หลักสูตร: HS04 โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย จากมหาวิทยาลัยสู่ตำบลเพื่อสร้างรากแก้วให้ประเทศ  มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ประจำเดือน กรกฎาคม

ข้าพเจ้า นายราเมศ คะเชนทร์กูล ผู้ปฏิบัติงาน ประเภทประชาชน รับผิดชอบการดำเนินงานในเขตพื้นที่ตำบลผไทรินทร์ อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ ได้ลงพื้นที่เพื่อศึกษาข้อมูลการออกแบบผลิตภัณฑ์จักสานตะกร้าจากหวายเทียม ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างอัตลักษณ์ที่โดดเด่นให้กับผลิตภัณฑ์ของชุมชน โดยการนำวัตถุดิบที่มีอยู่ในชุมชนมาผสมผสานกับวัตถุดิบหลักที่เป็นหวายเทียม อาทิเช่น กก,ไหล, เชือกมัดฟาง ,กระบวนการทำเดคูพาจบนใบตะกร้า  เป็นต้น เพื่อเป็นสร้างมูลค่าที่เพิ่มขึ้นให้กับวัตถุดิบในชุมชน และเป็นการสร้างสรรค์ลวดลายให้กับผลิตภัณฑ์ให้มีความเป็นเอกลักษณ์ประจำท้องถิ่น แลดูสวยงามเป็นที่ประทับใจแก่ผู้พบเห็นมากยิ่งขึ้น

เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2564 ข้าพเจ้าพร้อมด้วยทีมผู้ปฏิบัติงานตำบลผไทรินทร์ ได้ลงพื้นที่ เข้าร่วมการประชุม ณ หอประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลผไทรินทร์ โดยมีอาจารย์ประจำหลักสูตร ,ตัวแทนจากกลุ่มผลิตภัณฑ์จักสานตำบลผไทรินทร์และเจ้าหน้าที่องค์การบริหารส่วนตำบลผไทรินทร์ เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ด้วย ซึ่งมีเนื้อหาที่สำคัญคือ การติดตามผลการออกแบบเพื่อสร้างอัตลักษณ์ที่โดดเด่นประจำท้องถิ่นให้กับผลิตภัณฑ์ตะกร้าหวายเทียม โดยมีคุณอริสรา เภสัชชา ตำแหน่ง ผู้อำนวยการกองสวัสดิการสังคมประจำองค์การบริหารส่วนตำบลผไทรินทร์ เป็นผู้ดูแลและติดตามผลการดำเนินงาน ได้มอบหมายให้ตัวแทนกลุ่มผู้ผลิตตะกร้าหวายเทียมจำนวนทั้งหมด 8 ท่าน มีรายชื่อดังนี้ (1)คุณละออ บึงจันทร์ บ้านโคกซาด หมู่1  (2)คุณทองนาค ชนะนาญ บ้านโคกงิ้วใหม่ หมู่16  (3)คุณสุวรรณี วิจิตศักดิ์ บ้านผไทรินทร์ หมู่3  (4)คุณต้อย แสนชูปา บ้านโคกซาด หมู่1  (5)คุณมลไพร ทองแป้น บ้านโคกซาด หมู่1  (6)คุณเสน่ห์ นาคพิพัฒน์ บ้านโคกสว่าง หมู่6  (7)คุณเรียม สาโรจน์ บ้านโคกงิ้วใหม่ หมู่16  (8)คุณอำภา  เมืองกลาง  บ้านสีชวา หมู่7   ได้ทดลองออกแบบท่านละ 1 ใบ โดยการนำวัตถุดิบที่มีอยู่ในชุมชนมาสานประกอบเข้าไปเป็นใบตะกร้าร่วมกับหวายเทียม ได้ลวดลายจากการออกแบบตามความคิดสร้างสรรค์ของผู้ผลิตแต่ละท่าน

ทั้งนี้ข้าพเจ้าได้ลงพื้นที่เพื่อศึกษาข้อมูลด้านการออกแบบตะกร้าเพิ่มเติม  โดยเมื่อวันที่12 กรกฎาคม 2564 ได้สอบถามข้อมูลจากคุณละออ บึงจันทร์ อายุ 67 ปี บ้านเลขที่ 43 บ้านโคกซาด หมู่ที่1 ตำบลผไทรินทร์ อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งเป็นผู้ที่คิดค้น ออกแบบโดยใช้ไหลเป็นส่วนประกอบของใบตะกร้าซึ่งลวดลายที่ออกแบบจะเป็นลายดอกซาดอยู่บริเวณตรงกลางของใบตะกร้า ส่วนริมด้านบนและริมด้านล่างจะเป็นรูปสายน้ำ  ข้าพเจ้าได้สอบถามถึงแนวความคิดว่าเหตุใดถึงได้ออกแบบเป็นลายดอกซาดรวมถึงรูปสายน้ำ ซึ่งได้ใจความว่า บ้านโคกซาด ตั้งชื่อหมู่บ้านตามต้นไม้ชนิดหนึ่งเรียกว่าต้นซาด ที่สมัยก่อนมีอยู่มากมายในพื้นที่ของหมู่บ้าน และต้นซาดนั้นจะมีดอกที่มีรูปร่างสวยและดูเป็นเอกลักษณ์ได้อย่างดีและมีลำห้วยในเขตพื้นที่หมู่บ้านจำนวน 2 สาย จึงได้นำมาออกแบบเป็นลวดลายดอกซาดใส่ลงไปใบตะกร้า ขนาบข้างด้วยลายสายน้ำ  เพื่อให้เป็นเอกลักษณ์ของบ้านโคกซาด และยังนำไปทอผ้าเป็นลายดอกซาดอีกด้วย ในส่วนของกระบวนการสานวัตถุดิบที่เป็นไหลให้ออกมาเป็นลายดอกซาดนั้น จะมีวิธีการสานเหมือนกับหวายเทียม ซึ่งการที่จะทำลวดลายได้นั้น จะต้องใช้ทักษะด้านฝีมือและความชำนาญพอสมควร ผนวกกับคุณสมบัติเฉพาะตัวของไหลจะมีความแข็งและกรอบ ไม่สามารถสานได้ง่ายเหมือนกับหวายเทียม จะต้องมีขั้นตอนการนำไหลไปแช่น้ำก่อนนำมาสาน ระหว่างการสานจะต้องพรมน้ำให้ไหลมีความอ่อนตัวอยู่ตลอด ส่วนไหลที่รอการนำมาสานจะต้องใช้ผ้าชุบน้ำห่อชิ้นเส้นไหลไว้ ให้เกิดความชุ่มชื่นตลอดเวลา  ระหว่างที่ทำการสานจะต้องบิดเส้นไหลเพื่อให้ไหลรัดตัวแน่นเป็นเส้นกลมป้องกันการขาดตัว

ในด้านของกระบวนการผลิตเส้นไหลที่จะนำมาสานนั้น จะทำการตัดต้นไหลที่ชาวบ้านปลูกไว้ในหมู่บ้าน นำมาตากแสงแดดจ้าให้แห้ง จะได้เส้นไหลที่มีความสวยเป็นเส้นสีขาว และระหว่างที่ตากไหลนั้นจะต้องระวังไม่ให้เส้นไหลถูกน้ำฝนหรือหมอก เนื่องจากจะทำให้เส้นไหลมีสีเหลือง ไม่สวยงาม ใช้เวลาในการตากประมาณ 1 วัน ส่วนการนำเส้นไหลไปย้อมสี   ทำการต้มน้ำให้เดือดใส่สีที่ต้องการย้อมลงไป (ใช้สีย้อมกก หาซื้อได้ตามร้านค้าทั่วไป) ก่อนย้อมนำไหลไปแช่น้ำ 1นาที แล้วนำไปต้มย้อมสีประมาณ 20 นาที  นำไปผึ่งแดดให้แห้ง  ดั้งนั้นจะเห็นได้ว่ากระบวนการสานจะต้องใช้ความระมัดระวัง และต้องใช้ทักษะความรู้ความชำนาญเป็นอย่างมาก เพื่อให้ได้ตะกร้าที่เป็นเอกลักษณ์ของพื้นที่ตำบลผไทรินทร์ จากกระบวนการผลิตดังกล่าว ข้าพเจ้าได้ทำการวิเคราะห์และสอบถามความคิดเห็นจากผู้ที่ผลิตถึงข้อดีและข้อเสียจากการนำเส้นไหลมาใช้ในการสานตะกร้าได้ดังนี้

ข้อดี        1.เป็นการใช้วัตถุดิบที่มีอยู่ในท้องถิ่นให้เกิดประโยชน์สูงสุด

2.ลดต้นทุนในการซื้อวัตถุดิบการผลิต

3.เป็นการส่งเสริมให้เกิดการปลูกไหลในท้องถิ่นเพิ่มมากขึ้น(สร้างงานสร้างรายได้)

ข้อเสีย    1.คุณสมบัติเฉพาะตัวของเส้นไหลที่ขาดง่าย ทำให้เกิดเป็นรอยตำหนิจากการต่อเส้นไหล ตำแหน่ง      ที่ขาดจะต้องเก็บรอยต่ออย่างดี ส่งผลให้ใช้                    เวลาในการทำมากขึ้น

2.ขนาดของเส้นไหลที่เล็ก-ใหญ่ไม่เท่ากันเมื่อสานแล้วทำให้งานไม่ละเอียดขาดความสวยงาม

3.ระหว่างการสานจะต้องบิดไหลเพื่อป้องกันการขาดตัวของเส้นไหล ใช้ความระวังในการทำงานเพิ่มขึ้น

4.อายุการใช้งานของเส้นไหลไม่คงทนเหมือนกับหวายเทียม

สรุปผลการลงพื้นที่ ตำบลผไทรินทร์ ประจำเดือน กรกฎาคม

ในเดือนกรกฎาคม นับว่าเป็นช่วงที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 อยู่มากพอสมควร พบผู้ติดเชื้อในเขตพื้นที่การปฏิบัติงานและพื้นที่ตำบลใกล้เคียง ส่งผลทำให้เกิดผลกระทบต่อการลงพื้นที่ของทีมผู้ปฏิบัติงานเป็นอย่างมากซึ่งจะต้องมีการประสานงานงานกับผู้นำชุมชนเป็นอย่างดี การระมัดระวังตัวเองระหว่างการปฏิบัติงาน การปฏิบัติตนตามข้อกำหนดของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด เพื่อให้การปฏิบัติงานสามารถบรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้  ผลการปฏิบัติงานด้านการลงพื้นที่เพื่อศึกษาข้อมูลการออกแบบงานสานตะกร้าหวายเทียมโดยใช้วัตถุดิบในท้องถิ่นควบคู่ไปกับการใช้วัตถุดิบหลักคือหวายเทียมนั้น ถือได้ว่าเป็นแนวความคิดที่ทำให้เกิดผลดีต่อชุมชนอย่างยิ่ง ทั้งทางด้านการใช้วัตถุดิบที่มีอยู่ในท้องถิ่นให้เกิดประโยชน์  ลดต้นทุนในกระบวนการผลิต  ส่งเสริมให้เกิดการสร้างงานที่เพิ่มขี้น  แต่ก็มีข้อจำกัดและปัญหาบางประการในการนำวัตถุดิบมาใช้ ซึ่งผู้ที่เกี่ยวข้องจะต้องดำเนินการหาวิธีการแก้ไขปัญหาในลำดับต่อไป โดยมีมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์เป็นหน่วยงานที่เข้ามาส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาในด้านการสร้างอาชีพ รวมถึงการมีส่วนร่วมให้มีการคิดค้นสร้างสรรค์กระบวนการผลิตให้เกิดมูลค่าเพิ่มขึ้น อันจะเป็นการส่งเสริมให้เกิดรายได้ให้กับประชากรในชุมชน เพื่อให้มีอาชีพที่มั่นคงและเป็นการสร้างรายได้ให้กับครอบครัวและท้องถิ่นได้อย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ในเดือน กรกฎาคม 2564 ข้าพเจ้ายังได้เรียนรู้เพิ่มเติมจากการอบรมออนไลน์ผ่านระบบ Thai Mooc หัวข้อ “การเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่มีประสิทธิภาพ” เพื่อนำความรู้ที่ได้รับมาพัฒนาปรับปรุงตนเองให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงานให้ดียิ่งขึ้น

อื่นๆ

เมนู