ดิฉัน นางสาววรลักษณ์ ไกรษร กลุ่มบัณฑิตจบใหม่ ต.บ้านสิงห์ อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์
หลักสูตร : ส่งเสริมอาชีพและพัฒนาขนมไทย HS03
เดือนเมษายน
การปฏิบัติงานในเดือนมีนาคม-เมษายนที่ผ่านมามีการดำเนินงานในหลายๆกิจกรรมร่วมด้วยกัน โดยดิฉัน อาจารย์ประจำหลักสูตร และทีมงานผู้ปฏิบัติงานตำบลบ้านสิงห์ได้ปฏิบัติกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกันดังนี้
ในวันที่ 22 มีนาคม 2564 ดิฉัน อาจารย์ประจำหลักสูตร และทีมงานผู้ปฏิบัติงานตำบลบ้านสิงห์ทุกคนได้เดินทางไปยัง บ้านโคกว่าน ตำบลหนองโสน อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อเข้าไปร่วมพิธียกเสาเอก-เสาโท ศาลาเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง
ต่อมาในเดือนเมษายน ได้มีการเริ่มวางแผนโดยมีการประชุมออนไลน์ในวันที่ 3 เมษายน 2564 โดยเป็นการประชุมวางแผนเกี่ยวกับการจัดสถานที่ การทำเวทีประชุมปรึกษาหารือเพื่อพัฒนาและยกระดับขนมไทยที่มีในตำบล มีการนัดหมายให้ตั้งเวทีลงประชุมในพื้นที่ในวันที่ 8 เมษายน 2564 เมื่อประชุมออนไลน์เสร็จดิฉันได้ดำเนินการต่าง ๆ ดังนี้
วันที่ 5 เมษายน 2564 ดิฉันได้เข้าไปพบผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน คือ นางละม่อม สวัสดิ์พูน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน บ้านหนองม่วง ม.12 ต.บ้านสิงห์ อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ เพื่อไปติดต่อให้เข้าร่วมเวทีประชุมในวันที่ 8 เมษายน 2564 โดยให้นำสมาชิกในหมู่บ้านไปเข้าร่วมด้วยจำนวน 2-3 คน และนำขนมหรือผลิตภัณฑ์ที่เป็นจุดเด่นของหมู่บ้านไปด้วยเล็กน้อย เพื่อที่จะทำการศึกษาเกี่ยวกับขนม
วันที่ 8 เมษายน 2564 เป็นวันที่เข้าร่วมเวทีประชุมโดยดิฉัน อาจารย์ประจำหลักสูตร ผู้ปฏิบัติงานทุกคน และสมาชิกบางกลุ่มที่ได้มีการติดต่อไว้เข้ามาร่วมเวทีประชุมกัน ที่ ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านสิงห์ โดยมีการพูดถึงขนมที่เป็นจุดเด่นของแต่ละหมู่บ้าน และผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่เป็นจุดเด่นอีกด้วย ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่สมาชิกแต่ละหมู่บ้านเอามามีดังนี้
หมู่ 2 บ้านหนองขาม : ทองม้วน ดอกจอก รังแตน กล้วยฉาบ มันฉาบ
หมู่ 4 บ้านโคกไม้แดง : ดอกจอก มะขามแก้ว ถั่วเคลือบ ไข่เค็ม
หมู่ 8 บ้านหนองกง : ขนมตาล ขนมต้ม ข้าวหมาก บ้าบิ่น
หมู่ 9 บ้านหนองจันทร์แดง : ขนมสอดไส้ มะพร้าวเผา ถั่งแบป
หมู่ 11 บ้านหนองโคลน : กล้วยฉาบ มันฉาบ กล้วยปาปิก้า
หมู่ 12 บ้านหนองม่วง : บ้าบิ่น มะพร้าวเผา ข้าวหลาม
การผลิต : ส่วนใหญ่จะมีการผลิตตามออเดอร์ที่สั่งมาเท่านั้น เพราะขนมบางอย่างไม่สามารถเก็บได้หลายวัน จึงต้องทำสดใหม่ทุกวันเพื่อจำหน่ายหรือส่งต่อให้พ่อค้าคนกลาง
แหล่งจัดจำหน่าย
หมู่ 2 บ้านหนองขาม : มีพ่อค้าคนกลางจากต่างจังหวัดมารับไปจำหน่าย มีการส่งออเดอร์ตามโรงเรียน
หมู่ 4 บ้านโคกไม้แดง : จัดจำหน่ายตามงานเทศกาลต่าง ๆ หน้าที่ว่าการอำเภอนางรอง และจำหน่ายตามหมู่บ้าน
หมู่ 8 บ้านหนองกง : จำหน่ายที่ตลาดในอำเภอลำปลายมาส และจำหน่ายตามหมู่บ้าน
หมู่ 9 บ้านหนองจันทร์แดง : ขายตามโรงเรียน ทำส่งตามที่ต่าง ๆ ที่มีการจัดประชุมตามออเดอร์ที่สั่ง
หมู่ 11 บ้านหนองโคลน : ส่งไปต่างจำหน่ายจังหวัด มีพ่อค้าคนกลางมารับไปจำหน่าย
หมู่ 12 บ้านหนองม่วง : ขายตามหมู่บ้าน
ปัญหาและอุปสรรค
หมู่ 2 บ้านหนองขาม : มะพร้าวหายาก ถ้าจะใช้กะทิกล่องจะทำให้ขนมไม่อร่อยเท่ามะพร้าวสด และในช่วงโควิด-19 พ่อค้าคนกลางไม่สามารถมารับสินค้าได้เพราะการเดินทางไม่สะดวก
หมู่ 4 บ้านโคกไม้แดง : มะพร้าวหายาก วัตถุดิบราคาแพง เช่น ถั่วลิสง เมื่อทำผลิตภัณฑ์ขายแล้วได้กำไรน้อย
หมู่ 8 บ้านหนองกง : ขาดมะพร้าวซึ่งเป็นวัตถุดิบหลัก ส่วนวัตถุดิบบางอย่างก็แพงขึ้น แต่เมื่อขายผลิตภัณฑ์ ขายราคาเท่าเดิมทำให้ได้กำไรน้อยหรือแทบจะขาดทุน
หมู่ 9 บ้านหนองจันทร์แดง : เมื่อขาดมะพร้าว ทำให้ทำออเดอร์ตามที่พ่อค้าคนกลางสั่งมาไม่ทัน จึงเสียลูกค้าบางส่วนไป
หมู่ 11 บ้านหนองโคลน : กล้วยมีราคาแพงขึ้นและหายากขึ้น อีกทั้งนำมันพืชยังแพงขึ้นทำให้ได้กำไรน้อย
หมู่ 12 บ้านหนองม่วง : มะพร้าวหายากเนื่องจากมีด้วงกินมะพร้าว และมะพร้าวปลูกยากต้องรอเวลาหลายปีกว่าจะได้กินผล
และในส่วนสุดท้ายของการประชุมนั้นมีการปรึกษาหารือพูดคุยเกี่ยวกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อให้มีการยกระดับและเป็นที่รู้จักมากขึ้น โดยผลิตภัณฑ์ที่สามารถพัฒนาได้มี 4 อย่างคือ กล้วยฉาบ บ้าบิ่น กะหรี่ปั๊บ ทองม้วน โดยอาจจะมีการแปรรูปผลิตภัณฑ์ เช่น ทำทองม้วนแบบมีไส้ หรือมีหลายรสชาติ ทำบ้าบิ่นโดยทำด้วยวิธีการอื่นที่ไม่ใช่การทอดเช่น การอบ การนึ่ง เพื่อให้สามารถยืดอายุขนมได้นานขึ้น ส่วนอื่น ๆ ที่อยากพัฒนาอีกคือ บรรจุภัณฑ์ ช่องทางการจำหน่าย โดยอาจจะทำบรรจุภัณฑ์ที่ไม่สามารถให้อากาศเข้าได้เพื่อที่จะทำให้เก็บขนมได้นานขึ้น และช่องทางการจัดจำหน่ายโดยมีการทำเพจขึ้นเพื่อที่จะขายทางออนไลน์ หรือส่งออกไปจำหน่ายต่างจังหวัดโดยไม่ต้องมีพ่อค้าคนกลางเข้ามารับซื้อถึงที่ ซึ่งทำให้ไม่เกิดการเสียลูกค้าในช่วงสถานณการณ์โควิด-19อีกด้วย
สรุปผลการปฏิบัติงาน คือ ในแต่ละหมู่บ้านมีการทำผลิตภัณฑ์ขึ้นมาจำหน่าย แต่ช่องทางการจำหน่ายยังไม่มากพอที่จะทำให้ผลิตภัณฑ์เป็นที่รู้จักและจำหน่ายได้มากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งที่จำหน่ายในปัจจุบันนี้ส่วนใหญ่จำหน่ายตามหมู่บ้านเท่านั้น ส่วนบรรจุภัณฑ์ยังไม่เป็นที่น่าสนใจมากพอที่จะดึงดูดผู้ซื้อ และปัญหาที่พบมากที่สุดคือการขาดวัตถุดิบหลักซึ่งคือมะพร้าว ทำให้มีการหยุดชะงักในการผลิต ประกอบกับวัตถุดิบบางอย่างมีราคาแพงขึ้นทำให้จำหน่ายผลิตภัณฑ์แล้วได้กำไรน้อย
ทั้งนี้ในวันที่ 25 เมษายน 2564 ได้มีการทำเวทีประชุมปรึกษาหารืออีกครั้ง เพื่อทำการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีในตำบลและปรึกษาหารือเกี่ยวกับแนวทางการแก้ไขปัญหาที่พบมากอีกในลำดับต่อไป