ข้าพเจ้านายพัชระ ปะกัง ประเภทนักศึกษา ต.หนองโบสถ์ อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ หลักสูตรการแปรรูปขนมไทย
วันที่ 22 ตุลาคม 2564
ได้จัดกิจกรรมอบรมการขอมาตรฐานผลิตภัณฑ์ คือ การขอขึ้นทะเบียน อย. และการขึ้นทะเบียนสินค้า OTOP มาตรฐาน ณ ศูนย์การเรียนรู้บ้านโคกพลวง ตำบลหนองโบสถ์ อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ โดยมี คุณภัทรวดี มักขุนทด นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ และคุณชยุต ชำนาญเนาว์ นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ สำนักงานสาธารณสุขอำเภอนางรอง มาเป็นวิทยากรให้ความรู้และอธิบายการขอขึ้นทะเบียน อย. และการขึ้นทะเบียนสินค้า OTOP มาตรฐาน
หน่วยรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน
– สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.)
– สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด (สอจ.)
สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดบุรีรัมย์ 97/7 ถ.อินจันทร์ณรงค์ ต.ในเมือง อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ 31000
โทร.044-612934 ต่อ 401-404
ประโยชน์ของการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน
1.ผลิตภัณฑ์มีคุณภาพดีขึ้น มีความปลอดภัย
2.ผลิตภัณฑ์มีคุณภาพสม่ำเสมอ
3.ผู้ซื้อ ผู้บริโภค และผู้เกี่ยวข้องตัดสินใจได้ง่ายขึ้น
4.สร้างความเชื่อมั่นและความน่าเชื่อถือ
5.เพิ่มโอกาสทางการค้า ผู้ผลิตเข้าถึงตลาดได้
อาหารและยา (อย.) แบ่งออกเป็นหัวข้อได้ดังนี้
หัวใจ 3 ประการ ของการผลิตอาหารที่ปลอดภัย
หัวใจที่ 1 ลดอันตรายเบื้องต้น : คัดเลือกวัตถุดิบ ใช้ภาชนะสะอาด สภาพแวดล้อมที่ดีและเครื่องมือ อุปกรณ์ไม่ก่อให้เกิดการปนเปื้อน
หัวใจที่ 2 ลด/ยับยั้ง ทำลายเชื้อจุลินทรีย์ : ใช้ความร้อนฆ่าเชื้ออย่างเพียงพอ
หัวใจที่ 3 ป้องกันการปนเปื้อนซ้ำ : ปฏิบัติงานอย่างถูกสุขลักษณะ แยกระหว่างของสุกและของดิบ
ภาพประกอบ
วันที่ 28 ตุลาคม 2564
ข้าพเจ้าได้เข้าร่วมกิจกรรมการจัดเสวนาจตุรภาคีสี่ประสานสู่การพัฒนาชุมชนที่ยังยืนทางออนไลน์ผ่านระบบ ZOOM โดยรองศาสตราจารย์ มาลิณี จุโฑปะมา อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์เปิดงานเสวนาออนไลน์ ในการเสวนาในครั้งนี้เป็นการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในการที่จะพัฒนาเครือข่ายจตุรภาคีสี่ประสานไปสู่การพัฒนาชุมชน และให้ความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาของมนุษย์ในยุคที่ทุกอย่างอยู่บนโลกดิจิทัล แล้วนำองค์ความรู้ที่ได้ไปปรับเปลี่ยนแนวคิดเพื่อพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นไป
ภาพประกอบ
วันที่ 30 ตุลาคม 2564
ได้จัดกิจกรรมอบรมการประชาสัมพันธ์ และส่งเสริมการตลาดให้กับผลิตภัณฑ์ ณ ศูนย์การเรียนรู้บ้านโคกพลวง ตำบลหนองโบสถ์ อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ โดยมีอาจารย์ปิติวรรณ ฝ้ายโคกสูง จากสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ธุรกิจ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ มาเป็นวิทยากรให้ความรู้และอธิบายเกี่ยวกับการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของชุมชนโดยการกำหนดเป้าหมายให้ต้องกับความต้องการของผลิตภัณฑ์ และได้สร้างเพจ Facebook : “ผลิตภัณฑ์ดี ที่หนองโบสถ์” เป็นการประชาสัมพันธ์สินค้าทางออนไลน์ เพื่อเพิ่มช่องทางในการจัดจำหน่ายสินค้า ทำให้ผู้ที่สนใจในผลิตภัณฑ์สามารถสั่งซื้อหรือสั่งจองผลิตภัณฑ์จากกลุ่มผู้ทำผลิตภัณฑ์โดยตรงได้โดยไม่ต้องเดินทางมาเอง
ภาพประกอบ
วันที่ 7 พฤศจิกายน 2564
ข้าพเจ้าได้เข้าร่วมการประชุมออนไลน์ ในการประชุมครั้งนี้ทางอาจารย์ประจำหลักสูตรได้มอบหมายให้กับผู้ปฏิบัติงานทุกคนเก็บข้อมูล CBD เพิ่มเติม เพื่อให้ถึงเป้าหมายที่กำหนดไว้ ในนส่วนของตำบลหนองโบสถ์หัวข้อที่นำมาทำ 3 ข้อ คือ แหล่งท่องเที่ยว อาหารที่น่าสนใจประจำถิ่น และแหล่งน้ำในท้องถิ่น โดยนำมาทำการวิเคราะห์ปัญหารายพื้นที่ของตำบลหนองโบสถ์ Pain point (SWOT, VRIO) นำเสนอข้อมูลผ่าน Dash Board หรือ G-map
ภาพประกอบ
วันที่ 13 พฤศจิกายน 2564
ได้จัดกิจกรรมอบรมการทำลูกประคบสมุนไพรและการนวดแผนไทย ณ ศูนย์การเรียนรู้บ้านโคกพลวง ตำบลหนองโบสถ์ อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ โดยมีอาจารย์ ดร. สุกัญญา ทองขัน และอาจารย์ ดร. วิริญรัชญ์ สื่อออก สาขาวิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ เป็นวิทยากรการทำให้ความรู้และอธิบายขั้นตอนการทำลูกประคบสมุนไพร และได้เจ้าหน้าที่กลุ่มงานการแพทย์แผนไทยโรงพยาบาลนางรอง มาให้ความรู้เกี่ยวกับการนวดแผนไทยอย่างถูกวิธี เพื่อบรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อและข้อ ทำให้สุขภาพดีและมีความสุข
การทำลูกประคบสมุนไพร
วัสดุอุปกรณ์ (ได้ลูกประคบประมาณ 10 ลูก)
-ผ้าดิบ หรือผ้าฝ้าย ขนาด 40 x 40 เซนติเมตร
-เชือก ยาว 200 เซนติเมตร
-ภาชนะสำหรับผสมสมุนไพร
-เครื่องชั่ง
สูตรใช้สมุนไพรแห้ง (สามารถนำสมุนไพรสดไปตากหรืออบแห้งให้แห้งได้)
-ไพล 400 กรัม
-ขมิ้นชัน 100 กรัม
-ตะไคร้ 200 กรัม
-ผิวมะกรูด 100 กรัม
-ใบมะขาม 100 กรัม
-ใบส้มป่อย 50 กรัม
-การบูร 30 กรัม
-พิมเสน 30 กรัม
-เกลือ 60 กรัม
วิธีการทำ
1.บดหรือทุบสมุนไพรอบแห้งพอหยาบ
2.ผสมส่วนผสมทั้งหมดให้เข้ากัน
3.ชั่งส่วนผสม 100 กรัม วางลงบนผ้า
4.ห่อผ้ามัดเชือกให้แน่น
5.บรรจุลูกประคบไว้ในถุง เก็บในที่แห้ง สามารถเก็บได้ประมาณ 1 ปี
สมุนไพรสำหรับทำลูกประคบ (ใช้สมุนไพรสดหรือแห้งก็ได้แต่ต้องไม่มีรา)
กลุ่มน้ำมันหอม (ใช้อย่างน้อย 3 อย่าง)
-ไพล ช่วยลดอาการปวดเมื่อย เคล็ดขัดยอก คลายกล้ามเนื้อ ลดอาหารอักเสบ ฟกช้ำ บวม
-ตะไคร้ แต่งกลิ่น ลดอาการฟกช้ำ ลดการปวดเมื่อย
-ขมิ้นอ้อย ช่วยลดอาการอักเสบ แก้โรคผิวหนัง
-ผิวมะกรูด มีน้ำมันหอมระเหย แก้ลมวิงเวียน (ถ้าไม่มีใช้ใบแทนได้)
-ผิวส้ม บรรเทาลมวิงเวียน
-ข่า รักษาโรคผิวหนัง กลากเกลื้อน
กลุ่มที่มีรสเปรี้ยว (กรดอ่อนๆ)
-ใบมะขาม ช่วยให้เส้นเอ็นหย่อน แก้โรคผิวหนังผื่นคัน ช่วยบำรุงผิว
-ใบขี้เหล็ก ช่วยละลายไขมันใต้ผิวหนัง ทำให้หลับสบาย
-ใบส้มป่อย ช่วยบำรุงผิว แก้โรคผิวหนัง ลดความดัน
กลุ่มสารที่มีกลิ่นหอม (จะระเหยเมื่อถูกความร้อน)
-การบูร แต่งกลิ่น บำรุงหัวใจ
-พิมเสน แต่งกลิ่น ลดอาการพุพองผดผื่น บำรุง หัวใจ
-เกลือ ช่วยดูดความร้อน และช่วยพาให้ตัวยาซึม ผ่านผิวหนังได้ดีขึ้น
การเก็บรักษาลูกประคบ
1.เก็บไว้ในที่แห้ง ไม่มีฝุ่น
2.สำหรับลูกประคบ สมุนไพรสด สามารถเก็บไว้ในตู้เย็นได้ 3-5 วัน
การใช้งาน
1.สำหรับลูกประคบแห้ง ควรพรมน้ำบนลูกประคบก่อนนำนึ่ง
2.นำลูกประคบที่ได้นำไปนึ่งในหม้อนึ่ง ใช้เวลานึ่งประมาณ 15 – 20 นาที
ภาพประกอบ
สรุปผลการปฏิบัติงาน
ข้าพเจ้าได้เข้าร่วมการอบรมการขอมาตรฐานผลิตภัณฑ์ คือ การขอขึ้นทะเบียน อย. และการขึ้นทะเบียนสินค้า OTOP มาตรฐาน อบรมการประชาสัมพันธ์ และส่งเสริมการตลาดให้กับผลิตภัณฑ์ อีกทั้งได้จัดกิจกรรมอบรมการทำลูกประคบสมุนไพรและการนวดแผนไทย ณ ศูนย์การเรียนรู้บ้านโคกพลวง ตำบลหนองโบสถ์ อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ ในการปฏิบัติงานประจำเดือนพฤศจิกายนนี้ชาวบ้านภายในชุมชน พร้อมทั้งผู้ร่วมปฏิบัติงานทุกคนได้รับความรู้มากมาย ทั้งนี้ข้าพเจ้า ทีมงาน และอาจารย์ประจำหลักสูตรจะร่วมกันพัฒนาชุมชนให้ดียิ่งขึ้นไป
วีดีโอ