หลักสูตร: HS04 โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ 1 ตำบล 1 มหาวิยาลัย

จากมหาวิทยาลัยสู่ตำบลเพื่อสร้างรากแก้วให้ประเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์

ประจำเดือนพฤษภาคม 2564

           ข้าพเจ้า นางสาวศศิวรรณ  นาคศรี ผู้ปฏิบัติงานประเภทนักศึกษา เนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กระจายไปทั่วจังหวัดบุรีรัมย์ในช่วงเดือนเมษายนจนถึงปัจจุบัน ทำให้การลงพื้นที่เป็นไปได้ยากยิ่งขึ้น ซึ่งช่วงแรกอาจารย์และผู้ปฏิบัติงานประจำตำบลผไทรินทร์ได้วางแผนลงพื้นที่เก็บข้อมูลในเชิงลึกของ 19 หมู่บ้านในวันที่ 18 เมษายน 2564 แต่เนื่องด้วยสถานการณ์โควิด-19 ระบาดรุนแรงขึ้น ทำให้ต้องเลื่อนการลงพื้นที่เป็นการอบรมเชิงปฏิบัติการ “การวิเคราะห์ตลาดเพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์จักสาน”

           ในวันที่ 24 เมษายน 2564 ซึ่งการอบรมครั้งนี้อยู่ในมาตรการป้องกันความเสี่ยงจากโรคโควิด-19 จึงต้องส่งตัวแทนประเภทละ 2 คน ได้แก่ประเภทนักศึกษา 2 คน บัณฑิต 2 คน และประชาชน 2 คนเพื่อรับฟังการอบรมจากวิทยากร ซึ่งจัดขึ้น ณ ห้องประชุมสำนักงานองค์การบริหารส่วนตำบลผไทรินทร์ เพื่อนำความรู้มาเผยแพร่แก่ผู้ปฏิบัติงานทุกคนได้ทราบ และได้แบ่งการลงพื้นที่เป็น 1 หมู่บ้านต่อ 1 ผู้ปฏิบัติงาน ซึ่งเป็นไปตามมาตรการป้องกันโควิด-19 ซึ่งจากการอบรมเชิงปฏิบัติการ “การวิเคราะห์ตลาดเพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์จักสาน” ในวันที่ 24 เมษายน 2564 ที่ผ่านมา ข้าพเจ้าได้รับข้อมูลโดยรวมจากตัวแทนผู้ปฏิบัติงานที่เข้าร่วมการอบรมทั้ง 6 คน คือ การที่จะจัดทำผลิตภัณฑ์ทั้งหมดในชุมชนให้เป็นสินค้า O-TOP ของตำบลผไทรินทร์นั้น จะต้องไปทีละขั้นตอนและทีละชนิดเพื่อให้เกิดประสิทธิผลสามารถสร้างรายได้ให้ชาวบ้านอย่างทั่วถึง ซึ่ง ณ ตอนนี้มีผลิตภัณฑ์บางชนิดเป็นสินค้า O-TOP ของตำบลผไทรินทร์แล้วส่วนหนึ่ง และส่วนใหญ่ขายผลิตภัณฑ์ผ่านทางออนไลน์ ซึ่งเป็นการค้าที่ขยายวงกว้าง แต่ยังกระจายรายได้ไม่ทั่วถึงทั้งชุมชนเพราะเป็นกลุ่มชาวบ้านบางส่วนเท่านั้นที่มีส่วนเกี่ยวข้อง

           เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2564 ทางคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ได้จัดกิจกรรมงานบุญผ้าป่าปาฐกถาชุมชนออนไลน์(ยักษ์ จับ โจน) ผ่าน 2 ช่องทาง Google Meet และ YouTube โดยได้ทั้งความรู้วิทยาการและได้ร่วมทำบุญผ้าป่า ซึ่งวิทยากรหลักในครั้งนี้ได้แก่ อาจารย์วิวัฒน์ ศัลยกำธร(ดร.ยักษ์) ชำนาญการด้านกสิกรรมธรรมชาติ เป็นผู้นำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาพัฒนาใช้แบบเต็มรูปแบบ และท่านโจน จันได ผู้เชี่ยวชาญด้านการใช้ประโยชน์จากหญ้า แห่งสวนพันพรรณ ให้ความรู้ด้านการใช้หญ้าให้เกิดประโยชน์ทุกอย่าง อาทิ นำไปคลุมดินเพื่อไม่ให้หญ้าที่เกิดใหม่แทรกแซงพืชที่ปลูก นำไปเป็นปุ๋ยบำรุงดิน เป็นต้น

           ข้าพเจ้าได้ลงพื้นที่ในวันที่ 13-14 พฤษภาคม 2564 ซึ่งรับหน้าที่ลงพื้นที่ปฏิบัติงานเชิงลึก ณ หมู่ 15 บ้านสำโรงใหม่ ตำบลผไทรินทร์ อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์  ทั้งด้านสถานที่ท่องเที่ยว ที่พัก ร้านอาหาร อาหารประจำท้องถิ่น เกษตรกร พืช สัตว์ ภูมิปัญญา และแหล่งน้ำในท้องถิ่น โดยรวมแล้ว หมู่ 15 บ้านสำโรงใหม่ไม่ค่อยมีความโดดเด่นมาก เนื่องจากแยกออกจาก หมู่ 10 บ้านสำโรงเก่า ซึ่งทั้ง 2 หมู่บ้านเป็นหมู่บ้านเล็กๆ ประกอบอาชีพทำนาเป็นส่วนใหญ่ บ้านสำโรงใหม่เป็นหมู่บ้านเลี้ยงโค เพราะบริบทของหมู่บ้านเป็นทุ่งนากว้างท้ายหมู่บ้าน มีแหล่งน้ำเรียกว่าลำห้วยน้อยจะมีน้ำในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนกันยายน เป็นแหล่งน้ำเพื่อการทำเกษตรและเลี้ยงโค โดยการทำเกษตรของบ้านสำโรงใหม่มีการทำนา 1 ครั้งต่อปีและปลูกพริกเป็นสวนเล็กๆ ซึ่งปลูกเพื่อจำหน่ายภายในหมู่บ้านแต่ในฤดูแล้งจะไม่ค่อยได้ผลผลิต สัตว์ในชุมชนที่สร้างรายได้ให้แก่ชาวบ้านคือโค และมีอาหารที่รับประทานทุกหลังคาเรือนคือส้มตำปลาร้า ในหมู่บ้านไม่มีร้านอาหารแต่มีร้านขายของชำของชาวบ้านในชุมชน 1 ร้าน

ในวันที่ 15 พฤษภาคม 2564 อาจารย์ประจำตำบลผไทรินทร์ได้จัดโครงการในหัวข้อเรื่องอบรมเชิงปฏิบัติการ การพัฒนาวิธีการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากไม้ไผ่ ณ ห้องประชุมมนุษยสังคมวัฒนา อาคาร 25 ชั้น 2 คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ แต่เนื่องด้วยมาตรการป้องกันโควิด-19 จึงจำกัดคนเข้าร่วม และได้ให้ตัวแทนเข้าร่วมการอบรมประเภทละ 2 คนเช่นเดิม โดยวิทยากรให้ความรู้ด้านการพัฒนาและแปรรูปผลิตภัณฑ์ให้ตรงตามความต้องการของตลาดทั่วไปและตลาดออนไลน์ ซึ่งวิทยากรท่านแรกคือ คุณอริสา  เภสัชา บรรยายเรื่องการผสมผสานระหว่างเชือกมัดฝางและตอกไม้ไผ่ย้อมสี ใช้แทนหวายเทียม ซึ่งจะมีความสวยงามและประหยัดเวลา ส่วนวิทยากรท่านที่สอง ท่าน ดร.ศินีนาฎ  รามฤทธิ์ บรรยายเรื่องการออกแบบลวดลายของผลิตภัณฑ์เพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการของตลาด และวิทยากรท่านที่สาม ว่าที่ร้อยตรีอานนท์ ด่านดอน บรรยายเกี่ยวกับการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากไม้ไผ่ เพื่อสร้างกำไรให้เพิ่มยิ่งขึ้น

       การปฏิบัติงานในเดือนพฤษภาคม 2564 มีการเปลี่ยนแปลงทั้งเรื่องเวลา และสถานที่ในการอบรมและลงพื้นที่ปฏิบัติงาน ซึ่งเกิดจากสถานการณ์โควิด-19 แต่การปฏิบัติงานเป็นไปตามความราบรื่น ซึ่งข้าพเจ้าได้อบรมพัฒนาทักษะออนไลน์ทั้ง 4 ด้านครบเสร็จสมบูรณ์จากเดือนเมษายน และลงพื้นที่เชิงลึกเพื่อนำข้อมูลลงระบบ U2T ทั้ง 10 หัวข้อเรียบร้อย ซึ่งการอบรมที่จัดขึ้นให้ทั้งความรู้ที่สามารถนำไปพัฒนาความโดดเด่นให้แก่หมู่บ้านที่รับผิดชอบและได้เรียนรู้การใช้ชีวิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงได้ดียิ่งขึ้น รวมทั้งได้ร่วมทำบุญสร้างศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง อำเภอนางรองอีกด้วย

https://youtu.be/bkH8ontyM14

อื่นๆ

เมนู