ดิฉันนางสาวปรียานันท์ พันทะกัน กลุ่มนักศึกษา ตำบลบ้านสิงห์ ได้ลงพื้นที่สำรวจและทำแบบสอบถามประจำเดือนมีนาคม พ.ศ.2564 ในพื้นที่ตำบลบ้านสิงห์ อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์
ดิฉันได้ลงพื้นที่สำรวจพื้นที่หมู่ 5 บ้านหนองตาชี และหมู่ 7 บ้านหนองบัวราย โดยได้ไปทำแบบสอบถาม 01 แบบสอบถามข้อมูลระดับบุคคล ครัวเรือนและชุมชน จำนวน 20 ชุด แบบสอบถาม 02 เกี่ยวกับผลกระทบโรคโควิด-19 จำนวน 100 ชุด แบบสอบถาม 06 แบบสำรวจเพื่อเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคติดต่ออุบัติใหม่ จำนวน 20 ชุด ชาวบ้านที่ให้ข้อมูล ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี
จากการสำรวจแบบสอบถาม 01 พบว่าชาวบ้านส่วนใหญ่ทำอาชีพทำนา ทำไร่มันสำปะหลัง ทำสวนดอกมะลิ ดอกพุด และใบเตย แต่สวนดอกไม้จะมีเพียงบางครัวเรือนเท่านั้นที่ทำเป็นอาชีพ รายได้ส่วนใหญ่ก็จะมาจากทำนาเป็นหลัก โดยรายได้ของครัวเรือนโดยเฉลี่ยต่อเดือนจะอยู่ที่ 5,000-10,000 บาท/เดือน ชุมชนแห่งนี้ไม่มีวัด มีเพียงป่าชุมชนและห้วยเท่านั้น สถานที่ท่องเที่ยงของชุมชนก็ยังไม่มี ส่วนปัญหาของชุมชนก็จะมีปัญหาการขาดแคลนน้ำในการอุปโภคบริโภค ปัญหาความยากจน ปัญหาถนนขรุขระ เป็นหลุมเป็นบ่อ
จากการสำรวจแบบสอบถาม 02 เกี่ยวกับผลกระทบจากโรคโควิด-19 พบว่าคนในชุมชนส่วนใหญ่ที่ตอบแบบสอบถามเป็นผู้สูงอายุ ส่วนใหญ่จะไม่มีโรคประจำตัว ส่วนคนที่มีโรคประจำตัวก็จะเป็นโรคของคนชรา มีปวดขา ปวดเข่าเป็นเรื่องปกติ และมีภาวะความดันโลหิตสูงบ้างเป็นบางคน คนในชุมชนไม่มีภาวะเสี่ยงโรคติดต่อ และเมื่อมีปัญหาด้านสุขภาพ คนในชุมชนจะไปที่โรงพยาบาลชุมชนและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล คนในชุมชนไม่มีอาการไอ จาม และสวมใส่หน้ากากอนามัยเมื่อไปตลาดหรือไปพื้นที่เสี่ยง คนในชุมชนส่วนใหญ่ทราบถึงปัญหาโรคโควิด-19 เป็นอย่างดี และรู้วิธีป้องกันการติดต่อของโรคว่าติดต่อทางไหนได้บ้าง ส่วนความรู้สึกและผลกระทบ คนในชุมชนไม่ค่อยรู้สึกกับผลกระทบของโรคมากนัก เนื่องชาวบ้านก็จะทำงานกันในชุมชนไม่ได้เดินทางไปไหน ก็จะมีรู้สึกเครียดและกังวลบ้าง เพราะบางครั้งก็ไม่สามารถออกไปขายดอกไม้ได้ และมีผลกระทบกับการใช้ไฟ เพราะออกไปข้างนอกไม่ค่อยได้ คนในชุมชนจึงอยู่แต่ในบ้าน ทำให้เป็นปัญหาต่อการใช้ไฟมากขึ้น
จากการสำรวจแบบสอบถาม 06 การเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคติดต่ออุบัติใหม่ พบว่าคนในชุมชนมีการประเมินตนเองและบุคคลที่อาศัยอยู่ในครัวเรือนว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อ มีการสังเกตอาการของตนเองและบุคคลที่อาศัยอยู่ร่วมกันว่ามีไข้ ไอ หรือจาม มีการดูแลสุขอนามัยด้วยการล้างมือ มีการรับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ และใช้ช้อนส่วนตัว ไม่ใช้สิ่งของเครื่องใช้ส่วนตัวร่วมกัน