ข้าพเจ้านายทัศฎากรณ์ ศรีสุรินทร์ ประเภทกลุ่มบัณฑิตจบใหม่ ตำบลหนองโบสถ์
หลักสูตร HS03 การแปรรูปขนมไทย
เขตพื้นที่รับผิดชอบ บ้านโคกพลวง หมู่ที่ 9 ตำบลหนองโบสถ์ อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์
รายงานผลการปฏิบัติงานประจำเดือนพฤศจิกายน มีดังนี้
กิจกรรมการส่งเสริมและยกระดับผลิตภัณฑ์ในชุมชนให้ได้มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน และ มาตรฐานผลิตภัณฑ์ OTOP
เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2564 อาจารย์ประจำหลักสูตรได้มอบหมายให้คณะผู้ปฏิบัติงานกลุ่มบัณฑิตจบใหม่และประชาชน เป็นตัวแทนในการเข้าร่วมอบรมการจัดกิจกรรมการส่งเสริมและยกระดับผลิตภัณฑ์ในชุมชนให้ได้ผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) และ มาตรฐานผลิตภัณฑ์ OTOP โดยเรียนเชิญตัวแทนชุมชนในตำบลหนองโบสถ์เข้าร่วมอบรม โดยมี นายชยุต ชำนาญเนาว์ นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ และ นางภัทรวดี มักขุนทด นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ เป็นวิทยากรให้ความรู้แก่ผู้เข้ารับการอบรมในด้านมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) และ มาตรฐานผลิตภัณฑ์ OTOP ณ ศาลาประชาคมบ้านโคกพลวง หมู่ที่ 9 ตำบลหนองโบสถ์ อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์
โดยมีวัตถุประสงค์ของการอบรมดังนี้
1. เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์ในชุมชนให้ได้มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) และ มาตรฐานผลิตภัณฑ์ OTOP
2. เพื่อทราบถึงปัญหาของการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ในชุมชน
3. เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง ของด้มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) และ มาตรฐานผลิตภัณฑ์ OTOP
4. เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการขนาดเล็กในชุมชนมีรายได้ที่มั่นคง
เมื่อกลุ่มผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ชุมชนได้ผลิตและพัฒนาผลิตภัณฑ์ออกมาเป็นจำนวนมาก ประสบปัญหาทางด้านการตลาด ขาดการยอมรับจาดผู้บริโภค หรือผู้ประกอบการค้าปลีกที่ไม่จำหน่ายสินค้าที่มาจากชุมชน เพราะไม่มีใบรับรองคุณภาพ จึงจำหน่ายสินค้าได้ในวงจำกัดเท่านั้น จากการอบรมทำให้ทราบว่า การรับรองคุณภาพในระดับต่างๆ มีระเบียบ ข้อบังคับ หรือมีตัวชี้วัดที่แตกต่างกันไป ขึ้นกับว่าจะเป็นมาตรฐานระดับใด ดังนั้นการยกระดับสินค้าชุมชน OTOP จะสามารถช่วยผู้ประกอบการขนาดเล็กหรือผู้ประกอบการในชุมชนที่มีสินค้าอยู่แล้ว ให้สามารถยกระดับธุรกิจให้เกิดการพัฒนาและสร้างรายได้ให้ชุมชนต่อไป
มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชนครอบคลุม ผลิตภัณฑ์ 5 ประเภท
1. ประเภทอาหาร
2. ประเภทเครื่องดื่ม
3. ประเภทสมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร
4. ประเภทผ้าและเครื่องแต่งกาย
5. ประเภทเครื่องใช้ เครื่องประดับตกแต่ง ศิลปะ ประดิษฐ์ และของที่ระลึก
คุณสมบัติของผู้ยื่นคำขอมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน
ผู้ยื่นคำขอต้องเป็นผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ชุมชน ไม่เป็นผู้แอบอ้าง หรือทำการผลิตแอบแฝง และมีคุณสมบัติในข้อหนึ่งข้อใด ดังต่อไปนี้
(1) บุคคลทั่วไป
(2) กลุ่มผู้ผลิตชุมชนที่ขึ้นทะเบียนไว้กับหน่วยงานราชการหรือกลุ่มตามกฎหมายวิสาหกิจชุมชน
(3) นิติบุคคลที่ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์
ประโยชน์ของการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน
1. ผลิตภัณฑ์มีคุณภาพ มีความปลอดภัย
2. ผลิตภัณฑ์มีคุณภาพ
3. ผู้ซื้อ ผู้บริโภค ตัดสินใจได้ง่ายขึ้น
4. สร้างความเชื่อมั่นและความน่าเชื่อถือ
5. เพิ่มโอกาสทางการค้า ผู้ผลิตเข้าถึงตลาดได้ง่ายขึ้น
การรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน ประกอบด้วยการดำเนินการดังนี้
1. ตรวจสอบสถานที่ผลิตและเก็บตัวอย่างจากสถานที่ผลิตส่งตรวจสอบ เพื่อพิจารณาออกใบรับรอง
2. ตรวจติดตามผลคุณภาพผลิตภัณฑ์ชุมชนที่ได้รับการรับรอง โดยสุ่มซื้อตัวอย่างที่ได้รับการรับรองจากสถานที่จัดจำหน่าย เพื่อตรวจสอบ
3. การขอการรับรอง ให้ยื่นคำขอต่อสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดที่สถานที่ผลิตตั้งอยู่ พร้อมหลักฐานและเอกสารต่างๆ ตามแบบที่สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมกำหนด
หมายเหตุ ให้ยื่นคำขอได้ตั้งแต่ ๑ ตุลาคม ถึง ๓๐ มิถุนายน ของปีงบประมาณเท่านั้น
4. เมื่อได้รับคำขอตามข้อ 3 แล้ว สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม/สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด จะนัดหมายการตรวจสอบสถานที่ผลิตเก็บตัวอย่างส่งทดสอบ
5. ประเมินผลการตรวจสอบว่าเป็นไปตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชนที่ได้กำหนดไว้หรือไม่
6. ใบรับรองผลิตภัณฑ์ มีอายุ ๓ ปี นับตั้งแต่วันที่ระบุในใบรับรอง
7. การขอต่ออายุใบรับรองหรือการออกใบรับรองฉบับใหม่เมื่อใบรับรองฉบับเก่าสิ้นอายุ ให้ดำเนินการตามข้อ 3 และ 4
การลงทะเบียนผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP
ลักษณะและคุณสมบัติของผู้ผลิต ผู้ประกอบการ ที่มีสิทธิลงทะเบียน
1. เป็นผู้ผลิต ดังต่อไปนี้ กลุ่มผู้ผลิตชุมชน ผู้ผลิตชุมชนที่เป็นเจ้าของรายเดียว ผู้ผลิตที่เป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
2. กลุ่มเป้าหมายตามข้อ 1 ต้องมีความเชื่อมโยงกับชุมชน มีส่วนร่วมในการผลิตมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการและได้รับประโยชน์
3. สถานที่ผลิตของกลุ่มเป้าหมายตามข้อ 1 ต้องตั้งอยู่ภายในอำเภอ
4. ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ และสมาชิกกลุ่มต้องมีสัญชาติไทย
5. กรณีส่งตัวแทนมาแจ้งการลงทะเบียน จะต้องเป็นผู้ได้รับมอบอำนาจ (มีเอกสารมอบอำนาจ)
ประเภทผลิตภัณฑ์หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ที่จะนำมาดำเนินการลงทะเบียน ต้องผ่านกระบวนการผลิต โดยใช้ภูมิปัญญา จำนวน 5 ประเภท ดังนี้
1. ประเภทอาหาร หมายถึง ผลผลิตทางการเกษตร และอาหารแปรรูป ซึ่งได้รับมาตรฐาน อย., GAP, GMP, HACCP, Qmark, มผช., มอก., มาตรฐานเกษตรอินทรีย์, ฮาลาล และมีบรรจุภัณฑ์ เพื่อการจำหน่ายทั่วไป แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้
1. ผลิตผลทางเกษตรที่ใช้บริโภคสด
2. ผลิตผลทางการเกษตรที่เป็นวัตถุดิบ และผ่านกระบวนการแปรรูปเบื้องต้น
3. อาหารแปรรูปกึ่งสำเร็จรูป/สำเร็จรูป
2. ประเภทเครื่องดื่ม แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์
3. ประเภทผ้า เครื่องแต่งกาย
4. ประเภทของใช้/ของตกแต่ง/ของที่ระลึก แบ่งเป็น 7 กลุ่ม ได้แก่ ไม้ จักสาน ดอกไม้ประดิษฐ์ วัสดุจากเส้นใยธรรมชาติ
โลหะ เซรามิค เครื่องปั้นดินเผา เคหะสิ่งทอ อื่น ๆ
5. ประเภทสมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ยาจากสมุนไพร เครื่องสำอางสมุนไพร วัตถุอันตรายที่ใช้ในบ้านเรือน
มาตรฐานผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองจากทางราชการ
การลงทะเบียน หากผลิตภัณฑ์ได้รับการรับรองมาตรฐานจากทางราชการ ให้ผู้มาลงทะเบียน ได้นำใบรับรองมาตรฐานจากทางราชการมาด้วย เพื่อกรอกข้อมูล และแสดงต่อเจ้าหน้าที่ผู้รับลงทะเบียน ในกรณีที่อยู่ระหว่างการดำเนินการยื่นขอการรับรองให้นำเอกสารที่แสดงรายละเอียดการยื่นขอดังกล่าวมาประกอบด้วย
กรมการพัฒนาชุมชน ได้กำหนดแผนปฏิบัติการลงทะเบียนผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP แต่ละปีไว้ โดยสามารถติดต่อสำนักงานพัฒนาชุมชนได้ทุกแห่ง เพื่อสอบถามช่วงเวลาละทะเบียนในแต่ละไตรมาส ระยะเวลาดำเนินการ ประมาณ 75 วัน
การลงพื้นที่จัดเก็บข้อมูลในระบบ CBD (U2T)
เมื่อวันที่ 24-25 ตุลาคม 2564 ข้าพเจ้าได้ลงพื้นที่จัดเก็บข้อมูลในระบบ CBD (U2T) ที่ชุมชนบ้านโคกพลวง หมู่ที่ 9 ตำบลหนองโบสถ์ อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ โดยได้รับความร่วมมือจากผู้นำชุมชน และประชาชน เป็นอย่างดี จากการสำรวจพบเกษตรกรในท้องถิ่น จำนวน 34 ราย ส่วนใหญ่มีการเลี้ยงสัตว์ ปลูกข้าว มันสำปะหลัง และผักสวนครัว บนที่ดินของตนเอง พบร้านอาหารในท้องถิ่น 2 ร้าน ได้แก่ ร้านหน๋มไทย by ป้ามะลิ และ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านโคกพลวง พบพืชในท้องถิ่นจำนวน 21 ชนิด โดยพืชที่มีจำนวนมากที่สุดคือ กล้วย มันสำปะหลัง และมะม่วง ส่วนภูมิปัญญาท้องถิ่น คือ ตะกร้าสาน ข้อมูลที่พบทั้งหมดข้าพเจ้าได้บันทึกในระบบ CBD (U2T)
เข้าร่วมเสวนาออนไลน์ Quadruple Helix : จตุรภาคีสี่ประสานสู่การพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน
วันที่ 28 ตุลาคม 2564 ข้าพเจ้าได้เข้าร่วมเสวนาออนไลน์ ผ่านระบบ Zoom Meeting ในหัวข้อเรื่อง “Quadruple Helix : จตุรภาคีสี่ประสานสู่การพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน” ได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์มาลิณี จุโฑปะมา อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ เป็นประธานพิธีเปิดงานเสวนาออนไลน์ กล่าวรายงานโดย รองศาสตราจารย์ ดร.อัครพนท์ เนื้อไม้หอม คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ผู้ทำหน้าที่พิธีกร ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.คําภีรภาพ อินทะนู รองคณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ดําเนินการเสวนาโดย อาจารย์ชมพู อิสริยาวัฒน์ รองคณบดีฝ่ายพันธกิจชุมชนสัมพันธ์และภูมิทัศน์ มีผู้เข้าร่วมเสวนาดังนี้
นายสุพจน์ สวัสดิ์พุทรา นายกเทศมนตรีตําบลอิสาณ กล่าวว่า การพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนนั้นต้องอาศัยความร่วมมือจากประชาชนทุกกลุ่มทุกอาชีพ โดยนำแนวคิดการจัดทำเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals –SDGs) ซึ่งมุ่งหวังแก้ปัญหาความยากจนและความไม่เท่าเทียมมาปรับใช้ ส่วนหลักการเรียนการสอนต้องนำหลัก Service Learning การเรียนรู้คู่บริการมาปรับใช้ควบคู่กับการทำงานแบบ Community-Based Learning
นายณัชอิสร์ ศรีสุขพรชัย ประธานหอการค้า จังหวัดบุรีรัมย์ ได้กล่าวถึงแนวคิด “Smart People” คือ การมุ่งพัฒนาองค์ความรู้ ทักษะ และสิ่งแวดล้อม ที่เอื้อต่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจ เปิดกว้างทางความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม อันเป็นหัวใจแห่ง “Smart City” คือ การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัยและชาญฉลาด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการและการบริหารจัดการเมืองโดยประชาชนมีส่วนร่วม รวมถึงปรัชญา 3 H คือ หัวใจ มันสมอง และสองมือ มาปรับใช้กับการทำงาน
นายคําเดื่อง ภาษี ประธานปราชญ์ชาวบ้านบุรีรัมย์ กล่าวว่า เราต้องปรับเปลี่ยนตนเองให้ก้าวทันโลก ปรับเปลี่ยนวิธีคิดในการดำรงชีวิต ให้สามารถอยู่รอดในสังคมโลก ความสำคัญของปัจจัย 4 ที่ใช้ในการดำรงชีวิต สถานศึกษาต้องปรับเปลี่ยนวิธีการสอนให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลก
รองศาสตราจารย์ ดร.อัครพนท์ เนื้อไม้หอม ได้กล่าวถึง กฎกระทรวงการจัดกลุ่มสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.2564 ซึ่งมีการจัดสถาบันอุดมศึกษาเป็นกลุ่มและกำหนดมาตรการส่งเสริม สนับสนุน ประเมินคุณภาพ กำกับดูแล และจัดสรรงบประมาณ ให้สอดคล้องกับการจัดกลุ่มดังกล่าว เพื่อให้การพัฒนาความเป็นเลิศของสถาบันอุดมศึกษา ตามความต้องการของประเทศ รวมทั้งการพัฒนาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเกิดผลสัมฤทธิ์อย่างแท้จริง นอกจากนั้นแล้วยังกล่าวถึง การพลิกโฉมมหาวิทยาลัย (Reinventing Universities)
โดยการสร้างและพัฒนาคนที่มีทักษะและทัศนคติตอบโจทย์ความต้องการในศตวรรษที่ 21 การสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อน เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของประเทศตามแนวทาง Value-based economy มีการทํางานแบจตุรภาคี (Quadruple Helix) รวมถึงแนวคิดเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy) ซึ่งประกอบไปด้วย
1. เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) 4 กลุ่ม ได้แก่ เกษตรและอาหาร การแพทย์และสุขภาพ พลังงานและวัสดุ และการท่องเที่ยว
2. เศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยการใช้เทคโนโลยีที่สําคัญปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence, AI) เป็นกลไกขับเคลื่อน
3. เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)
4. เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy)
อบรมการประชาสัมพันธ์และส่งเสริมการตลาดให้กับผลิตภัณฑ์ตำบลหนองโบสถ์
เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2564 อาจารย์ประจำหลักสูตรได้มอบหมายให้คณะผู้ปฏิบัติงานกลุ่มบัณฑิตจบใหม่และประชาชน เป็นตัวแทนในการเข้าร่วมอบรมการประชาสัมพันธ์และส่งเสริมการตลาดให้กับผลิตภัณฑ์ตำบลหนองโบสถ์ โดยเรียนเชิญตัวแทนชุมชนในตำบลหนองโบสถ์เข้าร่วมอบรม โดยมี อาจารย์ปิติวรรณ ฝ้ายโคกสูง จากสาขาวิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ เป็นวิทยากร ณ ศาลาประชาคมบ้านโคกพลวง หมู่ที่ 9 ตำบลหนองโบสถ์ อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ โดยข้าพเจ้าได้รับมอบหมายให้ทำการสร้างเพจเฟสบุ๊ค ชื่อ “ผลิตภัณฑ์ดี ที่หนองโบสถ์” เพื่อเผยแพร่ผลิตภัณฑ์ในชุมชนต่อไป
การประชุมผ่านระบบ Google Meet
เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน อาจารย์ประจำหลักสูตรได้มีการนัดหมายข้าพเจ้า และผู้ปฏิบัติงานตำบลหนองโบสถ์ทุกท่านให้เข้าร่วมการประชุมผ่าน Google meet อาจารย์ประจำหลักสูตรได้มอบหมายงาน การวิเคราะห์ Pain point จากระบบ CBD โดยนำเสนอข้อมูลผ่าน Dash Board หรือ G-map ข้าพเจ้าและสมาชิกกลุ่มบัณฑิตได้รับมอบหมายให้เคราะห์ข้อมูลประเภทอาหาร และได้รับมอบหมายให้เก็บข้อมูล CBD เพิ่มเติม จำนวน 20 ชุด รวมถึงนัดหมายการจัดกิจกรรมการอบรมการทำลูกประคบและการนวดแผนไทยในวันที่ 13 พฤศจิกายน
การถ่ายภาพผลิตภัณฑ์เพื่อเผยแพร่ลงเพจ “ผลิตภัณฑ์ดี ที่หนองโบสถ์”
เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน อาจารย์ประจำหลักสูตรได้มีมอบหมายให้ข้าพเจ้าและสมาชิกกลุ่มบัณฑิต ถ่ายภาพผลิตภัณฑ์ของชุมชนบ้านโคกพลวง เพื่อนำไปเผยแพร่ในเพจ “ผลิตภัณฑ์ดี ที่หนองโบสถ์” ข้าพเจ้าและสมาชิกกลุ่มบัณฑิตได้ถ่ายภาพเครื่องดื่มได้แก่ น้ำฝาง น้ำอัญชัน น้ำตะไคร้ น้ำลูกหม่อน และน้ำมัลเบอร์รี่ ขนมไทย ได้แก่ ขนมตาล ขนมบ้าบิ่น และเค้กกล้วย ซึ่งจัดทำโดย นางมะลิ รักใคร่ ณ บ้านโคกพลวง หมู่ 9 โดยผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีการจำหน่ายให้กับร้านค้าในชุมชน จัดเป็นของว่างในการประชุม ส่งออกให้แก่มูลนิธิชัยพัฒนา นอกจากนั้นแล้ว ยังมีผลิตภัณฑ์จากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านโคกพลวง ได้แก่ กล้วยเบรกแตก กล้วยอบเค็ม กล้วยอบเนย อีกด้วย
สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการปฎิบัติงาน
1. การติดต่อประสานงานกับผู้ใหญ่บ้านและผู้ช่วยผู้ใหญ่เพื่อชี้แจงขั้นตอนการปฎิบัติงาน
2. การร่วมประชุมวางแผนก่อนการปฏิบัติงานก่อนทุกครั้งเพื่อทำความเข้าใจกับงานที่ได้รับมอบหมาย
3. การมีความรับผิดชอบต่องานที่ได้รับมอบหมาย
4. ได้เรียนรู้กระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์ในชุมชน
5. ได้เรียนรู้การทำงานร่วมกับผู้อื่น
ปัญหาและอุปสรรคในการปฏิบัติงาน
1. ทรัพยากรในพื้นที่มีจำกัด ทำให้ได้ข้อมูลบางส่วนในจำนวนน้อย
2. การระบาดของไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID 19) ทำให้การลงพื้นที่เก็บข้อมูลจึงต้องใช้ความระมัดระวังมากขึ้น
วิธีการแก้ไขปัญหา
1. วางแผนการทำงานและใช้ข้อมูลประเภทอื่นทดแทน
2. มีการป้องกันตนเองโดยการเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกัน ไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID 19) จำนวน 2 เข็มและสวมใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้งที่ปฎิบัติงานและร่วมทำกิจกรรม
สรุปผลการปฏิบัติงานประจำเดือนพฤศจิกายน
1. การเข้าอบรมกิจกรรมการส่งเสริมและยกระดับผลิตภัณฑ์ในชุมชนให้ได้มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน และ มาตรฐานผลิตภัณฑ์ OTOP ได้รับความร่วมมือจากผู้เข้ารับการอบรมเป็นอย่างดี ได้รับความรู้จากวิทยากร ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชน
2. จากการลงพื้นที่จัดเก็บข้อมูลในระบบ CBD (U2T) ที่ชุมชนบ้านโคกพลวง หมู่ที่ 9 ตำบลหนองโบสถ์ อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ โดยได้รับความร่วมมือจากผู้นำชุมชน และประชาชน เป็นอย่างดี จากการสำรวจพบเกษตรกรในท้องถิ่น จำนวน 34 ราย พบร้านอาหารในท้องถิ่น 2 ร้าน พบพืชในท้องถิ่นจำนวน 21 ชนิด ข้อมูลที่พบทั้งหมดข้าพเจ้าได้บันทึกในระบบ CBD (U2T)
3. จากการอบรมการประชาสัมพันธ์และส่งเสริมการตลาดให้กับผลิตภัณฑ์ตำบลหนองโบสถ์ ข้าพเจ้าได้บันทึกภาพผลิตภัณฑ์ในชุมชนซึ่งจัดทำโดย นางมะลิ รักใคร่ พร้อมทั้งมีการสร้างเพจเฟสบุ๊ค “ผลิตภัณฑ์ดี ที่หนองโบสถ์” เพื่อเผยแพร่ผลิตภัณฑ์ในชุมชน ได้รับความร่วมมือจากประชาชนเป็นอย่างดี ทำให้การปฎิบัติงานสำเร็จลุล่วง
4. เข้าร่วมเสวนาออนไลน์ Quadruple Helix : จตุรภาคีสี่ประสานสู่การพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน ได้รับความรู้และแนวคิดอันสามารถนำไปปรับใช้กับการปฎิบัติงานอย่างดีเยี่ยม
บรรยากาศการปฏิบัติงานประจำเดือนพฤศจิกายน 2564 จัดทำขึ้นในรูปแบบวิดิโอ