ข้าพเจ้านางสาวศันสนีย์ กองศักดิ์  ประเภทบัณฑิตจบใหม่ ตำบลบ้านสิงห์
หลักสูตร: การส่งเสริมและพัฒนาการทำขนมไทย
ลงพื้นที่สำรวจข้อมูลประจำเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2564
ในพื้นที่ตำบลบ้านสิงห์ อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ 

วันศุกร์ที่ 7 พฤษภาคม 2564 อาจารย์ประจำหลักสูตรได้นัดหมายประชุมผ่าน

Google meet ในเวลา 11:00 น. เพื่อพูดคุยมอบหมายแผนงานในเดือนพฤษภาคม

           ในการประชุมอาจารย์ประจำหลักสูตรได้มอบหมายให้ผู้ปฏิบัติงานสำรวจข้อมูลที่เกี่ยวกับ ผู้ที่ย้ายกลับบ้านเนื่องจากสถานการณ์โควิด แหล่งท่องเที่ยว ที่พัก/โรงแรม ร้านอาหารในท้องถิ่น อาหารที่น่าสนใจประจำท้องถิ่น เกษตรกรในท้องถิ่น พืชในท้องถิ่น สัตว์ในท้องถิ่น ภูมิปัญญาในท้องถิ่น แหล่งน้ำในท้องถิ่น และบันทึกข้อมูลลงในแอพพลิเคชั่นของ U2T โดยแบ่งตามหมู่บ้านที่รับผิดชอบอยู่แล้ว หลังจากนั้นได้พูดคุยสอบถามถึงปัญหาในการลงพื้นที่ เนื่องด้วยสถานการณ์โควิด-19 ที่ทำให้ในบางพื้นที่ไม่สามารถเข้าไปเก็บข้อมูลได้ หากลงพื้นที่ต้องขออนุญาตผู้นำชุมชนก่อนและดูแลป้องกันตนเองโดยการสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา

          หลังจากที่ได้รับมอบหมายให้สำรวจข้อมูลดังกล่าว ข้าพเจ้าจึงได้ทำการติดต่อประสานงานกับผู้ใหญ่บ้านบ้านหนองบัวราย เพื่อขออนุญาตเข้าสำรวจข้อมูลในพื้นที่ ซึ่งผู้ใหญ่ก็ได้อนุญาตให้ลงพื้นที่ได้ จากนั้นข้าพเจ้าจึงได้เข้าไปขอข้อมูลผู้ที่ย้ายกลับบ้านเนื่องจากสถานการณ์โควิดจาก อสม.ประจำหมู่บ้าน พบว่าไม่มีผู้ย้ายกลับบ้านเนื่องจากสถานการณ์โควิด ต่อมาได้ไปสำรวจร้านอาหารในท้องถิ่น พบว่าในหมู่บ้านหนองบัวรายมีร้านอาหารทั้งหมด 5 ร้าน ซึ่งเป็นร้านอาหารตามสั่ง 3 ร้าน ได้แก่ ร้านบ้านนารายณ์ทอง ร้านครัวคุณควย ร้านเจ๊แพรวเมนูที่มีเฉพาะในท้องถิ่นจะเป็นอาหารอีสาน เช่น ลาบ ก้อย จุ๊ และร้านก๋วยเตี๋ยว/ก๋วยจั๊บ อีก 2 ร้าน ได้แก่ ร้านป้าสายบัว ร้านก๋วยเตี๋ยวไก่มะระ ต่อมาข้าพเจ้าได้สำรวจอาหารที่น่าสนใจประจำถิ่น ได้แก่ พริกแกง ชื่อร้านจิราพัตน์พริกแกง ซึ่งจะทำส่งตามร้านอาหารที่สั่งเป็นประจำ และตามออเดอร์ลูกค้า กำลังการผลิตประมาณ 10 กิโลกรัมต่อวัน ต่อมาสำรวจแหล่งน้ำในท้องถิ่น พบว่ามีแหล่งน้ำทั้งหมด 3 แห่ง ได้แก่ หนองน้ำศาลาประชาคม หนองน้ำท้ายหมู่บ้าน หนองโคตร ซึ่งทั้ง 3 แห่งจะมีน้ำตลอดปีอาจจะลดน้อยลงบ้างในช่วง เดือนมีนาคม-เดือนเมษายน คุณภาพของน้ำอยู่ในระดับปานกลาง สามารถทำการประมงได้ ใช้ทำการเกษตร/อุตสาหกรรมได้ อุณหภูมิสูงสุดของน้ำประมาณ 32 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุดของน้ำประมาณ 23 องศาเซลเซียส และเนื่องด้วยหมู่บ้านหนองบัวรายเป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ อยู่แบบเรียบง่ายจึงไม่มีที่พัก/โรงแรม รวมถึงแหล่งท่องเที่ยว พบเป็นเพียงสำนักสงฆ์ภูม่านฟ้าที่มีการก่อสร้างด้วยหินขนาดใหญ่และสวยงาม แต่ยังไม่เปิดเป็นสถานที่ท่องเที่ยว

ในวันพุธที่ 12 พฤษภาคม 2564 ได้ร่วมพิธีทอดผ้าป่า-ปาฐกถาชุมชน ณ ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงอำเภอนางรอง บ้านโคกว่าน ตำบลหนองโสน เพื่อเป็นศูนย์การเรียนรู้กสิกรรมธรรมชาติ
บนรากฐานแห่งเศรษฐกิจพอเพียงสู่การพัฒนาที่มั่นคงและยังยืน ผ่านทางออนไลน์

          เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 เกิดการระบาดละลอกใหม่ทางคณะกรรมการจัดงานทอดผ้าป่า-ปาฐกถาชุมชน จึงได้ปรับกิจกรรมเป็นแบบออนไลน์เกือบทั้งหมด จะมีเฉพาะพิธีทอดผ้าป่าเท่านั้นที่จะประกอบพิธี ณ ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงบ้านโคกว่าน ตำบลหนองโสน อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ แต่จำกัดจำนวนคนที่จะเข้าร่วมในพิธีไม่เกิน 50 คนและมีเจ้าหน้าที่ อสม.คอยดูแลอยู่ตลอด
ในเวลา 09:00 น. ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ นายธัชกร หัตถาธยากูล ประธานในพิธีได้กล่าวเปิดงาน 
ต่อมารับฟังสัมโมทนียกถา จากเจ้าอาวาสวัดตาไก้พลวงเจ้าคณะตำบลหนองกง พระอาจารย์ทองใส ซึ่งนอกจากการถ่ายทอดสดผ่านทาง YouTube ช่อง HUSOC-BRU Channel แล้วทางวัดยังมีการถ่ายทอดสดผ่านทางคลื่นวิทยุของทางวัดให้ชาวบ้านและประชาชนทั่วไปได้รับฟังอีกด้วย
เวลา 10:20 น. รับฟังบรรยายจาก ดร.ยักษ์ วิวัฒน์ ศัลยกำธร ประธานมูลนิธิกสิกกรมธรรมชาติ ในหัวข้อเรื่อง “ปาฐกถาพิเศษกสิกรรมธรรมชาติบนรากฐานแห่งเศรษฐกิจพอเพียงสู่การพัฒนาอย่างมั่นคงและยั่งยืนในยุค world Disruption” ซึ่งได้ถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับความเป็นมาและความสำคัญของเศรษฐกิจพอเพียงผ่านการเล่าประสบการณ์ที่ได้ร่วมทำงานในโครงการต่าง ๆ ของในหลวงรัชกาลที่ 9 และ รัชกาลที่ 10 ได้แยกประเด็นในการบรรยายเป็นประเด็นหลักๆ ดังนี้ 1.กสิกรรมธรรมชาติ 2.รากฐานเศรษฐกิจพอเพียง 3.การพัฒนาอย่างมั่นคงและยังยืน 4.ในยุค world Disruption 5.การปรับตัวภายใต้วิกฤตโรคระบาด และให้ความรู้ในการทำงานสืบสานศาสตร์ของพระราชาให้เป็นประโยชน์ต่อท้องถิ่นและชุมชน
เมื่อฟังบรรยายจบก็ได้รับชมบรรยากาศพิธีกรรมการถวายผ้าป่า ณ ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงอำเภอนางรอง บ้านโคกว่าน ตำบลหนองโสน จังหวัดบุรีรัมย์
ต่อมาในช่วงบ่าย รับฟังบรรยายจาก อาจารย์โจน จันได ผู้เชี่ยวชาญด้านการใช้ประโยชน์จากหญ้าแห่งสวนพันพรรณ และการสร้างบ้านดิน ในหัวข้อ“กสิกรรมธรรมชาติตามศาสตร์พระราชา ทางเลือกทางรอดในยุคViral Disruption” ได้กล่าวถึงยุคของบริโภคนิยม การเปลี่ยนแปลงที่นำไปสู่ปัญหาสุขภาพ ปัญหาสิ่งแวดล้อม แนะแนวทางการแก้ปัญหา โดยใช้การทำการเกษตรเพื่อสิ่งแวดล้อมและเกษตรทฤษฎีใหม่ การพึ่งพาตนเองบนพื้นฐานปัจจัย 4 คือ อาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค โดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงเป็นหลัก ในช่วงท้ายได้เปิดโอกาสให้ผู้ร่วมฟังบรรยายได้ซักถาม พูดคุยเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้เพิ่มเติม
จากการฟังบรรยายในครั้งนี้ข้าพเจ้าได้รับความรู้เพิ่มเติมมากมาย และจะนำความรู้ที่ได้ไปขยายผลและปรับใช้ในชีวิตประจำวันเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป

วีดิทัศน์แสดงกิจกรรมการปฏิบัติงานในตำบลบ้านสิงห์ ประจำเดือนพฤษภาคม 2564

อื่นๆ

เมนู