ดิฉัน นางสาววรลักษณ์ ไกรษร กลุ่มบัณฑิตจบใหม่ ต.บ้านสิงห์ อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์

หลักสูตร : ส่งเสริมอาชีพและพัฒนาขนมไทย HS03  

เดือนมิถุนายน

ในการปฏิบัติงานตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาคม – เดือนมิถุนายน นั้นมีการปฏิบัติงานกันมาอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ ทั้งอาจารย์ประจำหลักสูตรและผู้ปฏิบัติงานตำบลบ้านสิงห์ทุกคนต่างร่วมแรงร่วมใจปฏิบัติงานให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี โดยมีรายละเอียดการปฏิบัติงานดังนี้

หลังจากส่งผลการปฏิบัติงานในวันที่ 19 พฤษภาคม 2564 เสร็จเรียบร้อยแล้วนั้น อาจารย์ประจำหลักสูตรได้มีการนัดประชุม online ผ่านทางระบบ Google meet ในวันที่ 20 พฤษภาคม 2564 โดยเป็นการประชุมเกี่ยวกับการนัดหมายลงพื้นที่เพื่อทำการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้กับชาวบ้านที่มีการทำขนมแต่ยังไม่มีบรรจุภัณฑ์หรือโลโก้เป็นของตัวเอง ซึ่งนัดหมายให้ลงพื้นที่ในวันที่ 21 พฤษภาคม 2564 เวลา 13.00 – 17.00 น. ณ ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านสิงห์

21 พฤษภาคม 2564 อาจารย์ประจำหลักสูตรและผู้ปฏิบัติงานตำบลบ้านสิงห์ทุกคนได้ลงพื้นที่ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ ณ ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านสิงห์ โดยมี อาจารย์ชินานาง  สวัสดิ์รัมย์ เป็นวิทยากรในการอบรมครั้งนี้ การอบรมจะเน้นไปทางการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้มีความน่าสนใจ ดึงดูดลูกค้า มีความสวยงาม โดยการพัฒนาบรรจุภัณฑ์สามารถเลือกหรือกำหนดรูปแบบเองได้ซึ่งมีข้อมูลต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

(1) สินค้านั้นคืออะไร การออกแบบต้องเริ่มต้นด้วยมีข้อมูลทางด้านสินค้าอย่างเพียงพอ ได้แก่ ประเภทของสินค้า คุณสมบัติทางกายภาพและเคมี ขนาด รูปทรง ปริมาตร ส่วนประกอบหรือส่วนผสม คุณค่าทางโภชนาการ กระบวนการผลิตหรือกรรมวิธีการแปรรูปอาหาร การตรวจสอบคุณภาพ ข้อแนะนำในการบริโภค และสินค้าจะเสื่อมคุณภาพจากปฏิกิริยาอะไรเพื่อจะได้นำมาออกแบบโครงสร้างบรรจุภัณฑ์ ให้ลวดลายสีสันอย่างเหมาะสม สร้างการยอมรับจากผู้ซื้อ และที่สำคัญที่สุด คือ การสร้างจุดขายของสินค้า

(2) ประโยชน์และความต้องการของผู้บริโภค การกำหนดเป้าหมายของผู้บริโภคและการวิจัยตลาดย่อมสามารถประเมินว่าจุดขายของสินค้าสามารถสนองความต้องการของผู้บริโภค นอกจากนี้ยังต้องทราบถึงปริมาณการบริโภคแต่ละครั้ง การนำไปปรุงร่วมกับอาหารชนิดอื่น และโอกาสในการบริโภคหรือฤดูในการเลือกซื้อ ข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้สามารถออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค เช่น การบรรจุรวมห่อ การออกแบบบรรจุภัณฑ์และลวดลายให้สอดคล้องกับเทศกาล การออกแบบให้เป็นของกำนัล เป็นต้น เพื่อเป็นการสนองความต้องการของผู้ซื้อ และทำให้สินค้าของเรามีความแตกต่างหรือสร้างคุณประโยชน์มากกว่าคู่แข่งขันไม่ว่าในแง่ของคุณค่าอาหารหรือความสะดวกในการบริโภค

(3) บรรจุภัณฑ์ จากปัจจัยทั้ง 2 ดังกล่าวมาแล้ว ปัจจัยที่สาม คือ ข้อมูลเกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์ คุณสมบัติของบรรจุภัณฑ์ที่ต้องพิจารณามีดังนี้

  1. พิจารณาตามหน้าที่ของบรรจุภัณฑ์ ได้แก่ การป้องกัน การรักษาคุณภาพ ความสะดวกในการใช้งาน ความประหยัดในการขนส่ง การออกแบบกราฟฟิกให้สอดคล้องกับความต้องการ การใช้ฉลากและส่วนประกอบของฉลาก โดยแบ่งเป็น

 – บรรจุภัณฑ์ชั้นใน พิจารณาความเข้ากันได้ระหว่างสินค้าและบรรจุภัณฑ์ความสามารถในการดึงดูดความสนใจของผู้บริโภค

– บรรจุภัณฑ์ชั้นที่สอง ความจำเป็นในการรวมกลุ่มบรรจุภัณฑ์ชั้นในเข้าด้วยกัน ความจำเป็นในการนำบรรจุภัณฑ์ชั้นที่สองวางขาย ณ จุดขาย

– บรรจุภัณฑ์ขนส่ง ความสามารถในการป้องกันสินค้า ข้อมูลที่พิมพ์บนบรรจุภัณฑ์ที่จะช่วยให้ถึงจุดมุ่งหมายปลายทางด้วยความลอดภัย

      2. พิจารณาถึงคุณสมบัติทางกายภาพของบรรจุภัณฑ์ สามารถแบ่งบรรจุภัณฑ์ออกเป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ คือ บรรจุภัณฑ์แข็งตัว บรรจุภัณฑ์กึ่งแข็ง และบรรจุภัณฑ์อ่อนนุ่ม ดังมีรายละเอียดดังนี้

– บรรจุภัณฑ์แข็งตัว เช่น แก้ว กระป๋องโลหะ และขวด พลาสติก ส่วนมากเป็นพลาสติกฉีด บรรจุภัณฑ์ชนิดนี้มีความแข็งแรง คงรูปได้ดี ลำเลียงบนสายพาน ได้สะดวก จึงเหมาะสำหรับการใช้งานกับเครื่องบรรจุของเหลวด้วยระบบสุญญากาศ และระบบที่ใช้ความดันได้

– บรรจุภัณฑ์กึ่งแข็ง เช่น ขวดพลาสติกแบบขึ้นรูปด้วยการเป่า ถาดโฟม ถ้วยไอศกรีม ขึ้นรูปด้วยความร้อนและสุญญากาศ บรรจุภัณฑ์ชนิดนี้มีข้อจำกัดในการรับแรงอัดและแรงดันจึงบรรจุแบบกระบอกสูบอัดใส่ในถุงบรรจุภัณฑ์

– บรรจุภัณฑ์อ่อนนุ่ม เช่น ซองและถุง บรรจุภัณฑ์ประเภทนี้ไม่สามารถรักษามิติหรือรูปทรงได้จึงต้องมีอุปกรณ์ช่วยในระหว่างทำการบรรจุของเหลว และมักใช้ระบบการบรรจุแบบกระบอกสูบอัดใส่ในถุงบรรจุภัณฑ์

และการออกแบบโลโก้มีข้อกำหนดต่าง ๆ ดังนี้

  • โลโก้ที่ดีต้องจดจำได้ง่าย โลโก้เป็นตัวบ่งบอกถึงธุรกิจของคุณว่าแตกต่างจากธุรกิจอื่น ๆ หรือคู่แข่งขนาดไหนและ โลโก้ที่ดีจะต้องสามารถทำให้คนจดจำแบรนด์ธุรกิจของคุณได้
  • ตัวอักษรบนโลโก้สำคัญมาก ฟ้อนในโลโก้นั้นสำคัญมาก ๆ เพราะมันสามารถที่จะส่งเสริมหรือทำลายโลโก้ของเรานั้นได้ในทันทีหากเราเลือกที่ไม่เหมาะสมกับบุคลิกของธุรกิจ
  • เลือกสีให้เหมาะสม สีทุกสีมีความหมายทำให้เรามองโลโก้แล้วรู้สึกถึงสิ่งที่กำลังถูกสื่อออกมา พยายามเลือกสีให้เหมาะสมและดูบ่งบอกถึงธุรกิจของเรา
  • อย่าใช้ Effect บนโลโก้เยอะเกินไป โลโก้นั้นต้องการความเรียบง่ายและความหมายที่ดูแล้วสามารถจดจำได้ง่าย อย่าพยายามใช้ Effect แปลก ๆ บนโลโก้เพราะนั่นจะทำให้โลโก้ของเรานั้นดูไม่มีพลังเลย
  • ออกแบบโลโก้จากพื้นหลังสีขาว เริ่มแรกออกแบบพยายามใช้พื้นหลังสีขาวก่อนเพราะนั่นจะสามารถทำให้เราเห็นองค์ประกอบต่าง ๆ ของโลโก้ได้ชัดมากขึ้น หลังจากออกแบบบนพื้นหลังสีขาวเสร็จแล้วค่อยนำไปต่อยอดทำอย่างอื่นต่อ
  • เล่นกับพื้นที่ว่าง ลองเล่นกับพื้นที่ในตัวโลโก้ให้มีความหลากหลายมากขึ้นและที่สำคัญต้องทำให้โลโก้เกิดความสมดุลของการจัดวาง การเล่นกับพื้นที่ว่างนั้นจะสามารถทำให้โลโก้ที่เป็นตัวอักษรดูไม่อึดอัดจนเกินไป
  • อย่าใช้สีรุ้ง สีเยอะ ๆ ดูสวยดีแต่กับโลโก้นั้นไม่ใช่ โลโก้ที่ดีหรือโลโก้ระดับโลกนั้นสังเกตได้เลยว่าใช้สีไม่เกิน 1 – 2 สี เพียงเพื่อต้องการให้คนจดจำกับสีนั้นไปตลอดเวลา
  • โลโก้ไม่ใช่ดูดีอย่างเดียวแต่ต้องสื่อความหมายให้ได้ โลโก้เป็นหน้าตาในส่วนแรกของบริษัทที่ลูกค้าจะดู จึงไม่จําเป็นต้องออกแบบให้ดูดีมากมายแต่ควรที่จะต้องออกแบบให้สื่อความหมายได้ และทำให้คนจดจำได้ง่ายเพราะโลโก้จะอยู่กับธุรกิจหรือแบรนด์นั้น ๆ ไปตลอด
  • อย่า Copy งานคนอื่น ถ้าคิดไม่ออกหรือทำไม่ได้ไม่ควรจะไป Copy งานคนอื่น เพราะสมัยนี้โลกแห่งอินเตอร์เน็ตมันแคบค้นหาไม่นานก็เจอ คำว่า Inspiration กับ Copy มันต่างกัน ถ้าเป็นแค่ Inspiration ยังพอได้แต่ถ้า Copy เลยอาจจะทำให้ความน่าเชื่อถือของเราลดลง
  • โลโก้ที่ดีต้องผ่านการคิดอย่างรอบคอบ หลายคนลงมือทำโลโก้ไปโดยที่ยังไม่มีจุดประสงค์หรือไอเดียด้วยซ้ำ ซึ่งมันไม่ดีเสียเลยเพราะเราต้องไม่ลืมว่าโลโก้นั้นจะต้องอยู้กับธุรกิจหรือองค์กรนั้นต่อไปอีกนาน เพราะงั้นก่อนเริ่มทำโลโก้ทุกครั้งควรจะต้องคิดให้รอบคอบในทุก ๆ อย่างหรือทุกองค์ประกอบเสียก่อน

ซึ่งข้อมูลคร่าว ๆ ที่นำมาใช้เป็นหลักการในการพัฒนาบรรจุภัณฑ์มีดังที่กล่าวมา และในส่วนต่อมาทางวิทยากรได้ให้ผู้ปฏิบัติงานแบ่งกลุ่มออกเป็น 2 กลุ่ม โดยกลุ่มแรกเป็นกลุ่มพัฒนาบรรจุภัณฑ์ของแม่อารมณ์มีผลิตภัณฑ์ คือ กล้วยฉาบ มันฉาบ  และกลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มพัฒนาบรรจุภัณฑ์ของคุณน้ามาลีมีผลิตภัณฑ์ คือ ขนมบ้าบิ่น ซึ่งดิฉันได้อยู่กลุ่มที่ 2 ร่วมกับผู้ปฏิบัติงานอีก 6 คน เป็นการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้คุณน้ามาลี ในส่วนแรกมีการตั้งชื่อผลิตภัณฑ์ก่อน โดยตั้งชื่อว่า “บ้าบิ่นน้องอ๋อมแอ๋ม” สูตรแม่มาลี และออกแบบโลโก้ตามที่คุณน้ามาลีต้องการคือ ใช้รูปเด็กมัดผลแกละ 2 ข้าง ใบหน้ายิ้มแย้ม พื้นหลังใส่สีน้ำตาลคล้ายขนมบ้าบิ่น มีโฆษณาว่า สด ใหม่ ทุกวัน เบอร์โทรศัพท์ 061-5945173 ในส่วนของบรรจุภัณฑ์นั้นยังไม่มีการออกแบบที่แน่ชัด แต่จะเน้นไปที่การใส่กล่องพลาสติก เพราะการใส่กล่องพลาสติกทำให้สินค้าเรียงตัวสวย ดูน่ารับประทาน

22 พฤษภาคม 2564 อาจารย์ประจำหลักสูตรได้นัดหมายผู้ปฏิบัติงานตำบลบ้านสิงห์ทุกคนประชุม online ผ่านทางระบบ google meet โดยประชุมเกี่ยวกับการลงพื้นที่เพื่อถ่ายทำวิดิโอในการรณรงค์การฉีดวัคซีนป้องกันโรคระบาด โควิด-19 ทำสเปรย์แอลกอฮอล์เพื่อแจกให้ชาวบ้าน และรุกคลีนพื้นที่ เคลียร์เชื้อร้าย สร้างความปลอดภัยในชุมชน ตามภารกิจพิเศษ U2T Covid week ก้าวต่อไปสู้ภัยโควิด

25 พฤษภาคม 2564 อาจารย์ประจำหลักสูตรและทีมผู้ปฏิบัติงานตำบลบ้านสิงห์ทุกคนได้ลงพื้นที่ ณ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านสิงห์เพื่อทำการถ่ายวีดีโอเพื่อนำไปตัดต่อเป็นคลิปวีดีโอรณรงค์การฉีดวัคซีนป้องกันโรคระบาด โควิด-19 โดยมี นายประกิจ แดงชาติ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านสิงห์ กล่าวเรื่องการป้องกันโรคระบาดโควิด-19 ในพื้นที่ตำบล ดร.สันติชาติ บุรัตน์ รองปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านสิงห์ กล่าวเรื่องแนวทางการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับโรคระบาดโควิด-19 ในพื้นที่ตำบล นายบรรจบ ลอยประโคน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพส่วนตำบลบ้านสิงห์ กล่าวเรื่องมาตรการการป้องกันโรคระบาดโควิด-19 ในพื้นที่ตำบล และนางสาวภัคธิรา เชิดชัยภูมิ พยาบาลวิชาชีพ กล่าวเกี่ยวกับประสบการณ์การฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 และรณรงค์ชักชวนให้ประชาชนไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคระบาดโควิด-19 อีกด้วย ซึ่งการป้องกันโรคระบาดโควิด-19 นั้นนอกจากการฉีดวัคซีนแล้วยังมีการป้องกันอีกหลายอย่างที่เราสามารถปฏิบัติได้เองคือ

  1. ออกจากบ้านเมื่อจำเป็นเท่านั้น หากออกนอกบ้านให้เว้นระยะห่างจากคนอื่นอย่างน้อย 1-2 เมตร หลีกเลี่ยงการเข้าไปในพื้นที่ที่มีคนหนาแน่น แออัดหรือพื้นที่ปิด
  2. สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดเวลา เมื่ออยู่นอกบ้าน
  3. ใช้รถสาธารณะเมื่อจำเป็นเท่านั้น และหลีกเลี่ยงชั่วโมงเร่งด่วน หากต้องซ้อนมอเตอร์ไซด์ควรนั่งหันข้าง
  4. ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ทุกครั้ง ก่อนรับประทานอาหาร หลังใช้ส้วม หรือหลังจากไอ จาม หรือหลังสัมผัสจุดเสี่ยงที่มีผู้ใช้งานร่วมกันในที่สาธารณะ เช่น กลอนหรือลูกบิดประตู ราวจับหรือราวบันได เป็นต้น
  5. หลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสใบหน้า ตา ปาก จมูก โดยไม่จำเป็น
  6. ผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง ผู้สูงอายุที่อายุมากกว่า 70 ปี ผู้มีโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน โรคหัวใจ โรคความดัน โลหิตสูง โรคปอด และเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ให้เลี่ยงการออกนอกบ้าน เว้นแต่จำเป็น ให้ออกนอกบ้านน้อยที่สุด ในระยะเวลาสั้นที่สุด
  7. แยกของใช้ส่วนตัว ไม่ควรใช้ของร่วมกับผู้อื่น
  8. เลือกทานอาหารที่ร้อนหรือปรุงสุกใหม่ ๆ ควรทานอาหารแยกสำรับ หรือหากทานอาหารร่วมกันให้ใช้ช้อนกลางส่วนตัว ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และพักผ่อนให้เพียงพอ
  9. หากเดินทางกลับจากประเทศหรือพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 ควรกักตัวเองที่บ้าน 14 วัน และปฏิบัติตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข
  10. หมั่นสังเกตอาการตนเอง หากมีอาการไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส ให้ไปรับการตรวจรักษาที่โรงพยาบาลใกล้บ้านทันที

ซึ่งจากข้อมูลข้างต้นเราสามารถปฏิบัติเองได้ที่บ้าน แต่ถ้าจะให้เกิดผลดีที่สุดก็ควรทำการฉีดวัคซีนเพื่อเป็นการป้องกันไว้ด้วย

หลังจากทำการถ่ายคลิปวีดีโอเสร็จเรียบร้อยแล้วนั้นทางอาจารย์ประจำหลักสูตรและผู้ปฏิบัติงานทุกคนได้ช่วยกันทำความสะอาดพื้นที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพส่วนตำบลบ้านสิงห์ โดยแบ่งกันทำเป็นกลุ่ม คือ กวาดพื้น ล้างห้องน้ำ ถูพื้น เมื่อเสร็จภารกิจก็รับประทานอาหารร่วมกันและแยกย้ายกันเดินทางกลับบ้าน

 

พฤษภาคม 2564 อาจารย์ประจำหลักสูตรและผู้ปฏิบัติงานตำบลบ้านสิงห์ทุกคนได้ลงพื้นที่ปฏิบัติงานโครงการ “ รวมใจปลูกต้นไม้ปลูกธรรมมะวันวิสาขบูชา ๒๕๖๔ ” เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยกลุ่มรักษ์นางรองสีเขียวยั่งยืน องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้บริหารการปกครองท้องที่ และศูนย์ประสานชุมชนสัมพันธ์ HUSOC มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ในวันที่ 26 พฤษภาคม 2564 เวลา 09.00-15.00 น. ณ โรงเรียนบ้านหนองยายพิมพ์ ต.หนองยายพิมพ์ อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ โดยมีกิจกรรมดังนี้

  • ปลูกป่าสร้างคุณค่าสู่แผ่นดิน
  • เสวนาปลูกป่าชุมชน โดยเครือข่ายปราชญ์บุรีรัมย์และส่วนราชการ เช่น พระครูวิสุทธิพัฒนาภิรมย พ่อคำเดื่อง ภาษี  นายกฯเกรียงไกร แผ้วพลสงค์  นายกฯเปลื้อง แผ้วพลสงค์  อาจาร์ไพรัช ชื่นศรี  คุณคำนึง เจริญศิริ  ช่างดำอินดี้ (พิชาญ ดัดตนรัมย์) เป็นต้น  

ซึ่งการจัดงานในครั้งนี้ได้รับเกียรติจากท่านเพชรรัตน์ ภูมาศ  นายอำเภอนางรอง  ประธานปลูกต้นไม้เฉลิมพระเกียรติ  และประธานกล่าวเปิดการเสวนาป่าชุมชน  และผู้ทรงภูมิรู้ที่ร่วมเสวนา 

พระครูวิสุทธิพัฒนาภิรมย   

พ่อคำเดื่อง ภาษี   

ดร.พิสมัย ประชานันท์     

นายกฯเกรียงศักดิ์ เเผ้วพลสง  

กำนันเดช สวัสดิ์พูน 

อ.ไพรัช ชื่นศรี 

ผอ.ณรงค์ฤทธิ์ เสนาสังข์  

คุณคำนึง เจริญศิริ 

ช่างดำอินดี้     

คุณมนัญญา ม่วงสมมุข 

สุดท้ายขอขอบพระคุณเครือข่ายต่างๆ ที่ได้ร่วมด้วยช่วยกันสร้างประวัติศาสตร์การปลูกป่า-เสวนาชุมชนในครั้งนี้คือกลุ่มรักษ์นางรองสีเขียวยั่งยืน  ศูนย์ประสานงานชุมชนสัมพันธ์คณะมนุษยศาสตร์ มรภ.บุรีรัมย์  ผู้บริหารองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น  ผู้บริหารการปกครองท้องที่  เครือข่ายปราชญ์ชาวบ้าน จ. บุรีรัมย์ และพี่น้องชาวจังหวัดบุรีรัมย์ทุกท่าน

29 พฤษภาคม 2564 ดิฉันได้ลงพื้นที่ ณ โรงเรียนบ้านหนองยายพิมพ์ ต.หนองยายพิมพ์ อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ โดยลงพื้นที่เพื่อไปสำรวจต้นไม้ที่ได้มีการปลูกจากโครงการ “ รวมใจปลูกต้นไม้ปลูกธรรมมะวันวิสาขบูชา ๒๕๖๔ ” เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในวันที่ 26 พฤษภาคม 2564 ซึ่งมีการเก็บขยะในพื้นที่ที่มีการปลูกต้นไม้เพื่อทำความสะอาด ยึดต้นไม้ให้ติดกับหลักโดยให้ต้นไม้ตรงกันทุกต้น และขุดดินใส่ในหลุมต้นไม้ที่มีดินน้อยและมีน้ำขัง โดยใช้เวลาทำเพียงครึ่งวันหลังจากนั้นก็รับประทานอาหารและเดินทางกลับบ้าน

10 มิถุนายน 2564 อาจารย์ประจำหลักสูตรได้มีการนัดประชุม online ผ่านทางระบบ Google meet โดยประชุมเพื่อนัดหมายให้เข้าร่วมการอบรมเกี่ยวกับโรคระบาดโควิด-19 การทำความเข้าใจเกี่ยวกับฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคระบาดโควิด-19 สาธิตการทำสเปรย์แอลกอฮอล์ แจกเปรย์แอลกอฮอล์ให้กับชาวบ้าน ในวันที่  13 มิถุนายน 2564 เวลา 09.00 – 13.00 น.13 มิถุนายน 2564 อาจารย์ประจำหลักสูตร ผู้ปฏิบัติงานตำบลบ้านสิงห์ทุกคน และตัวแทนชาวบ้านในแต่ละหมู่บ้านได้เข้าร่วมการอบรมเกี่ยวกับโรคระบาดโควิด-19 และทำความเข้าใจเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคระบาดโควิด-19 ณ ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านสิงห์ โดยได้รับเกียรติจาก นายบรรจบ ลอยประโคน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพส่วนตำบลบ้านสิงห์ และนางสาววิไลวรรณ ต้องกระโทก นักวิชาการสาธารณสุข เป็นวิทยากรในครั้งนี้ ในช่วงแรกนั้นอบรมโดยนายบรรจบ ลอยประโคน (หมอจบ) ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพส่วนตำบลบ้านสิงห์ จะเป็นการอบรมเกี่ยวกับสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ที่กำลังมีการแพร่ระบาดอย่างหนักในช่วงนี้โดยมีการให้ข้อมูลเพื่อเป็นความรู้ดังนี้

 โควิด-19 ติดทางไหน แพร่ระบาดได้อย่างไร?

โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ COVID-19 สามารถแพร่จากคนสู่คน ผ่านทางละอองน้ำมูก น้ำลายจากจมูก หรือปาก ซึ่งออกมาขณะที่ผู้ติดเชื้อไอ จาม หรือพูด ทำให้ผู้ที่หายใจเอาละอองเหล่านี้เข้าไปติดเชื้อตามไปด้วย

แต่ละอองเหล่านี้ค่อนข้างหนัก ลอยไปไม่ได้ไกล และตกลงสู่พื้นอย่างรวดเร็ว การรักษาระยะห่างจากผู้อื่นอย่างน้อย 1 เมตร และสวมใส่หน้ากากอนามัย จึงเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยป้องกันโควิด-19 ได้ในข้างต้น

อย่างไรก็ตาม ละอองที่ตกลงสู่วัตถุ และพื้นผิวต่าง ๆ เช่น ราวบันได ลูกบิดประตู หรือพื้นโต๊ะ ก็สามารถทำให้ติดเชื้อ โควิด-19 ได้ เมื่อเราเอามือไปจับพื้นผิวเหล่านั้น แล้วมาจับตา จมูก หรือปาก นั่นจึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมทุกคนจึงต้องหมั่นล้างมือด้วยสบู่ หรือใช้สเปรย์แอลกอฮอล์ หรือเจลแอลกอฮอล์ถูมือ

สาเหตุที่ทำให้โควิด-19 ติดต่อกันได้ง่าย

สาเหตุที่ทำให้เชื้อโควิด-19 ติดต่อกันได้ง่าย มีดังนี้

ตำแหน่งเซลล์แรกที่โควิด-19 เข้าไปโจมตี ไวรัสจะเข้าไปเกาะที่เซลล์ในเยื่อบุจมูกและขนจมูก ทำให้เซลล์ไวรัสแพร่กระจายผ่านการหายใจเข้า-ออกได้

โควิด-19 มีระยะฟักตัวนาน ทำให้กว่าที่ผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 จะรู้ตัว หรือแสดงอาการ ก็อาจผ่านไป 5-14 วันแล้ว

โควิด-19 มีระยะเวลาแพร่เชื้อนาน การที่ระยะเวลาแพร่เชื้อของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 มีระยะเวลานาน 8-10 วัน หรือนานกว่านั้น ทำให้เพิ่มโอกาสในการแพร่ระบาดของโรคได้มากขึ้น

อัตราการเสียชีวิตค่อนข้างต่ำ โรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 มักมีอาการเบื้องต้นคล้ายไข้หวัด เช่น มีไข้ ไอแห้ง อ่อนเพลีย ทำให้หลายคนที่ไม่ได้มีอาการหนักอาจไม่ได้เข้ารับการรักษาที่เหมาะสม และใช้ชีวิตตามปกติ จนทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโรค

เมื่อไหร่ควรไปตรวจคัดกรองโควิด-19 

เพจไทยรู้สู้โควิดได้ให้คำแนะนำในการสังเกตตนเอง 6 ข้อ ดังนี้

  • ไม่มีอาการ ไม่ได้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย COVID-19 และไม่ได้กลับมาจากพื้นที่เสี่ยง
  • ไม่มีอาการสัมผัสใกล้กับชิดผู้ป่วย COVID-19 และกลับมาจากพื้นที่เสี่ยง
  • มีอาการเล็กน้อย ไข้ ไอ น้ำมูก เจ็บคอ ไม่ได้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย COVID-19 และไม่ได้กลับมาจากพื้นที่เสี่ยง
  • มีอาการเล็กน้อย ได้แก่ ไข้ ไอ น้ำมูก เจ็บคอ สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย COVID-19 และกลับมาจากพื้นที่เสี่ยง
  • มีอาการไข้สูง ไอ หอบเหนื่อย
  • มีอาการไข้ ไอ น้ำมูก เจ็บคอ หอบเหนื่อย ร่วมกับเป็นผู้สูงอายุ หรือมีโรคประจำตัว หรือมีอาการเจ็บหน้าอกฉับพลัน

หลังจากที่สังเกตตนเองแล้ว ให้ดูว่าตนเองอยู่ในข้อใดจาก 6 ข้อข้างต้น แล้วปฏิบัติตามคำแนะนำ ดังนี้

หากอยู่ในข้อ 1 ไม่ต้องไปตรวจคัดกรอง COVID-19

หากอยู่ในข้อ 2 หรือ 3 ให้กักตัว 14 วัน เพื่อสังเกตอาการของตนเอง ถ้ามีไข้ ไอ น้ำมูก เจ็บคอ หรือหอบเหนื่อย ค่อยไปตรวจคัดกรอง COVID-19

หากอยู่ในข้อ 4 5 หรือ 6 ควรไปตรวจคัดกรอง COVID-19 ทันที

และในส่วนถัดมาอบรมโดยนางสาววิไลวรรณ ต้องกระโทก (หมอบี) นักวิชาการสาธารณสุข โดยอบรมเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคระบาดโควิด-19 ซึ่งมีข้อมูลการให้ความรู้ดังนี้

ข้อควรปฏิบัติก่อน-ระหว่าง-หลังฉีดวัคซีนโควิด-19 

วัคซีนป้องกัน โควิด-19 ก็เหมือนกับวัคซีนอื่น ๆ ที่ไม่ได้ให้ผลในการป้องกัน 100% ขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพของวัคซีนและการตอบสนองของแต่ละบุคคล โดยประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้ออยู่ที่ 60-90% แล้วแต่ประเภทของวัคซีน แต่คุณสมบัติสำคัญของวัคซีน โควิด-19 ทุกตัวสามารถลดความรุนแรงของการป่วยหลังการติดเชื้อและการเสียชีวิตได้เกือบ 100% ซึ่งจะทำให้การต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลและการสูญเสียชีวิตลดลงได้อย่างมาก เพื่อให้การรับวัคซีนได้ประโยชน์สูงสุด และป้องกันหรือลดอาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น เราจึงจำเป็นต้องเตรียมตัว เตรียมสุขภาพ เพื่อให้พร้อมสำหรับการฉีดวัคซีน ดังนี้         

  1.  ก่อนเข้ารับการฉีดวัคซีน โควิด-19 ผู้ที่มีโรคประจำตัว หรือ มียาประจำที่ต้องรับประทาน ควรปรึกษาแพทย์ประจำตัวก่อน   
  2.  พักผ่อนให้เพียงพอ
  3.  หากเจ็บป่วย มีไข้ ไม่สบาย ให้เลื่อนการฉีดวัคซีนออกไปก่อนอย่างน้อย 1-2 สัปดาห์
  4.  ดื่มน้ำให้เพียงพอ งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  5.  รับประทานอาหารให้เรียบร้อย หากมียารักษาโรคประจำตัวก็ให้รับประทานได้เลย
  6.  ถ้าใช้ยาละลายลิ่มเลือดหรือยาต้านเกล็ดเลือด กรุณาแจ้งเจ้าหน้าที่ ณ จุดลงทะเบียน
  7.  สำหรับผู้ป่วยที่ทานยากลุ่ม Warfarin และไม่มีประวัติการรักษาหรือมีผล INR ที่โรงพยาบาลรามคำแหง ภายใน 1 เดือน ก่อนวันฉีดวัคซีน กรุณานำผล INR มาแจ้งด้วยตัวท่านเอง (ถ้าไม่สามารถระบุผล INR ได้ ทางโรงพยาบาลขอสงวนสิทธิ์พิจารณาเลื่อนหรือยกเลิกการฉีดวัคซีนของท่าน)
  8.  ฉีดวัคซีน โควิด-19 ห่างจากการฉีดวัคซีนอื่น 4 สัปดาห์
  9.  กรณีตั้งครรภ์ที่อายุครรภ์น้อยกว่า 12 สัปดาห์ กรุณาแจ้งเจ้าหน้าที่ และโรงพยาบาลของดการฉีดวัคซีน

ระหว่างเข้ารับการฉีดวัคซีน โควิด-19

  1.  เตรียมเอกสารที่ต้องใช้ในการเข้ารับการฉีดวัคซีนให้พร้อม เช่น บัตรประชาชน ข้อมูลการลงทะเบียน เพื่อความสะดวกรวดเร็ว
  2.  เดินทางมาถึงโรงพยาบาลก่อนเวลานัด 30 นาที
  3.  ใส่เสื้อผ้าหลวมสบายเปิดหัวไหล่สะดวก ง่ายต่อการฉีดวัคซีน
  4.  สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ล้างมือให้สะอาด และเว้นระยะห่าง
  5.  ผู้ที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค ได้แก่ โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคอ้วน โรคไตวายเรื้อรัง โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน ให้ปรึกษาแพทย์ประจำตัวก่อนฉีด
  6.  ก่อนรับวัคซีน ไม่จำเป็นต้องหยุดยาใด ๆ หรือกินยาอื่น ๆ นอกเหนือจากคำสั่งแพทย์
  7.  เจ้าหน้าที่ตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย ความดันโลหิต และค่าออกซิเจนในเลือด ก่อนรับการฉีดวัคซีน
  8.  แนะนำให้ฉีดแขนข้างที่ไม่ค่อยถนัด งดใช้หรือเกร็งแขนข้างที่ฉีด
  9.  ปฏิบัติตามคำแนะของเจ้าหน้าที่อย่างเคร่งครัด 

หลังรับการฉีดวัคซีน โควิด-19  

  1. พักรอดูสังเกตอาการที่โรงพยาบาลหรือจุดที่ฉีดวัคซีน 30 นาทีอย่างเคร่งครัด อาการข้างเคียงหลังฉีดวัคซีน โควิด-19 ที่อาจเกิดขึ้น เช่น  1. อาการไม่รุนแรง สามารถหายได้เองภายใน 3 วัน เป็นอาการทั่ว ๆ เช่น มีไข้ต่ำ ๆ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อและข้อ หรือปวด บวม แดง คันหรือซ้ำบริเวณที่ฉีดยา อ่อนเพลีย รู้สึกไม่สบายตัว ปวดศีรษะ คลื่นไส้ หรือมีอาการชาเฉพาะที่ 2. อาการรุนแรง พบได้ไม่บ่อยหรือพบได้น้อย เช่น มีก้อนบริเวณที่ฉีดยา เวียนศีรษะ มึนงง ใจสั่น  ปวดท้อง อาเจียน ความอยากอาหารลดลง เหงื่อออกมากผิดปกติ ต่อมน้ำเหลืองโต ปากเบี้ยว กล้ามเนื้ออ่อนแรง ชักหมดสติ อาการเหมือนเป็นไข้หวัดใหญ่ เช่น มีไข้ ไอ เจ็บคอ น้ำมูกไหล  3. อาการแพ้วัคซีน เช่น มีไข้สูง ปวดศีรษะรุนแรง ความดันตก หลอดลมตีบ หายใจลำบาก มีผื่นขึ้นตามตัว หากพบว่ามีอาการรุนแรง หลังการฉีดวัคซีนควรรีบพบแพทย์ทันที
  2.  พยายามอย่าเกร็งแขนข้างที่ฉีดวัคซีน หรือใช้แขนยกของหนักๆ อย่างน้อย 2 วัน
  3.  ถ้ามีไข้ หรือปวดเมื่อยมาก ให้รับประทานยาพาราเซตามอลขนาด 500 มิลลิกรัม 1 เม็ด และรับประทานซ้ำได้โดยห่างกัน 6 ชั่วโมง (ห้ามรับประทานยาพวก Brufen, Arcoxia, Celebrex เด็ดขาด)
  4.  เมื่อพักรอดูอาการครบ 30 นาที เจ้าหน้าที่จะทำการวัดความดันโลหิตอีกครั้งก่อนกลับ และเมื่อกลับบ้านแล้วยังต้องสังเกตอาการของตัวท่านเองต่ออีก 48-72 ชั่วโมง หากพบอาการผิดปกติที่รุนแรง เช่น ชาครึ่งซีก แขนขาอ่อนแรง ปากเบี้ยว ให้รีบไปพบแพทย์ทันที

** หลังจากได้รับวัคซีนเข็มแรกแล้วก็ยังคงต้องเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับฉีดวัคซีนเข็มที่สองกระตุ้น ซึ่งจะช่วยป้องกันการติดเชื้อหรืออาการป่วยรุนแรงได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ส่วนอาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น เป็นเพียงปฏิกิริยาของร่างกายที่มีต่อวัคซีนเท่านั้น และแม้ว่าจะฉีดวัคซีนแล้วก็ยังต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันต่อไปอย่างเคร่งครัด ไม่ว่าจะเป็นการสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง และล้างมือบ่อย ๆ เพื่อไม่ให้เรากลายเป็นผู้แพร่เชื้อแบบไม่มีอาการ ที่อาจจะเป็นต้นเหตุให้ผู้ที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนหรือผู้ที่มีความเสี่ยงติดเชื้อจากเราได้

เมื่อวิทยากรทั้ง 2 ท่านได้อบรมผู้ปฏิบัติงานและชาวบ้านที่เข้าร่วมอบรมเสร็จเรียบร้อยแล้วนั้น อาจารย์ประจำหลักสูตรและทีมผู้ปฏิบัติงานตำบลบ้านสิงห์ได้สาธิตการทำสเปรย์แอลกอฮอล์ให้ชาวบ้านดู และแจกสเปรย์แอลกอฮอล์จำนวน 60 ขวดให้ตัวแทนชาวบ้านในแต่ละหมู่ได้นำไปแจกต่อให้คนในหมู่บ้านต่อไป หลังจากเสร็จภารกิจการอบรมแล้วนั้นอาจารย์ประจำหลักสูตรและทีมผู้ปฏิบัติงานตำบลบ้านสิงห์ได้เดินทางไปติดป้าย “U2T COVID-19 week ก้าวต่อไปสู้ภัยโควิด” โดยนำป้ายไปติดที่ องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านสิงห์  โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านสิงห์  และวัดบ้านสิงห์ (วัดโพธ์คงคา) รวมทั้งหมด 3 ป้าย 3 สถานที่ เมื่อเสร็จภารกิจทั้งหมดแล้วก็รับข้าวกล่องและแยกย้ายกันเดินทางกลับบ้าน

14-16 มิถุนายน 2564  ดิฉันได้ลงพื้นที่ ณ บ้านหนองม่วง หมู่ 12 ต.บ้านสิงห์ อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ โดยเป็นการลงพื้นที่เก็บข้อมูลเกษตรกร ร้านอาหารในท้องถิ่น สัตว์ในท้องถิ่น ภูมิปัญญาท้องถิ่น พืชในท้องถิ่น และแหล่งน้ำในท้องถิ่น โดยเป็นการเก็บข้อมูลผ่านทาง  Application https://cbd.u2t.ac.th/ จาก สป.อว. ซึ่งจากการสำรวจข้อมูลมาแล้วนั้นจะพบว่ามีข้อมูลโดยมีรายละเอียดต่าง ๆ ดังนี้

  • ร้านอาหารในท้องถิ่น ร้านป้ามานะ เมนูที่มีในร้านคือก๋วยเตี๋ยวและไก่ทอด สามารถนำเด็กเล็กเข้าใช้บริการได้นั่งทานในร้านได้ (แต่ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 จะให้บริการแบบซื้อกลับบ้านมากกว่า) มีที่จอดรถ จำนวน 5 คัน จำนวนที่นั่งประมาณ 7-8 คน เวลาเปิดให้บริการคือ 06.00-20.00 น.และเปิดให้บริการทุกวัน
  • แหล่งน้ำในท้องถิ่น ชื่อ ห้วยลำปลายมาศ เป็นแหล่งน้ำประเภทห้วย ช่วงฤดูฝนจะมีน้ำมากคือช่วงเดือนพฤษภาคม-ตุลาคม ช่วงเวลาน้ำน้อยคือช่วงหน้าแล้งเดือนตุลาคม-มีนาคม คุณภาพของน้ำยังน้อยมากซึ่งสามารถใช้ในการทำการเกษตรและอุตสาหกรรมได้เท่านั้น ไม่สามารถนำมาใช้เพื่ออุปโภคบริโภคได้
  • สัตว์ในท้องถิ่น ชื่อเรียกของสัตว์ วัว เป็นสัตว์สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม จำนวนสัตว์เพศผู้ที่พบโดยประมาณคือ 150 ตัว จำนวนสัตว์เพศเมียที่พบโดยประมาณคือ 150 ตัว โดยการเลี้ยงของชาวบ้านส่วนใหญ่คือการเลี้ยงไว้จำหน่าย เลี้ยงไว้เป็นอาหาร และเลี้ยงไว้เพื่อทำเป็นพ่อพันธุ์/แม่พันธุ์ 

          และเป็ด  จำนวนที่พบโดยรวมในหมู่บ้านคือ 70 ตัว โดยเป็นการเลี้ยงเพื่อใช้เป็นอาหารมนุษย์ เลี้ยงไว้จำหน่าย และเลี้ยงไว้เป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์

    • พืชในท้องถิ่น คือ กล้วย มะพร้าว มะนาว มะม่วง กระท้อน โดยปลูกเพื่อเอาไว้ใช้เป็นอาหารและจำหน่าย จำนวนที่พบในท้องถิ่นโดยประมาณคือ 70 ต้น โดยส่วนใหญ่จะปลูกในสวนของตัวเอง
    • เกษตรกรในท้องถิ่น ส่วนใหญ่เกษตรกรในพื้นที่บ้านหนองม่วง หมู่ 12 จะปลูกข้าว มันสำปะหลัง และเลี้ยงสัตว์ร่วมด้วยในบางราย พื้นที่ในการทำเกษตรกรรมก็จะไม่เท่ากันในแต่ละหลังคาเรือน แต่โดยเฉลี่ยแล้วจะทำอยู่ที่ประมาณ 5-20 ไร่ โดยประมาณ รายได้เฉลี่ยต่อปีจะอยู่ที่ 10,000-30,000 บาท จำนวนแรงงานที่ใช้คือ 2-10 คน ยังไม่มีการใช้ระบบหรือเทคโนโลยีทุ่นแรงเข้ามาช่วย และยังไม่เปิดให้บุคคลทั่วไปเข้ารับชม
    • ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่พบคือ เครื่องจักสาน แห เป็นเครื่องมือเครื่องใช้ทางการเกษตร ซึ่งเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีมาตั้งแต่ดั้งเดิม ส่วนการประชาสัมพันธ์หรือเผยแพร่ มีเฉพาะในชุมชนเท่านั้น

      จากการปฏิบัติงานในเดือนมิถุนายนนี้ ดิฉันได้รับความรู้และความเข้าใจในเรื่องต่าง ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบบรรจุภัณฑ์ ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคระบาดโควิด-19 และขอขอบพระคุณผู้ให้ความร่วมมือในการปฏิบัติงานทุก ๆ ฝ่าย ทั้งอาจารย์ประจำหลักสูตร ทีมผู้ปฏิบัติงานตำบลบ้านสิงห์ทุกคน และชาวบ้านบ้านหนองม่วง หมู่ 12 ที่ให้ความร่วมมือในการเก็บข้อมูลเป็นอย่างดี ซึ่งดิฉันจะนำความรู้และข้อมูลที่ได้ลงพื้นที่เก็บมานั้นส่งต่อเพื่อนำมาพัฒนาและก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป

อื่นๆ

เมนู