้งคนในชุมชนและตัวผู้ปฏิบัติงาน
การปฏิบัติงานประจำเดือนกันยายน 2564
จัดกิจกรรมการแปรรูปเพื่อความหลากหลายให้กับผลิตภัณฑ์ ณ บ้านหนองขาม ตำบลบ้านสิงห์ อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ และ ห้องปฏิบัติการ สาขาวิชาวิทยาศาสตร์การอาหาร อาคาร 22 วิทยาศาสตร์สุขภาพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎบุรีรัมย์ โดยการแบ่งผู้ปฏิบัติงานออกเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มบัณฑิต กลุ่มประชาชน ปฏิบัติงานที่บ้านหนองขามร่วมกับผู้ทำขนม และกลุ่มนักศึกษาปฏิบัติงานที่ห้องปฏิบัติการร่วมกับทีมวิทยากรโดยได้รับเกียรติจากอาจารย์ประจำสาขาวิชานวัตกรรมและการแปรรูปอาหารมาบรรยายและให้ความรู้แก่ผู้ทำขนม โดยการประชุมผ่าน google meet เพื่อลดการรวมตัวกันเป็นจำนวนมาก กิจกรรมแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ดังนี้
ส่วนที่1 กล้ายฉาบแม่อารมณ์ จากการพูดคุยกับแม่อารมณ์ สรุปได้ว่ากล้วยฉาบของแม่อารมณ์มีหลากหลายสูตรจึงต้องการเพียงบรรจุภัณฑ์ที่หลากหลายและการรักษากล้วยฉาบไม่ให้เหม็นหืน โดยวิทยากรได้แนะนำบรรจุภัณฑ์2ชนิดคือ ถุงซิปล็อคหน้าใสหลังฟอยล์แบบตั้งได้และถุงคราฟท์ซิปล็อคหน้าต่างใสตั้งได้ และการบรรจุสารกันชื้นลงไปในถุงก่อนบรรจุกล้วยฉาบลงถุง เพื่อเป็นการรักษากล้วยฉาบให้มีอายุนานขึ้นและเพิ่มมูลค่าให้กับกล้วยฉาบ เพื่อให้เหมาะสมกับกลุ่มลูกค้าและราคาที่จะขายโดยมีผู้เชี่ยวชาญจากสาขาวิชานวัตกรรมและการแปรรูปอาหาร มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์คอยให้ความรู้ผ่านทางออนไลน์ และเมื่อได้ลองเปลี่ยนแบบบรรจุภัณฑ์ทำให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนคือมีความสวยงามและหน้ารับประทานมากขึ้น ด้วยรูปแบบบรรจุภัณฑ์ถึงแม้จะลดปริมาณขนมลงแต่ยังคงเหมือนขนมมีปริมาณเยอะอยู่ในส่วนนี้สามารถเพิ่มกำไรให้มากขึ้นได้
ส่วนที่2 ขนมบ้าบิ่นแม่มาลี จากการพูดคุยกับแม่มาลี สรุปได้ว่า ขนมบ้าบิ่นของแม่มาลีมีรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์มีความหอมและหวาน สดใหม่ทุกวันไม่สามารถเก็บไว้ข้ามวันได้ แม่มาลีจึงต้องการยืดอายุขนมบ้าบิ่นและไม่ให้เหม็นหืนจากน้ำมันที่ทอด โดยวิทยากรได้แนะนำให้ลดน้ำมันในกระบวนการทอดให้น้อยลงหรือไม่ใช้น้ำมันในการทอด จากการทดลองทอดทั้งสองแบบมีความแตกต่างที่เห็นได้ชัดคือ การทอดแบบดั้งเดิมขนมบ้าบิ่นมีรสชาติและผิวสัมผัสที่นุ่ม หวาน มัน และการทอดแบบไร้น้ำมันขนมบ้าบิ่นมีความกรอบด้านนอก ด้านในขนมมีความนุ่ม หวาน มัน แต่ไม่แห้งเกรียมจนเกินไปเพราะมีความมันวาวจากน้ำมันมะพร้าวในส่วนประกอบของขนมบ้าบิ่น ทำผลิตภัณฑ์คือขนมบ้าบิ่นต้องการลองปรับวิธีในการทำเพื่อกลุ่มลูกค้าที่รักสุขภาพ ผู้เชี่ยวชาญจากสาขาวิชานวัตกรรมและการแปรรูปอาหาร มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์จึงได้ให้ความรู้และสาธิตวิธีในการทำบ้าบิ่นเพื่อที่จะใช้น้ำมันในการทำน้อยที่สุดผ่านทางออนไลน์ อาจารย์ประจำหลักสูตรและผู้ปฏิบัติงานจึงได้มีการเตรียมวัตถุดิบ และ อุปกรณ์ในการทำ ได้แก่
-มะพร้าวทึนทึกขูด -แป้งข้าวเหนียว -น้ำตาลทราย -เกลือ -กะทิ -เตา -กระทะสำหรับทอดบ้าบิ่น -ช้อนตวงต่าง ๆ
ขั้นตอนการทำ
โดยให้แม่มาลีและผู้ปฏิบัติงานได้ลองทำไปพร้อม ๆ กันกับผู้เชี่ยวชาญจากสาขาวิชาวิทยาศาสตร์การอาหารที่ละขั้นตอนดังนี้-เทแป้งข้าวเหนียว น้ำตาลทราย เกลือ และกะทิลงในชามผสมแล้วคนผสมให้เข้ากันตามอัตราส่วนที่ผู้เชี่ยวชาญจากสาขาวิชาวิทยาศาสตร์การอาหารบอก ใส่มะพร้าวขูดลงไป นวดผสมให้เข้ากันดี ตั้งกระทะให้ร้อนเทน้ำมันเล็กน้อยให้ทั่วจากนั้นตักส่วนผสมลงกระทะ จี่ให้สุกสีเหลืองทองทั้งสองด้าน และ ผลจากการเปลี่ยนแปลงสูตรในการทำขนมบ้าบิ่นในครั้งนี้เนื่องด้วยความต่างของอุปกรณ์คือกระทะที่ใช้ในการทอดเดิมที่แม่มาลีมีอยู่นั้นหากใช้นำมันที่น้อยเกินไปจะทำให้ขนมบ้าบิ่นไหม้ได้จึงต้องมีการปรับสูตรเพิ่มเติมอีกเล็กน้อยตามผู้เชี่ยวชาญจากสาขาวิชาวิทยาศาสตร์การอาหาร มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์จนมีผลการทำขนมที่มีความต้องการดังข้างต้นที่กล่าวมา และถือว่าประสบผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์
ลงพื้นที่สำรวจข้อมูล ณ ตลาดนัดเย็นสี่แยกบ้านหนองขามและตลาดนัดเย็นบ้านโคกไม้แดง
1. มีการกำหนดทางเข้าออกอย่างชัดเจน และมีการคัดกรองพนักงาน เจ้าหน้าที่ และผู้รับบริการ พร้อมทำสัญลักษณ์ให้กับผู้ที่ผ่านการคัดกรอง หากพบว่ามีอาการไข้หรือวัดอุณหภูมิได้ ตั้งแต่ 37.5 องศา เซลเซียสขึ้นไป ร่วมกับ ไอ น้ำมูก เจ็บคอ จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส หายใจเร็ว หายใจเหนื่อย หรือหายใจ ลำบาก อย่างใดอย่างหนึ่ง และอาจมีอาการท้องเสียร่วมด้วย แนะนำไปพบแพทย์ทันทีและห้ามเข้าไปซื้อของในตลาด
2. มีมาตรการให้ผู้ค้าและผู้ใช้บริการต้องสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่ใช้บริการ
3. จัดให้มีที่ล้างมือด้วยสบู่และน้ำหรือเจลแอลกอฮอล์ ให้บริการแก่ผู้ค้าและผู้ซื้ออย่างเพียงพอ
4. มีการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ ให้ความรู้ในการป้องกันโรคติดเชื้อโควิดตามช่องทางต่าง ๆ และสื่อสาร เน้นย้ำประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบกิจการเจ้าของร้าน/แผงในตลาด รวมถึงผู้ช่วยขายทั้งชาวไทยและแรงงาน ต่างด้าว ให้สังเกตอาการตนเอง หรือถ้าได้เดินทางไป หรือเกี่ยวข้องกับแหล่งที่เกิดการระบาด แนะนำให้ไป ตรวจคัดกรอง COVID-19 โดยเร็วที่สุด
ลงพื้นที่เก็บข้อมูล ณ หมู่ 2 บ้านหนองขาม ต.บ้านสิงห์ อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์
การเก็บข้อมูลครั้งนี้เป็นการเก็บข้อมูลสำหรับที่พักอาศัย จำนวน 50 ครัวเรือน โดยสรุปข้อมูลได้ดังนี้
-ในแต่ละครัวเรือนมีการสำรวจประเมินตนเองและบุคคลที่อาศัยอยู่ในครัวเรือนตลอดว่า เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อหรือหากติดเชื้อแล้วจะมีอาการรุนแรงหรือไม่เช่นผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเรื้อรัง เป็นต้น อีกทั้งยังมีการสำรวจว่าตนเองและบุคคลในครัวเรือนมีการทำงานหรือการใช้ชีวิตประจำวันมีความเสี่ยต่อการติดเชื้อ หรือเดินทางกลับจากที่เสี่ยงหรือไม่
-มีการสังเกตอาการของตนเองและบุคคลที่อาศัยอยู่ร่วมกันหากพบว่ามีไข้ ร่วมกับมีไอ หรือมีอาการต่าง ๆ ที่เข้าข่ายเสี่ยงติดโรคโควิด-19 ให้รีบไปพบแพทย์ทันที
-มีการดูแลสุขอนามัยตลอดโดยการล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ หรือน้ำสบู่ ทั้งก่อนปรุงอาหาร ก่อนรับประทานอาหาร หลังเข้าห้องน้ำ หลังหยิบจับสิ่งสกปรก และหลังกลับจากนอกบ้านทุกครั้ง
-มีการรับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ และใช้ช้อนส่วนตัวในการรับประทานอาหาร
-ส่วนใหญ่บุคคลในครัวเรือนจะแยกของใช้ส่วนตัวกัน เช่น แก้วน้ำ ผ้าเช็ดตัว ผ้าเช็ดหน้า แต่ในบางครัวเรือนจะยังใช้แก้วน้ำร่วมกับคนในครัวเรือนอยู่
-เมื่อกลับจากทำภารกิจหรือกิจกรรมนอกบ้านจะเปลี่ยนเสื้อผ้า ล้างมือ หรืออาบน้ำโดยทันที
สรุปบทเรียนที่ได้รับจากการปฏิบัติงานกิจกรรมที่ได้ทำตั้งแต่เริ่มจนถึงปัจจุบันได้แก่
เดือนกุมภาพันธ์ ร่วมประชุม ณ ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านสิงห์เพื่อพบผู้นำชุมชนรับฟังข้อมูลพื้นฐานของแต่ละหมู่บ้านเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ที่มีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ของชุมชน เก็บแบบสอบถามในหมู่ 2 บ้านหนองขาม ตามเอกสารแบบฟอร์ม 01 (แบบสอบถามข้อมูลบุคคลครัวเรือนและชุมชน) แบบฟอร์ม 02 (แบบสอบถามเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 )
เดือนมีนาคม เก็บแบบสอบถามในหมู่ 2 บ้านหนองขาม ตามแบบฟอร์ม 06 ในแบบสำรวจที่ 1 สำหรับที่พักอาศัย จำนวน 75 ชุด และแบบสำรวจที่ 4 สำหรับตลาดในตำบลบ้านสิงห์ร่วมกับกลุ่มบัณฑิตจบใหม่อีก 4 ท่าน เก็บข้อมูลเพิ่มเติมในแบบฟอร์ม 01 แบบสอบถามข้อมูลบุคคลและครัวเรือนเพิ่มอีกสาม 35 ชุด และแบบฟอร์ม 02 แบบสอบถามเกี่ยวกับผลกระทบจากโรคโควิด19 เพิ่มอีก 100 ชุด
เดือนเมษายน ร่วมพิธียกเสาเอก เสาโท ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงอำเภอนางรอง บ้านโคกว่าน ตำบลหนองโสน อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อเป็นศุนย์การเรียนรู้กสิกรรมธรรมชาติบนรากฐานปรัชญาแห่งเศรษฐกิจพอเพียงสู่การพัฒนาที่มั่นคงและยั่งยืน ประชุมร่วมกับตัวแทนชุมชนเพื่อพัฒนาการแปรรูปผลิตภัณฑ์ที่ทำจากขนมไทย ณ ห้องประชุมองค์การบริการส่วนตำบลบ้านสิงห์
เดือนพฤษภาคม สำรวจข้อมูลที่เกี่ยวกับผู้ที่ย้ายกลับบ้านเนื่องจากสถานการณ์โควิด แหล่งท่องเที่ยว ที่พักโรงแรม ร้านอาหารในท้องถิ่น อาหารที่น่าสนใจประจำท้องถิ่น เกษตรกรในท้องถิ่น พืชในท้องถิ่น สัตว์ในท้องถิ่น ภูมิปัญญาในท้องถิ่น แหล่งน้ำในท้องถิ่น และบันทึกข้อมูลลงในแอพพลิเคชั่นของ U2T ร่วมพิธีทอดผ้าป่าปาฐกถาชุมชน ณ ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงอำเภอนางรอง บ้านโคกว่าน ตำบลหนองโสน เพื่อเป็นศูนย์การเรียนรู้กสิกรรมธรรมชาติบนรากฐานแห่งเศรษฐกิจพอเพียงสู่การพัฒนาที่มั่นคงและยังยืนผ่านทางออนไลน์
เดือนมิถุนายน อบรมออกแบบบรรจุภัณฑ์ห้ให้กับกลุ่มประชาชนในชุมชนบ้านสิงห์ที่มีการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากขนมไทย ณ องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านสิงห์ ถ่ายทำวิดีโอเพื่อรณรงค์การฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 (Covid week) ร่วมกันปลูกต้นไม้ในโครงการร่วมใจปลูกต้นไม้ปลูกธรรมะวันวิสาขบูชา 2564 เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ โรงเรียนบ้านหนองยายพิมพ์ ตำบลหนองยายพิมพ์ อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ ร่วมอบรมรณรงค์การฉีดวัคซีนเพื่อป้องกัน โควิด-19 ณ องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านสิงห์ เก็บข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเกษตรกรในท้องถิ่นตำบลบ้านสิงห์
เดือนกรกฎาคม สำรวจข้อมูลสำหรับที่พักอาศัยในหมู่ 2 บ้านหนองขาม จำนวน 50 ชุด สำรวจข้อมูลสำหรับตลาดในตำบลบ้านสิงห์ ร่วมกับกลุ่มบัณฑิตจบใหม่อีก 3 ท่าน
เดือนสิงหาคม ร่วมบริจาคสิ่งของเครื่องใช้และอาหารแห้งให้แก่ศูนย์ประสานงานเฝ้าระวังโควิด-19 วัดบ้านสิงห์และวัดหนองทะยิง พร้อมสอบถามรายละเอียดต่าง ๆ ในการดูแลผู้กักตัวตามมาตรการเฝ้าระวังโควิด-19 และให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่ สำรวจข้อมูลสำหรับที่พักอาศัยในหมู่ 2 บ้านหนองขาม จำนวน 50 ชุด สำรวจข้อมูลสำหรับตลาดในตำบลบ้านสิงห์ อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ ร่วมกับกลุ่มบัณฑิตจบใหม่อีก 3 ท่าน
กระบวนการในการปฏิบัติงานและหลักการทำงาน
–อันดับแรกต้องหาข้อมูลพื้นฐานและความต้องการของชุมชนแล้วจึงเข้าไปสำรวจข้อมูลว่าตอนนี้ชุมชนมีปัญหาอะไรและต้องการอะไร
-ลงพื้นที่เข้าไปทำงานกับชุมชนอย่างเป้นกันเองและอย่างต่อเนื่อง
-ทำให้ชุมชนเห็นประโยชน์จากการปฏิบัติงานของเราและยังเป็นการเพิ่มความเชื่อมั่นในการทำงานของเราเองด้วย
ความรู้ที่ได้รับจากการเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ
-ได้เรียนรู้การทำงานร่วมกับชุมชนร่วมถึงวิธีการวางตัวเพื่อให้เข้ากับคนในชุมชนได้ง่าย
-ได้เรียนรู้การประสานงานและทำงานร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ในพื้นที่เพื่อให้บรรลุเป้าหมายเดียวกันคือพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน
-ได้รับรู้และเข้าใจถึงปัญหาและร่วมส่งเสริมพัฒนาการทำขนมในชุมชน
ปัญหาและอุปสรรคที่พบในการปฏิบัติงาน
-ในช่วงแรกของการลงพื้นที่เก็บแบบสอบถามยังไม่ได้รับความร่วมมือจากประชาชนในชุมชนมากนักและยังไม่กล้าให้ข้อมูลมากนักบางท่านปฏิเสธการให้ข้อมูล
-เนื่องด้วยสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้บ้างครั้งอาจไม่สะดวกในการทำงานและในช่วงที่มีการระบาดหนัก ๆ บ้างพื้นที่ก็ไม่สารมารถที่จะเข้าพื้นที่ได้ทำให้เก็บข้อมูลไม่ได้
วิธีการแก้ไขปัญหาเพื่อทำให้การปฏิบัติงานลุล่วงไปได้ด้วยดี
-ในการลงพื้นที่ต้องมีการขออนุญาตผู้นำชุมชนและให้ผู้นำชุมชนแจ้งแก่ลูกบ้านก่อนที่จะเข้าไปเก็บข้อมูล
-ก่อนสอบถามข้อมูลต้องแนะนำตัวและหน่วยงานที่ปฏิบัติงานอยู่อย่างชัดเจนเพื่อความน่าเชื่อถือและแขวนป้ายชื่อที่โครงการออกให้ทุกครั้ง
-เนื่องด้วยสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ในการปฏิบัติงานส่วนใหญ่ต้องลงพื้นที่สอบถามข้อมูลจากคนในชุมชนทำให้ต้องระวังเป็นพิเศษ ร่วมถึงการประชุมหรืออบรมต่าง ๆ ที่ร่วมกลุ่มคนเยอะ ๆ ต้องมีการขออนุญาตก่อนทุกครั้งและอยู่ภายใต้มาตรการเฝ้าระวังการระบาดของโรคโควิด-19 ตลอดเวลา
การเพิ่มกิจกรรมใดเพื่อทำให้การปฏิบัติงานในชุมชนเกิดการพัฒนาที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชนอย่างแท้จริง
-เนื่องจากหลักสูตรที่พัฒนาชุมชนคือการส่งเสริมและพัฒนาการทำขนมได้นำเนินการพัฒนามาถึงขั้นตอนการออกแบบบรรจุภัณฑ์แล้วต่อไปควรมีการเพิ่มช่องทางในการขายและเพิ่มกลุ่มลูกค้าที่หลากหลายมากขึ้นโดยการเปิดขายแบบออนไลน์ผ่านช่องทางต่าง ๆ เช่น Facebook เพื่อเพิ่มโอกาสในการขายมากขึ้น
ทัศนะของข้าพเจ้าในการพัฒนาชุมชน
การดำเนินงานของตัวกระผมนั้นมุ่งมั่นที่จะพัฒนาชุมชนในทุกมิติ ด้วยความรู้ความสามารถ ตามศักภาพ ข้าพเจ้าจึงเขียนบทความนี้เพื่อบอกถึงความสำคัญในการพัฒนา โดยในทัศนะของข้าพเจ้าเอง การพัฒนาชุมชนเป็นกลไกอันสำคัญที่กำหนดทิศทาง นโยบาย แนวทางและกระบวนการในการพัฒนา เพื่อนำไปสู่จุดมุ่งหมาย คือ ชุมชน (ประชาชน) ที่สุขสมบูรณ์การพัฒนาชุมชน เป็นเรื่องที่มีความเกี่ยวข้องกันอย่างเป็นระบบ ที่ประกอบด้วย ปัจจัยภายใน ได้แก่ สภาพทั่วไปของปัญหา ความต้องการ กระบวนการแก้ไขปัญหา และผู้เกี่ยวข้องในระบบ และปัจจัยภายนอก อันได้แก่ กระแสด้านสังคมที่เปลี่ยนไป และการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ
สุดท้ายนี้ เชื้อไวรัสโควิด-19 ไม่เพียงทำลายสุขภาพมนุษย์จนถึงขั้นตาย แต่ยังทำลายเศรษฐกิจในประเทศด้วย ในส่วนของการดำเนินชีวิตที่มีการพูดถึง “หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” หรือ “ ศาสตร์พระราชา” ของ ในหลวงรัชกาลที่ 9 เพราะ เศรษฐกิจพอเพียง สามารถประยุกต์ใช้ได้ในทุกระดับ ทุกสาขา ไม่จำเป็นจะต้องจำกัดเฉพาะแต่ภาคการเกษตร หรือภาคชนบท แม้แต่ “เน้นการเลือกปฏิบัติอย่างพอประมาณ มีเหตุมีผล และสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ตนเองและสังคม” เศรษฐกิจพอเพียง คือ ความพออยู่พอกิน อย่าใช้ชีวิตติดหรู จะอยู่ได้อีกนาน ในหลวงท่านสอนไว้ให้อยู่อย่างพอเพียงแล้วจะอยู่รอดปลอดภัย ต้องกินต้องอยู่อย่างพอเพียงอย่างที่พ่อหลวงรัชกาลที่ 9 สอนไว้ “คนไทยจะจนจะรวย จะอยู่ที่ประเทศไทยหรือจะอยู่ต่างประเทศควรอยู่กินอย่างพอเพียง” เราต้องพึ่งพาตนเอง พาตัวเองออกจากความกลัว ตั้งสติแล้วหาหนทาง ปฏิบัติให้เราอยู่รอดปลอดภัย และพอเพียงตามกำลังฐานะ และมีความรักสามัคคี ช่วยเหลือพึ่งพาซึ่งกันและกัน เป็นหนทางที่ดี การพัฒนาชุมชน เป็นการบริหารจัดการชุมชนที่มีกลไกการขับเคลื่อนการพัฒนา อันมีองค์ประกอบ ทั้งภาครัฐ ท้องถิ่น ภาคเอกชน และประชาสังคม โดยท้องถิ่น เป็นองค์กรหลัก และประชาสังคมเป็นผู้รับประโยชน์ที่สุขสมบูรณ์การพัฒนาชุมชน จึงเป็นภาระหน้าที่ของคนทุกคนที่จะต้องร่วมกันคิด ร่วมกันทำ และร่วมกันรับผิดชอบเพื่อให้ได้มาซึ่งประโยชน์สุขร่วมกัน