กระผม นายปรัตถกร ขาวสระ กลุ่มประชาชน (หลักสูตรการส่งเสริมอาชีพและการพัฒนาขนมไทย ตำบลบ้านสิงห์) รับผิดชอบปฏิบัติงานในเขตพื้นที่หมู่ที่ 8 บ้านหนองกง ต.บ้านสิงห์ อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ ได้ลงพื้นที่กับคณะทำงาน ประจำเดือน สิงหาคม ถึง กันยายน เพื่อสำรวจข้อมูลระดับบุคคล ครัวเรือน และชุมชน และติดตามความคืบหน้าของสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) และร่วมกิจกรรมอบรมการแปรรูปขนมไทย เพื่อสร้างความหลากหลายให้กับผลิตภัณฑ์ ซึ่งมีรายละเอียด ดังต่อไปนี้
ในวันศุกร์ที่ 20 สิงหาคม พ.ศ 2564 เวลา 09.00 น. อาจารย์ประจำหลักสูตรได้มีการนัดหมายผู้ปฏิบัติงานลงพื้นที่ในตำบลบ้านสิงห์สำหรับกิจกรรมการแปรรูปเพื่อสร้างความหลากหลายให้กับผลิตภัณฑ์ เนื่องด้วยกิจกรรมอบรมครั้งที่ผ่านมาเป็นการออกแบบออกแบบบรรจุภัณฑ์และตราผลิตภัณฑ์ให้มีความสวยงาม และน่าสนใจมากขึ้นแล้ว ในการอบรมครั้งนี้จะเป็นการสานต่อกิจกรรมจากครั้งที่ผ่านมาเพื่อสร้างความหลากหลายให้กับผลิตภัณฑ์โดยผลิตภัณฑ์ที่จะร่วมพัฒนาคือขนมกล้วยทอดของแม่อารมณ์ และขนมบ้าบิ่นของแม่มาลี ในการอบรมครั้งนี้จะเป็นการอบรมแบบออนไลน์เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด 19 โดยสาขาวิชานวัตกรรมอาหารและการแปรรูป มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์เป็นผู้ให้ความรู้ และกลุ่มนักศึกษารับผิดชอบดูแลการถ่ายทอดสดที่มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ กลุ่มประชาชนและกลุ่มบัณฑิตรับผิดชอบดูแลการถ่ายทอดสดในพื้นที่ และก่อนที่จะทำการอบรมทางโครงการได้มีการสอบถามแม่อารมณ์และแม่มาลีถึงความต้องการพัฒนาสูตรขนม และปรับรูปแบบวิธีการในการทำขนมที่ตนเองมีความถนัด
ซี่งผลิตภัณฑ์ของ แม่อารมณ์ คือขนมกล้วยทอดมันทอดนั้น ท่านได้ให้ความเห็นว่า ไม่ต้องการปรับสูตรในการทำขนมแต่อย่างใด เพียงแต่ต้องการปรับเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์จากเดิมที่เป็นเพียงถุงพลาสติกสีใสให้มีความสวยงามน่าสนใจมากขึ้น ทางโครงการจึงได้จัดหารูปแบบของบรรจุภัณฑ์หลากหลายรูปแบบ หลากหลายขนาดเพื่อให้เหมาะสมกับกลุ่มลูกค้าและราคาที่จะขายโดยมีผู้เชี่ยวชาญจากสาขานวัตกรรมอาหารและการแปรรูป มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์คอยให้ความรู้ผ่านทางออนไลน์ และเมื่อได้ลองเปลี่ยนแบบบรรจุภัณฑ์ทำให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน คือมีความสวยงามและน่ารับประทานมากขึ้น ด้วยรูปแบบบรรจุภัณฑ์ถึงแม้จะลดปริมาณขนมลง แต่ยังคงเหมือนขนมมีปริมาณมาก ซึ่งในส่วนนี้สามารถเพิ่มกำไรให้มากขึ้นได้อีกทางหนึ่งด้วย
ในส่วนของแม่มาลีนั้น ผลิตภัณฑ์ที่ทำคือขนมบ้าบิ่น โดยมีความต้องการลองปรับวิธีในการทำเพื่อกลุ่มลูกค้าที่รักสุขภาพ ผู้เชี่ยวชาญจากนวัตกรรมอาหารและการแปรรูป มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์จึงได้ให้ความรู้และสาธิตวิธีในการทำขนมบ้าบิ่น เพื่อที่จะใช้น้ำมันในการทำน้อยที่สุดผ่านทางออนไลน์ อาจารย์ประจำหลักสูตรและผู้ปฏิบัติงานจึงได้มีการเตรียมวัตถุดิบต่าง ๆ เช่น มะพร้าวทึนทึกขูด แป้งข้าวเหนียว น้ำตาลทราย เกลือ กะทิ และอุปกรณ์ในการทำ เช่น เตา กระทะสำหรับทอดขนมบ้าบิ่น ช้อนตวงต่าง ๆ โดยให้แม่มาลีและผู้ปฏิบัติงานได้ลองทำไปพร้อม ๆ กันทีละขั้นตอน และผลจากการเปลี่ยนแปลงสูตรในการทำขนมบ้าบิ่นในครั้งนี้ เนื่องด้วยความต่างของอุปกรณ์คือกระทะที่ใช้ในการทอดใบเดิมที่แม่มาลีมีอยู่นั้นหากใช้นำมันที่น้อยเกินไปจะทำให้ขนมบ้าบิ่นไหม้ได้ จึงต้องมีการปรับสูตรเพิ่มเติมอีกเล็กน้อย
ในส่วนของการลงพื้นที่สำรวจข้อมูลระดับบุคคล ครัวเรือน และชุมชน และติดตามความคืบหน้าของสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19 หมู่ 8 บ้านหนองกง ต.บ้านสิงห์ อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ จำนวน 30 ครัวเรือน ในรอบเดือน สิงหาคม ถึง กันยายน นั้น กระผมได้ข้อมูลโดยสรุป ดังนี้
- ในแต่ละครัวเรือนมีการสำรวจประเมินตนเองและบุคคลที่อาศัยอยู่ในครัวเรือนตลอดว่า เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อหรือหากติดเชื้อแล้วจะมีอาการรุนแรงหรือไม่เช่นผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเรื้อรัง เป็นต้น อีกทั้งยังมีการสำรวจว่าตนเองและบุคคลในครัวเรือนมีการทำงานหรือการใช้ชีวิตประจำวันมีความเสี่ยต่อการติดเชื้อ หรือเดินทางกลับจากที่เสี่ยงหรือไม่
- มีการสังเกตอาการของตนเองและบุคคลที่อาศัยอยู่ร่วมกันหากพบว่ามีไข้ ร่วมกับมีไอ หรือมีอาการต่าง ๆ ที่เข้าข่ายเสี่ยงติดโรคโควิด-19 ให้รีบไปพบแพทย์ทันที
- มีการดูแลสุขอนามัยตลอดโดยการล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ หรือน้ำสบู่ ทั้งก่อนปรุงอาหาร ก่อนรับประทานอาหาร หลังเข้าห้องน้ำ หลังหยิบจับสิ่งสกปรก และหลังกลับจากนอกบ้านทุกครั้ง
- มีการรับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ และใช้ช้อนส่วนตัวในการรับประทานอาหาร
- ส่วนใหญ่บุคคลในครัวเรือนจะแยกของใช้ส่วนตัวกัน เช่น แก้วน้ำ ผ้าเช็ดตัว ผ้าเช็ดหน้า แต่ในบางครัวเรือนจะยังใช้แก้วน้ำร่วมกับคนในครัวเรือนอยู่
- เมื่อกลับจากทำภารกิจหรือกิจกรรมนอกบ้านจะเปลี่ยนเสื้อผ้า ล้างมือ หรืออาบน้ำโดยทันที
นอกจากนั้น กระผมได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูลเพื่อเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 สำหรับศาสนสถาน ซึ่งจากการสำรวจเพื่อเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคติดต่ออุบัติใหม่ จากการสังเกต สัมภาษณ์ และสนทนาธรรมกับเจ้าอาวาส และพระประจำวัด มานั้น ทำให้ได้ทราบข้อมูลว่า ในกรณีมีกิจกรรมทางหรือพิธีกรรมทางศาสนา เจ้าหน้าที่วัด หรือ เจ้าภาพในการจัดงานจะประสานงานไปยัง เจ้าหน้าที่สาธารณสุข หรือ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน เพื่อช่วยคัดกรองผู้เข้าร่วมงาน ตามมาตรการของกระทรวงสาธารณะสุข เช่น ตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ สวมหน้ากากอนามัย และการลงทะเบียนก่อน-หลังเข้าร่วมงาน มีการเว้นระยะห่างซึ่งกัน ทางวัดที่มีกิจกรรมหรือพิธีกรรมทางศาสนาบ่อยครั้ง จะมีการจัดเตรียมหน้ากากอนามัย สำรองไว้ให้ผู้ที่เข้ามาภายในวัด มีจุดล้างมือด้วยสบู่อย่างเพียงพอ มีการจัดวางเจลแอลกอฮอล์สำหรับใช้ทำความสะอาดมือ บริเวณทางเข้า และมีการทำความสะอาดภายในบริเวณวัดทุกครั้งหลังจากทำกิจกรรม กรณีไม่มีกิจกรรมหรือพิธีกรรมทางศาสนา : ทางเจ้าหน้าที่วัด หรือจิตอาสาภายในชุมชนจะมีการทำความสะอาดภายในบริเวณวัดทุกเดือน อย่างน้อยเดือนละ 1-2 ครั้ง และดำเนินการตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข
จากการปฏิบัติงาน หลักสูตรการส่งเสริมอาชีพและการพัฒนาขนมไทย ตำบลบ้านสิงห์ ภายใต้โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ (1ตำบล 1 มหาวิทยาลัย) กระผมขอสรุปบทเรียนที่ได้รับจากการปฏิบัติงานในแต่ละเดือน ดังนี้
เดือนกุมภาพันธ์: กระผมได้ร่วมจัดการประชุม ณ ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านสิงห์ เพื่อสอบถามและทราบถึงข้อมูลของผลิตภัณฑ์ในท้องถิ่น และลงพื้นที่ทำแบบสอบถามข้อมูลระดับบุคคล ครัวเรือนและชุมชน โดยมีการประสานขอความร่วมมือกับผู้นำในชุมชนช่วยประชาสัมพันธ์ให้กับชาวบ้านได้รับทราบและให้ความร่วมมือ ปัญหาในเดือนนี้คือชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรในช่วงว่างจากการทำเกษตรได้เดินทางไปทำงานในตัวอำเภอ ทำให้การเก็บข้อมูลล้าช้าและไม่สมบูรณ์ แก้ปัญหาโดยปรับเปลี่ยนเวลาลงพื้นที่เก็บข้อมูลเป็นในช่วงเย็นจะทำให้ได้ข้อมูลเพิ่มขึ้น
เดือนมีนาคม: กระผมได้ลงพื้นที่ทำแบบสอบถามข้อมูลระดับบุคคล ครัวเรือนและชุมชน แบบสอบถามเกี่ยวกับผลกระทบจากโรคระบาดโควิด -19 และแบบสำรวจเพื่อเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคติดต่ออุบัติใหม่ โดยมีการประสานขอความร่วมมือกับผู้นำในชุมชนช่วยประชาสัมพันธ์ให้กับชาวบ้านได้รับทราบและให้ความร่วมมือ ปัญหาเดือนมีนาคมมีลักษณะเหมือนกับเดือนกุมภาพันธ์เนื่องจากเป็นการลงพื้นที่เก็บข้อมูล พบปะพูดคุยกับชาวบ้านเป็นส่วนใหญ่
เดือนเมษายน: กระผมได้ร่วมพิธียกเสาเอก-เสาโท ที่ ณ ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงอำเภอนางรอง บ้านโคกว่าน ตำบลหนองโสน อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ และการจัดเวทีวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อการแปรรูปขนม ณ ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านสิงห์ ปัญหาหลักในการทำขนมในตำบลบ้านสิงห์คือขาดแคลนวัตถุดิบและหายากในบางช่วง โดยที่ยังไม่มีวิธีการแก้ปัญหาได้อย่างจริงจัง
เดือนพฤษภาคม: กระผมได้รับชมการบรรยายการถ่ายทอดสดผ่านช่อง HUSOC-BRH CHANNEL ในหัวข้อ “งานบุญผ้าป่า ปาฐกถาชุมชนออนไลน์ ยักษ์ จับ โจน” เนื่องในงาน ทอดผ้าป่า ปาฐกถาชุมชน ณ ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงอำเภอนางรอง บ้านโคกว่าน ตำบลหนองโสน อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ และลงพื้นที่สำรวจข้อมูลพื้นฐานบ้านหนองกง โดยมีหัวข้อคือ ผู้ที่ย้ายกลับบ้านเนื่องจากสถานการณ์โควิด แหล่งท่องเที่ยว ที่พัก โรงแรม ร้านอาหารในท้องถิ่น อาหารที่น่าสนใจประจำท้องถิ่น เกษตรกรในท้องถิ่น พืชในท้องถิ่น สัตว์ในท้องถิ่น ภูมิปัญญาท้องถิ่นและแหล่งน้ำในท้องถิ่น ปัญหาในการทำงานคือการลงพื้นที่เก็บข้อมูลล่าช้าเนื่องจากมีข้อมูลที่สอบถามค่อนข้างเยอะ รวมถึงในช่วงกลางวันชาวบ้านส่วนใหญ่ออกไปทำงานจึงทำให้การสอบถามข้อมูลในช่วงเย็นแทน
เดือนมิถุนายน: กระผมได้เข้าร่วมอบรมการออกแบบบรรจุภัณฑ์ ณ ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านสิงห์ อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ และถ่ายทำวิดีโอ ณ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านสิงห์ อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ ร่วมกิจกรรมปลูกป่า ณ โรงเรียนบ้านหนองยายพิมพ์ ต.หนองยายพิมพ์ อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ ภายใต้โครงการ “รวมใจปลูกต้นไม้ ปลูกธรรมะ วันวิสาขบูชา 2564 เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระวชิระเกล้าเจ้าอยู่หัว” จากนั้นได้เตรียมสเปรย์แอลกอฮอล์ ณ ชั้น 1 อาคารมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ จัดเตรียมสเปรย์แอลกอฮอล์สำหรับการแจกจ่ายให้กับประชาชนในพื้นที่ตำบลบ้านสิงห์ และร่วมอบรมการรณรงค์การฉีดวัคซีน ณ ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านสิงห์ ปัญหาในการทำงานเดือนนี้คือการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้รวมตัวในการจัดการประชุมไม่ได้ และเข้าทำกิจกรรมในชุมชนโดยการรวมตัวกันไม่ได้ แก้ปัญหาโดยการทำงานส่วนใหญ่จัดขึ้นในรูปแบบออนไลน์ แบ่งผู้ปฏิบัติงานออกเป็น2ทีมในการทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อลดการรวมตัวกันเป็นจำนวนมาก
เดือนกรกฎาคม: กระผมและคณะผู้ปฏิบัติงานในโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ ตำบลบ้านสิงห์ ลงพื้นที่สำรวจข้อมูลชุมชนตามที่ได้รับมอบหมาย และปฏิบัติตนตามมาตรการป้องการโรคระบาดของชุมชนอย่างเคร่งครัด ครั้งนี้ได้ลงไปสำรวจยังกลุ่มเกษตรกร พืชในท้องถิ่น สัตว์ในท้องถิ่น และแหล่งน้ำในท้องถิ่น ภายในชุมชน
เดือนสิงหาคม: กระผมได้ลงพื้นที่บริจาคอาหารแห้งและสิ่งของที่จำเป็นในช่วงกักตัว ในนามโครงการยกระดับเศรษกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ (มหาวิทยาลัยสู่ตำบลสร้างรากแก้วให้ประเทศ) หรือ U2T ณ ศูนย์กักตัวตำบลบ้านสิงห์และศูนย์พักคอยตำบลบ้านสิงห์ และเก็บแบบสำรวจเพื่อเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคติดต่ออุบัติใหม่
กระบวนการที่นำมาใช้ในการปฏิบัติ ซึ่งทำให้การปฏิบัติงานบรรลุเป้าหมาย : กระผมใช้กระบวนการวางแผนก่อนลงมือปฏิบัติงานทุกครั้ง และเมื่อลงมือปฏิบัติงานในแต่ละครั้งก็จะคำนึงถึงเป้าประสงค์ของโครงการเป็นหลัก และหมั่นตรวจสอบกระบวนการทำงานของตนเองอยู่เสมอเพื่อประสิทธิภาพของการปฏิบัติงานให้ออกมาอย่างดีที่สุด
ความรู้ที่ได้รับจากการเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ : กระผมได้รับความรู้และประสบการณ์มากจากการปฏิบัติงานภายใต้โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ ในครั้งนี้ และยังสามารถปรับตัวให้เข้ากับเพื่อนร่วมงาน ชุมชน และการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างเพื่อนร่วมกันขณะปฏิบัติงาน
ปัญหา/อุปสรรคที่พบในการปฏิบัติงาน : เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) ทำให้การปฏิบัติหน้าที่เป็นไปค่อนข้างลำบาก โดยเฉพาะการลงพื้นที่สำรวจข้อมูลในพื้นที่ที่ประชนชนในชุมเกิดความหวาดระแวง และการจัดอบรมจะต้องใช้การจัดอบรมในรูปแบบออนไลน์แทนการรวมตัวกันเป็นจำนวนมาก ซึ่งบางครั้งทำให้เกิดความไม่ชัดเจน และล่าช้า ส่งผลให้เกิดอุปสรรคในการสื่อสารได้ในบางกรณี
วิธีการแก้ไขปัญหาเพื่อทำให้การปฏิบัติงานลุล่วงไปได้ด้วยดี : กระผมได้แก้ปัญหาโดยใช้วิธีการกำหนดเป้าหมายอย่างชัดเจน แล้วางแผนการทำงานเป็นลำดับขั้นตอน และพึงระลึกถึงการทำงานอย่างมีวินัยละขยันหมั่นเพียร และสิ่งที่สำคัญอีกประการคือการพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ
การพัฒนาที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชนอย่างแท้จริง ควรมีการเพิ่มกิจกรรมใด: กระผมคิดว่าควรมีกิจกรรมที่ตอบสนองความต้องการทีีเป็นการแก้ปัญหาในปัจจุบันของชุมชน โดยให้ประชาชนในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมให้มากกว่านี้ และเป็นกิจกรรมที่มีความสอดคล้องกับอาชีพหลักในชุมชน