ข้าพเจ้า นายชนายุทธ ทองรักศรี ประเภทกลุ่มงานบัณฑิตจบใหม่ ตำบลหนองโบสถ์ อำเภอนางรอง
จังหวัดบุรีรัมย์ ได้ลงพื้นที่ปฏิบัติงานและรายงานผลการปฏิบัติงานร่วมกับทีมงานและอาจารย์ประจำหลักสูตร
ประจำเดือนตุลาคม พ.ศ. 2564

หลักสูตร : HS03 การแปรรูปขนมไทยเพื่อสร้างรายได้ในชุมชน

การนัดหมายผู้ปฏิบัติงานประจำเดือนตุลาคม

วันที่ 2 ตุลาคม 2564  เวลา 10.00 น. ทางอาจารย์ประจำหลักสูตรได้นัดหมายให้กลุ่มผู้ปฏิบัติงานทุกคนประชุมออนไลน์ผ่าน Google Meet ข้าพเจ้าได้เข้าร่วมการประชุม โดยมีกลุ่มนักศึกษา กลุ่มบัณฑิตจบใหม่ และกลุ่มประชาชน ตำบลหนองโบสถ์และตำบลบ้านสิงห์เข้าร่วมประชุมด้วย อาจารย์ชี้แจงรายละเอียดการปฏิบัติงานให้กับกลุ่มผู้ปฏิบัติงานรายใหม่ กลุ่มบัณฑิตจบใหม่   กลุ่มนักศึกษา และกลุ่มประชาชน การเข้าระบบการปฏิบัติงาน การลงเวลาปฏิบัติหน้าที่ให้ลงเวลาปฏิบัติงานทุกวันตามเวลาที่กำหนด การอบรมผู้ปฏิบัติงานในโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ (มหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศ) ในส่วนของมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ต้องเข้ารับการพัฒนาทักษะผ่านระบบ e-Learning (อบรมด้วยตนเอง) ตามที่ โครงการฯ กําหนดไว้ 4 ด้าน

 ภาพการประชุมออนไลน์ชี้แจงรายละเอียดงาน ครั้งที่ 1

 วันที่ 5 ตุลาคม 2564 เวลา 16.00 น. ทางอาจารย์ประจำหลักสูตรได้นัดหมายให้กลุ่มผู้ปฏิบัติงานทุกคนประชุมออนไลน์ผ่าน Google Meet  ครั้งที่2 ข้าพเจ้าได้เข้าร่วมการประชุม โดยมีกลุ่มนักศึกษา กลุ่มบัณฑิตจบใหม่ และกลุ่มประชาชนตำบลหนองโบสถ์ และตำบลบ้านสิงห์เข้าร่วมประชุมด้วย อาจารย์ชี้แจงรายละเอียด การปฏิบัติงานโครงการติดตามประเมินผล  กระทบทางเศรษฐกิจและสังคมโครงการ U2T การทำแบบสอบถาม U2T-SROI การลงพื้นที่เก็บแบบสำรวจประจำเดือนตุลาคม สำหรับที่พักอาศัย ตลาด ศาสนสถาน และโรงเรียน กิจกรรมอบรมการจัดทำอุปกรณ์ป้องกันตนเอง ณ ศาลากลางบ้านโคกพลวง หมู่ที่ 9 ตำบลหนองโบสถ์ อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์

 ภาพการประชุมออนไลน์ชี้แจงรายละเอียดงาน ครั้งที่ 2

วันที่ 11 ตุลาคม 2564 ข้าพเจ้าและผู้ปฏิบัติงานกลุ่มงานบัณฑิตจบใหม่ได้ลงพื้นที่เก็บแบบสำรวจสำหรับที่พักอาศัย ณ บ้านสระขาม หมู่ที่1 ตำบลหนองโบสถ์ อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ โดยทีมงานผู้ปฏิบัติงานได้ติดต่อขอลงพื้นที่กับผู้นำชุมชนได้รับความร่วมมือจากผู้นำชุมชน อสม. และชาวบ้านเป็นอย่างดีโดยเก็บจำนวน 50 หลังคาเรือน จากการเก็บแบบสำรวจชาวบ้านมีการสังเกตอาการของตนเองและครอบครัวว่ามีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อหรือไม่ ตนเองหรือคนในครอบครัวมีการเดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยงหรือพื้นที่ระบาด หรือการดูแลสุขอนามัยด้วยการล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์ รับประทานอาหารที่สุก ไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น และสวมหน้ากากอนามัยเมื่อออกไปยังพื้นที่สาธารณะ

 ภาพการลงพื้นที่เก็บแบบสำรวจ ณ บ้านสระขาม หมู่ที่1 

 เมื่อวันที่ 14-15 ตุลาคม 2564 ข้าพเจ้าและทีมผู้ปฏิบัติงานตำบลหนองโบสถ์ ได้รับมอบหมายงานจากอาจารย์ประจำหลักสูตรเป็นผู้ที่ชี้แจงรายละเอียดดังนี้ จะมีการลงพื้นที่เก็บข้อมูลเพิ่มเติมด้วยแบบสอบถาม U2T-SROI ซึ่งมีการกำหนดหัวข้อในการสำรวจ ข้าพเจ้าได้รับผิดหัวข้อที่ 2 ลูกจ้างโครงการ ได้ทำการเก็บข้อมูลแบบสอบถาม : โครงการการติดตามประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมโครงการ U2T ซึ่งข้าพเจ้าได้สำรวจข้อมูลตามแบบฟอร์มที่กำหนดจนแล้วเสร็จภายในเวลาที่กำหนดจากที่ข้าพเจ้าได้รับผิดชอบหัวข้อที่ 2 ลูกจ้างโครงการ ได้ทำการเก็บข้อมูลแบบสอบถาม ซึ่งเป็นการสำรวจเกี่ยวกับลูกจ้างโครงการประเภท บัณฑิตจบใหม่ เป็นการสำรวจตามแบบฟอร์ม U2T-SROI และได้นำข้อมูลจากการสำรวจกรอกลงในระบบต่อไป

ภาพการเก็บแบบสอบถาม U2T-SROI

ข้าพเจ้าและกลุ่มบัณฑิตจบใหม่ได้รับมอบหมายจากอาจารย์ประจำหลักสูตรให้ดำเนินการจัดเตรียมสถานที่จัดกิจกรรมอบรม        การจัดทำอุปกรณ์ป้องกันตนเอง ณ ศาลากลางบ้านโคกพลวง หมู่ที่ 9 ตำบลหนองโบสถ์ อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์

ภาพการจัดเตรียมสถานที่จัดกิจกรรมอบรมการจัดทำอุปกรณ์ป้องกันตนเอง

อาจารย์ประจำหลักสูตรนัดหมายผู้ปฏิบัติงานรวมตัวกัน ณ ศาลากลางบ้านโคกพลวง หมู่ที่9 ตำบลหนองโบสถ์ และผู้แทนชุมชน โดยได้รับความร่วมมือจากผู้แทนชุมชนและชาวบ้านบ้านโคกพลวงเข้าร่วมกิจกรรมอบรมการจัดทำอุปกรณ์ป้องกันตนเอง โครงการแปรรูปขนมเพื่อสร้างรายได้ในชุมชน และได้รับความอนุเคราะห์จากอาจารย์ ดร. สุกัญญา ทองขัน และอาจารย์ ดร.สุภาวรัตน์ ทัพสุริย์ สาขาวิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ เป็นวิทยากรในการให้ความรู้การทำผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร อาทิเช่น สเปรย์กันยุงสมุนไพร น้ำมันเหลือง และยาหม่องไพล

ภาพบรรยากาศการเริ่มทำกิจกรรมอบรมการจัดทำอุปกรณ์ป้องกันตนเองผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร

  1. สเปรย์กันยุงสมุนไพร

ส่วนประกอบ

1) เอทิลแอลกอฮอล์ 1 ลิตร        2) ตะไคร้หอมหั่นฝอย 100 กรัม

3) ผิวมะกรูด 50 กรัม               4) การบูร 50 กรัม

วิธีทำ

1) นำตะไคร้หอมและเปลือกมะกรูดหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ นำมาห่อด้วยผ้าขาวบาง

2) แช่มะกรูดและตะไคร้ในเอทิลแอลกอฮอล์ เติมการบูร 50 กรัม ปิดฝาหมักทิ้งไว้ 1 สัปดาห์
(เขย่าทุกวัน)

3) กรอกใส่ขวดพร้อมนำไปใช้

ภาพวิธีการทำสเปรย์กันยุงสมุนไพร

  1. น้ำมันเหลือง

การเตรียมน้ำมันไพล

ส่วนประกอบ : (1) ไพร 200 กรัม           (2) ขมิ้น 50 กรัม

(3) น้ำมันมะพร้าวหรือน้ำมันปาล์ม 100 กรัม

วิธีทำ : นำไพรและขมิ้นที่แก่จัด มาปลอกเปลือกไพรและขมิ้นหั่นเป็นชิ้นบาง (คล้ายกับการทำกล้วยฉาบ) จากนั้นนำไปทอดในน้ำมันมะพร้าวหรือน้ำมันปาล์ม โดยใช้ไฟกลาง จนกระทั่งไพรและขมิ้นกรอบเหลือง
(ระวังอย่าให้ไหม้) กรองเอาน้ำมันจะได้น้ำมันไพร (จะได้น้ำมันไพลประมาณ 70 – 80 มิลลิลิตร)

ส่วนประกอบของน้ำมันเหลือง

1) เมนทอล 120 กรัม     2) การบูร 80 กรัม

3) พิมเสน 40 กรัม        4) น้ำมันไพล 200 มิลลิลิตร

วิธีทำ

ผสมเมนทอล การบูร และพิมเสน คนให้ละลาย (ถ้าละลายไม่หมดสามารถเพิ่มเมนทอลลงไปที
ละน้อย) แล้วจึงเติมน้ำมันไพร และเทลงขวดบรรจุเพื่อนำไปใช้งาน

 

ภาพวิธีการทำน้ำมันเหลือง

  1. ยาหม่องไพล

ส่วนประกอบ

1) วาสลีน 120 กรัม                2) พาราฟิน 80 กรัม

3) น้ำมันไพล 60 มิลลิลิตร         4) พิมเสน 20 กรัม

5) เมนทอล 20 กรัม                6) การบูร 20 กรัม

7) น้ำมันยูคาลิปตัส 30 มิลลิลิตร   8) น้ำมันระกำ 100 มิลลิลิตร

วิธีทำ

1) ชั่งพาราฟินและวาสลีนภาชนะ แล้วนำมาให้ความร้อน จะสังเกตเห็นว่าพาราฟินและวาสลินจะเริ่มละลาย (ใส)

2) ผสมเมนทอล การบูร พิมเสน น้ำมันระกำ น้ำมันยูคาลิปตัส และน้ำมันสมุนไพร คนจนสารละลายเป็นเนื้อเดียวกัน

3) เมื่อพาราฟินและวาสลีนใสจนเป็นเนื้อเดียวกันให้เติมของผสมระหว่าง เมนทอล การบูร พิมเสน น้ำมันระกำและน้ำมันยูคาลิปตัส จากข้อ 2) แล้วคนให้เป็นเนื้อเดียวกัน

4) เทสารละลายที่ได้ใส่ภาชนะที่บรรจุยาหม่อง ตั้งทิ้งไว้จนยาหม่องแข็งตัว

หมายเหตุ

1) ไม่ควรใช้ความร้อนที่สูงเกินไป จะทำให้กลิ่นระเหยหมดและอาจทำให้เกิดไฟลุกไหม้ได้

2) การให้ความร้อนที่มีเปลวไฟ ให้ทำการตุ๋นในน้ำร้อนเพื่อป้องกันการเกิดไฟลุกไหม้

3) สามารถปรับเพิ่มได้ตามอัตราส่วน เมื่อต้องการยาหม่องในปริมาณที่มากขึ้น

เกร็ดความรู้

1) การบูร มีลักษณะเป็นเกล็ดสีขาว ออกฤทธิ์ร้อน สรรพคุณ ช่วยบรรเทาโรคตาแดง ขับเสมหะ
ขับลม

2) เมนทอล มีลักษณะเป็นผลึกสีขาว มีกลิ่นหอม บรรเทาอาการหวัด คัดจมูก แก้ไข้ แก้ไอ ลดการอักเสบในลำคอ บรรเทาอาการปวดศีรษะ

3) พิมเสน มีลักษณะเป็นเกล็ดสีขาวขุ่น มีกลิ่นหอม ใช้สูดดม แก้วิงเวียนศีรษะ ใช้ทาแก้ปวดเมื่อยแก้เคล็ดขัดยอก

4) พาราฟิน ใช้เป็นส่วนผสมเพื่อทำให้น้ำมันแข็งตัว

5) วาสลีน ใช้เป็นส่วนผสมเพื่อทำให้เกิดความลื่นมัน และสะดวกในการทานวด

6) น้ำมันระกำ เป็นน้ำมันใส มีกลิ่นหอม มีสรรพคุณแก้ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ แก้เคล็ดขัดยอก

7) น้ำมันยูคาลิปตัส สรรพคุณ แก้หวัดคัดจมูก ขับเสมหะ ขับลม แก้โรคหอบหืด

ภาพวิธีการทำยาหม่องไพล

สิ่งที่ได้จากการเรียนรู้จากการปฏิบัติงาน

– ได้เรียนรู้ทักษะการทำงานเป็นทีมกับผู้ปฏิบัติงานท่านอื่น และประชาชนในชุมชน

– ได้เรียนรู้จากการทำกิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมพัฒนาองค์ความรู้ให้กับชุมชน องค์กร และหน่วยงานในพื้นที่

– ได้องค์ความรู้เกี่ยวกับสมุนไพรเพิ่มมากขึ้นและสามารถนำไปเพิ่มมูลค่าสินค้าของชุมชนในท้องถิ่นได้

 ปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างการปฏิบัติงาน

การปฏิบัติงานในช่วงแรกๆยังไม่เข้าใจเกี่ยวกับการปฏิบัติงานเท่าที่ควร และผลกระทบ
จากสถานการณ์ Covid –19 ทำให้การลงพื้นที่เป็นไปด้วยความยากลำบาก

 วิธีแก้ไขปัญหาเพื่อให้การปฏิบัติงานสำเร็จ

          ศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ
(มหาวิทยาลัยสู่ตำบล  สร้างรากแก้วให้ประเทศ) สอบถามจากอาจารย์ประจำหลักสูตร และผู้ปฏิบัติงานในตำบลเดียวกันเพื่อเพิ่มความรู้ความเข้าใจในการปฏิบัติงาน

สรุปผลการทำกิจกรรม

จากการจัดกิจกรรมอบรมการจัดทำอุปกรณ์ป้องกันตนเอง ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ คือ สเปรย์กันยุงสมุนไพร น้ำมันเหลือง และยาหม่องไพล โดยวิทยากรได้บรรยายถึงขั้นตอนการทำอย่างละเอียด และชุมชนภายในตำบลหนองโบสถ์  สามารถนำไปต่อยอดเพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชน

ภาพการทำกิจกรรม

HS03 : ตำบลหนองโบสถ์ อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ วีดีโอการทำกิจกรรมประจำเดือนตุลาคม 2564

อื่นๆ

เมนู