ข้าพเจ้านางสาวรุ่งนภา รอดจากเข็ญ ประเภทบัณฑิตจบใหม่ ตำบลหนองโบสถ์ อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์

การปฏิบัติงานในเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน ข้าพเจ้า ทีมงาน และอาจารย์ประจำหลักสูตร ได้จัดกิจกรรมอบรมการขอมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ การประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ การทำลูกประคบสมุนไพร ร่วมงานจตุรภาคีสี่ประสานเสวนาออนไลน์ และลงพื้นที่จัดเก็บข้อมูลในระบบ CBD

 

  • การจัดกิจกรรมอบรมการขอมาตรฐานของผลิตภัณฑ์

วันที่ 22 ตุลาคม 2564 ได้จัดกิจกรรมอบรมการขอมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ คือ การขอขึ้นทะเบียนอาหารและยา (อย.) และการลงทะเบียนผู้ประกอบการ OTOP และมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) ณ ศาลากลางหมู่บ้านโคกพลวง ตำบลหนองโบสถ์ อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ โดยมีคุณภัทรวดี มักขุนทด นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ และคุณชยุต ชำนาญเนาว์  นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ อำเภอนางรอง  มาเป็นวิทยากรให้ความรู้ในครั้งนี้ และมีตัวแทนจากหมู่บ้านต่างๆ มาร่วมอบรมในครั้งนี้ด้วย

การจัดตั้งกลุ่มอาชีพพัฒนาสู่ผลิตภัณฑ์ OTOP

กลุ่ม คือ การที่บุคคลสองคนขึ้นไปมารวมตัวกัน โดยมีการติดต่อสัมพันธ์ หรือปฏิสัมพันธ์กัน และมีจุดมุ่งหมายที่จะกระทำกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งร่วมกัน

กลุ่มอาชีพ คือ การรวมตัวของชาวบ้านที่ประกอบอาชีพเดียวกัน ดำเนินกิจกรรมด้านอาชีพ กิจกรรมการผลิต และจำหน่ายอย่างต่อเนื่อง โดยมีคณะกรรมการการดำเนินงานของกลุ่ม มีระเบียบข้อบังคับ

โครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) มีวัตถุประสงค์ ดังนี้

  1. สร้างงานและเพิ่มรายได้ให้แก่ชุมชน
  2. เสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชน
  3. ส่งเสริมการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น
  4. ส่งเสริมการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
  5. ส่งเสริมความคิดริเริ่มสร้างสรรค์

ประเภทผลิตภัณฑ์ หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ ที่จะนำมาลงทะเบียนต้องผ่านกระบวนการผลิต โดยใช้ภูมิปัญญา จำนวน 5 ประเภท ดังนี้

  1. ประเภทอาหาร แบ่งเป็น 3 กลุ่ม
    • ผลิตผลทางเกษตรที่ใช้บริโภคสด
    • ผลิตผลทางการเกษตรที่เป็นวัตถุดิบ และผ่านการแปรรูปเบื้องต้น
    • อาหารแปรรูปกึ่งสำเร็จรูป/สำเร็จรูป
  1. ประเภทเครื่องดื่ม แบ่งเป็น 2 กลุ่ม
    • เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
    • เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์
  1. ประเภทผ้า เครื่องแต่งกาย
  2. ปะเภทของใช้ ของตกแต่ง ของที่ระลึก
  3. ประเภทสมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร

มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) คือ ข้อกำหนดลักษณะของผลิตภัณฑ์ที่ผลิตโดยชุมชน มีภูมิปัญญาท้องถิ่นและเอกลักษณ์เฉพาะ อยู่บนพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ และเป็นที่ยอมรับของผู้ที่เกี่ยวข้อง

 หน่วยรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน

  • สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.)
  •  สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด (สอจ.)

** สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดบุรีรัมย์ 97/7 ถ.อินจันทร์ณรงค์ ต.ในเมือง อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ 31000  โทร.044-612934 ต่อ 401-404 **

ประโยชน์ของการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน

  • ผลิตภัณฑ์มีคุณภาพดีขึ้น มีความปลอดภัย
  • ผลิตภัณฑ์มีคุณภาพสม่ำเสมอ
  • ผู้ซื้อ ผู้บริโภค และผู้เกี่ยวข้องตัดสินใจได้ง่ายขึ้น
  • สร้างความเชื่อมั่น และความน่าเชื่อถือ
  • เพิ่มโอกาสทางการค้า ผู้ผลิตเข้าถึงตลาดได้ง่ายขึ้น

อาหารและยา (อย.)

หัวใจ 3 ประการ ของการผลิตอาหารที่ปลอดภัย

หัวใจที่ 1 ลดอันตรายเบื้องต้น : คัดเลือกวัตถุดิบ ใช้ภาชนะสะอาด สภาพแวดล้อมที่ดีและเครื่องมืออุปกรณ์ไม่ก่อให้เกิดการปนเปื้อน

หัวใจที่ 2 ลด/ยับยั้ง ทำลายเชื้อจุลินทรีย์ : ใช้ความร้อนฆ่าเชื้ออย่างเพียงพอ

หัวใจที่ 3 ป้องกันการปนเปื้อนซ้ำ : ปฏิบัติงานอย่างถูกสุขลักษณะ แยกระหว่างของสุกและของดิบ

หลักเกณฑ์ Primary GMP

  1. สถานที่ตั้งและอาคารผลิต
  2. เครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้ในการผลิต
  3. การควบคุมการผลิต
  4. การสุขาภิบาล
  5. การบำรุงรักษาความสะอาด
  6. บุคลากรและสุขลักษณะผู้ปฏิบัติงาน

 

  • เสวนาออนไลน์จตุรภาคีสี่ประสาน

วันที่ 28 ตุลาคม 2564 ได้เข้าร่วมงานจตุรภาคีสี่ประสานเสวนาออนไลน์ ผ่านระบบ Zoom เรื่อง “Quadruple Helix : จตุรภาคีสี่ประสานสู่การพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน” โดยมีรองศาสตราจารย์ มาลิณี จุโฑปะมา อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ เป็นประธานเปิดโครงการเสวนา รองศาสตราจารย์ ดร.อัครพนท์ เนื้อไม้หอม คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ เป็นผู้กล่าวรายงาน และนายชมพู อิสริยาวัฒน์ รองคณบดีฝ่ายพันธกิจชุมชนสัมพันธ์และภูมิทัศน์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ เป็นผู้ดำเนินการเสวนา  โดยได้ให้ความรู้และข้อมูลอันเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาชุมชนให้มีความยั่งยืน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนรวมทั้งสิ่งแวดล้อมในชุมชนให้ดีขึ้นต่อไป

 

  • การจัดกิจกรรมการประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์

วันที่ 30 ตุลาคม 2564 ได้จัดกิจกรรมอบรมการประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ ณ ศาลากลางหมู่บ้านโคกพลวง ตำบลหนองโบสถ์ อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ โดยมีอาจารย์ปิติวรรณ ฝ้ายโคกสูง จากสาขาวิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์  มาเป็นวิทยากรให้ความรู้ในครั้งนี้ และมีตัวแทนจากหมู่บ้านต่างๆ มาร่วมอบรมในครั้งนี้ด้วย โดยการการอบรมในครั้งนี้วิทยากรได้ให้ความรู้เรื่อง ตลาดออนไลน์สำหรับผู้ประกอบการ ก่อนจะทำการตลาดบน Facebook สิ่งที่ควรรู้ คือ เป้าหมายในการสร้างเพจ Facebook กลุ่มลูกค้าของเราคือใคร เพศอะไร อายุเท่าไร ทำอาชีพอะไร รายได้ประมาณไหน และการสร้างคอนเทนต์ ลงรูปภาพ คลิป ข้อความในเพจ Facebook ให้น่าสนใจ การใช้เงินทุนในการโฆษณาสินค้าเพื่อให้กลุ่มเป้าหมายเห็นและสนใจสินค้า เพื่อเกิดความต้องการในการซื้อสินค้า

ผู้ปฏิบัติงานตำบลหนองโบสถ์ได้สร้างเพจ Facebook เพื่อเป็นช่องทางออนไลน์ในการจำหน่ายสินค้าให้แก่ผู้ที่สนใจ คือ  “ผลิตภัณฑ์ดี ที่หนองโบสถ์”

 

  • การเก็บข้อมูล CBD

วันที่ 25-26 ตุลาคม 2564  ได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูลในระบบ CBD จำนวน 50 ชุด ตามหัวข้อดังต่อไปนี้

1.ผู้ที่ย้ายกลับบ้าน เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19  2.แหล่งท่องเที่ยว  3.ที่พัก/โรงแรม  4.ร้านอาหารในท้องถิ่น  5.อาหารที่น่าสนใจประจำถิ่น  6.เกษตรกรในท้องถิ่น  7.พืชในท้องถิ่น  8.สัตว์ในท้องถิ่น  9.ภูมิปัญญาท้องถิ่น  10.แหล่งน้ำในท้องถิ่น

วันที่ 7-10 พฤศจิกายน 2564 ได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูลในระบบ CBD เพิ่มเติมจำนวน 20 ชุด และนำข้อมูลที่เก็บมาวิเคราะห์ปัญหารายพื้นที่ของตำบลหนองโบสถ์ โดยเลือก 3 หัวข้อจาก 10 หัวข้อ ทางผู้ปฏิบัติงานได้เลือก สถานที่ท่องเที่ยว แหล่งน้ำในท้องถิ่น และอาหารที่น่าสนใจประจำถิ่น นำมาวิเคราะห์ Pain Point อธิบายถึงประเด็นข้อมูลที่เลือก และเสนอแนวทางการแก้ปัญหา

 

  • การจัดกิจกรรมการทำลูกประคบสมุนไพร

วันที่ 13 พฤศจิกายน 2564   ได้จัดกิจกรรมอบรมการทำลูกประคบสมุนไพร ณ ศาลากลางหมู่บ้านโคกพลวง ตำบลหนองโบสถ์ อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ โดยมีอาจารย์ ดร. สุกัญญา ทองขัน และอาจารย์ ดร. วิรัญรัชญ์ สื่อออก อาจารย์จากสาขาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์  มาเป็นวิทยากรให้ความรู้ในครั้งนี้ และมีตัวแทนจากหมู่บ้านต่างๆ มาร่วมอบรมในครั้งนี้ด้วย โดยวิทยากรได้ให้ความรู้เรื่องสมุนไพร และการทำลูกประคบสมุนไพร

การทำลูกประคบสมุนไพร

วัสดุ-อุปกรณ์

  1. ผ้าดิบ หรือผ้าฝ้าย ขนาด 40 X 40 เซนติเมตร
  2. เชือก ยาว 200 เซนติเมตร
  3. ภาชนะสำหรับผสมสมุนไพร
  4. เครื่องชั่ง

สมุนไพรแห้ง (สามารถนำสมุนไพรสดไปตากหรืออบให้แห้ง)

  1. ไพล 400 กรัม
  2. ขมิ้นชัน 100 กรัม
  3. ตะไคร้ 200 กรัม
  4. ผิวมะกรูด 100 กรัม
  5. ใบมะขาม 100 กรัม
  6. ใบส้มป่อย 50 กรัม
  7. การบูร 30 กรัม
  8. พิมเสน 30 กรัม
  9. เกลือ 60 กรัม

วิธีการทำ

  1. บดหรือทุบสมุนไพรแห้งพอหยาบ
  2. ผสมส่วนผสมทั้งหมดเข้าด้วยกัน
  3. ชั่งส่วนผสม 100 กรัม
  4. ห่อผ้าและมัดเชือกให้แน่น
  5. บรรจุลูกประคบไว้ในถุง เก็บในที่แห้ง สามารถเก็บๆได้ประมาณ 1 ปี

การเก็บรักษาลูกประคบ

  • เก็บไว้ในที่แห้ง ไม่มีฝุ่น
  • สำหรับลูกประคบสมุนไพรสด สามารถเก็บไว้ในตู้เย็นได้ 3-5 วัน

การใช้งาน

  • สำหรับลูกประคบแห้ง ควรพรมน้ำบนลูกประคบก่อนนำไปนึ่ง
  • นำลูกประคบที่ได้ไปนึ่งในหม้อนึ่ง ใช้เวลาประมาณ 15-20 นาที

 

สรุป

จากการจัดกิจกรรมได้รับความรู้เรื่องการขอมาตรฐานผลิตภัณฑ์ การขอขึ้นทะเบียนอาหารและยา (อย.) และการลงทะเบียนผู้ประกอบการ OTOP และมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.)  ได้รับความรู้เรื่องการประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ออนไลน์ ให้เป็นที่รู้จักและน่าสนใจ และได้เรียนรู้เรื่องการทำลูกประคบสมุนไพร

วีดีโอการปฏิบัติงาน

อื่นๆ

เมนู