กระผม นายปัตถกร  ขาวสระ กลุ่มประชาชน ตำบลบ้านสิงห์ อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์  หลักสูตรการส่งเสริมอาชีพและการพัฒนาขนมไทย  

ในช่วงเดือนพฤษภาคมนี้ ถือเป็นการปฏิบัติงานที่ท้าทายมากอีกเดือน เนื่องจากมีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID 19) ระลอกใหม่ ซึ่งมีผลกระทบเกือบทุกอำเภอในจังหวัดบุรีรัมย์  กระผมได้ปฏิบัติงาน ในชุมชนบ้านหนองกง หมู่ที่  8 ตำบลบ้านสิงห์ อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์  โดยเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคติดต่ออุบัติใหม่  ประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่ หมู่ที่ 8 บ้านหนองกง  ต.บ้านสิงห์  อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ ดูแลสุขภาพตนเองตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขกำหนด และมีการประเมินตนเอง คอยสังเกตอาการเบื้องต้นของคนในครอบครัวเมื่อมีอาการผิดปกติต่าง ๆ  และเมื่อต้องไปทำกิจกรรมต่างพื้นที่ ก็จะสวมหน้ากากอานามัยตลอดเวลา  ซึ่งกระผมได้เป็นส่วนหนึ่งในการคอยเฝ้าระวัง สอดส่องดูแลความเป็นอยู่ และการใช้ชีวิตในช่วงวิกฤตของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID 19) ร่วมกับผู้นำชุมชนและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ขณะปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ

 

   

ในวันที่ 7  พฤษภาคม พ.ศ.2564 อาจารย์ประจำหลักสูตรได้นัดหมายผู้ปฏิบัติงานทุกคน เข้าร่วมประชุมผ่าน Google Meet เพื่อมอบหมายงานและแนะนำวิธีการใช้งานในระบบเก็บและบันทึกขัอมูล U2T (https://cbd.u2t.ac.th)  เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลตามพื้นที่ที่ผู้ปฏิบัติงานได้รับมอบหมาย และเนื่องจากมีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID 19) ระลอกใหม่ มีจำนวนผู้ติดเชื้อมากขึ้น ทำให้การลงพื้นที่ปฏิบัติงานเป็นไปด้วยความยากลำบากมากขึ้น จึงแนะนำให้มีการวางแผนก่อนลงพื้นที่ และดูแลตนเองเป็นอย่างดีเพื่อป้องกันเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID 19) โดยการสวมใส่หน้ากากอนามัย พกเจลแอลกอฮอล์ตลอดเวลาในการเก็บข้อมูล เพื่อความปลอดภัยต่อตนเองเเละสร้างความมั่นใจให้เเก่ชาวบ้านในชุมชนที่พบเจอ

ในวันที่ 12 พฤษภาคม 2564 กระผมได้ร่วมชมการถ่ายทอดสด “งานทอดผ้าป่า-ปาฐกถาชุมชน”  ณ ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงอำเภอนางรอง บ้านโคกว่าน ต.หนองโสน อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ และ     รับชมการบรรยาย โดยมีการการถ่ายทอดสดจากช่อง HUSOC-BRU Channel ในหัวข้อ “งานบุญผ้าป่า ปาฐกถาชุมชนออนไลน์ ยักษ์ จับ โจน”  โดย นายธัชกร  หัตถาธยากูล ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ เป็นประธานในพิธี ซึ่งการจัดทอดผ้าป่าในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้อำเภอนางรองมีศูนย์กลางการเรียนรู้ศาสตร์พระราชา และปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง รวมถึงเป็นศูนย์ฝึกอบรมพัฒนาสัมมาชีพต่าง ๆ และเป็นแหล่งเรียนรู้ ศึกษาดูงานด้านกสิกรรมธรรมชาติ  ในการนี้ทางคณะกรรมการผู้จัดงานและรับผิดชอบโครงการ ได้เชิญวิทยากรบรรยายพิเศษ คือ  ดร. วิวัฒน์ ศัลยกำธร หรือ ดร. ยักษ์ ประธานมูลนิธิกสิกกรมธรรมชาติ ได้บรรยายให้ความรู้ในหัวข้อกสิกรรมธรรมชาติบนรากฐานปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในหลวงรัชกาลที่ 9 เพื่อให้ทุกคนมีบรรทัดฐานในการดำรงชีวิตอยู่อย่างพอเพียง กล่าวคือ เศรษฐกิจพอเพียงไม่ใช่นำมาใช้ได้เฉพาะอาชีพเกษตรกรเท่านั้น แต่ทุกสาขาอาชีพสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้ และรวมไปถึงสามารถนำมาพัฒนาในชุมชนและสังคม เพื่อให้เกิดความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และปิดท้ายด้วยวิทยากรอีกท่าน คือ คุณโจน  จันได ผู้เชี่ยวชาญด้านการใช้ประโยชน์จากหญ้าแห่งสวนพันพรรณ และการสร้างบ้านดิน มาบรรยายเกี่ยวกับ “วิกฤตแห่งความคิด” ซึ่งจะทำให้เราสร้างความล่มสลายให้กับวิถีชีวิตของเราโดยไม่รู้สึกตัว เราถูกฝึกให้ทำมาก คิดมาก ไม่มีเวลาคิดถึงตัวเอง ไม่มีเวลาตั้งคำถามว่าเราทำไปทำไม เราทำไปเพื่อใคร โดยไม่นึกถึงสุขภาพของตัวเอง และเกิดวิกฤตขึ้นมากมายและในสภาวะเช่นนี้ สิ่งที่จะทำให้เราอยู่รอดได้ก็คือการกลับมาสู่การช่วยเหลือตัวเอง การพึ่งตนเอง การที่ทำให้เรามีความสุขทั้งกายและใจ  ซึ่งหมายถึงการกลับมาสร้างรากฐานของเราให้มั่นคงแข็งแรง และจะทำให้ชีวิตเรามีความสุขมากยิ่งขึ้น

ต่อมาในวันที่ 14 ถึง 16  พฤษภาคม 2564 กระผมและทีมผู้ปฏิบัติงานในโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ ได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูลตามที่ได้รับมอบหมาย  ในการลงพื้นที่เก็บข้อมูลในครั้งนี้ เป็นการเก็บข้อมูลเพิ่มเติมในระบบ https://cbd.u2t.ac.th ที่ต้องทำการสำรวจข้อมูลชุมชนเพิ่มเติม ในด้านต่าง ๆ เช่น แหล่งท่องเที่ยว ที่พัก โรงแรม อาหารที่น่าสนใจประจำถิ่น การทำการเกษตรในท้องถิ่น พืชประจำถิ่น  สัตว์ประจำถิ่น  ภูมิปัญญาท้องถิ่น และ แหล่งน้ำในท้องถิ่น เป็นต้น โดยกระผมได้รับผิดชอบออกสำรวจ และจัดเก็บข้อมูล เพื่อบันทึกลงในระบบเก็บข้อมูล U2T  (https://cbd.u2t.ac.th) ในเขตพื้นที่ชุมชนที่รับผิดชอบ ทั้งนี้ เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 19 (COVID-19) จึงทำให้การลงพื้นที่เก็บข้อมูลเป็นไปด้วยความยากลำบาก จึงทำให้ต้องมีการวางแผนการลงพื้นที่อย่างรอบคอบและเป็นระบบ จัดสรรเวลาลงพื้นที่ให้ดี และอธิบายทำความเข้าใจกับผู้ที่ให้ข้อมูลเพื่อที่จะทำให้ได้ข้อมูลที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดเพืิ่อให้เกิดการขับเคลื่อนโครงการเป็นไปอย่างต่อเนื่องและบรรลุวัตถุประสงค์ต่อไป ซึ่งผลการสำรวจข้อมูลสรุปได้ ดังนี้

 แหล่งท่องเที่ยว : พื้นที่ชุมชนบ้านหนองกง เป็นชุมชนที่มีอาชีพทางด้านการเกษตรเป็นหลัก โดยเกษตรกรบางส่วนจะทำพื้นที่ทางการเกษตรของตนเองเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร

ที่พัก/โรงแรม : พื้นที่ชุมชนบ้านหนองกง ไม่มีที่พัก โรงแรมในชุมชน เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่มีอาชีพทางด้านการเกษตร จึงสร้างร่ายได้จากทางการเกษตรเป็นหลัก

ร้านอาหารในท้องถิ่น : จากการสำรวจพื้นที่บ้านหนองกง มีร้านอาหาร 2 แห่งเป็นหลัก โดยจะขายอาหารในลักษณะอาหารตามสั่ง ก๋วยเตี๋ยว  นำแข็งใส น้ำปั่น เป็นต้น

อาหารที่น่าสนใจประจำถิ่น :  อาหารในท้องถิ่น คือ น้ำพริกปลาย่าง ขนมต้มโบราณ ขนมตาล ขนมบ้าบิ่น เป็นต้น

เกษตรกรในท้องถิ่น :  เกษตรส่วนใหญ่ปลูกข้าว  ปลูกมันสัมปะหลัง และเลี้ยงสัตว์ เป็นหลัก

 พืชในท้องถิ่น : พืชที่พบได้ยากในพื้นที่จากที่สำรวจในชุมชนบ้านหนองกง คือ ต้นผักหวาน ส้มโอ มะยงชิด เป็นต้น

 สัตว์ในท้องถิ่น : สัตว์ในท้องถิ่นส่วนใหญ่ คืิอ วัว ควาย เป็ด และไก่

 ภูมิปัญญาในท้องถิ่น : ชุมชนบ้านหนองกงยังคงมีผู้สูงอายุบางท่านสืบทอดการทำเครื่องจักสาน แบบต่าง ๆ  ไว้

 แหล่งน้ำในท้องถิ่น : แหล่งน้ำในชุมชนที่พบมี 1 แห่ง คือ หนองใหญ่ ซึ่งเป็นแหล่งน้ำที่เก็บไว้ใช้ประโยชน์ในชุมชน และพบว่ามีแหล่งน้ำตามธรรมชาติ คือ สำมาศ เป็นธารน้ำที่ไหลผ่านชุมชน

         

วีดิทัศน์แสดงกิจกรรมการปฏิบัติงานของผู้ปฏิบัติงานตำบลบ้านสิงห์ ประจำเดือนพฤษภาคม 2564

 

 

 

 

 

 

อื่นๆ

เมนู